1,947 คือจำนวนประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมและการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ถึง 31 มกราคม 2567 ในจำนวนนี้เป็นเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี 286 คน
ท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าว รัฐบาลไทยกำลังอยากเข้าไปเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน (Human Rights Council หรือ HRC) แห่งองค์การสหประชาชาติ
เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2566 กระทรวงการต่างประเทศได้จัดงานเลี้ยง โดยมี ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นเจ้าภาพ เพื่อประกาศตัวอย่างเป็นทางการ ในการสมัครเป็นสมาชิก HRC วาระปี ค.ศ. 2025-2027 ซึ่งกำลังจะมีการเลือกตั้งในปลายปีนี้
เรื่องนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน กระทรวงการต่างประเทศเคยส่งหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2565 ลงนามโดย ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เสนอเรื่องการสมัครเป็นสมาชิก HRC ในวาระเดียวกัน ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีมติรับทราบ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2565
ปานปรีย์ก็เคยให้สัมภาษณ์กับ The MATTER ในประเด็นนี้ว่า เป็นการแสดงให้เห็นว่าไทยให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชน
“ถ้าเราไม่เห็นความสำคัญ เราคงไม่สมัคร การที่เราจะสมัคร และโอกาสที่เราจะได้เข้าไปเป็น ได้กลับเข้าไปอีกครั้งหนึ่ง ผมก็เชื่อว่า มันก็อยู่ที่การกระทำของเราด้วย” รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ บอกกับเรา
แล้วคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนคืออะไรกันแน่? ไทยมีบทบาทสำคัญกับเรื่องนี้แค่ไหน? หรือที่สำคัญกว่านั้น – เราพร้อมแค่ไหนที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งขององค์การด้านสิทธิมนุษยชนระดับโลก ภายใต้สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศที่ยังมีช่องว่างให้พัฒนา
The MATTER ชวนหาคำตอบไปพร้อมๆ กัน
คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนคืออะไร?
อาจจะดูน่าเบื่อสักเล็กน้อย แต่สำคัญ เราเลยอยากเล่าให้ฟัง – คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ชื่อเต็มๆ ก็คือ United Nations Human Rights Council) หรือ HRC คือองค์การระหว่างประเทศภายใต้สหประชาชาติ (UN) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2006 และมีหน้าที่ตรวจสอบและส่งเสริมเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนทั่วโลก
“คณะมนตรีจะต้องรับผิดชอบต่อการส่งเสริมการเคารพอย่างเป็นสากลต่อการปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งหมดและเสรีภาพขั้นพื้นฐานสำหรับทุกคน” มติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ที่ A/RES/60/251 ซึ่งเป็นเอกสารก่อตั้ง HRC เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ค.ศ. 2006 ระบุ
ที่สำนักงานใหญ่ของ UN ณ นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ประเทศสมาชิกของ HRC ทั้งหมด 47 ประเทศ แต่ละประเทศจะเป็นสมาชิกได้วาระละ 3 ปี ติดต่อกันได้มากที่สุด 2 วาระ จากนั้นต้องรอให้วาระไม่ติดต่อกัน ถึงจะลงสมัครรับเลือกตั้งเข้าเป็นสมาชิกได้อีก
ทุกๆ ปี HRC จะจัดการประชุมสมัยปกติ (regular session) อย่างน้อยปีละ 3 ครั้ง (กุมภาพันธ์-มีนาคม มิถุนายน-กรกฎาคม และ กันยายน-ตุลาคม) ครั้งละ 3-5 สัปดาห์ รวมกันอย่างน้อยปีละ 10 สัปดาห์
ถ้า 1 ใน 3 ของประเทศสมาชิก HRC (นั่นคือ อย่างน้อย 16 ประเทศ) เรียกร้อง ก็อาจจัดให้มีการประชุมสมัยพิเศษ (special session) ได้ เพื่อพิจารณาสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงในประเทศต่างๆ (เช่น สงครามในยูเครน) หรือวิกฤตที่กระทบกับสิทธิมนุษยชนทั่วโลก (เช่น วิกฤตอาหารโลก)
