“ถ้าจะมีนรกบนดิน ประเทศไทยก็ได้สร้างมันไว้แล้วให้กับผู้ถูกคุมขังชาวอุยกูร์” ฟิล โรเบิร์ตสัน (Phil Robertson) รอง ผอ. ภูมิภาคเอเชีย Human Rights Watch (HRW) เคยกล่าวเอาไว้
13 มีนาคม 2014 – หรือเมื่อ 10 ปีที่แล้วพอดิบพอดี – ในป่าใกล้พรมแดนไทย-มาเลเซีย เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ของไทย ได้จับกุมกลุ่มชาวอุยกูร์จำนวนหนึ่ง (HRW ระบุว่ามี 220 คน ขณะที่สำนักข่าวอื่นๆ ระบุจำนวนที่มากกว่านั้น อย่างเช่น Radio Free Asia ที่รายงานตัวเลขอย่างน้อย 475 คน) นั่นคือจุดเริ่มต้นของมหากาพย์ หรือที่ HRW เรียกว่า ‘saga’ ของการกักกันชาวอุยกูร์ในประเทศไทยที่กินระยะเวลาครบ 1 ทศวรรษ
เหตุการณ์จับกุมชาวอุยกูร์ดังกล่าว ซึ่งเดินทางออกมาจากเขตปกครองตนเองซินเจียง ทางตะวันตกของจีน เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่อมาก็เกิดรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และหลังจากนั้น จึงเกิด 2 เหตุการณ์สำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้
เหตุการณ์แรก คือการตัดสินใจของไทยในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2015 อนุญาตให้สตรีและเด็กชาวอุยกูร์จำนวน 173 คน ซึ่งตอนนั้นถูกกักกันในไทยมาแล้ว 1 ปี เดินทางต่อไปยังประเทศตุรกี เพื่อขอลี้ภัย
แต่เหตุการณ์ที่สอง คือเหตุการณ์ที่ทำให้ไทยถูกประณามโดยนานาชาติ นั่นคือ การบังคับส่งกลับชาวอุยกูร์ 109 คน ตามคำขอของจีน กลับไปยังประเทศจีน เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2015 ครั้งนั้นสำนักข่าว CCTV ของจีน เผยแพร่ภาพตำรวจจีนมารับชาวอุยกูร์กลุ่มดังกล่าว ในสภาพที่ถูกคลุมหัว ใส่กุญแจมือ เพื่อเดินทางกลับไปจีน โดยไม่อาจทราบชะตากรรม
“เป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดเจน” สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNCHR) กล่าว ณ ตอนนั้น
ปัจจุบัน ยังมีชาวอุยกูร์หลงเหลืออยู่อย่างน้อย 43 คน ที่ยังถูกควบคุมตัวที่สถานกักตัวคนต่างด้าว ซอยสวนพลู ในสภาพที่ถูกพูดถึงไปแล้วว่าเป็น ‘นรกบนดิน’
แออัด ไม่ถูกสุขลักษณะ ทารุณกรรม และล้มป่วยจนเสียชีวิต
แออัดอย่างมาก และไม่ถูกสุขลักษณะ – คือสภาพที่ HRW และ Amnesty International รวมถึงสำนักข่าวหลายแห่ง หรือแม้แต่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) บรรยายตรงกันถึงสถานกักตัวชาวอุยกูร์ที่ซอยสวนพลู
