ระบบขนส่งดีๆ ดูตารางรถเมล์ได้ตรงเวลา ท้องถนนไม่แออัด สาธารณสุขเป็นเลิศ บ้านเมืองปลอดภัยมีกล้องวงจรปิด ผลิตพลังงานร่วมกันใช้ ใส่ใจฟังเสียงประชาชน คงเป็นรูปแบบเมืองในฝันที่หลายๆ คนอยากไปอาศัยอยู่ แต่เมืองแบบนั้นไม่ได้อยู่แต่เพียงในฝัน เพราะตอนนี้มีเมืองดีๆ แบบนั้นมีให้เราเห็นจริงแล้ว
Smart City เป็นโครงการที่หลายๆ เมืองทั่วโลก พยายามพัฒนาให้เข้ากับยุค 4.0 โดยการเอาเทคโนโลยีมาผสานกับการใช้ชีวิตของประชาชน ไม่ว่าจะทั้งด้านการขนส่ง การใช้พลังงาน หรือโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะทำให้เมืองที่สะดวกสบายเหมือนในฝัน เกิดขึ้นจริง ทั้งยังทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ดีมีสุขกันด้วย
ถึงแม้ของไทยเราเองจะยังไม่มี Smart City ที่สมบูรณ์เป็นรูปเป็นร่าง แต่หลายๆ จังหวัด หรือมหาวิทยาลัยในบ้านเราตอนนี้ก็กำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาอยู่ แต่ระหว่างที่เรารอจะมีเมือง Smart City The MATTER ขอพามารู้จักกับ 6 เมืองสมาร์ท ต้นแบบดีๆ ว่าเค้ามีอะไร พัฒนาไปถึงไหน สะดวกสบายต่อชาวเมืองเขาอย่างไร มาให้ทุกคนได้รู้จักกัน
Milton Keynes – UK
ถ้าพูดถึง Smart City ในประเทศอังกฤษแล้ว ก็ต้องพูดถึงเมือง Milton Keynes ที่อยู่ทางตอนใต้ของอังกฤษ ซึ่งล่าสุดคว้ารางวัลชนะในการประกวด Smart Cities UK Award 2017 มาถึง 3 รางวัล ทั้งในด้าน Data, การสื่อสาร และพลังงาน
หัวใจสำคัญในโครงการ Smart City ของเมืองนี้ คือการสร้าง Data Hub หรือศูนย์รวมข้อมูลที่ทันสมัย ซึ่งรวมข้อมูลทั้งพลังงาน การบริโภคน้ำ การขนส่งมวลชน สังคม เศรษฐกิจ ข้อมูลจากดาวเทียม ซึ่งตอนนี้มีข้อมูลกว่า 700 ชุด ที่รวมเพื่อการพัฒนาทรัพยากรเมือง และประชาชนยังเข้าถึงได้ด้วย
Data Hub จะถูกนำมาใช้ในหลายด้าน เช่น การขนส่งมวลชนที่เชื่อมโยงข้อมูลกับผู้ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นระบบจองรถสาธารณะและการจ่ายเงิน ทั้งยังมีแอพพลิเคชั่น MotionMap ที่อธิบายการเคลื่อนไหวแบบเรียลไทม์ของคนและยานพาหนะทั่วทั้งเมือง รวมถึงข้อมูลของตารางเวลา ลานจอดรถ เส้นทางถนน และประเมินความแออัดในเส้นทางต่างๆ ของเมือง เพื่อช่วยให้ชาวเมืองหลีกเลี่ยงเส้นทางและช่วยในการตัดสินใจได้
ด้านการใช้พลังงาน เมืองนี้ก็มีการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ที่มีการชาร์จไฟจากพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ และทั้งชุมชนยังมีโปรแกรมการใช้ Data ที่รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์การใช้พลังงานในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นแผนสำหรับการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และลดการใช้เชื้อเพลิง
โครงการนี้ตั้งอยู่บนความเชื่อว่า ประชาชนคืออนาคตของเมือง จึงต้องเปิดโอกาส ฟังเสียงความต้องการของชาวเมือง โดยมีพื้นที่พูดคุยกับชาวเมืองถึงความคิด ผลกระทบจากกิจกรรมและโครงการต่างๆ ทั้งยังมีแอพพลิเคชั่น QuickChat ที่รวบรวมการสนทนาจากชาวเมือง และยังสามารถรายงานสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ เช่น รถบัสมาช้า หรือความต้องการอื่นๆ เพื่อนำไปพัฒนา ปรับปรุงเมืองสมาร์ทมากขึ้นด้วย
