มุกตลกยอดฮิตในการสัมภาษณ์งาน เมื่อได้ยินประโยค “ที่นี่อยู่กับแบบครอบครัว” เมื่อไหร่ ให้ใส่เกียร์พร้อมวิ่งไปแบบไม่หันหลังกลับ เพราะส่วนใหญ่การอยู่แบบครอบครัวที่ว่านั้น ไม่ได้อบอุ่นเหมือนภาพที่คิดไว้ แต่กลับเป็นครอบครัวแบบเอื้อย-อ้าย กาสะลอง-ซ้องปีบ ที่พร้อมจะหยิกหลังกันในนามของครอบครัวตลอดเวลา ถึงประโยคเหล่านี้อาจจะเป็นมุกตลกขำขันในวงสนทนา แต่เมื่อสิ่งเหล่านี้ล้วนเสียดสีเรื่องจริงในออฟฟิศทั้งนั้น มันจึงเป็นมุกที่สะท้อนภาพสังคมในออฟฟิศ หรือเราควรจะเลิกเปรียบเทียบที่ทำงานกับครอบครัวได้แล้วนะ
หากเรามีออฟฟิศที่ผู้คนรักใคร่ กลมเกลียว ไม่มีการเมืองในออฟฟิศให้วุ่นวาย นั่นแปลว่า เรามีเพื่อนร่วมงานที่ดี หากเราได้นั่งหัวเราะกับเพื่อนๆ ใช้เวลากับพวกเขาทั้งในเวลางานและนอกเวลางาน นั่นแปลว่า เรามีเพื่อนร่วมงานที่ดี และหากเรามีทีมที่ช่วยกันขับเคลื่อนงานให้ไปถึงเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ นั่นแปลว่า เรามีทีมที่ดี ข้อดีในออฟฟิศที่เจอทั้งหมดนี้ อาจหมายความว่าเรามีวัฒนธรรมองค์กรที่ดี เพื่อนร่วมงานที่ดี แต่ไม่ได้หมายความว่าเรามีครอบครัวที่ดีเลยสักนิด
แต่เราก็ยังได้ยินการเปรียบเทียบที่ทำงานเป็นครอบครัวอยู่เสมอ นั่นเพราะผู้พูดอาจต้องการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร ทั้งที่เรารู้อยู่แก่ใจว่ามันไม่อาจมาเปรียบเทียบกันได้เลย เหตุผลหลักของเรื่องนี้คือ ครอบครัวและออฟฟิศ มีรูปแบบความสัมพันธ์ที่แตกต่างกันตั้งแต่แรกอยู่แล้ว หากไม่ได้ทำงานระบบกงสีก็คงพูดไม่ได้เต็มปากว่ารูปแบบความสัมพันธ์นั้นเหมือนกัน และการใช้ประโยคสร้างภาพลักษณ์แสนอบอุ่นนี้ อาจจะไม่เวิร์กอีกต่อไป เพราะอะไร มาดูกัน
บริษัทไม่สามารถรักเราแบบครอบครัวได้
อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า เราสามารถอยู่ในออฟฟิศที่มีวัฒนธรรมองค์กรที่ดี เพื่อนร่วมงานดี ทีมที่ดี จนเราแสนจะพอใจกับสังคมนี้ เรารักที่นี่ได้ในฐานะองค์กร ในฐานะพื้นที่ที่เติบโตมาด้วยกัน แต่สุดท้ายความรักนี้ก็ยังต้องขับเคลื่อนด้วยการทำงานให้องค์กร พัฒนาสิ่งต่างๆ ในองค์กร ทำหน้าที่ของเราตามตำแหน่งให้ดี และเราจะได้สิ่งตอบแทนเป็นค่าจ้างอยู่ดี และนี่อาจจะไม่น่าเรียกว่าความรักสักเท่าไหร่
เราอาจมีหัวหน้าที่รักเราเหลือเกิน ชื่นชมในผลงาน มองเห็นในความสามารถของเรา แต่ถ้าหากวันนึง เรามีเหตุผลให้ต้องจากที่นี่ไป เราอาจถูกรั้งไว้ด้วยเงินเดือนที่มากขึ้น ตำแหน่งที่สูงขึ้น สุดท้ายหากยังรั้งไม่ได้ องค์กรก็ยังคงต้องหาคนมาทำงานแทนเราที่หายไปอยู่ดี ความรักที่องค์กรมอบให้ในตอนที่เราอยู่นั้น จึงเป็นความรักในตัวพนักงาน ผู้ที่ผลิตผลงานดีๆ มีความสามารถที่จะขับเคลื่อนตำแหน่งนั้นๆ ต่อไปได้ ซึ่งก็ไม่ผิดอะไรที่บริษัทจะมีมมุมมองต่อพนักงานแบบนี้ แต่นี่แสดงให้เห็นว่า บริษัทไม่สามารถรักเราแบบครอบครัวได้ด้วยเงื่อนไขของความสัมพันธ์ตั้งแต่แรกแล้ว
