เดินไปทางไหน ได้ยินอะไร ก็มีแต่คำว่า 4.0 แม้แต่นโยบายรัฐ ยันโปรโมชั่นโทรศัพท์ แต่สรุปแล้วมันคืออะไร เป็นเทคโนโลยีแบบไหน ใช้ยังไง หรือว่าเป็นเพียงชื่อต่อท้ายมาให้ดูเท่ๆ
แต่ในขณะที่ใครๆ ก็ยังสับสนว่าจริงๆ แล้ว 4.0 คืออะไร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ได้เปิดตัวว่าพัฒนาไปเป็น Smart City แบบไม่ต้องรอใคร ที่มีทั้งเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าเองได้ การยืมคืนจักรยานผ่านมือถือ หรือแม้แต่ลานกิจกรรมกีฬาให้นักศึกษาเลือกเล่น
The MATTER จึงชวน ‘ผศ. ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล’ รองอธิการบดีมหาลัยธรรมศาสตร์ มาพูดคุยกันว่า ทำไมต้องเป็น Smart City ความ Smart นี้มีดีตรงไหน และเราจะเริ่มออกแบบมันอย่างไรให้ Smart
The MATTER: Smart City สำคัญแค่ไหน ทำไมต้องพยายามทำให้ธรรมศาสตร์เป็น Smart City
อ.ปริญญา : เดิมทีเราพูดถึง Green University หรือมหาวิทยาลัยสีเขียว พอต่อมาเราเพิ่มเรื่องคน บวกกับสิ่งแวดล้อมเข้าไปด้วย นั่นคือ Sustainable Development หรือความยั่งยืน เพื่อให้เราใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดในโลกนี้ได้เพียงพอต่อไป มันคือเรื่องของสิ่งแวดล้อมบวกกับชุมชน สังคม และคน
Smart City ก็คือการเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่ บนแพลทฟอร์มของสมาร์ทโฟนมาใช้ เทคโนโลยีที่ไม่มีสาย ไม่มีการเก็บข้อมูลอยู่ในคอมพิวเตอร์ แต่อยู่บนเมฆ อยู่ในระบบไร้สาย อยู่ในโทรศัพท์มือถือ เราบวกเอาเทคโนโลยี 4.0 เข้ามาพัฒนาให้มัน Smart ให้เราบรรลุเป้าหมายในการทำให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น เป็นไปเพื่อสังคมอย่างยั่งยืนและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม Smart City จึงมี 3 องค์ประกอบหลักคือ คน สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี 4.0 ทั้งปัจจุบันวิกฤติการต่างๆ ของโลกเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสภาวะโลกร้อน อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น การละลายของน้ำแข็งในขั้วโลกเหนือ หรือการเพิ่มขึ้นของปริมาณน้ำในโลกนี้ แต่มนุษย์เราก็เชื่อมต่อกันได้เร็วขึ้นด้วยเทคโนโลยีที่มากขึ้น ผมมองว่าโอกาสของเราคือเราใช้เทคโนโลยี สมาร์ทโฟน ในการอำนวยความสะดวก ในการแก้ปัญหาโลกนี้ได้
นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมธรรมศาสตร์ต้อง Smart City ธรรมศาสตร์จึงขยับจากการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว มาเป็นมหาวิทยาลัยที่ยั่งยืน ที่สอดคล้องกับปรัชญาธรรมศาสตร์อยู่แล้ว เรื่องของการรักประชาชน รับผิดชอบต่อสังคม
The MATTER: ตอนนี้โครงการ Smart University ของธรรมศาสตร์ มีโปรเจ็กต์คืออะไรบ้าง
อ.ปริญญา : Smart University ของเราเริ่มต้นจากการมีจักรยาน มีทางจักรยานที่ฝั่งรังสิต ให้เด็กได้ยืมไปขี่ ตอนนี้เรามี Bike Sharing ที่เรียกว่า ‘A BIKY’ A มาจาก Anywhere Anyone Anytime ที่ยืมได้ทุกที่ไม่ต้องมีสถานี ทุกเวลา และทุกคน ไม่ใช่เฉพาะนักศึกษาเท่านั้น โดยเราเริ่มจาก 5 ปีที่แล้ว และพัฒนาเรื่อยมาจากการมีสถานียืมคืนโดยใช้บุคลากรมาสแกนบาร์โค้ด มาเป็นยุคที่สมาร์ท ที่ไม่มีสถานีอีกต่อไป แต่จักรยานเรามี GPS ในตัว ยืมคืนด้วยโทรศัพท์สมาร์ทโฟน เทคโนโลยีที่ทุกคนเข้าถึงกันได้หมด โดยเราเพิ่งเริ่มเมื่อเปิดเทอมที่ผ่านมา ตอนนี้เราเริ่มต้น 500 คัน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 คันต่อไป ซึ่งฝั่งท่าพระจันทร์เองในเดือนหน้า เราก็จะเริ่มมี A BIKY แล้วเหมือนกัน
เราได้มีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ Solar Rooftop ที่ธรรมศาสตร์รังสิต โดยเป้าหมายของเราคือผลิตไฟ 15 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง ซึ่งถ้าเฉลี่ยเวลาที่มีแสงแดดเต็มๆ ทั้งวัน 5 ชั่วโมง แปลว่าทั้งวันเราจะสามารถผลิตไฟได้ 75 เมกกะวัตต์ หรือ 75,000 หน่วย ปีที่แล้วธรรมศาสตร์ใช้ไฟไปประมาณ 2 แสนหน่วยเฉลี่ยต่อวัน การที่เราสามารถผลิตไฟได้เอง 75,000 หน่วยนี้ ถือว่า 39% เป็นพลังงานที่เราผลิตได้เอง ซึ่งความจริงเราอยากทำให้ได้มากกว่านี้ และตอนนี้ก็ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี โดยตอนนี้ค่าไฟของธรรมศาสตร์ก็ลดลงไปแล้ว 10% ในขณะที่เรายังติดตั้งไปได้เพียงแค่ 6 เมกะวัตต์เท่านั้น ตัวเลขนี้สำคัญ เพราะมหาวิทยาลัยในเอเชีย อย่างมหาวิทยาลัย Nanyang ของสิงคโปร์ ที่ติดโซลาร์ลูฟซึ่งผลิตไฟได้มากที่สุดตอนนี้ ผลิตได้อยู่ที่ 5 เมกะวัตต์ แปลว่าตอนนี้เราไม่ใช่แค่ที่หนึ่งของไทย แต่เรายังเป็นที่ 1 ของเอเชีย
ฝั่งท่าพระจันทร์เอง เราก็ได้เปลี่ยนแปลงที่เคยปลูกดอกไม้ มาเป็นแปลงปลูกผักออร์แกนิก ซึ่งเราเริ่มต้นในการให้พื้นที่แก่เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยนำผักมาลงปลูก จะปลูกผักอะไรกันก็ได้ แล้วแต่เลย และเราจะนำผักนี้ส่งโรงอาหาร โดยมีแผนจะใช้เปลี่ยนพื้นที่ ที่เคยปลูกไม้ประดับมาเป็นการปลูกผักให้มากขึ้นด้วย
