คุณเคยสงสัยไหมว่าทำไมเราถึงยอมอดทนต่อสิ่งแย่ ๆ ได้นานหลายชั่วโมง หลายวัน บางครั้ง.. ต่อให้เป็นปี เราก็ทนอยู่กับมันได้ คำตอบเป็นไปได้หลายทาง เราเข้าใจมันมากพอ เราแกล้งทำเป็นมองไม่เห็น หรือเป็นเพราะเราไม่มีทางเลือกอื่นกันแน่
เรื่อง ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ก็เช่นกัน พลอย ธรรมาภิรานนท์ ได้ให้ความเห็นในบทความ ‘สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำ : อะไรที่ไม่ปรากฏในข่าว‘ ว่า ความเหลื่อมล้ำตลอด 3 ทศวรรษ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปสักเท่าไหร่ ขณะที่ความยากจนลดลงมากกว่าครึ่งในช่วงเวลาเดียวกัน อย่างไรก็ตาม เรื่องของสถิติตัวชี้วัดต่าง ๆ สร้างความ ‘ฉงน’ ให้กับนักวิชาการไม่น้อย (อย่างน้อยก็ผม) เพราะโดยปกติแล้ว หากประเทศไม่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความยากจนจะลดได้จากการ ‘เปลี่ยนมือ’ ของทรัพยากรจากคนรวยมายังคนจน ซึ่งนั่นย่อมทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลงโดยอัตโนมัติ แต่ในกรณีของไทย ความเหลื่อมล้ำกลับอยู่ในระดับเดิม ไม่ว่าเศรษฐกิจไทยจะโตมากกว่า 10% ต่อปี ระหว่างปี พ.ศ. 2531 – 2534 และในปัจจุบัน ที่โตราว ๆ 3% ก็ตาม
นอกจากเรื่องของสถิติอันน่าเบื่อแล้ว (ผมก็เบื่อไม่น้อย เพราะไม่รู้ว่าข้อมูลมันเชื่อได้ขนาดไหน) สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ แล้วคนธรรมดาอย่างเราๆ รู้จักไหมว่า ‘ความเหลื่อมล้ำ’ หน้าตาเป็นอย่างไร และคิดอย่างไรกับความเหลื่อมล้ำ นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังนามว่า ศาสตราจารย์ Albert Hirschman อธิบายมุมมองของสังคมเรื่องความเหลื่อมล้ำไว้เมื่อ 45 ปีที่แล้ว (ปี ค.ศ. 1973) ว่า “เราอดทนต่อความเหลื่อมล้ำ ก็เพราะเราคาดหวังว่าวันหนึ่ง ชีวิตของเราจะดีขึ้นมาบ้าง” โดย Hirschman ได้เปรียบเทียบเรื่องดังกล่าวกับสภาพรถติดในอุโมงค์ กลายเป็นศัพท์เศรษฐศาสตร์เท่ ๆ ว่า ‘Tunnel Effect’
ลองจินตนาการถึงช่วงตอนเช้าในกรุงเทพมหานคร (จินตนาการไม่ยากใช่ไหม?) มีประชุมที่ศูนย์วัฒนธรรม 9 โมงเช้า ขณะนี้ เรากำลังติดอยู่ในอุโมงค์บนถนนรัชดา แยกห้วยขวาง ทุกคนต่างเบื่อหน่ายกับการทำอะไรไม่ได้ เหยียบเบรกจนเมื่อยเท้า เล่นไลน์ก็แล้ว เล่นเกมก็แล้ว ใจจดใจจ่อว่าเมื่อไหร่จะได้ไปสักที ทันใดนั้นเอง คุณสังเกตเห็นว่า รถคันที่อยู่เลนขวาคันข้างๆ เริ่มขยับไปข้างหน้า ทีละนิด ทีละนิด วินาทีแรกที่คุณคิดในใจคือ “ใกล้จะได้ไปแล้วโว้ย” คุณอาจจะเริ่มเปิดเพลงของสายลมและสองเราของพี่เบิร์ด จินตนาการถึงการจิบเบียร์เย็นๆ ริมชายหาดชะอำ คุณรู้สึกถึงพลังบวกและลมเย็นๆ ในรถ ทุกอย่างมันช่างดีไปหมด หรือคุณอาจจะเผลอจัดท่วงท่าในการขับรถ นั่งหลังตรง พร้อมเหยียบคันเร่ง คุณรู้สึกดีเพราะคุณคิดว่า อีกไม่นาน คุณก็จะได้ไปแล้ว
