หากจะเอ่ยถึง ‘สิทธิพื้นฐาน’ ในฐานะของพลเมืองที่พึงจะได้ หลายคนอาจนึกถึงเรื่องของสาธารณูปโภคต่างๆ คุณภาพชีวิต หรือสิทธิทางสังคม แต่สิทธิทางสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องของอากาศและสิ่งแวดล้อม กลับยังมีน้อยคนที่เห็นถึงความสำคัญอย่างจริงจัง ในขณะที่ปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 อาจหวนกลับมาทำลายสุขภาพของผู้คนได้อีกครั้ง
ทำให้เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ร่วมกับสำนักงานเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร / กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอีกกว่า 18 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมกันเปิด ‘โครงการอากาศสะอาดเขตปทุมวัน’ พร้อมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อสร้างพื้นที่ต้นแบบลดฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพมหานครเป็นครั้งแรก
The MATTER ชวนไปพูดคุยประเด็นนี้กับ คุณชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. ถึงเบื้องหลังของโครงการนี้ ผ่านบทบาทของ สสส. และประเด็นสิทธิพื้นฐานที่ทุกคนควรจะได้รับอากาศสะอาด
การรับรู้ของคนทั่วไป ในเรื่องฝุ่น PM2.5 เมื่อประมาณ 2-3 ปีก่อน คนให้ความสนใจกันเยอะมาก แต่ตอนนี้กลับซาลงไป มองตรงนี้อย่างไรบ้าง
ประเด็นสำคัญคือ สสส. เข้ามาช่วยสนับสนุนการทำงานของภาครัฐ ในขณะที่ปัญหาเข้มข้นมากขึ้นทุกที บทบาทสำคัญของ สสส. คือจุดประกาย สาน เสริมพลัง ในการนำภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา และสื่อมวลชน รวมถึงคนรุ่นใหม่ มานั่งคุยกันและเร่งดำเนินการ เพราะฝุ่น PM2.5 ไม่ใช่มาเป็นฤดูกาล ถ้าพูดถึงแต่ละเดือน ลองนึกภาพว่าคนไทยทั้งประเทศ ต้องอยู่ในสภาพของการสูดดมฝุ่นทั้งปี น้อยมากต่างกันไป มีรายงานหลายชิ้นที่พูดถึงปัญหาสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 ซึ่งไม่ได้ต่างจากปัญหาควันบุหรี่ บ่งบอกว่าปัจจุบันนี้คนกรุงเทพฯ ที่ไม่สูบบุหรี่ แต่เหมือนสูบบุหรี่วันละ 5 มวน เพราะว่าเราสูบฝุ่นควัน PM2.5 ซึ่งมีมลพิษไม่ได้ต่างจากควันบุหรี่เลย อัตราความชุกของโรคต่างๆ อย่างมะเร็งปอด โรคปอดอุดกั้น หรืออาการภูมิแพ้ต่างๆ ก็เป็นไปได้ว่าส่วนหนึ่งเกิดจากฝุ่น PM2.5 มีผลต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นความเชื่อมโยงของปัญหาที่เกิดขึ้น
อยากให้เล่าจุดเริ่มต้นของโครงการความร่วมมือในครั้งนี้
