สำหรับศึกชิงตำแหน่งผู้ว่ากรุงเทพฯ ที่แม้จะยังไม่รู้ว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ แต่ ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ก็เริ่มมีการเปิดตัวแคนดิเดตกันไปแล้ว รวมถึงแต่ละคนเริ่มงัดเอาวิสัยทัศน์และนโยบายออกมาฟาดฟันกันไม่มีแผ่ว แม้จะยังไม่มีการกำหนดวันเลือกตั้งที่แน่นอนก็ตาม
หนึ่งในผู้ชิงตำแหน่งผู้ว่าที่หลายคนขนานนามว่า ‘เป็นชายที่แข็งแกร่งที่สุด’ อย่าง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครจากสังกัดอิสระ ก็เพิ่งออกมาแสดงวิสัยทัศน์สุดแข็งแกร่งด้วยคอนเซ็ปต์ ‘กรุงเทพฯ แข็งแกร่ง ความแข็งแรงของเมืองที่สร้างได้’
วิสัยทัศน์มีอะไร คอนเซ็ปต์นั้นแกร่งอย่างไร มุมมองของชัชชาติที่จะหยิบมาพัฒนาเมืองหลวงของไทยได้ในลักษณะไหน The MATTER สรุปมาให้ได้ดูกันแล้ว
ทุนทางสังคม (Social Capital)
ชัชชาติ แคนดิเดตผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ขึ้นเป็นสปีกเกอร์คนสุดท้ายในเวที Night at the Museum 11 Night Talk และได้พูดถึงแนวทางการพัฒนาเมืองในด้วยแนวคิด ‘ทุนทางสังคม’ ซึ่งทุนสังคมที่ชัชชาติให้ความสำคัญมากที่สุดคือ ทุนมนุษย์
ทุนมนุษย์ ในความเห็นของชัชชาติถูกพัฒนาได้ด้วยการยอมรับความหลากหลาย การให้เกียรติ ไว้วางใจซึ่งกันและกัน การให้อำนาจมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและกำหนดอนาคตของเมือง ชัชชาติชี้ให้เห็นว่า ในทางการเงิน ทรัพย์สินนั้นมาจาก ‘หนี้สิน+ทุน’ แต่ที่ผ่านมา รัฐบาลวางประชาชนไว้ในสถานะของหนี้สิน มองด้วยระบบพ่อดูแลลูก ไม่ให้ความไว้วางใจ ซึ่งการสวมเลนส์แบบนี้ในการบริหารจัดการเมืองไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร
“รัฐเรามองคนเป็นภาระ ไม่เคยเอาเราไปช่วยแก้ปัญหา ปกครองเหมือนพ่อมองลูก แต่เมืองจะเข้มแข็งได้คือการมองประชาชนเป็นทุน ซึ่งรัฐต้องมาช่วยแก้ปัญหา ทางออกคือการมอบอำนาจให้ประชาชนเข้มแข็ง… รัฐไม่ไว้ใจเรา รัฐเอาทุกอย่างไปที่ส่วนกลาง แต่สิ่งสำคัญคือการกระจายอำนาจให้ประชาชนตัดสินใจร่วมกันมากขึ้น”
ในการพัฒนาเมืองและทุนทางสังคม ต้องเริ่มต้นที่วางใจให้ภาคประชาชน และชุมชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ และต้องมอบอำนาจให้หน่วยงานส่วนนี้มีสิทธิในการตัดสินใจ ซึ่งที่ผ่านมาการดำเนินงานของภาครัฐมักดำเนินการทุกอย่างจากศูนย์กลาง ตั้งแต่สั่งงาน ไปจนถึงอนุมัติงบประมาณ ซึ่งผู้ที่สั่งหรือคิดแผนงานนั้นไม่ใช่คนในพื้นที่ ไม่รับรู้ข้อดีและข้อเสียแบบที่คนในพื้นที่หรือในชุมชนรู้
ตัวอย่างปัญหาการรวมอำนาจไว้ในศูนย์กลางที่เห็นได้ชัดคือช่วงระบาด COVID-19 ที่ในตอนแรกรัฐบาลออกระเบียบห้ามประชาชนซื้อที่ตรวจ ATK มาตรวจด้วยตัวเอง ต้องเข้ารับการตรวจผ่านวิธี RT-PCR ที่โรงพยาบาลเท่านั้น จนเกิดภาพประชาชนไปต่อคิวตรวจหาเชื้อจนแน่นโรงพยาบาล ผู้ป่วยบางรายไม่สามารถเข้าสู่ระบบการรักษาได้ เพราะไม่มีผล RT-PCR ยืนยัน
หรือเรื่องที่ตอนแรกห้ามผู้ป่วย COVID-19 รักษาตัวด้วยวิธี Home Isolation ต้องเข้ารักษาในระบบเท่านั้น ทำให้เกิดปัญหาแย่งเตียง เตียงสำหรับผู้ป่วยสีแดงและสีเหลืองไม่เพียงพอเพราะผู้ป่วยทุกระดับต่างการต้องเข้าถึงยาและการรักษา แต่ในตอนหลังที่เริ่มมีการผ่อนปรนให้ผู้ป่วยรักษาตัวเองจากที่บ้าน มีการแจกจ่ายยา และสิ่งของจำเป็น สถานการณ์เตียงและระบบสาธารณสุขก็เริ่มดีขึ้นตามลำดับ