แต่ทว่า จนแล้วจนรอด มีแค่รถเลนขวาเท่านั้นที่สามารถไปได้ ขณะที่รถคุณยังอยู่ที่เดิม เพลงก็ฟังวนไปวนมาอยู่หลายรอบแล้ว คุณยังไม่ได้ไปสักที ทันใดนั้น คุณก็จะเริ่มรู้สึกไม่แฟร์ โทษฟ้า โทษดิน โทษโชคชะตาที่ทำให้มาอยู่เลนซ้าย “รู้แบบนี้ ไม่น่าปาดมาอยู่เลนซ้ายเลย” หรือคุณเริ่มถามตัวเองว่า “ทำไมไม่ได้ไปวะ” “ติดอะไรอยู่เนี่ย” นี่คือคำถามซึ่งสะท้อนความสับสนในตัว มันคืออาการตอบสนองเมื่อคุณไม่ได้ในสิ่งที่คุณต้องการ (คาดหวังแล้วผิดหวัง มันเจ็บ) บางครั้ง ไอเดียแปลกๆ ก็ผุดขึ้นมา เช่น คุณอาจจะชะโงกหน้าไปดูว่ารถคันข้างหน้าเกิดหลับหรือเปล่า อาจจะเสิร์ชในทวิตเตอร์ว่า ‘แยกรัชดา’ เพื่อดูว่ามีใครทวิตรายงานสถานการณ์รถติดบ้าง นานเข้า เมื่อคุณทนไม่ไหว และเจ้านายก็ไลน์มาว่า “อยู่ไหนแล้ว” คุณลงเอยด้วยการฝ่าฝืนกฎจราจรด้วยการเปลี่ยนเลนกลางอุโมงค์มันซะเลย
ถ้าคุณคุ้นเคยเรื่องข้างต้น แปลว่า เราคือเพื่อนกัน ไม่ใช่! แปลว่า คุณเข้าใจไอเดียที่ง่ายแต่ลึกซึ้งของ Hirschman แล้ว ว่าทำไมเราถึงยอมทนต่อความเหลื่อมล้ำ
Hirschman อธิบายว่า การขยับของรถคันข้างๆ มันก็เหมือนเวลาที่ประเทศมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเยอะๆ คุณเจอแต่ข่าวดีเต็มไปหมด คุณอ่านหนังสือพิมพ์แล้วพบว่า รัฐบาลออกมาประกาศว่า GDP โตขึ้น 10% การส่งออกสูงที่สุดในรอบ 4 ปี นักลงทุนแห่เข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษกันอย่างหนาแน่น รถไฟฟ้าความเร็วสูงกำลังจะมา สนามบินใหม่กำลังจะสร้าง เงินเดือนครูกำลังจะขึ้น นี่คือข่าวดีทางด้านเศรษฐกิจที่ทำให้หัวใจคุณพองโต แม้ว่ามันจะไม่เกี่ยวอะไรกับคุณโดยตรง (หากเกี่ยวโดยตรง คุณคือรถในเลนขวาที่ได้ขยับไปแล้ว) และแม้ว่าคุณจะยังอยู่ที่เดิม ในรถคันเดิม ออฟฟิศเดิมๆ โต๊ะทำงานรกๆ เหมือนเดิม เงินเดือนเท่าเดิม กินกะเพราไก่ไข่ดาวตอนเที่ยงเหมือนเดิม คุณก็ยิ้มออก โลกสวย และมีทัศนคติที่ดีต่อโลกใบนี้ คุณพร่ำบอกตัวเองว่า “เฮ้ย..เดี๋ยวบอสก็ขึ้นเงินให้เราบ้างแหละ” หรือ “เดี๋ยวออเดอร์ใหม่ๆ ก็เข้ามา” หรือท้ายที่สุด คุณก็กอดคอกับเพื่อนร่วมงานร้องเพลงอย่างมีความสุข… “ต้องมีสักวัน…ต้องมีสักวัน”
เมื่อไหร่ก็ตามที่รายได้ของคนกลุ่มหนึ่งในระบบเศรษฐกิจขยายตัว ขณะที่อีกกลุ่มเท่าเดิม ความเหลื่อมล้ำก็มีโอกาสเพิ่มสูงขึ้น ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ คือ ความแตกต่างของรายได้ของคนในสังคม ในยามที่เศรษฐกิจโต ความเหลื่อมล้ำในระยะแรกมักจะเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุผลที่ว่า คนที่พร้อมก่อนมักได้ก่อน หรือนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลมันดันไปเอื้อให้กลุ่มนายทุนหรือกลุ่มคนรวยได้ประโยชน์ (จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ดี) ดังนั้น ในช่วงแรก เราก็มักจะ ‘อดทน’ กับความเหลื่อมล้ำนี้ได้เสมอ
