เป็นเด็กนักเรียนสมัยนี้ต้องเจอกับอะไรมากมาย ยิ่งข่าวช่วงหลังๆ นี้ก็มีแต่ประเด็นโหดๆ โดนแปะป้ายประจานว่าไม่จ่ายค่าเทอม ไหนจะโดนกล้อนผมบ้างล่ะ รวมไปถึงถูกทำโทษแบบเกินขอบเขต โดนครูสั่งให้ถอดเสื้อชั้นในเพราะทำไม่ถูกกฎ
มันเลยกลายเป็นคำถามถึงแนวทางปฏิบัติในโรงเรียนว่าจุดที่เหมาะสมมันอยู่ตรงไหนนะ?
The MATTER ชวน เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตผู้เคยเคลื่อนไหวเรื่องการศึกษาอย่างเข้มข้น มาคุยกันถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น รวมถึงข้อเสนอที่เขาที่อยากให้ครูในโรงเรียนมองเด็กอย่างเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน
ตอนที่ขึ้นไปพูดปาฐกถาที่ ออสโลว์ เนติวิทย์เล่าถึงเรื่องที่ตัวเองเคยโดนครูกักบริเวณ มันเป็นยังไง เล่าให้ฟังหน่อย
ตอนนั้นอยู่ ม.2 ผมเคยเขียนหนังสือเกี่ยวกับโรงเรียนอยู่แล้ว มีวันนึงเห็นเพื่อนถูกไถผม และโรงเรียนก็มาตรวจทรงผมไม่เป็นเวลา คือมันเป็นปลายเดือนแล้ว เราก็รู้สึกว่าโรงเรียนใช้อำนาจเกินไปรึเปล่า เราคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญก็เลยเขียนเรื่องนี้ลงหนังสือ
ตอนนั้นเอาไปให้ครูดูก่อนด้วยนะ พอครูเห็นเข้าก็มีประกาศเสียงตามสาย เชิญนายเนติวิทย์ไปพบที่ห้องปกครองเลย เข้าไปก็โดนสอบสวนหลายชั่วโมง ขอไปกินข้าวก็ไม่ได้ ครูบอกว่าเราเป็นเด็กอันตรายมากที่ไปเขียนวิจารณ์เรื่องนี้ทำไม เขาบอกว่าถ้าบทความนี้ออกไปมันจะเป็นภัยต่อชื่อเสียงโรงเรียน แล้วก็เชิญผู้ปกครองเรามาพบด้วย
หลังจากนั้นครูหลายคนก็เปลี่ยนท่าทีต่อเราไปเลย เพราะเมื่อฝ่ายบริหารของโรงเรียนบอกว่าเราเป็นภัยต่อความมั่นคงของโรงเรียน คนอื่นก็เชื่อตามกัน
จากเด็กดีกลายเป็นภัย เพราะงานชิ้นเดียวงั้นเหรอ
เปลี่ยนไปอย่างน่าตกใจมาก ครูที่เคยให้กระดาษเราไปเขียนหนังสือก็มองว่าเราเป็นพวกหัวอันตราย ไม่ควรคบด้วย บางคนเราเคยเอาหนังสือไปให้ ก็ฉีกทิ้งหนังสือของเราด้วยนะ ครูที่สอนสังคมก็เอาบทความที่เราเขียนไปให้ห้องอื่นๆ วิจารณ์ว่าบทความเนติวิทย์เป็นยังไง มีคะแนนให้
เจอถึงขนาดนั้น มันทำให้แล้วตัวเราเปลี่ยนไปยังไงบ้าง
พอขึ้น ม.สาม เราก็มองโลกในแง่ดีขึ้น เราเข้าใจว่าปัญหาการศึกษามันสำคัญมากเลยนะ แล้วเราก็ได้รับผลกระทบ ผมเล่นบทเป็นเด็กดีมาตลอด เป็นเด็กที่ตั้งคำถามเป็นเวลาเพื่อให้ผู้ใหญ่เกรงใจนิดๆ หน่อยๆ เราก็จะได้แต้มได้รับการโปรโมท แต่ผมเห็นแล้วว่ามันไม่ถูกต้อง