ทาง สสส. เราเคยพูดคุยกันในวงคณะกรรมการกำกับทิศทางสิ่งแวดล้อม รวมถึงในคณะกรรมการบริหารกองทุน สสส. ว่า ในพื้นที่เขตเมืองใหญ่ มีงานการศึกษา มีการทำความเข้าใจ และการขับเคลื่อนเกี่ยวกับประเด็นนี้น้อยมาก คนทำงานจริงๆ มีสัดส่วนน้อย การขับเคลื่อนในเชิงกิจกรรมต่างๆ ก็ดูน้อยมากจนน่าตกใจ และกระบวนการในการทำงานในเมืองมีช่องว่างเยอะมาก ทิศทางส่วนใหญ่ของประเทศ มักจะไปที่การเผาป่า การเผาในที่โล่ง ในภาคเหนือ หรือการเผาในภาคเกษตร ในภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจริงๆ ปัญหาในเมืองหลวงเป็นปัญหาที่ซับซ้อน เกี่ยวข้องกับเรื่องจราจร การเผาไหม้ของเครื่องยนต์หรือการสันดาปไม่ดีมีจำนวนเยอะมาก การก่อสร้างในพื้นที่ที่เป็นสาเหตร่วม มลพิษทางอากาศจากอุตสาหกรรมของจังหวัดรอบข้าง รวมถึงการใช้ชีวิตต่างๆ ทั้งๆ ที่เป็นพื้นที่ที่สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเยอะ แต่ปัญหาฝุ่น PM2.5 ทำให้การท่องเที่ยวลดลง คนออกนอกบ้านน้อยลง นักท่องเที่ยวมาน้อยลง ยิ่งเจอสถานการณ์โควิดก็ยิ่งกระทบต่อเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตอย่างหนัก
ทำไมถึงเริ่มต้นที่เขตปทุมวันก่อน
เขตปทุมวันเป็นเขตใจกลางกรุงเทพมหานคร มีหน่วยงานสำคัญมากมาย ไม่ว่าจะเป็น สถาบันการศึกษา หน่วยงานของรัฐ สถานประกอบการ ห้างสรรพสินค้า มีการขนส่ง เส้นทางการคมนาคมสายหลัก และมีศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศหรือ ศวอ. ซึ่ง สสส. สนับสนุนการขับเคลื่อนเพื่อป้องกันและส่วนนึงคือแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศอยู่ตอนนี้ จึงสามารถตั้งเป้าให้เป็นพื้นฐานของงานวิชาการในประเทศได้ แล้วก็มองไปถึงโอกาสในการนำบทเรียนนี้ ไปขยายผลในพื้นที่ที่มีความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศในเขตเมืองอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียง และไม่ใช่เฉพาะกรุงเทพฯ เพียงอย่างเดียว เชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น สงขลา อุบลราชธานี หรือพื้นที่อื่นๆ ที่เป็นศูนย์กลางของแต่ละภาคด้วย เพราะการผสานกำลังร่วมมือกัน การเรียนรู้ทำงานแลกเปลี่ยนกัน ทั้งภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และหน่วยงานของรัฐ รวมไปถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะเป็นบทเรียนที่ดีในการขยายผลต่อไปได้
รายละเอียดในข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว มีรายละเอียดอะไรที่สำคัญต่อคนทั่วไปบ้าง
แต่ละหน่วยงานจะมีกิจกรรมส่งเสริมเพื่อลดปัญหามลพิษทางอากาศที่มีผลต่อสุขภาพ มีแคมเปญการตรวจคัดกรองรถที่มีควันดำที่เข้ามาใช้ในพื้นที่ ติดตั้งเครื่องวัดค่าฝุ่นภายในสถานีรถไฟฟ้า ทางเดินสาธารณะ ตลอดเส้นถนนพระราม 1 เพื่อแจ้งค่าฝุ่นแบบเรียลไทม์ผ่านจอ LED ขนาด 50 นิ้ว ร่วมกับศูนย์การค้าในพื้นที่ที่สนับสนุนการให้บริการรถโดยสารสาธารณะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า