“ชั่วโมงยามแห่งความหนาวเหน็บ เด็กสาวขายไม้ขีดไฟนั่นอยู่ในมุมนั้น แก้มของเธอเรื่อเป็นสีชมพู ริมฝีปากน้อยๆ พรายยิ้ม ร่างของเธอพิงอยู่ที่กำแพง เสียชีวิตเพราะถูกแช่แข็ง ในค่ำคืนวันสุดท้ายของปีที่แล้ว”
อื้อหือ อ่านแล้วน้ำตาจะไหล ทำไมถึงได้เขียนเรื่องที่แสนเศร้าขมหัวใจออกมาขนาดนี้ เด็กหญิงตัวน้อยที่ยืนขายไม้ขีดไฟในช่วงเวลาแห่งความสุขของปี ปลายทางของเด็กหญิงคือการหนาวตายอยู่กลางท้องถนน เรื่องนี้เขียนให้เด็กอ่านไม่ใช่เหรอ เด็กๆ ควรจะได้อ่านเรื่องสวยงามสิ แต่ว่าไปเจ้างานเขียนสำหรับเด็กนี่แหละตัวดีเลย หลายๆ เรื่องเปิดมาก็พูดถึงตัวเอกที่เป็นกำพร้า ในเรื่องเกิดความตายขึ้นมากมายทั้งคน ทั้งสัตว์เลี้ยง ล่าสุดอนิเมชั่น Coco ก็พูดเรื่องโลกแห่งความตายอีก
หรือในที่สุดแล้ว โลกแห่งเรื่องราวสำหรับเด็กๆ ไม่จำเป็นต้องมีแต่รสหวาน แต่คือการที่เราค่อยๆ เปิดการเรียนรู้ ให้เด็กๆ ได้ค่อยๆ รับรู้และรับมือกับแง่มุมอันโหดร้ายของโลกใบนี้ โดยเฉพาะความตายอันเป็นธรรมดาโลก เป็นธรรมชาติของชีวิต
โลกของเด็ก กับโลกแห่งความจริง
บ้านเราก็ดูเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมที่อยากกีดกันเด็กๆ ออกจากเรื่องไม่สวยงามทั้งหลาย เราเชื่อว่าในเรื่องที่เด็กเสพควรความสวยงาม มีแต่เรื่องเชิงบวก แต่กลับกลายเป็นว่าความคิดแบบนี้อาจเป็นการทำร้ายเด็กทางอ้อม เพราะโลกนี้ไม่มีแต่สีลูกกวาด และการป้อนแต่ของรสหวานก็อาจทำให้เด็กไม่มีภูมิต้านทานต่อโลกและชีวิตที่ปนด้วยรสขมมากกว่ารสหวาน
รพินทร ณ ถลาง สนใจประเด็นเรื่องความตายในวรรณกรรมเด็กและชี้ให้เห็นว่าแท้จริงแล้ว ตัววรรณกรรมและงานเขียนสำหรับเด็กไม่ได้มีหน้าที่แค่ให้ความเพลิดเพลินเท่านั้น แต่วรรณกรรมยังทำหน้าที่ ‘บำบัดเยียวยา’ คือทำหน้าที่ฟื้นฟูปลอบประโลมจิตใจเด็กๆ ให้เข้มแข็งและยืนหยัดอยู่บนโลกแห่งความจริงอันโหดร้ายใบนี้ได้
แนวคิดเรื่อง ‘งานเขียนสำหรับเด็ก’ และการทำให้วรรณกรรมเด็กมี ‘ความโรแมนติก’ เป็นดินแดนแห่งความสดใส หลีกหนีออกจากโลกแห่งความจริงเป็นแนวคิดที่เพิ่งเกิดขึ้น หรือกระทั่งแนวคิดเรื่องความตายในฐานะปรากฏการณ์อันน่ากลัวก็เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดในโลกยุคใหม่ไม่นานมานี้
ก่อนหน้านี้ความตายอาจไม่ใช่การสิ้นสุดที่น่ากลัว โดยเฉพาะในยุคสมัยที่เรายังตั้งมั่นในศาสนา ความตายคือการกลับไปสู่พระเจ้า กลับไปสู่ห้วงสวรรค์ กาลเวลาในกรอบความคิดเมื่อก่อนไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ไม่ใช่จุดดับสูญสุดท้ายของชีวิต ยิ่งในสมัยยุคกลางหรือยุควิคตอเรียน สมัยที่การแพทย์และอายุขัยของเราแสนสั้นและตายกันได้ทุกเมื่อไม่ว่าจะด้วยโรคภัย ด้วยสงคราม และความแร้นแค้นอื่นๆ วรรณกรรมหรือเรื่องเล่าสำหรับเด็กในยุคนั้นจึงเต็มไปด้วยความตาย เพราะความตายนั้นแสนจะใกล้ตัว