ผมรู้สึกว่าระบบนี้มันกดขี่นักเรียน ผมต้องพูดเพื่อเป็นปากเป็นเสียงจริงๆ ก็เลยเปลี่ยนมาเป็นคนวิพากษ์วิจารณ์โรงเรียนแทน ผมเข้าใจมากขึ้นว่า ถ้าเรากล้าพูดความจริงสุดท้ายเราก็จะชนะ
แล้วคิดว่าระบบการศึกษามันเอื้อให้เด็กกล้าพูดความจริงมากขึ้นไหม
ไม่ค่อยกล้าพูดเท่าไหร่หรอก เหมือนเดิมเลย แค่มีการสื่อสารได้รวดเร็วขึ้น แล้วก็อัดคลิปวิดีโอโจมตีอาจารย์ ผมว่ามันไม่ค่อยช่วยแก้ปัญหาเท่าไหร่ โรงเรียนเองต้องมีพื้นที่ และนักเรียนก็ต้องพูดคุยตรงไปตรงมากับอาจารย์ ไม่อย่างนั้น มันก็จะจ้องจับผิดกันอย่างเดียว มันไม่พอ
เราต้องแก้ไขอีกหลายอย่าง ทั้งทัศนคติของครูและนักเรียน รวมถึงการอยู่ร่วมกันในโรงเรียน ผมเคยเสนอถึงผู้บริหารโรงเรียนแบบง่ายๆ เลย คืออยากให้ ผอ.ไปกินข้าวกับนักเรียนที่โรงอาหาร เพราะโรงอาหารผมมันสกปรกมาก แล้วอาหารก็ไม่ค่อยดี ทุกวันนี้ผ่านไปหลายปีเขายังไม่ทำเลย
ถ้าครูอาจารย์ได้กินข้าวร่วมกับนักเรียน เขาจะรู้เลยว่านี่มันสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่ตอนนี้ทุกอย่างมันแตกสลายไปหมด ความสัมพันธ์อันดีระหว่างครูกับนักเรียนมันไม่มี ผมคิดว่าต้องเอาความสัมพันธ์ตรงนี้มันกลับมา
เดี๋ยวนี้กลายเป็นว่าต้องอัดคลิปเพื่อต่อสู้กัน
ต้องเข้าใจว่ามันเป็นอาวุธของคนที่ไม่มีอำนาจต่อรอง เพราะเด็กไม่มีอำนาจต่อรองจริงๆ ไม่มีครูที่จะเป็นที่พึ่งคอยรับฟังปัญหา ไม่มีพื้นที่ให้แสดงออก ในทางกลับกัน เด็กก็กลัวว่า ถ้าเรื่องเงียบไปเด็กก็อาจถูกครูที่มีกรณีพิพาทจ้องเล่นงานกลับมาก็ได้ เพราะเขาเป็นคนที่ให้คุณให้โทษได้ ดังนั้น นักเรียนก็ไม่มีวิธีต่อรองเท่าไหร่ เขาเลยต้องไปสุดทาง แต่ทำอย่างนี้อย่างเดียวมันไม่พอ มันต้องมีช่องทางหรือวิธีการจัดการที่ให้ความเป็นธรรม ถ้าในโรงเรียนมีสิ่งเหล่านี้ เด็กก็ไม่จำเป็นต้องเล่นใหญ่ก็ได้
โชคดีที่ทุกวันนี้เรามีโซเชียลมีเดียให้เราเห็นอะไรได้มากขึ้น แต่ผมก็ไม่แน่ว่ามันอาจมีสิ่งที่หนักกว่านี้ก็ได้ในอดีตที่ครูทำกับนักเรียน แล้วนักเรียนไม่รู้ว่าสิ่งที่ครูทำมันผิด จนเห็นคนคอมเมนต์ในโซเชียล ก่อนหน้านี้เขาอาจจะไม่เคยเห็นมาก่อน การใช้อำนาจแบบนี้มันเป็นลักษณะหนึ่งของสังคมไทยเราด้วย เรามีระบบโซตัส ระบบอาวุโสที่เข้นข้นมากเป็นเวลายาวนาน ผมก็แปลกใจนิดนึงว่า ถึงแม้จะเป็นเวลาหลายปีแล้ว แต่มันก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขแบบจริงจัง
