กลับมา work from home กันกี่รอบแล้วนะ? ในช่วงที่สถานการณ์ยังไม่ค่อยคงเส้นคงวาแบบนี้ ไม่รู้ว่าความเสี่ยงจะดักรอเราอยู่ที่ไหนบ้าง รถไฟฟ้า บันไดเลื่อน ลิฟต์ พื้นที่ส่วนกลาง หรือจะตอนแวะซื้อกาแฟแก้วโปรดที่ร้านประจำ การนั่งทำงานที่บ้านคงเป็นทางเลี่ยงเดียวของชาวออฟฟิศ
ช่วงแรกที่เรายังใหม่กับการทำงานที่บ้าน กว่าจะเข้าที่เข้าทางก็เล่นเอามึนจนสาหัส รอบสอง รอบสามผ่านไป ชาวออฟฟิศเริ่มเรียนรู้และปรับตัวจนได้รูปแบบการทำงานใหม่ๆ อย่าง Hybrid Work, Working Remotely, Work From Home ไปจนถึงการลดจำนวนวันทำงาน ที่เข้ามาช่วยให้การทำงานยังคงราบรื่น แม้จะต้องรักษาระยะห่างกันไม่ว่างเว้น
จนถึงวันนี้วันที่เดินทางมาถึงระลอก 5 (แม้จะไม่เคยอยากให้จำนวนระลอกมันเพิ่มขึ้นเลยก็ตาม) วันทำงานของชาวออฟฟิศจึงต้องย้ายไปอยู่ในพื้นที่ที่ห่างกันมากขึ้น หลากออฟฟิศเองเริ่มออกมาตรการทำงานที่บ้าน เน้นการสื่อสารแบบออนไลน์แทนแล้ว แต่เมื่อเราเดินทางมาถึงวันที่เราได้ฉีดวัคซีนกันไปส่วนหนึ่ง เรียนรู้วิธีอยู่ร่วมกับโรคกันมา 2 ปีเต็มแล้ว หลายคนมองว่าการทำงานที่ออฟฟิศ หรือการออกไปใช้ชีวิตบางส่วนนั้น ไม่ได้มีความเสี่ยงมากเท่ากับช่วงแรกๆ แล้ว
มาสำรวจความเห็นชาวออฟฟิศว่าพวกเขามีความคิดเห็นอย่างไรกับการทำงานในช่วงที่สถานการณ์ยังร้อนๆ หนาวๆ นี้ เข้าออฟฟิศกี่วันดีนะ ถ้าจะเข้าได้อย่างสบายใจ ออฟฟิศควรปรับตัวยังไงบ้าง
พีนัท, ครีเอทีฟ
การเดินทางของชาวออฟฟิศ ที่มักจะพึ่งพาบริการขนส่งสาธารณะ กลายมาเป็นอีกข้อกังวลใจว่าการเดินทางนี้จะกลายเป็นพื้นที่เสี่ยงหรือเปล่า เสี่ยงกันตั้งแต่ก้าวเท้าเดินทาง ตั้งแต่ยังไม่ออฟฟิศเลยด้วยซ้ำ พีนัทเล่าว่า เนื่องจากไม่มีรถยนต์ส่วนตัว หากมีความจำเป็นต้องเดินทาง จึงต้องใช้บริการ Grab แทนการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะที่มีความเสี่ยงมากกว่า
“พอโอไมครอนมาก็ไม่ค่อยอยากเข้า เพราะไม่อยากเสี่ยง รวมถึงไม่แน่ใจว่าตัวเองจะเอาความเสี่ยงไปให้คนอื่นมั้ย”