ยังจำการสูญเสียแรกในชีวิตได้ไหม เราค่อยๆ รับรู้ความตายอย่างไร
ความตายเป็นเรื่องซับซ้อนแม้แต่กับคนโตๆ อย่างเรา การจากพรากประกอบขึ้นด้วยความรวดร้าวและการพยายามทำความเข้าใจ จริงๆ แล้ว ความตายไม่เคยไกลตัวเลย ตอนเด็กๆ เราต่างมีความทรงจำอันเลือนราง เราต่างมีความทรงจำของการสูญเสีย ต่างเคยเห็นหยดน้ำตา ต่างเคยตั้งคำถามถึงการจากไปของใครคนหนึ่งที่ไม่มีวันหวนมา เรา-จากเด็กน้อย ค่อยๆ เรียนรู้และรับมือกับการสูญเสียอย่างไม่มีวันกลับได้อย่างไร
งานศึกษาเรื่องความตายกับจิตวิทยาเด็ก ‘The Child’s Theories Concerning Death’ ของ Maria Nagy เผยแพร่ในปี 1948 บอกว่าเด็กในแต่ละช่วงวัยมีการรับรู้ความตายที่แตกต่างกัน ความตายในชีวิตจริงย่อมส่งผลกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกและพัฒนาการของเด็กๆ Nagy ชี้ให้เห็นว่าเด็กๆ ค่อยๆ เรียนรู้ที่จะรับรู้ความตายอย่างเป็นขั้นเป็นตอนตามช่วงวัย
ในวัยต่ำกว่า 6 ขวบ เด็กๆ จะมองว่าความตายเป็นเพียงภาวะชั่วคราว ตายแล้วก็ฟื้นขึ้นได้ ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับตัวเด็กมาก เมื่อเด็กอายุได้ราว 6-9 ขวบ เด็กๆ จะมองความตายในฐานะ ‘รูปลักษณ์’ เป็นมุมมองที่มีจินตนาการเข้ามาเกี่ยวข้องเช่นการมีนางฟ้าบนสวรรค์ เมื่อเด็กอายุได้ 10 ปี เด็กจึงเริ่มเข้าใจอย่างสมบูรณ์ว่าความตายคือจุดสิ้นสุดของชีวิตไม่สามารถฟื้นคืนได้ เด็กหลายคนเริ่มมีความคิดเชิงปรัชญาเกี่ยวกับชีวิตและความตายในช่วงนี้
วรรณกรรมและการ์ตูน จึงเป็นเสมือนโลกจำลองที่ตระเตรียมเด็กๆ ให้กับโลกที่ขมขื่นใบนี้ ในโลกน่ารักๆ ปะปนไปด้วยเรื่องเติมเต็มจินตนาการสอดแทรกไว้ด้วยประเด็นหนักๆ โลกแห่งความตายและการตายในที่สุดนำมาซึ่งการขบคิดและค่อยๆ สร้างความเข้าใจและความคุ้นเคยให้กับเด็กๆ โลกแห่งความตายจากความตายในนิทาน เมื่อหนูน้อยขายไม้ขีดไฟสิ้นลมหายใจ ความตายของเธอก็ยังสวยงาม คือการคืนกลับไปสู่อ้อมอกคุณยายบนสวรรค์ โลกหลังความตายใน Coco เป็นโลกที่ไม่ใช่จุดสุดท้าย แต่คิดจุดเริ่มต้นของการผจญภัยและการกลับไปเรียนรู้ เรื่อยมาจนถึงงานเขียนที่พูดถึงความตายและการรับมือความตายอย่างเป็นรูปธรรม-การสูญเสียสมาชิกในครอบครัวหรือคนใกล้ตัวจริงๆ
โลกเราก็เป็นแบบนี้ ประกอบขึ้นปนเประหว่างความงดงามและความน่าชัง เราไม่อาจแยกเด็กๆ หรือแม้แต่ตัวเราเองออกจากความไม่สวยงามต่างๆ การเรียนรู้ที่จะรับรู้และเข้าใจแง่มุมขมปร่าในชีวิตจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น และเรื่องบันเทิง ไม่จำเป็นต้องมีแต่แง่มุมอันเริงร่าเท่านั้น แม้ว่าเรื่องนั้นจะถูกออกแบบมาเพื่อเด็กๆ ก็ตามที
อ้างอิงข้อมูลจาก
Advent of Denial of Death in Children’s Literature by Marvin Tyler Sasser