EV 100% เพื่อลดการใช้รถส่วนบุคคลและการใช้เครื่องยนต์สันดาป แต่ละส่วนจะมีบทบาทชัดเจน มีทั้งส่งเสริมกระบวนการติดตาม รวมทั้งมีการประเมินผลกันอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน ดูว่าแต่ละบริษัท แต่ละหน่วยงาน ได้ทำอะไรไปบ้าง แล้วเกิดความคืบหน้าอย่างไร ที่น่าสนใจคือ แต่ละพื้นที่เขาก็คิดกิจกรรมที่น่าตื่นเต้น สอดคล้องกับวิถีชีวิตกลุ่มเป้าหมายเอง ทั้งลดแลกแจกแถม คูปอง ส่วนลดสินค้าต่างๆ เพื่อที่จะสนับสนุนให้รู้สึกว่า ทุกคนมีส่วนร่วมในการลดมลพิษทางอากาศที่มีผลต่อสุขภาพได้ แค่เราแยกขยะ ลดการเผา ใช้ขนส่งมวลชน ขับรถส่วนตัวน้อยลง สุดท้ายการแก้ปัญหาที่สาเหตุก็กลับมาที่การรับผิดชอบส่วนตัว ทำยังไงเราถึงจะเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา ใส่ใจสุขภาพผ่านการไม่เป็นผู้ก่อมลพิษ ว่ากันจริงๆ ด้วยข้อมูล แค่จุดบุหรี่หนึ่งมวนเราก็เป็นผู้ก่อมลพิษแล้ว เราทุกคนจึงต้องมีความตระหนักรู้เท่าทันสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ในฐานะที่ สสส. เหมือนเป็นหน่วยงานเริ่มต้น จุดประกายให้ความรู้กับองค์กรทั้งเอกชนและภาครัฐ อะไรคือความท้าทายในการทำให้ทุกฝ่ายมองเห็นถึงปัญหานี้ร่วมกัน
เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับว่าแต่ละฝ่ายก็มีบทบาทชัดเจน ปัญหามลพิษทางอากาศจะแก้ไขโดยองค์กรเดียวไม่ได้ เป็นไปไม่ได้เลย บทบาทของ สสส. เราใช้วิธีการประสานภาคีเครือข่ายให้ทุกภาคส่วนมาสะท้อนปัญหาและหาทางออกร่วมกัน โดยมองเป้าหมายเป็นสำคัญ นอกจากนี้สสส.ยังเน้นการส่งต่อองค์ความรู้ ทำความเข้าใจ ชี้ให้เห็นปัญหา แล้วมองถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ ถ้าปัญหาฝุ่น PM2.5 ลดลง ผมเชื่อว่าทุกฝ่ายได้ประโยชน์หมด การท่องเที่ยวคึกคัก ธุรกิจจะเดินหน้าได้เต็มที่ สำนักงานเขตรับภาระน้อยลง ไม่ถูกตำหนิ สุขภาพของพวกเราจะดีขึ้น เพราะฉะนั้นเราจึงใช้กลยุทธ์เรื่องประชาชนจะได้ประโยชน์อะไร ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมมากขึ้น หลายคนรู้ว่า กลุ่มคนที่ต้องกังวลคือ กลุ่มเสี่ยงต่างๆ ทั้ง ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย เด็กเล็ก กลุ่มที่มีความเปราะบางด้านสุขภาพเหล่านี้ที่จะต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางอากาศที่ไม่ดี เพราะฉะนั้นบทบาทของ สสส. คือเรายังคงมุ่งเน้นไปการส่งเสริมสุขภาพอย่างเข้มข้น
จะทำยังไงให้ข้อมูลวิชาการและรายงานต่างๆ ที่มีอยู่เยอะมาก ช่วยสร้างความเข้าใจให้กับคนทั่วไปได้