ทั้งเรากำลังจะมีเรากำลังจะมีโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่เอาเศษอาหารจากโรงอาหารมาทำให้เป็นไฟฟ้า และเตรียมเปลี่ยนเครื่องใช้ไฟฟ้า อย่างแอร์ หรือไฟ ให้เป็นแบบที่ประหยัดพลังงานสูงสุดด้วย
The MATTER: มีโครงการมากขนาดนี้ แสดงว่าต้องมีค่าใช้จ่าย และการลงทุน แปลว่าไม่ใช่ทุกเมืองที่จะเป็น Smart city ได้ใช่ไหม
อ.ปริญญา : ไม่จริงเลย คือรูปแบบที่ธรรมศาสตร์ใช้คือรูปแบบที่ทำได้ทุกที่ ความจริงธรรมศาสตร์ก็มีเงินในบัญชีที่สามารถเอามาลงทุนได้ แต่จะเกิดคำถามว่า มหาวิทยาลัยมีหน้าที่จัดการการศึกษา ทำไมเอาเงินมาลงทุนตรงนี้ วิธีการของเราคือเราให้เอกชนมาลงทุน ยกตัวอย่างโครงการ Solar Rooftop ที่ใช้เงินไป 700 ล้านบาทนี้ มีเอกชนมาลงทุน โดยเราเป็นผู้อนุมัติควบคุม และเราก็ซื้อไฟจากเอกชนอีกที ซึ่งมันมีผลในการประหยัดพลังงาน เพราะแม้เราจะซื้อไฟราคาที่เท่ากับซื้อจากการไฟฟ้า แต่วิธีนี้แตกต่างกันเพราะการไฟฟ้านั้นคิดค่าไฟจากเวลาที่มีการใช้ไฟสูงสุด ไม่ได้คิดจากค่าเฉลี่ย ซึ่งตอนนี้เราเพิ่งเริ่มต้น ค่าไฟของธรรมศาสตร์ก็ลดลงไปได้แล้ว 10% ในเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว นี่ขนาดเราเพิ่งติดตั้งได้แค่ 6 เมกะวัตต์
เราผลิตไฟได้ส่วนนึง โดยที่ไม่ต้องออกตังค์เลยแม้แต่บาทเดียว และได้ประหยัดไฟด้วย หรืออย่างโรงไฟฟ้าชีวมวล และการเปลี่ยนเครื่องใช้ไฟฟ้า ก็ล้วนแต่เป็นการลงทุนจากเอกชน โดยที่ทั้งหมดธรรมศาสตร์ไม่ต้องจ่ายเงินเลย แต่เราจ่ายจากค่าไฟที่ลดลงไป ซึ่งประมาณ 6-7 ปีก็คืนทุนแล้ว และนี่เป็นตัวอย่างที่ใช้ได้ทั้งประเทศ และระบบนี้มันเกิดขึ้นได้ เพราะการที่เอกชนมาลงทุนแสดงว่ามีกำไร ถ้ามันเป็นกิจการมีกำไรแสดงว่าทำได้ทุกที่ด้วยโมเดลแบบนี้โดยการให้เอกชนมาลงทุน เราเรียกว่า Public Private Partnership การร่วมมือกับเอกชนในกิจการสาธารณะ
อีกตัวอย่างนึง คือจักรยาน A BIKY ที่รังสิต ที่ตอนนี้เรามี 500 คัน จักรยานนี้คุณภาพสูง ราคาต้นทุนต่อคันอยู่ที่ 6-7 พันบาท ก็เป็นการลงทุนของเอกชน หรืออย่าง A BIKY ที่ท่าพระจันทร์ก็เช่นกัน ก็จะเป็นการลงทุนจากอีกบริษัทที่ต่างกัน เหตุผลที่เราเลือกอีกบริษัทนึงเพื่อให้มีการเปรียบเทียบ การแข่งขัน นี่คือตัวอย่างที่สามารถทำได้ และจะมีมามากขึ้น รูปแบบนี้คือสิ่งที่จะเป็นตัวอย่างเพื่อการเปลี่ยนแปลง