Amsterdam – Netherlands
ประเทศแสนน่าอยู่อย่าง Netherland ก็ไม่พลาดที่จะมีโครงการพัฒนาเมืองให้ทันสมัยเหมือนกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือเมือง Amsterdam ที่ริเริ่มโครงการ Smart City มาตั้งแต่ปี 2009 และมีโปรเจ็กต์มากกว่า 170 อัน ที่มีการพัฒนาร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ซี่งมีเป้าหมายคือการแก้ปัญหารถติด ประหยัดพลังงาน และพัฒนาสภาพความปลอดภัยของประชาชน
โดยโปรเจ็กต์ที่โดดเด่นของเมืองนี้มีชื่อว่า ‘City-zen’ ที่ต้องการให้เมืองเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดทั้งหมด ทั้งจากพลังงานแสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล และความร้อนใต้ผืนโลก ทั้งยังต้องการรวมการใช้พลังงานเหล่านี้กับระบบเมือง อาคาร และในการใช้ชีวิตของชาวเมืองด้วย เช่นแผนการจัดเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ และยังนำพลังงานส่วนเกินที่ไม่ได้ใช้ไปขายได้ด้วย
Amsterdam ยังมีเป้าหมายในการสร้างเมืองที่มีระบบหมุนเวียน โดยมีโปรเจ็กต์ Circular Amsterdam ที่ต้องการหมุนเวียนเศรษฐกิจของเมือง ทั้งยังรวมถึงการลดของเสียและมลภาวะ ด้วยการรีไซเคิลทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นโครงการการเปลี่ยนน้ำฝนให้การมาเป็นเบียร์ หรือออกแบบวัสดุ ผลิตภัณฑ์เดิมๆ ในรูปแบบใหม่ๆ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ยังมีโปรเจ็กต์อีกมากมายหลายด้าน เช่น ด้านโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยี, การศึกษา, การเคลื่อนที่และขนส่ง, และชีวิตความเป็นอยู่ของพลเมือง เป็นต้น ทั้งยังมีความทันสมัย สมกับเป็นเมืองอัจฉริยะ โดยเราสามารถติดตามรายละเอียดของโปรเจ็กต์ต่างๆ รวมถึงผู้ดำเนินงาน เป้าหมาย ติดตามผล และมีส่วนร่วมได้ตลอดผ่านทางเว็ปไซต์ของเมืองด้วย
Stockholms – Sweden
Stockholms เมืองหลวงของประเทศสวีเดน ที่ขึ้นชื่อว่าเมืองหลวงที่ใหญ่ที่สุดในแถบสแกนดิเนเวีย โดย Smart City ของ Stockholms ถือเป็นเมืองที่โดดเด่นด้าน ICT และมีเครือข่ายและการเชื่อมต่อมากที่สุดในโลก เพราะมีการติดตั้งเครือข่ายไฟเบอร์และดำเนินการด้าน IT ต่างๆ เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลต่างๆ ที่จะใช้ในการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน
Stockholms ได้มีโปรเจ็กต์สำคัญคือ ‘Green IT’ ที่ผสานการทำงานของเทคโนโลยีในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น อาคารประหยัดพลังงานที่ลดต้นทุนเครื่องทำความร้อน, ตรวจสอบการจราจร เพื่อลดเวลาที่ใช้บนท้องถนน และการพัฒนาระบบ e-service เพื่อลดการใช้กระดาษ เป็นต้น
ทั้งยังมีระบบ e-Stockholms บริการสาธารณะที่พร้อมช่วย จัดลำดับความสำคัญ ความต้องการ และอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ตั้งแต่เรื่องเกี่ยวกับการออกใบอนุญาต ดูแลผู้สูงอายุ ช่วยวางแผนการเดินทางไปทำงาน จนกระทั้งมีระบบการจองพื้นที่จอดรถ
Smart City ของ Stockholms ยังต้องการใช้ความโดดเด่นด้าน IT ในการเชื่อมต่อเครือข่ายต่างๆ ของเมืองเข้าด้วยกัน ทั้งภาคธุรกิจ ภาครัฐ และประชาชน ทั้งในด้านการสื่อสาร การร่วมมือทางเศรษฐกิจ ทั้งในเมืองยังมีพื้นที่ที่เรียกว่า Kista Science City ที่เป็นแหล่ง ICT ชั้นนำของโลก ที่มีการรวมมหาวิทยาลัย ภาครัฐ เอกชน ที่ทำงานร่วมกันในการพัฒนาข้อมูล และเทคโนโลยีการสื่อสารในโครงการ Smart City ของเมืองนี้