ประเทศเรามีงานวิชาการเรื่องมลพิษทางอากาศเยอะมาก ปัญหาคือไม่มีจุดตรงกลางที่รวมกันไว้ เพราะฉะนั้นทำยังไงให้มีศูนย์ตรงกลางในการเข้ามาแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ เพราะหลายครั้งข้อเท็จจริงต่างๆ เราต้องการ Verify Fact ข้อเท็จจริง และองค์ความรู้ เพื่อไปขับเคลื่อนในเชิงพื้นที่ต่อ อย่างหลายครั้งจะเกิดคำถามว่าหน้ากากแบบไหนที่ปลอดภัยที่สุด หรือหน้ากากที่ใช้เพื่อป้องกันฝุ่น PM2.5 มันควรจะเป็นยังไง เครื่องฟอกอากาศแบบไหนที่ช่วยให้อากาศสะอาดได้จริงๆ เหล่านี้เป็นประเด็นที่ท้าทายมากๆ ในการทำงานกับข้อเท็จจริง เพื่อให้ใช้ได้จริง และเกิดประโยชน์กับประชาชนทุกคน
การเกิดขึ้นของกฎหมายอากาศสะอาด ที่มาจากภาคประชาชนเอง สะท้อนให้เห็นอะไร
หลายประเด็นต้องการข้อมูลมาเติมช่องว่างต่างๆ เพราะเรื่องฝุ่น PM2.5 เป็นเรื่องใหม่มาก ประเทศไทยเพิ่งตื่นตัวสัก 3-4 ปีที่ผ่านมานี้เอง ในโลกโซเชียลฯ ที่มีแรงฮึกเหิมในการขับเคลื่อนต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่ดีมาก การผลักดันกฎหมายอากาศสะอาดที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า ยิ่งมีคนมองเห็นถึงสิทธิของการอยู่ในอากาศสะอาด ก็ยิ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะฉะนั้นทำยังไงให้เกิดงานวิชาการที่ใช้ได้จริง สามารถขับเคลื่อนเชิงนโยบายต่างๆ ที่สร้างการรับรู้ว่าปัญหามันเกิดขึ้นจริง แล้วเราจะขับเคลื่อนกันยังไง แก้ไขกันอย่างไร เพื่อให้เกิดผลสำเร็จ ซึ่งพูดได้อย่างเปิดอกเลยว่า ส่วนหนึ่ง สสส. และภาคี ทำงานด้วยกัน เพื่อที่จะขับเคลื่อนตัวกฎหมายนี้ ซึ่งเน้นไปที่การจัดการการดูแลสุขภาพ โดยไม่ได้มองไปถึงเรื่องแหล่งกำเนิดเพียงอย่างเดียว
มองอย่างไรถึงกระแสที่เกิดขึ้น ที่อาจจะไม่ได้รับความสนใจมาก เมื่อเทียบกับเรื่องโควิด-19 แต่ก็ยังมีกระแสคลื่นใต้น้ำอยู่
นั่นคือเสียงเตือนจากประชาชนว่า ตอนนี้เขากำลังเจอปัญหาอะไรอยู่ ถ้ามีภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม หรือภาคการศึกษามาช่วย เราจะสามารถแก้ปัญหาได้ เพราะฉะนั้นในบทบาทของ สสส. เราแฮปปี้มากที่จะให้ความสำคัญกับการสร้างพลังชน พลังคน และพลังกลุ่มองค์กร เพื่อให้เขาสามารถปกป้องสุขภาพตัวเองได้ แล้วเราพร้อมสนับสนุนให้ทุกคนตื่นตัว สสส. จะพูดเสมอว่า Active Citizen ประชาชนเป็นพลเมืองตื่นรู้ สุดท้ายพวกเราต้องตื่นรู้ เรียนรู้ที่จะเท่าทันสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
การสร้าง Active Citizen ที่ว่า ทุกคนสามารถเริ่มต้นได้อย่างไร
ทุกคนสามารถเริ่มต้นง่ายๆ ยกตัวอย่างแนวคิดเรื่อง Green Product คือทำยังไงเราถึงจะบริโภคสินค้าและบริการที่ปนเปื้อนหรือเป็นจุดกำเนิดมลพิษให้น้อยที่สุด เพราะผู้บริโภคอย่างพวกเรามีพลังมากนะ ถ้าคนจำนวนมากไม่อุดหนุนผลิตภัณฑ์ที่มาจากการเผา ผลิตภัณฑ์ที่ทำลายสิ่งแวดล้อมหรือใช้สารเคมี จนกระทั่งก่อให้เกิดมลพิษกับลูกหลานเรา จะช่วยได้เยอะมาก เพราะพลังมวลชนและพลังผู้บริโภคสำคัญมาก จะทำยังไงให้รู้สึกว่าอนาคตอยู่ในมือพวกเรา ไม่ใช่อยู่ในมือของ สสส. กรมควบคุมมลพิษ หรือกระทรวงต่างๆ