The MATTER: จะรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับโครงการอย่างไร เช่น จักรยานหายไป
อ.ปริญญา : เป็นธรรมดาที่ต้องเกิดปัญหาในทุกๆ เรื่อง แต่เราไม่เอาปัญหามาเป็นอุปสรรคจนไม่ได้เดินหน้าต่อไป ปัญหาเกิดขึ้นก็ต้องแก้ไขไป อย่างเรื่องจักรยาน ตอนนี้เราทดลอง 500 คันก่อน เราก็อยู่อยู่แล้วว่าจะต้องเกิดปัญหา แต่เราไม่รู้ว่าจะเกิดปัญหาแบบใดบ้าง ซึ่งถ้าเรารู้เราก็ต้องแก้ไป ปัญหาเหล่านี้มันเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับประโยชน์ที่เราพูดมา เราแก้ได้ มันมีความผิดพลาดได้ทุกที่ คนที่ไม่รับผิดชอบมีอยู่ในทุกสังคม บางทีก็เกิดจากความไม่รู้บ้าง ไม่รู้ว่าขี่ออกไปข้างนอกไม่ได้ ก็เป็นไปได้ ก็ต้องหาแก้ไข เรามองว่านี่เป็นเรื่องเล็ก
ต้องอยู่ในวิถีชีวิต ต้องเปลี่ยนโดยวิถีชีวิตของเรา ไม่ได้เปลี่ยนเพียงแค่แฟชั่น คำขวัญ หรือสโลแกน
The MATTER: จะทำอย่างไรให้เป็นโครงการที่ยั่งยืน ไม่ใช่แค่เทรนด์ หรือแฟชั่นรักษ์โลก
ต้องอยู่ในวิถีชีวิต ต้องเปลี่ยนโดยวิถีชีวิตของเรา ไม่ได้เปลี่ยนเพียงแค่แฟชั่น คำขวัญ หรือสโลแกน อย่างธรรมศาสตร์โซลาเซลล์เราใช้จริง จักรยานเราขี่จริง ไม่ได้มีไว้ตั้งโชว์เฉยๆ และมันต้องเป็นเงื่อนไขที่สะดวกต่อนักศึกษา อย่างเรื่องไหนที่ไม่สะดวก สะดวกน้อยลง หรือเรียกร้องให้คนมาใช้ มันก็ลำบาก ถ้ามันสะดวกกว่าอย่างเช่นนักศึกษารอรถ Shuttle Bus 10-15 นาทีมา 1 คัน แต่มีจักรยานอยู่ข้างๆ เอามาขี่ได้เลย คุณก็เลือกขี่จักรยานได้ เราต้องทำให้มันสะดวกกว่า
ผมไปประชุมที่มหาวิทยาลัย British Columbia ประเทศแคนาดา นักศึกษาที่นั่นเขาพกขวดน้ำของตัวเองกันเป็นประจำ ใช้กันในชีวิตประจำวัน เขาไม่กินน้ำจากขวดน้ำพลาสติก เพราะรู้ว่ามันทำให้เกิดขยะพลาสติก แต่ของเรามีการรณรงค์ให้เลิกดื่มน้ำจากขวดพลาสติก แต่ทางเลือกที่ดีกว่าและง่ายกว่า เราก็ไม่มีให้ การเปลี่ยนแปลงก็จะไม่เกิด อย่างธรรมศาสตร์ตอนนี้เราก็เพิ่มที่เติมน้ำ แจกกระบอกน้ำให้นักศึกษาปีหนึ่งทุกปี เราก็ต้องสร้างเงื่อนไขแบบนี้ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง หรือถ้าเรากล้าพอ และต้องมีปริมาณที่เติมน้ำที่เพียงพอ และมั่นใจว่านักศึกษาพกขวดพลาสติก เราอาจจะเลิกใช้ และทำให้ธรรมศาสตร์เป็นเขตปลอดขวดพลาสติก เมื่อไม่มีขวดพลาสติกก็ไม่มีขวดพลาสติกอีกต่อไป เรื่องมันง่ายๆ เลย หรืออย่างร้านสะดวกซื้อ เรารณรงค์ให้ไม่ใช้ถุงพลาสติก