ที่สำคัญ มีรายงานถึงการขาดแคลนอาหาร น้ำ และยารักษาโรค ที่มีไม่เพียงพอ ไม่มีอาหารฮาลาลสำหรับผู้ถูกคุมขังชาวมุสลิม รวมถึงไม่มีสิทธิเข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างเหมาะสม
HRW ยังระบุด้วยว่า ตม.ไทย ปฏิเสธไม่ให้ชาวอุยกูร์กลุ่มนี้เข้าถึงทนายความ ครอบครัว กลุ่มมนุษยธรรม หรือองค์การต่างๆ เช่น UNHCR และหน่วยงานลี้ภัยอื่นๆ ของสหประชาชาติ (UN) จึงเป็นการปิดกั้นทำให้ไม่สามารถขอรับสถานะผู้ลี้ภัยได้
นอกจากนี้ ยังมีรายงานถึงการทารุณกรรม อย่างเช่นการทำร้ายร่างกายเพื่อทำโทษด้วย
“ผมไม่เคยเห็นใครถูกทุบตีแบบนี้มาก่อนเลย มีเลือดเยอะเต็มไปหมด” หนึ่งในผู้ลี้ภัยที่เคยถูกคุมขัง ให้สัมภาษณ์กับ Southeast Asia Globe สำนักข่าวที่รายงานเรื่องราวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่ VICE ก็เคยสัมภาษณ์ผู้ลี้ภัยอีกคน ซึ่งเปิดเผยว่า “พวกเขา [ชาวอุยกูร์] ถูกปฏิบัติราวกับผู้ก่อการร้าย” เข้าเยี่ยมไม่ได้ รับเงินไม่ได้ หรือแม้แต่ใช้โทรศัพท์ไม่ได้ ถ้าพบก็จะถูกทำโทษ
ด้วยสภาพเช่นนี้ ทำให้ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มีชาวอุยกูร์ล้มป่วยจนเสียชีวิตในสถานกักตัวอย่างน้อย 5 รายแล้ว ทั้งในสถานกักตัวที่ซอยสวนพลู และสถานที่อื่นๆ ก่อนหน้านี้ ซึ่งจะกลายเป็นข่าวไปทั่วโลกทุกครั้ง
จากการรวบรวมพบว่า 5 คนที่เสียชีวิต ประกอบไปด้วย
- เด็กทารกแรกเกิด เสียชีวิตในเดือนมิถุนายน 2014
- อับดุลลาห์ อับดุเวลี (Abdullah Abduweli) เด็กชายวัย 3 ขวบ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2014 ด้วยวัณโรค
- บิลาล (Bilal) ชายวัย 27 ปี เสียชีวิตเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2018 ด้วยโรคมะเร็ง
- อับดุลอะซีซ อับดุลลาห์ (Abdulaziz Abdullah) ชายวัย 49 ปี เสียชีวิตในเดือนกุมภาพันธ์ 2023 ด้วยโรคปอดอักเสบ
- และในปีเดียวกัน – วันที่ 21 เมษายน 2023 มัตโตห์ตี มัตตูร์ซุน (Mattohti Mattursun) ชายวัย 40 ปี เสียชีวิตด้วยอาการตับวาย
ไทยควรทำอะไรต่อไป
“ต้องเสียชีวิตกันอีกเท่าไหร่ ก่อนที่ทางการไทยจะมีมนุษยธรรมปล่อยตัวผู้บริสุทธิ์เหล่านี้ ที่เพียงต้องการหาที่ลี้ภัย” โอเมอร์ คานัต (Omer Kanat) ผู้อำนวยการบริหาร โครงการสิทธิมนุษยชนอุยกูร์ (UHRP) เคยแถลงเมื่อปี 2023 ที่ผ่านมา “ชาวอุยกูร์ทั่วโลกเต็มไปด้วยความเจ็บปวด ที่ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ถูกทิ้งไว้กับความทุกข์ทรมานเป็นเวลา 9 ปี และโลกก็ไม่เคยยื่นมือมาช่วยเหลือ”
แล้วไทยควรต้องทำอะไรต่อไป?