หรือเป็นเพราะเราคุ้นชินกับปัญหาไปแล้ว เลยไม่มองว่ามันคือปัญหาอีก
ส่วนหนึ่งคือคนที่เข้าไปมีอำนาจแล้ว เขาก็ไม่อยากเปลี่ยนด้วย คนที่อยากเปลี่ยนแปลงบางส่วนคงเจอแรงต้าน อีกส่วนคือตัวเองก็ได้รับผลประโยชน์กับระบบแบบนี้ด้วย ระบบมันอาจจะแย่ แต่เขาก็ได้รับประโยชน์และสามารถอยู่เหนือคนอื่นได้ สามารถพูดอะไรบางอย่างที่ผิดๆ ถูกๆ แล้วก็มีคนฟัง
เรื่องแบบนี้มันอาจจะเปลี่ยนแปลงไปได้นะ แต่คงไม่ใช่ในรุ่นเรา ไม่รู้เมื่อไหร่ คงต้องมีคนที่เสียสละจริงๆ
คิดว่าการใช้อำนาจเยอะๆ ส่งผลต่อตัวเด็กยังไงบ้าง
คงเป็นเหมือนที่หลายคนเคยบอกไว้ โรงเรียนทำให้เรากลายเป็นมาโซคิสม์ เด็กเรากลายเป็นแบบมาโซคิสม์ คือสังคมไทยเราชอบถูกกระทำ เราถูกกระทำมาตั้งแต่เด็ก รัฐบาลปัจจุบันยังอยู่ได้ก็เพราะเราเป็นมาโซคิสม์นะ เขาพูดจารุนแรง เราก็รู้สึกตื่นเต้นดีใจไปด้วยซ้ำ ทั้งที่มันเป็นสิ่งที่ผิด แต่เราก็เฮฮาไปกับเขา หรือเขานอนหลับ เราก็ขำๆ ทั้งที่เราจ่ายภาษี จับคนเลือกตั้งก็ขำๆ ปล่อยให้เขาบริหารต่อไป
มันเป็นกระบวนการหล่อหลอมด้วยนะ อย่างเรื่องทรงผม หรือเคารพธงชาติ มันเริ่มแบบจริงจังตอนช่วงหลัง 6 ตุลา หลังฆ่านักศึกษาแล้ว ถึงมีการปลูกฝังค่านิยมกันมา บางทีก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลในยุคนั้นคิดว่าเป็นสิ่งที่เหมาะสม บังเอิญ คสช. ก็พยายามทำ แต่ทำตอนนี้ก็ลำบากหน่อยเพราะวิจารณ์ได้ ปิดกั้นยาก
คำถามคือแล้วรัฐบาลยุคหน้าจะแก้ไขมรดกพวกนี้รึเปล่า ผมเชื่อว่ารัฐบาลยุคหน้าก็อาจทำเหมือนเดิม อาจมีค่านิยมให้ท่องจำเหมือนเดิม อาจเปลี่ยนค่านิยม 12 ประการเป็น 13 หรือเป็น 7 ก็ได้ แต่ก็เหมือนเดิม คือฝากโอวาทให้เด็กไปทำ เราไม่ได้สร้างให้เด็กมีความกล้าหาญขึ้น เรายังติดอยู่กับมรดกเก่าๆ เยอะ แล้วสิ่งพวกนี้มันทำให้พวกเราเชื่อง เมื่อเราเชื่องเราก็ไม่กล้าทำสิ่งที่กระทบต่อผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจ
เพราะอย่างนี้รึเปล่า เราเลยเห็นเด็กไทยหลายคนไม่กล้าตั้งคำถาม เวลาเคลื่อนไหวทีไรก็จะถูกมองว่าก้าวร้าว
