ลองนึกถึงภาพการใช้ชีวิตคู่ ที่การจดทะเบียนสมรสให้สิทธิเราหลายอย่าง ทั้งเรื่องจัดการทรัพย์สินร่วมกัน เช่น กู้เงินซื้อบ้านด้วยกันเพื่อลงหลักปักฐาน หรือถ้าวันนึงที่อีกฝ่ายเจ็บป่วยกระทันหันต้องรับการรักษาพยาบาลฉุกเฉิน เราก็สามารถเซ็นยินยอมการรักษาแทนกันและกันได้
แต่สิทธิที่ว่านี้กลับจำกัดเฉพาะคู่หญิงชายเท่านั้น ไม่ได้นับรวมคู่รักในกลุ่มหลากหลายทางเพศเข้าไปด้วย
ถึงแม้บ้านเราจะมีความเข้าใจในกลุ่มหลากหลายทางเพศมากขึ้น แต่ต้องยอมรับว่า การเลือกปฏิบัติ หรือกีดกันพวกเค้าออกจากโอกาสที่ควรได้รับเท่าคู่ชายหญิงก็ยังเกิดขึ้นอยู่ร่ำไป หนึ่งในปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ‘พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต’ ที่ยังค้างคา ส่งผลให้สิทธิทางกฏหมายต่างๆ ในการมีครอบครัวของกลุ่มเพศที่หลากหลายยังเดินทางมาไม่ถึงซักที
อันที่จริง ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตนั้นถูกผลักดันกันมาพักใหญ่แล้ว แต่ร่างกฏหมายฉบับนี้ก็ถูกชะลอไปหลังจากเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จนเมื่อเร็วๆ นี้ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ก็ได้ออกมาเปิดเผยถึงเนื้อหาในฉบับร่างเบื้องต้นแล้ว
เปิดโฉมร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ฉบับกรมคุ้มครองสิทธิ
เนื้อหาหลักๆ ของร่างกฏหมายฉบับนี้ ได้ให้สิทธิต่างๆ แก่คู่รักเพศเดียวกัน และเท่าเทียมกับคู่รักชายหญิงให้ได้มากที่สุด เช่น
-สิทธิจัดการทรัพย์สินร่วมกัน (เช่นการกู้เงินซื้อบ้าน หรือการยกผลประโยชน์จากประกันชีวิตให้อีกฝ่าย)
-สิทธิในการลงชื่อยินยอมให้อีกฝ่ายเพื่อรับการรักษาพยาบาล หรือ ผ่าตัด (จากเดิมไม่อนุญาตให้คู่ชีวิตลงชื่อแทนได้ เพราะต้องเป็นญาติ หรือจำกัดเฉพาะคู่สมรสชายหญิงเท่านั้น)
-สิทธิในการรับมรดกที่คู่ชีวิตร่วมสร้างกันมา (ในกรณีที่อีกฝ่ายเสียชีวิตกระทันหันและพินัยกรรมไม่ได้ระบุเอาไว้ ของเดิมคือให้ตกเป็นของญาติทั้งหมด)
-สิทธิได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้จากการมีคู่สมรส
อย่างไรก็ตาม เรื่องสิทธิในการรับลูกบุญธรรมที่หลายคนให้ความสนใจนั้น กรมคุ้มครองสิทธิไม่ได้ระบุเอาไว้ในร่างฉบับนี้ แต่มีอยู่ในร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตฉบับที่ภาคประชาชนเป็นผู้ร่างขึ้นมา โดยหลังจากนี้ กรมคุ้มครองสิทธิจะเอาเนื้อหาที่ร่างขึ้น ไปรับฟังความเห็นจากทั้งหน่วยงานรัฐและภาคประชาชน ก่อนที่จะส่งให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป
เสียงจาก LGBTQ ไทยในวันที่ยังกฏหมายคู่ชีวิตยังมาไม่ถึง
ในวันที่ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ยังอยู่ระหว่างการปรับปรุงเนื้อหา เราได้ชวนกลุ่มหลากหลายทางเพศมาสะท้อนความคิดเห็นกันว่า คาดหวังกับกฏหมายฉบับนี้กันอย่างไรบ้าง
โกศล ชื่นชมสกุลชัย: มันจำเป็นในอนาคต เมื่อถึงจุดๆ หนึ่งการกู้เงินร่วมกัน หรือสินสมรส มันก็จำเป็น มันอาจจะไม่เหมือนชายหญิงที่มีกฏหมายรองรับ สมมุติว่าเราเป็นแฟนกันแล้วคนนึงเข้าโรงพยาบาล แล้วมันจำเป็นต้องเซ็นยินยอมให้ผ่าตัด ซึ่งพ่อแม่ของเค้าอยู่ต่างจังหวัด โดยแฟนเราเป็นคนเดียวที่สามารถรับรองได้ ถ้ามันไม่มีกฏหมายมารับรองเนี่ยจะทำยังไง เพราะฉะนั้น พ.ร.บ.นี้มันจำเป็น แต่ตอนนี้คนไทยยังไม่ได้มองเรื่องคู่ชีวิตเหมือนที่ฝรั่งมองว่าเป็น partner ที่ต้องอยู่ด้วยกัน เรามีความสัมพันธ์ที่ฉาบฉวยกันอยู่ เพราะฉะนั้นเราต้องคิดว่าจะทำยังไงให้ทุกคนเห็นปัญหาตรงนี้ ซึ่งต้องปรับทัศนคติของเราและคนในสังคมด้วย เพื่อให้เค้ายอมรับเรื่องการเป็นเกย์ รวมถึงการมีคู่ชีวิตของชายรักชาย โดยมี พ.ร.บ.นี้เป็นส่วนสนับสนุน
สุมน อุ่นสาธิต: ต้องดูก่อนว่า มันอยู่ในวิถีชีวิตเราด้วยไหม ถ้ากฏหมายนี้มันมาแล้ว มันก็เหมือนกับว่าเราได้รับการคุ้มครอง และได้รับสิทธินั้นมาใช้แล้ว การมี พ.ร.บ.คู่ชีวิตมันอาจจะตัดความกังวลเรื่องที่ว่า ถ้าเรามีแฟนแล้วเราจะสามารถมีอนาคตร่วมกันกับเค้าได้ไหม ถ้ากฏหมายนี้มันมีขึ้นมาเราก็จะตัดสินใจง่ายขึ้นว่าเราจะคบหากันจริงๆ
ความสัมพันธ์มันอาจจะแข็งแรงขึ้นระดับหนึ่ง ถ้าเรามีกฏหมาย พ่อแม่เราก็จะมั่นใจในระดับหนึ่งว่า การมีคู่จะได้รับการคุ้มครอง กฏหมายมันเป็นการรับประกันในเรื่องการจัดการทรัพย์สินและมรดก หรือค่าลดหย่อนต่างๆ แต่มันไม่ใช่หลักประกันให้ชีวิตคู่ยั่งยืน
ณัฏฐานภัธ เดชจรูญลักษณ์: พี่ว่ามันไม่ได้ช่วยอะไรเท่าไหร่ ทุกอย่างในโลกนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว น่าจะอยู่กันด้วยความเข้าใจมากกว่า คือกฏหมายมันสำคัญต่อเด็กในกรณีที่เราอยากจะมีลูก แต่เราก็ไม่รู้อยู่ดีว่า ถ้าต่อไปมีใครตกงานไปก็อาจจะไม่มีเงินมาช่วยเหลือกันก็ได้ แล้วคู่สมรสจะสามารถทำตามกฏหมายได้ไหมนั่นก็อีกเรื่องนึง ตอนนี้ปัญหาคือเรื่องครอบครัวที่ส่งผลต่อลูก ทัศนคติของสังคมอาจเปลี่ยนไปได้ แต่ก็ต้องดูชีวิตของเราด้วยว่าจะดีขึ้นหรือเปล่า