สำหรับวันทำงานที่ต้องเข้าออฟฟิศนั้น แม้จะต้องทำงานที่อาศัยการพูดคุยสื่อสารกันเป็นส่วนมาก แต่ด้วยสถานการณ์ที่ไม่ควรเสี่ยง พีนัทมองว่าการเข้าออฟฟิศเพียง 1 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือต่อ 2 สัปดาห์นั้นเพียงพอแล้ว และต้องเป็นการเข้าไปอย่างมีจุดประสงค์ชัดเจนว่า เข้าไปประชุม ไประดมไอเดียในเรื่องใด มีเวลาจำกัดชัดเจน เพราะถ้าเป็นเพียงการพูดคุยธรรมดานั้น สามารถพูดคุยกันผ่านช่องทางออนไลน์ก็ได้ ไม่มีความจำเป็นต้องเสี่ยงเข้ามาเจอกันในออฟฟิศ
“อยากเข้าแค่ 1 วันต่อสัปดาห์ หรือ 1 วันต่อสองสัปดาห์ เผื่อไปประชุมหรือจบงานบางอย่างที่เจอตัวกันแล้วเร็วกว่า แบบงานที่มี agenda ในการไปเจอกันชัดเจน ไม่ใช่ไปเฉยๆ กับงานที่สื่อสารกันทางออนไลน์ก็ได้
รวมทั้ง หากมีความจำเป็นที่ต้องเข้าออฟฟิศจริงๆ ก็ต้องมีมาตรการที่ช่วยลดความเสี่ยงด้วย อย่างการตรวจ ATK และวัคซีนในจำนวนที่เพียงพอ
“ควรตรวจ ATK ทุกครั้งที่ต้องเข้าออฟฟิศ ทุกคนได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 3 เข็ม หรือการนั่งทำงานที่ไม่แออัดกันเกินไป รวมถึงการส่งเสริมให้ใส่หน้ากากตลอดเวลาและการพ่นสเปรย์แอลกอฮอล์กับบรรจุภัณฑ์เดลิเวอรี่ที่สั่งมากินที่ออฟฟิศ”
เต้ย, คอนเทนต์ครีเอเตอร์
“ช่วงก่อนหน้านี้ที่เดลต้าเริ่มซา ก็อาจจะพอเข้าได้บ้าง แต่พอมีโอไมครอนก็ไม่ค่อยอยากเข้าออฟฟิศเลย อย่างน้อยก็ในช่วงเดือนสองเดือนนี้”
ระลอกนี้ระลอกไหนก็ไม่แผ่วเลย การเข้าออฟฟิศในช่วงนี้สำหรับเต้ย จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเสี่ยง ถ้าเป็นไปได้ก็ควรงดไว้ก่อน แต่เมื่อเราไม่อาจจำกัดการใช้ชีวิตไว้เพียงในบ้านตลอดไปได้ หากมีความจำเป็นต้องเข้าออฟฟิศจริงๆ ควรกำหนดวันอย่างชัดเจน และมีสวัสดิการที่ช่วยดูแลด้านความปลอดภัยด้วย
“ถ้าเข้าออฟฟิศได้ก็อยากเข้า 2-3 วันต่อสัปดาห์ กำลังดี แต่เงื่อนไขที่ทำให้เข้าออฟฟิศได้อย่างสบายใจก็คงยังไม่มีในช่วงนี้ แต่ถ้าจะบังคับให้เข้าออฟฟิศจริงๆ สวัสดิการด้านประกันโควิดก็ควรมีให้พนักงานทุกคนฟรี รวมถึงมีหน้ากากและเจลแอลกอฮอล์ รวมถึงชุดตรวจ ATK แจกพนักงานให้ตรวจได้ฟรี”
โจ้, คอนเทนต์ครีเอเตอร์
ออกจากบ้านแต่ละที อุปกรณ์ในกระเป๋าต้องพร้อม สเปรย์แอลกอฮอล์ เจลล้างมือ หน้ากากอนามัย และอีกสารพัดสิ่งที่ช่วยให้เรารอดปลอดภัยจากระลอกใหม่นี้ต่อไปได้ ทุกคนต่างป้องกันและดูแลตัวเองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้การใช้ชีวิตนอกบ้านของเราเป็นการใช้ชีวิตที่รู้จักอยู่ร่วมกับโรคนี้อย่างปลอดภัย