คนก็ยังรับกันอยู่ดี เพราะว่ามันสะดวกกว่า ธรรมศาสตร์เราเลยงด ไม่มี ไม่ให้ถุงพลาสติก ช้อนส้อมพลาสติก เพราะมันทำให้เกิดขยะ แต่นักศึกษาก็บ่น ร้านสะดวกซื้อก็โดนบ่นว่าร้านข้างนอกมหาวิทยาลัยให้ได้ แต่ในมหาวิทยาลัยไม่ให้ เขาก็กลัวลูกค้าว่า กลัวจะเสียลูกค้า ซึ่งแต่ทุกเรื่องมันเปลี่ยนได้ อยู่ที่ว่าเราจะยอมทำหรือไม่
นี่คือปัญหาที่เราไม่ยอมเปลี่ยนพฤติกรรม ด้วยการละทิ้งความสะดวกสบาย ด้านนึงก็เรียกร้องว่าควรต้องเปลี่ยน แต่อีกด้านนึงเราในฐานะที่เป็นผู้ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง ก็ต้องสร้างเงื่อนไขที่สะดวก และดีกว่า พวกเราที่ตื่นตัวแล้ว ก็ต้องเปลี่ยนแปลงให้เป็นตัวอย่าง และเราต้องลงมือทำ และทำให้วิถีชิวิตแบบยั่งยืนสะดวกกว่า
The MATTER: ธรรมศาสตร์จะเป็นต้นแบบ หรือโมเดลให้มหาวิทยาลัยอื่น หรือเมืองอื่นๆ ยังไง
อ.ปริญญา : เราไม่ได้คิดจะทำให้ตัวเองเป็นโมเดล แต่เราทำเพราะเรารู้ว่ามันต้องทำ ถ้าเราทำไปแล้ว และสำเร็จ แล้วคนอยากรู้ว่าเราทำได้อย่างไร เรายินดีที่จะแบ่งปัน เพราะเราทำเพราะต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่แค่ธรรมศาสตร์ ผมว่าเราเรียนรู้จากกันและกันได้ คนจำนวนมากในโลกนี้กำลังช่วยเปลี่ยนแปลง ธรรมศาสตร์ก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งที่ต้องการช่วยเปลี่ยน อย่างเรื่องการติดตั้งโซลาเซลล์เราติดแล้วใช้งานได้จริง ก็มีคนมองว่าถ้าเกิน 1 เมกะวัตต์ต้องไปขออนุญาตตั้งโรงไฟฟ้า ธรรมศาสตร์ทำได้อย่างไร มันก็มีวิธีการและเราก็พร้อมจะแบ่งปัน
The MATTER: ธรรมศาสตร์ทำได้ แล้วเมื่อไหร่ประเทศไทยจะทำได้บ้าง
อ.ปริญญา : มันอยู่ที่คนไทย อยู่ที่เราแต่ละคน มันเปลี่ยนได้ถ้าเราลงมือ และอยู่ที่ว่าเราจะทำหรือเปล่า ถ้าไม่ลงมือทำแต่คิดดีแค่ไหนก็ไม่เกิดผลขึ้น และเราก็ไม่ใช่เพียงสมาชิกของประเทศไทย แต่ยังเป็นสมาชิกของโลกนี้ด้วย สำคัญที่ตามมาคือเราต้องมีจิตสำนึกของการเป็นพลเมืองโลกควบคู่กับการเป็นพลเมืองของประเทศนี้ รัฐบาลเราก็ประกาศอยู่ตลอดว่าจะเข้าสู่การเป็นเทคโนโลยี 4.0 แต่การประกาศอย่างเดียวแต่ไม่ลงมือทำก็ไม่เกิดผลหรอก เทคโนโลยีมันถึงแล้ว เรามีโอกาสจากตรงนี้ และเราต้องพัฒนาและใช้มันเพื่ออำนวยความสะดวก แก้ปัญหาโลกใบนี้ อย่าใช้เทคโนโลยีเพียงเพื่อตัวเอง ต้องตระหนักว่า เราต้องเป็นส่วนหนึ่งกับมนุษยชาติ ในการทำให้โลกใบนี้เป็นบ้านของพวกเราตลอดไป
Photo by. Asadawut Boonlitsak