จากเมืองกลางทะเลทราย กลายเป็นชุมชนสตาร์ทอัพที่ได้รับการยกย่องว่ามีสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนด้านนวัตกรรม (Innovation Ecosystem) เป็นอันดับสองของโลก (รองจาก Silicon Valley ในสหรัฐฯ เท่านั้น!) อิสราเอลและเมือง Tel-Aviv จึงเป็นที่จับตามองจากบรรดานักลงทุนและสตาร์ทอัพในหลายประเทศทั่วโลก
ในงาน Startup Thailand 2017 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา The MATTER ได้มีโอกาสได้พูดคุยกับ Mr. Eitan Lavie ประธานบริษัท AGW Group และ Mr. Barak Sharabi ผู้บริหารด้านกลยุทธ์จากบริษัท Infinity Technologies และนี่คือมุมมองจากสองผู้บริหารชาวอิสราเอล ที่น่าจะเป็นบทเรียนท่ีดีให้กับสตาร์ทอัพไทยได้
The MATTER : คิดว่าอะไรเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้ Tel-Aviv และอิสราเอล กลายเป็นดินแดนแห่งสตาร์ทอัพ?
Mr. Barak : ความจำเป็นครับ แล้วก็ตามมาด้วยการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ อย่างที่เขาพูดกันว่า ‘Necessity is the mother of invention.’ อิสราเอลเป็นประเทศที่มีแต่ทะเลทราย เราต้องการเทคโนโลยีเพื่อเริ่มสร้างประเทศของเราโดยเริ่มต้นจากศูนย์ เราเริ่มต้นด้วยตัวของเราเอง แล้วก็ชวนคนจากประเทศต่างๆ มาที่นี่ มาเริ่มจากศูนย์ด้วยกัน นั่นดูจะเป็นความหมายของคำว่าสตาร์ทอัพจริงๆ เริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ รู้จักคนใหม่ๆ มองเห็นปัญหาและหาทางแก้มัน
Mr. Eitan : อดีตของเรามีผลมากในการผลักดัน เราเป็นยิว ถูกขับไล่ให้เร่ร่อนอยู่หลายปี เราเพิ่งมีประเทศเมื่อ 69 ปีที่แล้ว แต่เราไม่มีทรัพยากรอะไรเลย เราต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอด เราจะทำอะไรได้นอกจากพึ่งพาหัวสมองของเรา เมื่อหลังชนฝา แล้วต้องอยู่ให้รอด เราจึงจำเป็นต้องมีความคิดสร้างสรรค์
The MATTER : แล้วประเทศคุณสร้างหรือลงทุนกับอะไรบ้าง?
Mr. Barak : สร้างทุกอย่างครับ อย่างที่บอกว่าเพราะเราจำเป็น เราเป็นตลาดปิด เราต้องทำการเกษตรด้วยตัวเอง แล้วก็ทำให้ตัวเองกลายเป็นผู้นำด้านผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีทางการเกษตร เราไม่มีน้ำ เราก็ต้องผลิตน้ำเอง อิสราเอลมีความต้องการน้ำสองพันล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี แต่เรามีแหล่งน้ำธรรมชาติแค่แหล่งเดียว ซึ่งผลิตน้ำได้เพียงหนึ่งพันล้านลูกบาศก์เมตร เราก็เลยต้องกลั่นน้ำจืดเอาจากน้ำทะเล (Desalination) แล้วเราก็สร้างระบบบำบัดน้ำเสีย ทำให้เรามีน้ำเพียงพอต่อความต้องการ เมื่อก่อนเรามีแต่ทะเลทราย แล้วดูตอนนี้สิ ผมกล้าพูดว่าเรากลายเป็นหนึ่งในประเทศที่รุ่มรวยที่สุดในโลก และเรายังเป็นประเทศเดียวที่มีจำนวนของต้นไม้เพิ่มขึ้นในศตวรรษที่ 21 นี้ด้วย
Mr. Eitan : อิสราเอลยังเป็นประเทศที่มีการลงทุนสูงอันดับต้นๆ ของโลกในเรื่อง R&D คือลงทุน 4.4% ของ GDP เลยนะ เราถึงเป็นประเทศที่พัฒนาด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรรมออกมามากมาย อีกอย่าง ผมว่าเราเป็นประเทศเล็กๆ เลยทำให้การสื่อสารและการระดมความคิดมันทำได้ง่าย อย่างเดินออกไปกินกาแฟ ก็อาจจะได้นั่งโต๊ะข้างๆ CEO บริษัทใหญ่ๆ เลย เพราะคนมันมีอยู่แค่นี้
The MATTER : หลายคนบอกว่า ‘Chutzpah’ ก็เป็นปัจจัยที่สำคัญ คุณคิดยังไง?