ในสังคมที่เชื่องๆ บางทีการถูกมองว่าเป็นคนก้าวร้าวก็น่าจะเป็นคำชมที่ดี เพราะทุกคนเชื่องไปหมด การที่มีคนก้าวร้าวนั้น เราสามารถตีความได้ว่ามันหมายถึงการกล้าแสดงความคิดเห็นและคิดแตกต่าง การมีจุดยืนเป็นของตัวเอง แต่ผมเข้าใจว่าภาษาของผู้ใหญ่ไม่มีคำพวกนี้อยู่ในพจนานุกรมไง เขาคิดอย่างเดียวคือ ถ้าใครไม่คิดตามเขาก็คือคนที่ก้าวร้าว หรือคนที่ตั้งคำถาม ท้าทายผู้มีอำนาจ เขาก็จะมองว่าก้าวร้าว ไม่ได้มองว่าหวังดีกับประเทศชาติอะไร คือเราก็เข้าใจนะ
แต่ถ้ามองในมุมผู้ใหญ่ เขาก็คิดว่าสิ่งเหล่านี้มันดีอยู่แล้ว สังคมก็เป็นระเบียบวินัยดีนะ ไม่เห็นต้องเปลี่ยนอะไรอีก
ผมคิดว่าก็ไม่แปลก มันเป็นการทำให้ชีวิตเขาอยู่ได้ ถ้าเขาไม่คิดแบบนี้ชีวิตเขาอยู่ไม่ได้นะ ถ้าเขาคิดตั้งคำถาม เขาก็อยู่ในระบบแบบที่มันกดทับ เขาไม่ได้สอนให้ไม่ตั้งคำถามไม่ได้ มันไม่แปลกเลยที่เขาจะบอกว่าทุกอย่างมันดีอยู่แล้ว เขาก็ปิดซ่อนเอาไว้ ไม่เอาเรื่องต่างๆ มาคิด เพราะว่ามันจะทำให้เขารู้ว่าตัวเองก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา
อย่างเรื่องยืนเข้าแถวนี่เนติวิทย์เห็นด้วยไหม
แต่ละโรงเรียนก็ต่างกัน ผมไม่สามารถบอกได้ว่าทุกที่มันผิดหมด ขึ้นอยู่ว่าเรามองการเข้าแถวว่าเพื่ออะไร ซึ่งมันก็มีประโยชน์ในหลายรูปแบบ แต่ก็ต้องตั้งคำถามว่าได้ทำอย่างนั้นจริงไหม เราต้องรู้ก่อนว่าวัตถุประสงค์คืออะไร สำหรับผมแล้ว คิดว่าการเข้าแถมต้องมีฟังก์ชั่นของมัน มันไม่แย่หรอก เพราะมันต้องขึ้นอยู่กับสถานที่และบริบท
แล้วการกล้อนผมเด็กนักเรียนล่ะ
ไม่น่าจะดี มันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษย์เลยนะ หลายคนมองแล้วรู้สึกแย่ ตัวคนโดนก็รู้สึกแย่ ทำแบบนี้มันเสีย แก้ปัญหาไม่ถูกจุด อยู่ดีๆ ทำไปกล้อนผมคนอื่นให้ทรงผมเขาเสีย มันไปช่วยอะไรเขา เขาก็มีศักดิ์ศรีและความภูมิใจของเขา เราทำแบบนี้อาจมีผลลัพธ์ที่แย่มากขึ้น
คิดว่าทางออกจากปัญหาเหล่านี้คืออะไร
บางเรื่องมันเป็นสิทธิของคนอื่นอยู่แล้ว มันไม่ใช่สิ่งที่ต้องมาหาทางออกมากว่านี้ เช่น หัวของคนอื่นเราไม่ต้องไปยุ่งเลย แค่นั้นเอง เหมือนเงินของคนอื่นที่เราก็ไม่มีสิทธิไปยุ่ง เรื่องหัวก็เหมือนกัน มันเป็นของเขา ไม่ใช่เรื่องที่ต้องไปลงประชามติอะไรกันด้วย เป็นสิทธิของเด็กที่ต้องจัดการเอาเอง ต้องให้เขาได้เรียนรู้ความรับผิดชอบ
นี่คือปัญหาของเราด้วยอย่างหนึ่ง เราไม่ให้โอกาสคนมีความรับผิดชอบ ผู้ใหญ่ชอบบอกว่า เด็กไทยไม่มีความรับผิดชอบเหมือนต่างประเทศ ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะประเทศไทยเราไม่เคยให้เด็กมีความรับผิดชอบเลย เขาอยากจะมีความรับผิดชอบก็ต้องจัดการชีวิตตัวเองให้ได้ แต่เราไม่ให้โอกาส เราจะไปโทษเด็กก็ไม่ได้ เพราะคุณไม่ให้โอกาสเขาเลย