HRC มีกลไกทำงานหลายแบบ กลไกหนึ่งที่สำคัญ และเป็นหน้าที่หลักๆ ของ HRC คือ กระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศ หรือ Universal Periodic Review (UPR) เปรียบเสมือน ‘การตรวจสุขภาพ’ ด้านสิทธิมนุษยชนของแต่ละประเทศ
กระบวนการ UPR จะแบ่งเป็นรอบๆ รอบละประมาณ 4 ปีครึ่ง ในช่วงเวลานี้ ทุกประเทศที่เป็นสมาชิก UN จะต้องได้รับการตรวจสอบ แบ่งเป็นปีละ 48 ประเทศ โดยคณะทำงาน UPR ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกทั้งหมดของ HRC จะตรวจสอบจากรายงานที่แต่ละประเทศส่งมา ข้อมูลจากรายงานโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงข้อมูลจากองค์กรผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ
ไม่ใช่ครั้งแรกที่ไทยได้เป็นสมาชิก
วาระปี ค.ศ. 2025-2027 ไม่ใช่ครั้งแรกที่ไทย (อาจจะ) เข้าไปมีบทบาทในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน
ที่ผ่านมา ไทยเคยเข้าไปเป็นสมาชิก HRC มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี ค.ศ. 2010-2013 รวมถึงเคยมีบุคลากรจากไทย คือ สีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ) เคยได้เป็นประธานของ HRC วาระปี ค.ศ. 2010-2011 ด้วย
ต่อมา ไทยพยายามจะเข้าไปเป็นสมาชิกอีกครั้งในวาระปี ค.ศ. 2015-2017 แต่ก็ไม่เป็นผล สาเหตุหลักๆ คาดว่าเป็นเพราะเกิดรัฐประหารคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปี 2557 เสียก่อน จากนั้นไทยก็ไม่ได้เข้าไปเป็นอีก จนกระทั่งจะมีความเป็นไปได้อีกครั้ง ในปี ค.ศ. 2025 ที่จะถึงนี้
แล้วทำไมไทยจึงอยากเข้าไปเป็นสมาชิก HRC อีก? The MATTER นำเรื่องนี้ไปคุยกับ วิทิต มันตาภรณ์ ศาสตราจารย์กิตติคุณจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ ซึ่งตอบว่า “ถ้าจะอ้างว่าเป็นเกียรติ ก็คงอ้างได้ แต่ว่าผมว่าอันนั้นไม่ใช่คำตอบโดยตรง
“ผมว่าคำตอบก็คือว่า รัฐอยากจะแสดงเจตนาว่า มีบทบาทในระบบพหุภาคี (multilateralism) ซึ่งก็เป็นแต้มที่ดีสำหรับประเทศไทย อันนั้นผมว่าเป็นแรงจูงใจมาก และผมก็เชื่อว่ามีฝ่ายผู้กำหนดนโยบายของเราอยากจะอยู่ในระบบนี้มาตลอด เพราะว่าไทยเห็นด้วยกับระบบพหุภาคี เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าไปแล้วมันก็เป็นสิ่งที่ดี มีน้ำหนักที่ดีครับ”
แต่ในอีกด้านหนึ่ง วิทิตชี้ว่ามีแนวคิดอีกแบบคือ “แทนที่จะปฏิเสธระบบ เข้าไปเล่นในระบบดีกว่าครับ” นั่นคือ แทนที่จะอยู่นอกระบบและถูกติติงหรือตรวจสอบในเวทีระหว่างประเทศ ก็เข้าไปในระบบเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศตนเองด้วย เขาจึงมองว่า นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมประเทศเผด็จการจำนวนมากจึงอยากเข้าไปอยู่ใน HRC
“แต่ผมเองก็ยังคิดว่า เจตนาที่ดีน่าจะเป็นว่า เราอยากจะมีบทบาทช่วยเสริมในเรื่องการส่งเสริมประชาธิปไตย การพัฒนาที่ยั่งยืน สันติภาพ และสิทธิมนุษยชนครับ” วิทิตระบุ
ไทยมี ‘โอกาส’ ที่จะเข้าไปเป็นสมาชิกได้ คือการวิเคราะห์ของวิทิต ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติไปพร้อมๆ กับสอนหนังสือที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ “แต่จะทำอย่างไรให้ใช้โอกาสนี้เป็นคุณ เพื่อพัฒนาบางส่วนที่ยังไม่ค่อยดีนัก” เขากล่าว และนั่นคือสิ่งที่ต้องพูดคุยกันต่อไป
สถานการณ์สิทธิฯ ดีแค่ไหน ก่อนจะเข้าไปในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน
อย่างไรก็ดี อาจจะด้วยสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศที่ยังไม่สมบูรณ์แบบ ที่ผ่านมา เจตนาของรัฐบาลไทยในการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ HRC จึงตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์
กรณีหนึ่งซึ่งน่าจับตา และเกิดในช่วงที่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง คือ การจับกุม 2 สื่อมวลชน เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จากเหตุการทำข่าวนักกิจกรรมพ่นกำแพงวัดพระแก้ว ซึ่งหลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ว่ากระทบต่อเสรีภาพการแสดงออก
อีกกรณีหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ คือ กรณีของ ตะวัน—ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ แฟรงค์—ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร ที่อดอาหารและน้ำเพื่อประท้วงตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมี 1 ใน 3 ข้อเรียกร้องระบุโดยตรงว่า ประเทศไทยไม่ควรได้เป็นสมาชิก HRC
ขณะที่ภาคประชาสังคมก็เริ่มให้ความสนใจกับเรื่องนี้มากขึ้น เช่น เมื่อไม่นานมานี้ Amnesty International ร่วมกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ก็เพิ่งจัดเวทีเสวนาประเมินความพร้อมการเป็นสมาชิก HRC ของไทย ที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) วันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
หากพิจารณาการเข้าไปเป็นสมาชิก HRC ของไทย วิทิตมองว่า แม้ไทยจะมี ‘แต้มต่อ’ จำนวนหนึ่ง แต้มที่ไทยจะได้ 100% คือ การมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่รัฐประหาร และอีกส่วนที่สำคัญคือ เรื่องของสาธารณสุข โดยเฉพาะระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (universal health coverage) และอีกประการคือ กฎหมายที่ดีอยู่แล้วและได้รับการชื่นชม เช่น พ.ร.บ.ความเท่าเทียมทางเพศ พ.ศ. 2558
แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีส่วนที่ต้องพัฒนาต่อไป โดยเฉพาะในเรื่องของ ‘สิทธิทางการเมือง’
ส่วนที่ยังต้องปรับปรุง วิทิตเสนอว่ามีอยู่ 4 ประการ
ประการแรก กฎหมายซึ่งเป็นเศษเหลือที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย ซึ่งขัดกับหลักสิทธิมนุษยชน เช่น คำสั่ง คสช. หรือการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และบางมาตราของประมวลกฎหมายอาญา เช่น ม.112 อย่างไม่สมดุล
ประการที่สอง สถานการณ์ที่เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 286 คน ถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน “เราอยากจะขอความกรุณา อย่าใช้กฎหมายพวกนี้ และอย่าดำเนินคดีต่อเด็ก” วิทิตระบุ
หรือหากยืนยันจะใช้กฎหมาย เขาก็เสนอว่า ควรจะดำเนินการผ่านมาตรการทางสังคม ไม่ใช่กรอบทางอาญา ซึ่งจะเป็นการปกป้องคุ้มครองเด็กทางสังคม โดยไม่มีประวัติอาชญากรรม ซึ่งจะกลายเป็นตราบาปของเยาวชนที่ควรจะได้รับโอกาสเป็นครั้งที่ 2
ประการที่สาม คือ กฎหมายอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวกับเด็กและเยาวชน แต่เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพ เช่น กฎหมายที่จำกัดสิทธิในการแสดงออกและการรวมกลุ่ม อย่างเฉพาะเจาะจง
ประการที่สี่ คือ การปฏิบัติต่อคนที่ไม่ใช่คนไทยในประเทศไทย เช่น ผู้อพยพลี้ภัยบางส่วนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งที่ผ่านมาอาจถูกส่งกลับประเทศ หรือถูกขู่ว่าจะส่งกลับ
“ซึ่งในหลักสากล ส่งกลับไปสู่ดินแดนที่อันตรายต่อชีวิตไม่ได้” วิทิตอธิบาย “และแม้แต่ พ.ร.บ. ใหม่ของเรา พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ก็ห้าม ดังนั้น จริงๆ แล้ว การส่งกลับอย่างนี้ หรือขู่ส่งกลับ มันขัดกฎหมายไทยด้วย และขัดกับหลักสากลที่ไม่ให้ส่งกลับครับ”
อย่าลืมที่จะเคารพสิทธิ
ทั้งหมดนี้ วิทิตเชื่อว่า รัฐบาลสามารถแก้ไขได้ เพียงแต่ต้องขึ้นอยู่กับเจตจำนงของผู้นำ
“จริงๆ แล้วของพวกนี้ ขึ้นอยู่กับความเป็นผู้นำ (leadership) มากเลย และเจตจำนงทางการเมือง (political will) จากข้างบน ผู้ใหญ่ต้องสั่งออกมาให้ชัด ไม่อย่างนั้น คนที่เป็นลูกน้องไม่กล้าหรอก เขาก็ปกป้องตัวเขาเองครับ”
ก่อนจากกัน เราถามศาสตราจารย์กิตติคุณจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ว่า อะไรคือวิธีตอกย้ำความสำคัญของสิทธิมนุษยชนต่อไปในอนาคต ท่ามกลางสถานการณ์ด้านสิทธิฯ ที่เป็นอยู่ คำตอบที่ได้คือ ‘เปิดพื้นที่’
“ผมว่าคำที่สวย และมีหลายชั้นเลย คือ ‘พื้นที่’ เปิดพื้นที่ และขอให้ฉลาดในการเปิดครับ” เขากล่าว และอธิบายต่อมาว่า พื้นที่ปลอดภัยอาจมีหลายความหมาย ทั้งในเชิงวัตถุ ภูมิศาสตร์ หรือสภาพแวดล้อม
แต่ความหมายหนึ่งของพื้นที่ปลอดภัย ที่บางทีเราหลงลืมไป คือการเคารพสิทธิเสรีภาพ