Mr. Eitan : ‘Chutzpah’ (ออกเสียงว่า ฮุซ-พาร์) ในภาษาภาษาฮิบรู ถ้าแปลตรงๆ มันก็คือความดิบ แต่ไม่ใช่ในทางที่ไม่ดี มันหมายถึงความกล้าที่จะทำอะไรบางอย่าง คนอิสราเอลไม่ค่อยมีขอบเขต ไม่ค่อยมีข้อจำกัด อย่างเวลาขายของสักอย่าง เราจะเร่ขายมันไปทั่วโลก ไม่ใช่แค่ในประเทศหรือประเทศเพื่อนบ้าน เราไม่รอให้ใครเข้ามาหา แต่เราจะออกไปขายแบบไม่ต้องกลัวเสียอะไร ถ้าอยู่เฉยๆ มันก็คือศูนย์ แต่ถ้าออกไป โอกาสก็อาจจะเป็นศูนย์หรือมากกว่านั้น ‘Chutzpah’ มันทำให้เราลองทำสิ่งต่างๆ โดยปราศจากความกลัว มันเกี่ยวกับความเชื่อมั่นในตัวเอง
Mr. Barak : อิสราเอลมีสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมแนวคิดมุ่งแก้ปัญหา (Problem-solving Orientation Ecosystem) เราสนับสนุนให้คนตั้งคำถาม อย่างตอนผมเป็นเด็ก เวลาครูพูดในห้องเรียน ผมสามารถที่จะไม่เชื่อครู สามารถที่จะตั้งคำถาม และหาคำตอบเพื่อพิสูจน์สิ่งเหล่านั้นด้วยตัวเองได้ อย่างเวลาทำงาน พนักงานก็สามารถลุกขึ้นมาตั้งคำถามประธานบริษัทได้ มันคือวัฒนธรรมของเรา เป็นวัฒนธรรมที่หลายๆ ประเทศอาจจะไม่มี และด้วยวัฒนธรรมที่มันหวือหวาแบบนี้ คนก็เลยไม่ค่อยกลัวที่จะทำสิ่งใหม่ๆ ที่อิสราเอล ถ้าล้มเหลวก็แค่เริ่มใหม่ ก็เลยทำให้นวัตกรรมมากมายเกิดขึ้นที่นี่
The MATTER : อย่างในอิสราเอลหรือประเทศอื่นๆ ที่มีสถานการณ์ทางการเมือง คิดว่ามันทำให้เกิดการสะดุดของสตาร์ทอัพไหม?
Mr. Barak : สถานการณ์ทางการเมืองมันมีทั่วโลกแหละ มันเป็นเรื่องของความรู้สึกมากกว่า และมันก็อาจจะดีด้วย เมื่อคุณรู้สึกว่ามีความเสี่ยง คุณก็จะพยายามต่อสู้เพื่อให้ผ่านพ้นไปได้ มันยิ่งทำให้คุณลงมือทำทุกอย่างที่รู้สึกว่าต้องทำ ไม่รีรอ ไม่ผลัดวันประกันพรุ่ง
Mr. Eitan : ผมไม่คิดว่ามันเป็นปัญหาเลย เราต้องมองให้ไกลกว่านั้น ไม่มีพรมแดนสำหรับเทคโนโลยี ถ้าคุณขายเทคโนโลยีในประเทศคุณไม่ได้ คุณก็ออกไปขายให้โลกสิ เรื่องเดียวที่เกี่ยวกับการเมืองก็แค่เรื่องแรงจูงใจทางภาษีกับพวกทุนที่รัฐให้ ถ้าคุณมีรัฐที่สนับสนุน คุณก็โชคดี แต่ถ้าไม่มี ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องหยุดทำสิ่งที่คุณต้องทำ
The MATTER : ความท้าทายของสตาร์ทอัพคืออะไร?