ก็คิดแทนกันหมดเลย แบบนั้นไม่ดี แบบนี้ไม่ได้ บอกว่าอยากเลี้ยงลูกแบบญี่ปุ่นกับอเมริกาที่ปล่อยให้ล้มกันเองได้เลย เราก็อย่าไปประคบประหงม คุณก็อยากได้แบบนี้ไม่ใช่เหรอ แต่ทำไมวิธีคิด วิธีการทำงานมันไม่เป็นแบบนั้นล่ะ
ในแง่ของวิธีคิด โรงเรียนต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้เด็กสามารถกล้าวิพากษ์วิจารณ์ได้มากกว่านี้
ถามว่าโรงเรียนอยากให้เด็กคิดแบบวิพากษ์วิจารณ์ไหม ถ้าสิ่งนั้นเป็นวัตถุประสงค์ของการศึกษาที่เราคิดว่าจะทำให้ประเทศชาติพัฒนา และให้เด็กเจริญศักยภาพขึ้น เราก็ต้องมีอุบายที่จะทำให้เขาวิพากษ์วิจารณ์ขึ้น เช่น การให้เด็กแสดงความคิดเห็นได้บนเวทีหรือพื้นที่ต่างๆ หรือให้ความสำคัญมากขึ้นกับสภานักเรียนและกลุ่มอิสระในโรงเรียน
ปัญหาคือทุกวันนี้โรงเรียนก็ยังไม่ค่อยยอมรับว่า การวิพากษ์วิจารณ์คือส่วนหนึ่งในการพัฒนา โรงเรียนยังติดอยู่ในกรอบเดิม ทั้งเรื่องเกรดเฉลี่ยและคะแนนโอเน็ตที่จะมีผลต่อโรงเรียน โรงเรียนก็เลยคิดกันแค่นี้
ถ้ามองในภาพใหญ่ขึ้น คิดว่าบรรยากาศในการเมืองหลายปีมานี้ มันทำให้ในสถาบันการศึกษาเปลี่ยนไปบ้างไหม
คนที่มีตำแหน่งในมหาวิทยาลัยก็ต้องเอาใจผู้มีอำนาจ เราจะเห็นเลยว่ารัฐบาลชุดนี้ ส่วนหนึ่งก็ได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยในช่วงก่อนที่จะมีรัฐประหาร เราก็ไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมมหาวิทยาลัยถึงเป็นแบบนี้ เพราะสิ่งที่มหาวิทยาลัยให้ค่ากับพรรคพวก ให้ค่ากับประโยชน์ที่ตัวเองจะได้รับ
บริบทแบบนี้ มันทำให้นักศึกษาเองก็ไม่กล้าพูดอะไรเยอะมากด้วยรึเปล่า
เด็กก็ไม่กล้าพูดแน่นอน เพราะกลัวว่าอาจารย์จะให้คะแนนไม่ได้ ผมเองวิจารณ์หลายวิชานะ แต่เพื่อนบางกลุ่มก็จะพยายามห้าม และมองว่าเราเป็นตัวประหลาดเหมือนกัน เพราะสิ่งที่เขาต้องการที่สุดคือคะแนน เขากลัวคะแนนเขาลด เขากลัวว่าสิ่งที่เขาตอบอยู่แล้วมันจะกลายเป็นสิ่งที่ผิด
เขาคงไม่ได้กลัวอาจารย์หรอกมั้ง เพราะปัญหาในโรงเรียนมันทำลายความเคารพนับถืออาจารย์ไปแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน มันคือความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ไม่ใช่ความสัมพันธ์เชิงมนุษย์ สิ่งที่เขาเคารพนับถือคืออำนาจและการให้คุณให้โทษ พอมาอยู่มหาวิทยาลัยก็เหมือนกัน เขาไม่จำเป็นต้องนับถือครูอาจารย์ เขานับถือแค่ว่าคะแนนเป็นยังไง เพราะความสัมพันธ์เชิงอำนาจ มันทำลายความรู้สึกระดับมนุษย์ออกไป