แต่หลายคนก็ยังรู้สึกว่าปัญหามลพิษทางอากาศที่มีผลต่อสุขภาพ เป็นสิ่งที่เขาไม่ได้เป็นผู้ก่อขึ้น
หลายคนอาจคิดว่ามันไกลตัวไป ทำให้เขารู้สึกไม่เชื่อมโยงกับปัญหา รู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องของฉันหรอก แต่สุดท้ายมันเป็นเรื่องของเราหมด ทั้งในเชิงป้องกัน สนับสนุน แก้ไข หรือการจัดการปัญหา ทุกคนทำได้ อย่าเพิ่งไปมองคนอื่น ชวนมามองตัวเองก่อน ทำยังไงเราถึงจะใช้น้ำมันน้อยลง ใช้ขนส่งมวลชนมากขึ้น ทำยังไงเราถึงจะซัพพอร์ตสินค้าหรือบริการที่เขาจริงใจในการแก้ปัญหาเรื่องมลพิษต่างๆ หรือสนับสนุนชื่นชมคนทำงานรักษาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งทำยังไงเราถึงจะคอยรักษาพลังโซเชียลฯ และเป็นกระบอกเสียงที่ไม่แผ่ว ในการกระตุ้นเตือนไปยังคนที่เกี่ยวข้องว่าปัญหาด่วนมันรออยู่ อย่าเพิกเฉย อย่านิ่งเฉย ให้เขารู้สึกว่าเขาต้องไม่หยุดในการขับเคลื่อน ควรจะมีระบบในการรับเรื่องร้องเรียน เพราะเป็นปัญหาสำคัญ ที่ประชาชนสามารถทำเป็น Active Citizen ร้องเรียน จัดการ และเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด
ในระยะสั้นและระยะยาว สสส. มีแผนในการทำงานด้านนี้ต่อไปอย่างไรบ้าง
ถ้าพูดถึงการสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขมลพิษทางอากาศ รวมไปถึงมลพิษจากขยะ และมลพิษอุตสาหกรรม ซึ่งอยู่ในเป็นยุทธศาสตร์ 10 ปี (2565 – 2574) ของ สสส. ประเด็นมลพิษจากสิ่งแวดล้อมเป็น 1 ใน 7 เรื่องหลักอยู่ในนั้น เพราะฉะนั้นจึงเป็น 10 ปีที่ สสส. ต้องทำงานอย่างเข้มข้นมากขึ้น สสส. แทนตัวเองว่าเป็นน้ำมันหล่อลื่นที่ช่วยให้การดำเนินงานเป็นไปได้อย่างคล่องตัว รวดเร็ว ตอบสนองความท้าทายอย่างทันท่วงที สำหรับแผนระยะสั้นเรามองไปถึงเรื่องการแก้ปัญหาสุขภาพคน สานพลังชุมชน พลังสังคมโดยการสร้างความรับผิดชอบ ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศลดลงผ่านการแก้ปัญหาเฉพาะจุด เช่น ลดการเผาในพื้นที่โล่ง ลดภาษีกับสินค้าจากโรงงานที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ สร้างงานวิชาการที่เข้มแข็ง พร้อมเร่งสื่อสารกับสังคม กระตุ้นให้ประชาชนรู้ว่าเขาจะใช้ชีวิตยังไงให้ปลอดภัย แล้วเขาจะมีส่วนร่วมในการสร้างกระแสสังคมได้ยังไงบ้าง ส่วนภาคนโยบายก็สำคัญ อย่างการผลักดันกฎหมายอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ ก็เป็นสิ่งที่ต้องประสานพลังความร่วมมือทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนให้ไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