COVID-19 ยังเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นว่า ภาคประชาชนมีความสำคัญการเมืองมากกว่าที่คิด นับตั้งแต่เดือนเมษายนที่มีการระบาดรุนแรงในหลายพื้นที่ภาคประชาชน และภาคเอกชนลงมามีบทบาทเต็มตัวในการช่วยเหลือสังคม เช่น สร้างเครือข่ายเพื่อช่วยเหลือผู้เดือดร้อนในพื้นที่ต่างๆ ผ่านการนำเอาเครื่องสาธารณูปโภค ยา อาหาร หรือถังออกซิเจนลงไปช่วยเหลือ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ภาครัฐไม่สามารถทำได้ เพราะผิดระเบียบ
‘จุดแข็ง’ ของทุนทางสังคมที่ชัชชาติกล่าวไว้คร่าวๆ 9 ข้อ ได้แก่
- มีข้อมูลเชิงลึก เพราะได้ข้อมูลจากภาคเอกชนและภาคประชาชนที่เผชิญปัญหาในพื้นที่
- เข้าใจปัญหา เพราะดำเนินการโดยคนที่คุ้นเคยกับปัญหาต่างๆ เป็นอย่างดี
- เข้าใจจิตใจ เข้าใจธรรมชาติการดำเนินชีวิตของคนในระดับต่างๆ
- ใช้ได้จริง ออกแผนงานที่สามารถปรับใช้ได้จริง
- มีคนเก่ง ดึงคนเก่งจากวงการต่างๆ ไม่ใช่เฉพาะในหน่วยราชการมาร่วมวางแผน
- เพื่อการอยู่รอด
- มีความยืดหยุ่น ปรับให้เข้ากับสถานการณ์
- ขยายได้เร็ว
- มีความยั่งยืน เพราะชุมชนเข้มแข็งในระยะยาว ต่อให้เปลี่ยนกี่รัฐบาลก็จะยังยืนต่อไปได้
ชัชชาติ กล่าวระหว่างการแสดงวิสัยทัศน์ว่า “เราทุกคนมีบทบาทแตกต่างกัน แม้ผมจะเป็นวิศวกร แต่วันนี้ผมไม่พูดเรื่องวิศวกร เพราะปัญหาเมืองส่วนใหญ่เราจะมองผ่านเลนส์ที่เรามีความรู้อยู่ นักผังเมืองก็จะพูดเรื่องผังเมือง นักรัฐศาสตร์ก็จะพูดเรื่องรัฐศาสตร์ เผด็จการก็จะจัดระเบียบอย่างเดียว NGO ก็จะพูดเรื่องสิ่งแวดล้อม”
“เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าใครเป็นอะไรก็จะใส่แว่นสีนั้น แต่มันแก้ปัญหาเมืองไม่ได้ เราต้องการ Multi Colour Lane ผมอาสามาทำกรุงเทพฯ ต้องถอดเลนส์วิศวะออก เพราะไม่อย่างนั้นเราจะพูดถึงแต่เมกะโปรเจ็กต์ ซึ่งมันไม่ได้ตอบปัญหา มันกลายเป็นการดึงทรัพยากรมาที่เมกะโปรเจ็กต์”
“อย่างครองแสนแสบ 7.8 หมื่นล้านบาท แทนที่จะแบ่งทำโรงเรียน ทำโรงพยาบาลสิบแห่ง พอเราใส่แว่นตาวิศวะกร เราจะมองเห็น 7.8 หมื่นล้านบาท มันคือ Zero-Sum มันมาตรงนี้ ที่อื่นก็หายไป หัวใจของเมืองคือต้องมี Multi Colour ต้องมีคนหลากหลายแบบพวกเรา ทุกสาขามาแลกเปลี่ยนความเห็นกันและสร้างพลัง”
คำถามต่อมาคือ เราจะสร้างความแข็งแรงของเมืองผ่านทุนทางสังคมได้อย่างไร? ชัชชาติเสนอว่าทำได้โดย
1.ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ฉลาดกำลังเหมาะ ไม่เน้นการใช้เทคโนโลยีเกินไป เน้นที่ทรัพยากรคน โดยชัชชาติได้เสนอไอเดียให้แต่ละชุมชนมี Digital Agent (อสท.อาสาสมัครเทคโนโลยี) โดยเอาเด็กรุ่นใหม่ในชุมชนมาช่วยขับเคลื่อนเรื่องเทคโนโลยี
อีกไอเดียหนึ่งคือชัชชาติเสนอภายใต้แนวคิดใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมคือ ‘Open Bangkok’ เปิดแพลตฟอร์มที่นำข้อมูลภายในของภาครัฐทั้งการจัดซื้อจัดจ้างมาอัพโหลดขึ้นบนคราวน์ เพื่อให้ทุกคนตรวจสอบได้ เพื่อส่งเสริมความโปร่งใสในการดำเนินงานของภาครัฐ
2. มุ่งหน้าสู่คววามร่วมมือ 4 ประสาน ภาครัฐ เอกชน ประชาชน และวิชาการ เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างทุกองค์กรอย่างเท่าเทียม และสมดุลกัน
3. ร่วมมือกันจากบนลงล่าง (ภาครัฐนำ) และล่างขึ้นบน (ชุมชนนำ) ทำ 2 นโยบายควบคู่กันไป โดยชัชชาติยกตัวอย่างการทำ PBP (Partipatory Budgeting Project) ของประเทศฝรั่งเศสที่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่างๆ เพราะบางเรื่องคนที่อยู่ในฐานะผู้บริหารเองอาจไม่เชี่ยวชาญเท่าประชาชนในพื้นที่
4. สร้างทุนทางสังคม ด้วยพื้นที่สาธารณะที่มีคุณภาพ พื้นที่สีเขียว สวนสาธารณะ หอศิลป์ ฯลฯ เพื่อสร้างพื้นที่ให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อให้เกิดการแชร์ไอเดียที่สดใหม่ และหลากหลายอยู่เสมอ