ฐานกาญจน์ วงศ์วิศิษฏ์ศิลป์: มันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์กับใคร และไม่ได้ไปลิดรอนสิทธิของใคร ส่วนตัวจึงสนับสนุน พ.ร.บ.ฉบับนี้มาก ตัวเองเป็น Transgender ที่เวลาแต่งงานก็อยากแต่งงานในนามผู้หญิง มีคำนำหน้าชื่อเป็นนางสาว แต่ถ้ามี พ.ร.บ.นี้มันออกมาก่อนเรื่องเปลี่ยนคำนำหน้าก็ดี อาจจะใช้อันนี้ก่อน
การไม่มี พ.ร.บ.คู่ชีวิต ทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่มั่นคง คบๆ เลิกๆ ไม่มีอะไรมายืนยันแน่ชัดว่า ความปลอดภัยและมั่นคงของความสัมพันธ์มันอยู่ตรงไหน แต่ถ้ามี พ.ร.บ.ขึ้นมาจะทำให้รู้สึกว่าชีวิตปลอดภัยและมั่นคงมากขึ้น เวลาคบกันก็จะกล้าวางแผนในอนาคตได้ว่า เราจะแต่งงานกันนะ เดี๋ยวเราจะจดทะเบียนกันนะ ไม่ว่าจะอยากมีลูกหรือไม่ก็ตาม
พงศ์ธร จันทร์เลื่อน: พ.ร.บ.คู่ชีวิตมันจะเปลี่ยรูปการใช้ชีวิตของคนในสังคม เมื่อก่อนเราเชื่อกันว่า ครอบครัวจะต้องประกอบด้วยพ่อแม่ลูก แต่สังคมครอบครัวของ LGBTQ มันอาจจะไม่ใช่แบบนั้น พอมีกฏหมายนี้จะช่วยทำให้สังคมเข้าใจถึงวิถีชีวิตที่มีอยู่ในปัจจุบัน การมีครอบครัวไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้หญิงกับผู้ชาย แต่ระหว่างชายกับชาย หรือหญิงกับหญิง ก็สามารถเป็นครอบครัวได้
กฏหมายฉบับนี้จะไปเปลี่ยนวิธีคิด และทำให้สังคมเห็นถึงความแตกต่างหลากหลายมากขึ้น และแน่นอนกฏหมายอื่นๆ ที่ระบุถึงสถานะทางกฏหมายของผู้หญิงและผู้ชายแบบเดิมๆ ก็อาจจะต้องเปลี่ยนไป เชื่อว่าเรื่องนี้จะเขย่าสถาบันครอบครัว แน่นอนก็มีคน debate แน่ แต่กฏหมายจะช่วย educate คนไปพร้อมกันด้วย เพราะมันไปเขย่าวิธีคิดและสถาบันเดิมๆ ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายมาก
ถ้าเป็นกฏหมายของชายหญิงทั่วไปจะเน้นสามเรื่องคือ การจดทะเบียน ทรัพย์สิน และมรดก แต่ถามว่า พ.ร.บ.คู่ชีวิตมันได้เท่ากับหญิงชายไหม ก็ไม่เท่านะ และไม่ค่อยเกี่ยวข้องอะไรกับสวัสดิการทางสังคมเท่าไหร่ เพราะมันต้องไปแตะกับกฏหมายอีกเยอะแยะ ดังนั้น การที่กฏหมายนี้ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาก็เพื่อทบทวนว่าควรเพิ่มเติมอะไรบ้าง
อย่างน้อยมันก็ทำให้คนได้สิทธิขั้นพื้นฐาน และทุกคนต้องเข้าถึงสิทธิประโยชน์และสิทธิมนุษยชนได้เหมือนกัน สิทธิมนุษยชนต้องกินได้
อ้างอิงข้อมูลจาก
www.change.org/p/สนช-ผ่านร่าง-พ-ร-บ-คู่ชีวิต-พ-ร-บ-จดทะเบียนคู่ชีวิต-lovewins-lgbt
http://www.lgbtnewsthailand.com/articledetail.asp?id=6924