“พวกฝักถั่ว นายทุนขุนศึก ที่ใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจ”
คือข้อกล่าวหาอันร้ายแรงของ ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ต่อการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านต่างๆ 6 ด้าน รวม 70 คน ที่สะท้อนความเชื่อของคนบางกลุ่ม ซึ่งมองว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ชอบแต่งตั้งแต่ ‘คนใกล้ชิด’ ให้เข้ามาใช้อำนาจไม่ว่าจะในทางบริหาร-นิติบัญญัติ จนเกิดปรากฎการณ์ ‘คนหน้าซ้ำ’ ไปนั่งเป็นคณะกรรมการชุดต่างๆ น้อยครั้งมากที่จะแชร์อำนาจให้ ‘คนแปลกหน้า’
The MATTER ใช้เวลาหนึ่งสัปดาห์ประมวลข้อมูลที่ได้จากคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติชุดต่างๆ นับแต่ คสช. เข้ามีอำนาจ ปี 2557 – ปัจจุบัน เพื่อดูว่า ‘ความเชื่อ’ ที่ว่า มีแนวโน้มจะเป็น ‘ความจริง’ มากน้อยแค่ไหน
ซึ่งจากข้อมูลที่ได้ แม้จะไม่ได้ลงลึกไปถึงเหตุผลที่แต่ละคนยอมรับคำเชิญจาก คสช. ให้เข้ามาทำงานว่าเป็นไปด้วยวัตถุประสงค์อะไร (เช่นบางคนอาจให้เหตุผลว่า เข้ามาทำงานเพื่อชาติ ไม่ได้ทำงานเพื่อ คสช.) แต่ก็ทำให้เห็นภาพบางอย่าง อาทิ
– อาชีพใดจะมีโอกาสถูก คสช.ดึงเข้ามาช่วยมากที่สุด?
– ที่เขาว่ามีแต่คนหน้าซ้ำๆ เป็นจริงแค่ไหน?
– ใครหน้าซ้ำถูกเชิญให้เข้ามาช่วยงานบ่อยครั้งที่สุด?
– ผู้มีอำนาจยุคปัจจุบันได้เข้าไปใช้อำนาจผ่านคณะกรรมการชุดใดบ้าง?
ลองเข้ามาดูกันว่า ‘เครือข่ายอำนาจ’ ในยุค คสช. มีหน้าตาเป็นอย่างไร
1. จำนวนคนในเครือข่าย = 845 คน
จากการตรวจสอบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ รวม 9 ชุด ประกอบด้วย 1.คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 2.คณะรัฐมนตรี (ครม.) 3.สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 4.สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) 5.สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) 6.คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ) 7.คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) 8.คณะกรรมการปฏิรูปประเทศดด้านต่างๆ 11 ด้าน รวมถึงตำรวจและการศึกษา และ 9.คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ/คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านต่างๆ
พบว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 1,121 รายชื่อ
แต่เมื่อหักรายชื่อที่ซ้ำกันออกไป จะเหลือเพียง 845 รายชื่อ
[ หมายเหตุ: ไม่รวมถึงการแต่งตั้งข้าราชการเมือง อาทิ ที่ปรึกษา เลขานุการ ผู้ช่วยเลขานุการ ฯลฯ หรือบอร์ดรัฐวิสาหกิจต่างๆ ซึ่งข้อมูลมีจำนวนมหาศาลและยิบย่อยเกินกว่าจะนำมาประมวลได้ ]
2. อาชีพใดมีโอกาสถูกเลือกมากที่สุด = ทหาร
“ทหาร” เป็นคำตอบที่หลายคนน่าจะพอเดาได้อยู่แล้ว โดยจาก 845 คน พบว่ามาจากอาชีพทหาร ถึง 245 คน (29%)
ตามมาด้วย “ข้าราชการ” ซึ่งให้หมายรวมถึง ข้าราชการ อัยการ ไปจนถึงศาล ที่ 233 คน (28%) และ “เอกชน” อีก 100 คน (12%)
ส่วนอาชีพอื่นๆ ก็ลดหลั่นกันไป “อาจารย์” 90 คน (11%) “นักการเมือง” ทั้งท้องถิ่น/ระดับชาติ 63 คน (7%) “ตำรวจ” 37 คน (4%) “นักกฎหมาย/ทนายความ” 20 คน (2%) “นักวิชาการ” 18 คน (2%) “สื่อมวลชน” 15 คน (2%) “เอ็นจีโอ” 14 คน (2%) และ “อื่นๆ” อีก 10 คน (1%)
3. มีคนหน้าซ้ำมากจริงหรือ = หนึ่งในสี่ ใครถูกเลือกบ่อยที่สุด = มีอยู่ 5 คน
จากทั้ง 845 คน มีคนที่รับตำแหน่งมากกว่าหนึ่งคณะ พูดง่ายๆ ว่า “หน้าซ้ำ” ถึง 218 คน คิดเป็น 26% หรือกว่าหนึ่งในสี่
โดยคนที่รับตำแหน่งมากที่สุด “ห้าคณะ” ได้แก่ กอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารกรุงเทพ ที่เป็นทั้ง สปช. / สปท. / กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ / กรรมการปฏิรูปประเทศ / กรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ
รองลงมา “สี่คณะ” มี 4 คน ประกอบด้วย
– คำนูณ สิทธิสมาน อดีต ส.ว.สรรหา ที่เป็นทั้ง สปช. / สปท. / กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ / กรรมการปฏิรูปประเทศ
– นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่เป็นทั้ง สปช. / สปท. / กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ / กรรมการปฏิรูปประเทศ
– พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช อดีต ส.ว.สรรหา ที่เป็นทั้ง สปช. / สปท. / กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ / กรรมการปฏิรูปประเทศ
– พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.คนปัจจุบัน ที่เป็นทั้ง คสช. / สนช. / กรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) / กรรมการยุทธศาสตร์ชาติ
ส่วน “สามคณะ” มี 47 คน และ “สองคณะ” มี 166 คน และ “คณะเดียว” อีก 627 คน
4. บิ๊ก คสช. นั่งอยู่บนเก้าอี้ตัวใดบ้าง = ไม่มากอย่างที่คิด เพราะรัฐธรรมนูญห้ามไว้
เนื่องจากรัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับปี 2557 ได้กำหนดข้อห้ามเอาไว้ว่า คนที่มาเป็น ครม. จะไม่สามารถไปเป็น สนช. หรือ สปช. หรือ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญในเวลาเดียวกันได้ ทำให้บรรดาบิ๊ก คสช. อาจไมได้นั่ง ‘ควบหลายเก้าอี้’ อย่างที่หลายๆ คนคาดคิด
หากนับเฉพาะผู้มีที่ลงนามในประกาศยึดอำนาจของ คสช. เมื่อปี 2557 ทั้ง 5 คน ก็จะพบว่า แต่ละคนไม่ได้นั่งทำงานบนเก้าอี้ตัวเดียว
– พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีต ผบ.ทบ. (ควบ 3 เก้าอี้) นายกรัฐมนตรี / หัวหน้า คสช. / ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ
– พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร อดีต ผบ.ทหารสูงสุด (ควบ 2 เก้าอี้) รองนายกรัฐมนตรี / รองหัวหน้า คสช.
– พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย อดีต ผบ.ทร. (ควบ 2 เก้าอี้) รองนายกรัฐมนตรี / รองหัวหน้า คสช.
– พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง อดีต ผบ.ทอ. (ควบ 3 เก้าอี้) รองนากยรัฐมนตรี / รองหัวหน้า คสช. / กรรมการยุทธศาสตร์ชาติ
– พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว อดีต ผบ.ตร. )ควบ 2 เก้าอี้) รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ / รองหัวหน้า คสช.
ขณะที่ บิ๊ก คสช.คนสำคัญอื่นๆ ก็นั่งควบหลายเก้าอี้เช่นกัน อาทิ
– พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ (ควบ 3 เก้าอี้) เป็นทั้ง รองนายกฯ / ประธานคณะที่ปรึกษา คสช. / กรรมการยุทธศาสตร์ชาติ
– พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา (ควบ 3 เก้าอี้) เป็นทั้ง รมว.กระทรวงมหาดไทย / รองประธานคณะที่ปรึกษา คสช. / กรรมการยุทธศาสตร์ชาติ
– สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ (ควบ 3 เก้าอี้) เป็นทั้ง รองนายกฯ / ที่ปรึกษา คสช. / กรรมการยุทธศาสตร์ชาติ
– วิษณุ เครืองาม (ควบ 3 เก้าอี้) เป็นทั้ง รองนายกฯ / ที่ปรึกษา คสช. / กรรมการยุทธศาสตร์ชาติ
5. ใครมีโอกาสกลับมาร่วมอยู่ในเครือข่ายอำนาจ ‘หลังเลือกตั้ง’ บ้าง = ที่ควรจับตา คือ ส.ว.แต่งตั้ง
เอาเข้าจริงค่อนข้าง ‘เปิดกว้าง’
เพราะนอกจาก กรธ. ที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 กำหนดว่า ‘ห้ามกลับมาดำรงตำแหน่งทางการเมือง’ เป็นเวลา 2 ปี ก็มีเพียงคนที่อยากลงสมัคร ส.ส.เท่านั้น ที่ต้องลาออกภายหลังรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ 90 วัน (มี สปท. ลาออกเพื่อเตรียมไปลงเลือกตั้งกว่า 20 คน)
แต่ที่หลายฝ่ายจับตา คือ ‘ส.ว.แต่งตั้ง’ ที่หัวหน้า คสช. จะเป็นผู้เลือกมาทั้งหมด 244 คน รวมกับ ผบ.เหล่าทัพอีก 6 คน ซึ่งจะมีอำนาจมหาศาล ทั้งร่วมโหวตเลือกนายกฯ ตลอด 5 ปีของวาระการดำรงตำแหน่งได้ และสามารถติดตามให้รัฐบาลชุดหน้าต้องปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งจัดทำขึ้นในรัฐบาล คสช.
ฝ่ายการเมืองจึงเชื่อว่า หลายคนในเครือข่ายอำนาจยุคปัจจุบัน พยายามทำผลงานให้ ‘เข้าตา’ บิ๊ก คสช. โดยหวังจะได้กลับมาเป็น ส.ว.แต่งตั้ง จนเป็นที่มาของวิวาทะ “ไอ้ห้อย-ไอ้โหน” และ “ขอเลือกเลียคนดี” ระหว่างนักการเมืองค่ายประชาธิปัตย์ กับ วันชัย สอนศิริ ผู้ถูกแต่งตั้งให้นั่ง 3 เก้าอี้ในยุค คสช. ทั้ง สปช. สปท. และกรรมการปฏิรูปประเทศ