อยากให้ขยายความหน่อยว่า ความสัมพันธ์เชิงอำนาจมันเข้าไปทำลายอะไรในโรงเรียนบ้าง
สิ่งที่เด็กจะสนใจคือการให้คุณให้โทษ หรือ การกลัวจะถูกลงโทษ ถ้าสมมติครูชม เราก็รู้สึกได้ยกระดับขึ้น หรือถ้าไม่ชม ไม่ด่า ก็จะดีที่สุด เพราะเราก็จะไม่โดดเด่นเกินไป เพื่อนก็จะไม่อิจฉาเรา ส่วนในระดับครูเองก็จะมีผู้บริหารที่มาคอยให้คุณให้โทษอีก เราเลยไม่มีประชาธิปไตย เพราะอำนาจก็อยู่ที่ผู้อำนวยการ
ผมเคยเจอครูบางคนที่ก็เคยใช้อำนาจเยอะๆ เหมือนกันนะ ซึ่งจริงๆ แล้วเขาก็เป็นคนนิสัยดี บางทีผมก็เตือนครูแบบตรงไปตรงมาเหมือนกันนะ แล้วเขาก็รู้สึกว่าจริงด้วย ผมไม่เคยเห็นครูคนไหนคุยกับผมไม่ได้เลย เพราะผมมองเห็นว่าเขาก็เป็นมนุษย์ ไม่ได้มองว่าเป็นคนที่ให้คุณให้โทษผม
เราต้องไม่ลืมว่าเราก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบ เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา และปัญหาทั้งหมดก็เป็นส่วนหนึ่งของเรา มันไปด้วยกัน เราเป็นผลผลิต แล้วมันก็ผลิตตัวเราด้วย เราอยู่ในวงจรนี้ นักเรียนก็ไม่ขึ้นไปพูดโต้แย้งกับอาจารย์ ผมก็พูดอยู่คนเดียว แล้วจะไปทำอะไรได้
สมมติว่าพรุ่งนี้ คสช. จะแต่งตั้งให้เนติวิทย์เป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการสิ่งแรกที่เราจะทำทันทีเลยคืออะไร
ไม่เอาหรอกตำแหน่งพวกนี้ เพราะมันเป็นระบบที่ไม่ปกติ (หัวเราะ) อย่างแรกเลยคือต้องทำให้การเมืองมันเป็นปกติก่อน
แล้วถ้าเป็นรัฐบาลที่มาจากเลือกตั้งล่ะ
สิ่งแรกเลยผมก็ต้องไปเรียนรู้ก่อนนะว่าปัญหาคืออะไร ต้องใช้เวลาสักพักหนึ่งเลยนะ เราอาจจะต้องไปโรงเรียนต่างๆ แบบไม่เป็นทางการด้วยซ้ำไป ว่ามันมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นบ้าง ปัญหามันมีเยอะมากเลยนะ ที่เรายังไม่รู้ เมื่อก่อนเราอาจจะไม่คิดหรอกว่ามีครูที่บังคับให้นักเรียนถอดเสื้อใน และมันอาจจะมีหนักกว่านี้อีก
สิ่งที่ผมต้องทำคือเรียนรู้ก่อนว่า นี่คือสิ่งที่เราคิดไว้มันต้องไม่ใช่ทางออกแบบสำเร็จรูป เพราะแต่ละโรงเรียนก็มีบริบทของตัวเองที่แตกต่างกันออกไป