Mr. Eitan : คงเป็นการหนักแน่นในสิ่งที่ตัวเองทำและการพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา คุณอาจจะคิดว่าไอเดียของคุณนั้นเจ๋ง แต่ในโลกความจริงมันไม่ง่ายอย่างนั้น คุณก็ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวตลอดเวลา เพราะถ้าเมื่อไหร่คุณหยุดนิ่ง ไม่ปรับตัว คุณก็จะตาย ทำตัวให้เหมือนกับสายน้ำ ที่เมื่อไหลไปเจอกับอุปสรรค มันก็จะหาทางไหลของมันต่อไป
Mr. Barak : ผมว่าความท้าทายของสตาร์ทอัพคือการหา ‘คนที่ใช่’ อย่างผมมาหาพาร์ทเนอร์ที่ไทย ผมไม่รู้เลยว่าเขาเป็นใคร บางทีเขาก็อาจจะยังเรียนอยู่ ทำธุรกิจอย่างอื่นอยู่ หรือยังไม่รู้จักผมด้วยซ้ำ ผมก็เลยรู้สึกว่ามันยากในการหาคนที่ใช่ คนที่เราจะลงมือทำอะไรร่วมกับเขา เรื่องเงินไม่ใช่เรื่องยากสำหรับผม ถ้าคุณมีเครือข่ายที่ดีคุณก็จะหามันมาได้ ปัญหาคือคุณต้องหาคนที่ใช่ เจอไอเดียที่ใช่ จากนั้นทุกอย่างก็จะเป็นไปได้เอง
The MATTER : ‘คนที่ใช่’ เราสร้างเขาขึ้นมาได้ไหม?
Mr. Barak : ก็ได้ แน่นอนมันต้องเริ่มที่ระบบการศึกษา บวกกับก็การหล่อหลอมทางวัฒนธรรมด้วย พูดถึงระบบการศึกษา มันเริ่มตั้งแต่วันแรกที่ลืมตาเรียนรู้โลกเลย พ่อแม่คือครูคนแรกของเด็ก ต้องปลูกฝังให้เด็กกล้าคิดกล้าทำและไม่ยอมแพ้ คาแรกเตอร์หนึ่งของสตาร์ทอัพคือต้องเป็นคนที่มีความมั่นใจ ต้องเชื่อมั่นในตัวเอง เชื่อในความเท่าเทียม ทุกคนสามารถพูดสิ่งที่คิดได้ (ผมหมายถึงสิ่งที่คิดมาแล้ว) ผู้หญิงก็มีสิทธิ์เท่ากับผู้ชาย ทุกวันนี้เรามีสตาร์ทอัพที่มีชื่อเสียงที่เป็นผู้หญิงแค่ 6% เอง มันไม่ควรเป็นแบบนั้น
คุณต้องมีความมั่นใจ กล้าที่จะถามคำถาม อย่ากลัวแม้ว่าจะตั้งคำถามที่ผิด เพราะสุดท้ายแล้วคุณเองที่จะได้เรียนรู้จากความผิดพลาดนั้น
The MATTER : ความสำเร็จของสตาร์ทอัพมีผลอะไรกับการพัฒนาประเทศไหม?
Mr. Barak : ผมเรียกมันว่า ‘big smalls’ ผมชื่นชมที่ทุกวันนี้บริษัทใหญ่ๆ ช่วยขับเคลื่อนประเทศไทย แล้วก็แผ่ขยายออกไปในอาเซียน แต่ถ้ามีสตาร์ทอัพไทยที่ประสบความสำเร็จด้วย พวกเขาจะสร้างวัฒนธรรมที่แตกต่าง รวมถึงรายได้ให้กับประเทศคุณได้ เพราะพวกเขาคือกลุ่มคนที่ชอบทดลองสิ่งใหม่ๆ อยากรู้ว่าตัวเองทำอะไรได้บ้าง และจะไม่ยอมแพ้ง่ายๆ พวกเขาจะสร้างงานเพิ่มให้กับคนในประเทศ ทำเงินเข้าประเทศ แล้วก็เผยแพร่วัฒนธรรมแบบนี้ออกไป แล้วมันก็จะเกิดสภาพแวดล้อมที่ดี ที่เหมาะสมกับสตาร์ทอัพรายอื่น แล้วทุกคนก็จะก้าวไปข้างหน้า เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า
The MATTER : คิดอย่างไรกับไทยแลนด์ 4.0?
Mr. Barak : ไทยแลนด์ 4.0 ต้องการเทคโนโลยีในการขับเคลื่อน อิสราเอลสามารถเป็นตัวช่วยให้คุณได้ เราบอกทางลัดให้กับคุณได้ถ้าคุณอยากจะข้ามบางขั้นตอนไป
Mr. Eitan : ผมว่ามันเป็นไอเดียที่ดี แต่ผมอยากเห็นแอคชั่นที่มากกว่านี้ ผมอยากเห็นเรื่องแรงจูงใจทางภาษีกับอะไรต่อมิอะไรที่สัญญาไว้ว่าจะทำ ผมอยากเห็นองค์กรต่างๆ จัดสรรทุน ให้การสนับสนุน ผมอยากเห็นการลงทุนที่เพิ่มขึ้น ตอนนี้มันดูจูงใจและมีความหวัง แต่ผมก็อยากให้สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นในความเป็นจริง
Mr. Barak : ที่ Tel-Aviv เรามีสตาร์ทอัพมากเป็นอันดับสองของโลก มากเกินสองเท่าของไทยด้วยซ้ำ เราอยากชวนคนไทยให้ลองไปที่นั่น ไปร่วมงานกัน จริงๆ เราก็ต้องการพวกคุณไม่น้อยไปกว่าที่พวกคุณต้องการเรา คุณต้องการข้อมูล ความรู้ คำแนะนำ และเทคโนโลยีจากเรา อิสราเอลเองก็สนใจตลาดเอเชีย ซึ่งมีประชากรเป็น 60% ของโลก มีวัฒนธรรม ภาษา และความสามารถที่แตกต่างหลากหลาย เราสนใจพวกคุณมากและต้องการพาร์ทเนอร์จากที่นี่
The MATTER : มีอะไรอยากแนะนำสตาร์ทอัพไทยไหม?