Barcelona – Spain
Barcelona เมืองนี้ไม่ได้มีดีแค่ทีมฟุตบอล เพราะยังมีโครงการพัฒนาเมืองดีๆ ให้ทันสมัยด้วย โดยเมือง Barcelona ในประเทศสเปนนี้ เค้าตั้งเป้าให้ตัวเองเป็น Digital City ด้วยการใช้ดิจิทัลและเทคโนโลยีมารองรับ ปรับปรุงชีวิตผู้คนในเมืองนี้ โดยเน้นไปที่การลงทุนในโครงสร้างดิจิตอลพื้นฐานสาธารณะ
ความเป็น Digital ของเมือง Barcelona แบ่งออกเป็น 3 ด้าน ด้านแรก คือ Digital transformation ที่จะใช้เทคโนโลยีและข้อมูล ในการบริการประชาชน สร้างความโปร่งใสของรัฐบาล และปลูกฝังการมีส่วนร่วม เช่นการมีช่องทาง ‘Ethical Mailbox’ ที่ให้ประชาชนแจ้ง ร้องเรียนการทุจริตโดยตรง หรือโครงการ ‘Open Budget’ ที่เป็นช่องทางให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลงบประมาณ ตรวจสอบการใช้เงินส่วนรวมของภาครัฐได้ตลอดเวลา
ด้านที่สองคือ Digital Innovation ที่สนับสนุนการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีต่างๆ เช่น เทคโนโลยีเซนเซอร์ที่ใช้ในระบบน้ำของสวนสาธารณะ ซึ่งคอยส่งข้อมูลระดับน้ำที่จะใช้สำหรับต้นไม้และพืชต่างๆ เทคโนโลยีเครือข่ายรถบัส ที่มีการเก็บและวิเคราะห์การเดินรถของรถบัสในแต่ละสาย และแต่ละเส้นทาง เพื่อลดปัญหาจราจร และเทคโนโลยีไฟจราจรอัจฉริยะ ที่เมื่อรถฉุกเฉินเช่น รถพยาบาล หรือรถตำรวจผ่านเส้นทางที่มีไฟจราจร จะเปลี่ยนเป็นไฟเขียวอัตโนมัติเลยด้วย
ด้านสุดท้ายคือ Digital Empowerment ที่จะใช้เทคโนโลยีในการสร้างสังคม และชุมชนที่ดี เช่นการผลักดันการศึกษา เปิดคอร์สการฝึกอบรมเทคโนโลยีและการเผยแพร่โปรแกรม การเปิด Fab Labs บริการสาธารณะที่ให้ประชาชนมาเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของการผลิตแบบดิจิตอล และเทคโนโลยีต่างๆ ทั้งยังมีการเปิดพื้นที่ประชาธิปไตย ให้ประชาชนได้ร่วมเสนอนโยบาย เพื่อให้ภาครัฐได้ทำงานกับประชาชนมากขึ้น
Fujisawa – Japan
เมือง Fujisawa Sustainable Smart Town (Fujisawa SST) ในจังหวัดคานากาวะ เป็นเมืองอัจฉริยะที่ได้รับการร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชนในการสนับสนุนโครงการต่างๆ โดยเมืองนี้มีบ้านทั้งหมด 1,000 หลัง และมีวิสัยทัศน์ของเมือง 100 ปีแรก ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีเทคโนโลยีระดับสูง ที่สามารถปรับใช้ในชีวิตประจำวันของทุกคนได้
บ้านแต่ละหลังในเมืองนี้จะมีหลังคาเป็นแผงโซลาร์เซลล์ พร้อมแบตเตอรีสำรองพลังงานภายในบ้าน และยังส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าใช้ในครัวเรือนเป็นหลัก ซึ่งไฟฟ้าส่วนเกินที่ผลิตได้ แต่ไม่ได้ใช้สอยนั้น จะถูกขายกลับไปให้หน่อยงานผู้ประกอบการด้านไฟฟ้าด้วย ทั้งตามสถานที่สาธารณะ และพื้นที่ส่วนกลางเองก็ยังมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลเช่นกัน และหากเกิดเหตุแผ่นดินไหว ภัยพิบัติ ก็อซซิล่าบุก หรือถูกตัดไฟขึ้นมา เมืองนี้ก็สามารถผลิตพลังงานใช้เอง และมีแหล่งทรัพยากรสำรองไว้ใช้สอยอย่างต่อเนื่องได้ถึง 3 วันเลยด้วย !!