ผมคิดว่าเราต้องกระจายอำนาจทางการศึกษา แต่ละโรงเรียนเองจะสามารถไปในรูปแบบเดียวกันหมดไม่ได้ เราต้องมีโรงเรียนที่มีความชำนาญเฉพาะ และตอบสนองกับความต้องการของนักเรียนเป็นกรณีไป ที่ผ่านมาเราไม่ค่อยคิดเรื่องพวกนี้กันเท่าไหร่ ส่วนใหญ่เราก็จะโยนนโยบายให้ไปทำ แล้วก็ขึ้นป้าย แต่จริงๆ ก็ไม่ค่อยทำกันหรอก
การศึกษาของเราต้องหลากหลายพอสมควร ต้องให้นักเรียนได้ทดลองเรียนรู้ลงไปในรายละเอียดแต่ละวิชาที่ตัวเองชอบ แต่ระบบทุกวันนี้ เราแบ่งเป็นสายศิลป์ สายวิทย์ แล้วก็มีการดูถูกกันเกิดขึ้น แถมยังมีปัญหาเรื่องค่านิยมและเรื่องครูที่ไม่เอาใจใส่เด็กด้วย
ถ้าต้องเลือกสิ่งแรกที่ต้องแก้กันเลย มันจะคืออะไร
เอาเบื้องต้นสุดเลย ครูและผู้บริหารควรกินข้าวกับนักเรียน แค่นั้นเอง ส่วนเรื่องอื่นค่อยว่ากันทีหลัง เพราะเราต้องเห็นความเป็นมนุษย์ด้วยกันเองก่อน เห็นว่าเราต้องเท่าเทียมกันก่อน
คำว่าเท่าเทียมกันคือยังไง
ต้องเข้าใจกัน บางทีผู้บริหารไม่รู้ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับนักเรียนเลยนะ ผู้บริหารบางคนไม่ค่อยอยู่โรงเรียน มีโครงการไปสร้างตึก ไปเปิดงาน ไปประชุม แต่ไม่รับรู้เลยว่าสิ่งที่เด็กกำลังเจออยู่คืออะไร มีความเป็นอยู่ยังไง ผมคิดว่าเราต้องกลับมาดูกันที่ความเป็นมนุษย์พื้นฐานก่อน แล้วต้องสนทนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
ถ้าต้องเลือกให้ใครสักคนเป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษา เนติวิทย์อยากให้ใครเป็น
ก็มีหลายคน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ก็ได้ ผมว่าเขาเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์ อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ได้เป็นคนแบบสูตรสำเร็จไปทุกอย่าง เขาก็ดูบริบท เขาอ่านหนังสืออยู่ตลอดเวลา เขาก็รู้ว่างานไหนเหมาะที่จะรับ ถ้าเขารับตำแหน่งก็ดีเพราะเขาคงมีความมั่นใจพอสมควร
อีกคนก็เป็นเฌอปราง BNK48 เขาเป็นที่รู้จักกันในสังคม เป็นไอดอล ตั้งใจเรียน มีผลงานตีพิมพ์ก็น่าสนใจ เขารับฟังคน ให้โอกาสคนจับมือ แต่ว่าท้ายที่สุด เรื่องนี้เรื่องใหญ่ ถ้าเป็นไปได้ ผมอยากให้มีการลงติ เลือกตั้งกันขึ้นมาเลยว่าใครจะเป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษา มีแคนดิเดต มีนโยบายมาสู้กัน รัฐบาลประชาธิปไตยน่าจะลองทำดู
แล้วถ้าต้องเลือกสักคนจริงๆ ระหว่างชัชชาติ กับ เฌอปราง
เลือกยากเลย เพราะชอบทั้งสองคน
แต่เป็นเฌอปรางก็ได้ ลองดูครับ