Mr. Eitan : ผมว่าเราทุกคนไม่มีใครสามารถเป็นซุปเปอร์แมนได้ภายในวันเดียว แต่เราต้องตระหนักว่าเรามีความสามารถที่จะทำบางอย่าง สำหรับสตาร์ทอัพไทย พวกคุณต้องตระหนักว่าคุณมีความสามารถในการทำบางอย่างอยู่ คนเราไม่ได้เกิดมาแล้วฉลาดเลย เก่งเลย เราเกิดมาเพื่อเรียนรู้ที่จะทำบางอย่าง
ถ้าผมเป็นสตาร์ทอัพไทย ผมจะค่อยๆ พัฒนาตัวเองไปทีละขั้น ผมอาจจะไปที่อิสราเอลเพื่อเรียนรู้ ผมอาจจะเอาเทคโนโลยีบางอย่างกลับมาปรับใช้ในประเทศที่ผมอยู่ จริงๆ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นตลาดที่ใหญ่มาก ถ้าคุณเรียนรู้ที่จะคว้าโอกาส อย่างที่ผมบอก ผมไม่ใช่ซุปเปอร์แมน แต่ผมจะเรียนรู้ให้ได้ว่าซุปเปอร์แมนนั้นบินได้ยังไง แล้วก็เอาวิธีนั้นมาปรับใช้ แน่นอนว่าต้องให้เหมาะกับค่านิยมและจุดแข็งของประเทศด้วย อย่างประเทศไทยนี่จุดแข็งคือเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของคุณ นั่นเป็นเหตุผลที่ผมมายืนอยู่ตรงนี้ ที่เหลือคุณก็แค่ต้องปรับใช้เทคโนโลยีกับธุรกิจของคุณให้ได้
The MATTER : จากคำกล่าวของนายกรัฐมนตรีที่เตือนบรรดาสตาร์ทอัพว่า ให้ลงทุนเท่าที่มีกำลัง อย่าไปหวังรวยตั้งกิจการใหญ่โต คุณมีความเห็นว่าอย่างไรบ้าง?
Mr. Barak : ผมว่ามันขึ้นอยู่กับความพร้อมของสตาร์ทอัพแต่ละรายมากกว่า คุณควรประเมินตัวเองเพื่อดูว่าสิ่งที่คุณทำมันใช่มั้ย และมันก็จะช่วยบอกว่าคุณทำอะไรได้อีกบ้าง ทุกวันนี้ มีโอกาสมากมายไม่มีที่สิ้นสุด และโลกก็ต้องการคนที่มีความสามารถอย่างไม่สิ้นสุดเช่นกัน เมื่อคุณมีไอเดียดีๆ ที่นำไปสู่ความสำเร็จ คุณก็ต้องลงทุนกับ R&D อย่าขายแค่ไอเดีย ทำไมน่ะหรอ ก็เพราะมีคนรอจะลอกคุณอยู่ แล้วเขาก็จะแย่งตลาดคุณ กีดกันคุณไม่ให้เติบโต
สตาร์ทอัพจะทำเงินได้ก็ต่อเมื่อเติบโต ไม่ใช่แค่การเติบโตในประเทศเดียวหรือระหว่างประเทศด้วย แต่มันคือการเติบโตระดับโลก คุณอาจจะเริ่มเติบโตในตลาดเล็กๆ ก็ได้
แต่สุดท้ายเมื่อคุณกล้าที่จะลงแรงลงทุนสร้างวิธีการและเทคโนโลยีใหม่ๆ พัฒนาคนให้เป็นคนที่ใช่ได้ นั่นก็จะนำไปสู่การสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการเติบโตเป็นสตาร์ทอัพในระดับโลกแบบอิสราเอล
Cover illustration by Namsai Supavong