นอกจากการผลิตไฟใช้เองแล้ว ในการใช้น้ำเขายังกักเก็บน้ำฝนเอาไว้ใช้กันด้วย เช่นใช้รดน้ำต้นไม้ ล้างรถ ล้างห้องน้ำ ทั้งพาหนะของที่นี่จะใช้พลังงานสีขาว เช่นรถยนต์และรถจักรยานไฟฟ้า โดยมีจุดสำหรับชาร์จพลังงานในบ้านแต่ละหลังและตามพื้นที่สาธารณะด้วย เมืองนี้ยังมีเป้าหมายในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดการใช้น้ำ และการใช้พลังงานทดแทน
ความปลอดภัยและความมั่นคงทางทรัพย์สินก็เป็นสิ่งสำคัญของเมืองนี้ โดยได้มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดและระบบรักษาความปลอดภัยไว้ทั่วเมือง และยังมีเป้าหมายในการสร้างสังคมที่มีคุณภาพที่คนในชุมชนมีปฏิสัมพันธ์อันดี และมีความสุขร่วมด้วย
Singapore
สิงคโปร์แม้จะเป็นประเทศที่เกิดขึ้นมา 50 กว่าปี แต่ก็ไม่ได้มีแผนเปลี่ยนแค่เมืองให้เป็น Smart City แต่เค้ามากับแผน Smart Nation หรือประเทศแห่งนวัตกรรม ที่รัฐบาลมีเป้าหมายจะใช้เทคโนโลยี IT ในการสร้างงานและสร้างรายได้ ทั้งยังมีเป้าหมายให้ประเทศกลายเป็นสังคมปลอดเงินสด ใช้ระบบ e-Payment ครอบคลุมในทุกธุรกิจ
สิงคโปร์เน้นการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการรวบรวมข้อมูล Open Government Data ที่ให้ประชาชน และภาคเอกชนเข้าถึงข้อมูลของรัฐ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ แต่ถึงจะเปลี่ยนเมืองให้ทันสมัยด้วย IT แต่สิงคโปร์ก็ให้ความสำคัญกับ Cybersecurity ในการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล โดยมีการป้องกันความเป็นส่วนตัวในข้อมูลของประชาชน
โครงการ Smart Nation ของสิงคโปร์ ยังเน้นที่ระบบสาธารณสุข ดูแลสุขภาพของประชาชน และการขนส่ง โดยเขามองว่าอีก 15 ปีข้างหน้า ประเทศจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งหากบริการด้านสุขภาพมีประสิทธิภาพ มีการขนส่งด้วยเทคโนโลยีรองรับ จะทำให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตได้สะดวกสบาย โดยด้านขนส่ง สิงคโปร์มีการพัฒนารถยนต์ขับเองได้ และด้านการแพทย์ ก็มีการใช้เทคโนโลยี TeleHealth ที่ให้ผู้ป่วยเข้าถึงระบบดูแลสุขภาพ แม้จะอยู่ที่บ้านได้
รัฐบาลสิงคโปร์ยังได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นมากมาย ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวสิงคโปร์ในทุกด้าน ไม่ว่าจะด้านสุขภาพ ที่มีแอพ HealthHub ให้บันทึกข้อมูลสุขภาพ, แอพ MyResponder ที่เมื่อมีผู้ป่วยโรคหัวใจช็อค จะช่วยเหลือเบื้องต้นและแจ้งเตือนเรียกรถพยาบาลให้ทันที ด้านการเดินทาง ที่มีแอพ MyTransport.SG ที่บอกตารางเวลา เส้นทางการเดินรถ หรือด้านความปลอดภัยที่มีแอพช่วยรายงานเหตุร้าย หรืออุบัติเหตุ และแอพอื่นๆ อีกมากมายที่รัฐบาลออกมาให้ประชาชนใช้กันด้วย
อ้างอิงจาก
https://amsterdamsmartcity.com/
http://international.stockholm.se/
http://ajuntament.barcelona.cat/