ที่ผ่านมาเป็นเวลา 10 ปี หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมถึงองค์กรต่างๆ ในไทยเอง ก็มีข้อเรียกร้องให้ดำเนินการต่อการควบคุมตัวชาวอุยกูร์มาโดยตลอด นับตั้งแต่สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาจนถึงรัฐบาลปัจจุบัน ภายใต้นายกฯ ที่ชื่อ เศรษฐา ทวีสิน
กรณีนี้รวมถึง กสม. ที่มีข้อเสนอแนะตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา ให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นหน่วยงานหลักในการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งหามาตรการหรือแนวทางที่เป็นรูปธรรม รวมถึงระยะเวลาที่ชัดเจนในการส่งตัวไปยังประเทศที่สาม แต่ผ่านมาเป็นเวลาเกือบ 5 เดือน จนถึงปัจจุบัน ข้อเสนอแนะดังกล่าวก็ยังไม่มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม
แต่สำหรับฉากจบของเรื่องราวเรื่องนี้ จากข้อเรียกร้องของหน่วยงานต่างๆ ที่เกิดขึ้น เราสามารถสรุปสาระได้เป็น 2 ข้อใหญ่ๆ
ไทยต้องไม่ส่งตัวชาวอุยกูร์กลับจีน
“รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ควรงดเว้นจากการตัดสินใจส่งชาวอุยกูร์ไปประเทศจีน” แถลงการณ์ของ HRW ระบุ เช่นเดียวกับมูลนิธิศักยภาพชุมชน และองค์กรอื่นๆ ที่ได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการการต่างประเทศของสภาฯ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2022 ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยข้อเรียกร้องเดียวกัน
ทำไมถึงห้ามส่งกลับ? HRW ระบุว่า สาเหตุก็คือ ไทยเป็นรัฐภาคีของ อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment) ซึ่งไทยมีหน้าที่ที่จะต้องไม่ส่งตัวบุคคลไปยังสถานที่ที่จะเสี่ยงถูกทรมาน
หรือแม้แต่กฎหมายในไทยเอง ก็มี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายของไทย เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปี 2023 ที่ผ่านมา ซึ่งมีมาตรา 13 ที่ระบุว่า “ห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐขับไล่ ส่งกลับ หรือส่งบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอีกรัฐหนึ่ง หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้น จะไปตกอยู่ในอันตรายที่จะถูก กระทำทรมาน ถูกกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือถูกกระทำให้สูญหาย”
ไทยต้องอนุญาตให้เดินทางต่อไปยังประเทศที่สาม
“[ไทยควร] ตระหนักถึงพันธกรณีของไทยที่มีต่ออนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และควรปล่อยตัวชาวอุยกูร์ที่เหลืออยู่ ปล่อยให้พวกเขากลับไปอยู่ร่วมกับครอบครัว และอนุญาตให้พวกเขาเดินทางอย่างปลอดภัยไปประเทศที่สาม” แถลงการณ์ของ HRW ระบุต่อมา
สุนัย ผาสุก ที่ปรึกษา HRW เคยอธิบายเอาไว้ว่า ไทยไม่ใช่ปลายทางของชาวอุยกูร์ หากแต่ประเทศปลายทางคือประเทศมุสลิม เช่น ตุรกี ซาอุดีอาระเบีย มาเลเซีย ฯลฯ ไทยจึงต้องปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ คือ ห้ามส่งกลับไปเผชิญอันตราย หรือสถานที่ที่คุกคามต่อเสรีภาพ
ปลายปีนี้ ไทยจะลงสมัครรับเลือกตั้งเข้าเป็นสมาชิกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน (Human Rights Council) แห่ง UN ประการหนึ่งที่ วิทิต มันตาภรณ์ ศาสตราจารย์กิตติคุณจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้รายงานพิเศษ UN เสนอให้ไทยปรับปรุงก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น คือ การปฏิบัติต่อคนที่ไม่ใช่คนไทยในประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาอาจถูกส่งกลับประเทศ หรือถูกขู่ว่าจะส่งกลับ ประเด็นนี้ย่อมหมายรวมถึงชาวอุยกูร์ที่ยังคงถูกคุมขังในกรุงเทพฯ อย่างแน่นอน
“ในหลักสากล ส่งกลับไปสู่ดินแดนที่อันตรายต่อชีวิตไม่ได้” วิทิตอธิบาย “และแม้แต่ พ.ร.บ. ใหม่ของเรา พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ก็ห้าม ดังนั้น จริงๆ แล้ว การส่งกลับอย่างนี้ หรือขู่ส่งกลับ มันขัดกฎหมายไทยด้วย และขัดกับหลักสากลที่ไม่ให้ส่งกลับ”
“จริงๆ แล้วของพวกนี้ ขึ้นอยู่กับความเป็นผู้นำ (leadership) มากเลย และเจตจำนงทางการเมือง (political will) จากข้างบน ผู้ใหญ่ต้องสั่งออกมาให้ชัด ไม่อย่างนั้น คนที่เป็นลูกน้องไม่กล้าหรอก เขาก็ปกป้องตัวเขาเองครับ” วิทิตเคยให้สัมภาษณ์กับเรา