แต่จนแล้วจนรอด หากเรายังไม่ดีขึ้นสักที รถของเรายังอยู่ที่เดิม เราจะเริ่มรู้สึกไม่แฟร์ มีการตั้งคำถามต่อนโยบายของรัฐบาลว่าทำไปเพื่อใคร บางครั้ง คุณอาจรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมเพราะรู้สึกว่าสังคมไม่ได้ให้อะไรกับคุณเลย คุณอาจรู้สึกว่าถูกทิ้งให้อยู่ในโลกใบเดิม ทั้งๆ ที่คนรอบข้าง ได้ไปเที่ยวไหนต่อไปแล้ว สำหรับการแสดงออก คุณอาจจะเริ่มก่นด่ารัฐบาลผ่านทางเฟซบุ๊คเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ หรือลึกๆ ก็อาจจะเกลียดรัฐบาลไปเลย
Hirschman อธิบายต่อว่า ในสังคมที่แตกแยกอยู่แล้ว ช่วงเวลาของการอดทนต่อความเหลื่อมล้ำจะยิ่งสั้นลง มันก็เหมือนการผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งอาจลงเอยด้วยการเคลื่อนไหวทางสังคมที่รุนแรง หรือการขยายตัวของทัศนคติลบๆ ต่อรัฐบาล
ในทัศนะของผู้เขียน ความเหลื่อมล้ำในระยะแรกของการพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นอะไรที่หลีกเลี่ยงได้ยาก สุภาษิตที่ว่า ‘ใครมือยาว สาวได้ สาวเอา’ อาจจะฟังดูโหดร้ายแต่ก็ไม่ต่างจากความจริงเสียเท่าไหร่ คนที่มีเบ็ดและเหยื่อที่โอชะกว่า ย่อมหาปลาได้มากและเร็วกว่า ทางออกของเรื่องนี้ คือ การที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับประเด็น ‘Inclusive Growth‘ ให้มากขึ้น ทันทีที่มีโครงการพัฒนาต่างๆ อย่าฟังแต่เสียงยกยอปอปั้นของนักลงทุน แต่ให้ฟังเสียงของชาวบ้านให้มากขึ้น ว่าเขารู้สึกและต้องการอะไร นั่นไม่เพียงทำให้คนในท้องถิ่นรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม แต่ยังทำให้เขาเข้าใจวิธีการและนโยบายของรัฐบาลมากยิ่งขึ้น
อุตสาหกรรมไม่สามารถยั่งยืนตลอดรอดฝั่งได้ หากเกษตรกรรมในประเทศอ่อนแอ
ลองคิดภาพการที่ราคาสินค้าเกษตรสูงเนื่องจากรัฐบาลไม่ให้ความสำคัญกับนโยบายเกษตรมากพอ ผู้บริโภคที่ไม่สามารถบริโภคทีวี ตู้เย็นได้ แทนข้าวได้ คนที่ได้รับความเดือดร้อนจากราคาของสินค้าเกษตรไม่ได้มีแค่ชาวสวน แต่เป็นผู้บริโภคทุกคน รัฐบาลไม่สามารถช่วยพยุงราคาของสินค้าเกษตรไปได้ตลอดกาล หากคิดจะทำเช่นนั้น ก็ขอให้รับทราบไว้ว่า มันไม่จีรังยั่งยืน เหมือนการซุกปัญหาไว้ใต้พรม ท้ายที่สุด เมื่อรายได้ต้องแบ่งมาซื้อของบริโภคประจำวันมากขึ้น ก็ทำให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมลดลงอยู่ดี
ระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันมีความเกี่ยวข้องเกี่ยวโยงกันมากขึ้น การให้ความสำคัญทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียมมีความสำคัญ มันหยดยุคที่ใครจะมาก่อน-ได้ก่อนแล้ว แต่มันคือยุคที่เราต้องไปข้างหน้าพร้อมกัน คนที่มีขาและแขนที่แข็งแรง ต้องช่วยกันดึงคนที่อยู่ข้างหลังด้วย
อย่ารอ…จนความอดทนของรถเลนซ้ายหมดลง
Text by วรรณพงษ์ ดุรงคเวโรจน์
อ้างอิง
Hirschman, A. (1973). The changing tolerance for income inequality in the course of economic development. World Development, vol. 1(12), 29-36.