ครอบครัวไม่ไล่ใครออกและไม่จ้างใครใหม่
เราคงไม่อาจเดินออกจากครอบครัวได้ หากรู้สึกว่าพื้นที่ตรงนี้มันแสนอึดอัด แต่เราสามารถทำได้ หากรู้สึกว่าการทำงานที่นี่มันสร้างความลำบาก ความอึดอัดใจ เช่นเดียวกัน ครอบครัวเองก็ไม่สามารถจ้างใครเข้ามาใหม่ได้ หากรู้สึกอยากมีสมาชิกเพิ่ม หรือไล่ใครออก เพียงเพราะเขาทำหน้าที่ในครอบครัวได้ไม่ดี แต่ทั้งหมดนี้ บริษัททำได้ และทำอยู่เสมอ
หลายคนอาจรู้สึกผิดหวังกับการทำงานที่นี่มานาน อยู่กันจนเหมือนครอบครัว แต่สุดท้ายกลับถูกจ้างออกเมื่อมีความจำเป็น อย่างในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ช่วงแรก ที่เราเห็นข่าวบริษัทหลายแห่งจำต้องจ้างพนักงานออกเป็นจำนวนมาก หรือแม้แต่ปิดตัวลง แม้บริษัทจะทำแบบนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เพราะนั่นคือธรรมชาติของการทำงาน ที่ต้องมีการปรับโครงสร้าง เอาคนที่มีความสามารถเข้ามาทำงาน และเอาคนที่ไม่สามารถขับเคลื่อนงานได้ออกไปจากฟันเฟืองนี้
การอยู่เป็นครอบครัว ไม่อาจดึงดูดใครเข้าทำงานได้จริง
แม้จะหว่านล้อมด้วยสังคมแบบผ่อนคลายแบบครอบครัว แต่การทำงานก็ยังคงเป็นการทำงาน นอกจากการบอกว่า “ที่นี่อยู่เป็นครอบครัว” จะเป็นสัญญาณแปลกๆ ที่สะกิดให้แคนดิเดตต้องคิดแล้วว่ามันเป็นแบบนั้นจริงไหมนะ? การทำงานแบบครอบครัว ยังไม่สามารถดึงดูดใครให้ตัดสินใจเลือกงานนี้ได้อีกด้วย
มาดูผลสำรวจจาก LinkedIn กันว่า คนส่วนใหญ่มีเหตุผลอะไรในการตัดสินใจเลือกงาน อันดับหนึ่งที่คะแนนสูงลิ่ว กว่า 49% เลือกเพราะค่าตอบแทนที่สูงขึ้น 21% ต้องการที่ทำงานที่ดีขึ้น ซึ่งในนั้นเป็นรายละเอียดยิบย่อยอย่าง การมี wotk life balance การได้เพิ่มความท้าทายให้ตัวเอง ได้ทำงานที่เนื้องานตรงกับตำแหน่ง และอีก 14% ต้องการงานที่เขามีส่วนร่วมกับบริษัทมากขึ้น
เหตุผลทั้งหมดนั้น ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกงานที่เรามีไว้ในใจกันอยู่แล้ว เพราะงานก็ยังคงเป็นงาน เราอาจจะทุ่มเทความสามารถของเราเต็มที่ เพื่อให้งานออกมาดี เราสามารถรู้สึกว่าเราต้องทำเกินหน้าที่ มี Growth Mindset พาบริษัทไปให้ไกลมากขึ้นจากแรงเล็กๆ ของเรา เราสามารถเลือกที่จะคิด จะทำได้ทั้งนั้น ไม่มีกฎกเกณฑ์ไหนมาบอกว่าถูกหรือผิด แต่อย่าลืมว่าเราเองก็ต้องได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า หรือไม่ทุ่มทุกอย่างลงไปจนกลายเป็นผลดีกับองค์กร และเป็นผลร้ายกับตัวเอง (ที่เรียกง่ายๆ ว่าเข้าเนื้อ)
สุดท้ายแล้ว องค์กรอาจปลอบใจเราด้วยรอยยิ้ม คำชื่นชม ค่าตอบแทนพิเศษ แต่ก็ไม่ใช่ในฐานะครอบครัวอยู่ดี
อ้างอิงข้อมูลจาก