“ตอนนี้ค่อนไปทางเฉยๆ และออกแนวปลงครับ เรากับเพื่อนร่วมงาน คิดคล้ายๆ กันว่าป้องกันทุกอย่างเท่าที่ทำได้แล้ว ถ้ามันจะติด ก็ให้มันติดไป อีกอย่างคือตอนนี้ออฟฟิศประกาศ ได้ 100% บวกกับได้ฉีดวัคซีนตัวที่โอเคกันหมดแล้ว หายห่วงกว่าช่วงแรก ๆ เยอะครับ”
ด้วยรูปแบบการทำงานที่เป็นขั้นตอน สั่ง-ทำ-ส่ง ทำให้โจ้มองว่าการเข้าเพื่อไปนั่งทำงานที่ออฟฟิศนั้นไม่ได้มีความจำเป็นเท่าไหร่นัก และจากการทำงานที่บ้านในหลายช่วงที่ผ่านมา ทำให้เริ่มปรับตัวเข้ากับรูปแบบการทำงานที่บ้านได้ จนรู้สึกว่านี่เป็นรูปแบบการทำงานที่มองหา
“ถ้าจำเป็นต้องเข้าออฟฟิศ ก็ประมาณ 1-2 วันครับ หลักๆ คือไปให้หายเหงา เพราะปรับตัวเรื่อง Work From Home ได้ จนเจอไลฟ์สไตล์ที่พอดีกับตัวเองแล้ว รู้สึกว่าถ้าหมดโควิดไปก็คงเอาเรื่องนี้มาเป็น factor ในการเลือกงานด้วยอีกอันเลย”
จาวา, กราฟิกดีไซน์เนอร์
เพราะการสื่อสารออนไลน์เหนื่อยแค่ไหน ให้การประชุมออนไลน์ที่ผ่านมาเป็นคำตอบ ด้วยเนื้องานของจาวา ที่ต้องอาศัยการสื่อสารกับทีมตลอดเวลา เพื่อให้งานออมาตรงตามบรีฟให้มากที่สุด การทำงานแบบตัวต่อตัวอาจจะช่วยให้ทำงานง่ายขึ้น แต่ในสถานการณ์แบบนี้ หลายคนเริ่มมีความกังวลที่จะต้องมาพบปะกันในพื้นที่ปิดอย่างออฟฟิศ
“ถ้าเราได้ทำงานแบบสื่อสารกับทีม มันจะสะดวกและจบงานได้ไวมาก แต่เราก็เข้าใจว่าช่วงนี้ไม่มีใครกล้าเข้าออฟฟิศกันหรอก แต่ถ้าจำเป็นต้องเข้า อยากให้สลับทีมเข้าตามวัน เข้ามาคุยเมื่อจำเป็น เพื่อลดความเสี่ยง ยิ่งคนน้อยลงอาจจะควบคุมเรื่องความสะอาดง่ายขึ้น”
เมื่อจำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่ปิดอย่างออฟฟิศ การรักษาความสะอาดส่วนตัวและส่วนรวมจึงต้องเข้มงวดขึ้น หากเป็นไปได้ การพบเจอกันเท่าที่จำเป็น อาจช่วยลดความเสี่ยงและช่วยให้ควบคุมในเรื่องของความสะอาดได้ง่ายขึ้นด้วย
ฝ่ายบริหารเอง จึงควรหารูปแบบของวันทำงานที่เหมาะสมกับวิธีการทำงานและความต้องการของพนักงาน รวมถึงนโยบายที่ช่วยรองรับด้านสุขภาพของพนักงาน เพื่อให้การเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศ ไม่เป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับตัวพนักงาน และเพื่อให้การใช้ชีวิตของทุกคนดำเนินต่อไปได้แบบไม่ต้องแบกรับความกังวลมากเกินไปนัก