ภาษาไทยเรามีคำศัพท์เยอะเต็มไปหมด บางทีเราก็อาจจะลืมคำศัพท์ที่เคยเห็นผ่านตาไป บางคำก็รู้สึกว่าคุ้นนะ แต่ลืมไปแล้วว่าหมายความว่าอะไร บางคำก็ติดอยู่ที่ปากนี่แหละ เข้าใจแต่อธิบายออกมาไม่ได้ ลองมาเคาะสนิมคำศัพท์ที่พบบ่อยในหนังสือการ์ตูน หนังสือนิยายกันดูไหม The MATTER คัดคำศัพท์จากหนังสือต่างๆ มาทั้งหมด 20 คำ ทายถูกกันกี่คำอย่าลืมบอกกันด้วยนะ
อนธการ (อน-ทะ-กาน) น. ความมืด, ความมัว, ความมืดมน, เวลาคํ่า
‘อนธการ’ อาจเป็นคำที่ไม่ได้เห็นกันบ่อยนัก แต่ก็มักถูกใช้ในหนังสือนิยาย หรือหนังสือการ์ตูน เพื่อใช้แทนคำว่าความมืดให้ดูทรงพลังขึ้นกว่าเดิม และนอกจากนี้ยังใช้แทนคำว่า ‘ความเขลา’ ได้อีกด้วย
วิญญูชน (วิน-ยู-ชน) น. บุคคลซึ่งรู้ผิดรู้ชอบตามปรกติ
‘วิญญูชน’ เห็นได้ทั้งหนังสือทั่วไป และวรรณกรรมเยาวชน หมายถึง บุคคลซึ่งรู้ผิดรู้ชอบตามปกติ แม้จะมีความคล้ายคำว่า ‘วิญญาณ’ แต่ก็ไม่ได้มีความหมายเกี่ยวกับโลกหลังความตายหรืออย่างใด แม่คำของคำว่า ‘วิญญูชน’ คือคำว่า ‘วิญญู’ ที่หมายถึงผู้รู้แจ้ง หรือนักปราชญ์
ขรม (ขะ-หฺรม) ว. เอ็ดอึง, แซ่, (ใช้กับเสียง)
‘ขรม’ เป็นคำที่พบได้บ่อยในวรรณกรรมเยาวชน เราอาจเห็นคำว่า ‘ขรม’ จากการอธิบายว่า ‘สุนัขตัวนั้นเห่าเสียงขรม’ ทำให้พอจะเดาได้ว่าคำนี้เป็นคำที่ใช้ขยายคำที่เกี่ยวกับเสียงที่หมายความว่า เสียงดัง สามารถใช้ได้ทั้งเสียงคนและสัตว์ จะเป็น ชาวบ้านทะเลาะกันเสียงขรม ก็ย่อมได้
อุตริ (อุด-ตะ-หฺริ) ว. นอกคอก, นอกทาง, นอกรีต
‘อุตริ’ ก็เป็นอีกคำที่พบได้บ่อยในหนังสือ และยังมีคนใช้พูดกันอยู่ มีความหมายว่า นอกลู่นอกทาง ซึ่งจะใช้ในความหมายไม่ค่อยดีกันสักเท่าไหร่ หรือก็คือ ทำอุตริอย่างที่คนอื่นไม่ทำกัน และก่อให้เกิดปัญหาตามมา
สลาตัน (สะ-หฺลา-ตัน) น. ลมที่พัดจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือในปลายฤดูฝน, เรียกลมพายุที่มีกำลังแรงจัดทุกชนิด
‘สลาตัน’ คำที่มักเห็นบ่อยตามท่าไม้ตายของตัวละครในการ์ตูน เพราะ ‘สลาตัน’ เป็นคำที่เกี่ยวกับลม ดั้งเดิมใช้พูดถึงลมใต้ หรือลมที่พัดจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือในปลายฤดูฝน หรือลมที่พัดแรงทุกชนิด บางครั้งก็ใช้เปรียบเทียบเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็เลยเหมาะจะเป็นคำที่ใช้อธิบายท่าไม้ตายต่างๆ
กระเหี้ยนกระหือรือ ก. แสดงความกระตือรือร้นเอาจริงเอาจังอย่างออกนอกหน้า
‘กระเหี้ยนกระหือรือ’ จะว่าเป็นคำโบราณก็ใช่ เพราะไม่ค่อยมีคนใช้เท่าไหร่ในยุคนี้ แต่ก็ยังมีให้เห็นบ้างประปราย ด้วยเสียงของคำน่าจะทำให้เข้าใจได้ไม่ยากว่า ‘กระเหี้ยนกระหือรือ’ หมายถึงกริยาที่แสดงความกระตือรือร้นและเอาจริงเอาจังอย่างออกนอกหน้า ประมาณว่าต้องการสิ่งนั้นมากจนยอมทำอะไรก็ได้เลย
โลกันตร์ (โล-กัน) น. ชื่อนรกขุมหนึ่งเป็นที่ลงโทษที่หนักที่สุดไม่ผุดไม่เกิด
เราอาจเคยเห็นวลี ‘สะท้านโลกันตร์’ ผ่านตาไป และด้วยวลี ก็อาจทำให้สับสนในความหมายของคำได้ แม้คำว่า ‘โลกันตร์’ จะมีแม่คำเป็นคำว่า ‘โลก’ ก็จริง แต่ไม่ได้หมายถึงโลกมนุษย์แต่อย่างใด แต่ ‘โลกันตร์’ หมายถึง นรกขุมที่ลงโทษที่หนักที่สุด ผู้ที่ลงไปจะไม่ได้ผุดได้เกิด อย่าใช้ผิดกันล่ะ
จุติ (จุ-ติ หรือ จุด-ติ) ก. เคลื่อน, เปลี่ยนสภาพจากกำเนิดหนึ่งไปเป็นอีกกำเนิดหนึ่ง, (มักใช้แก่เทวดา)
‘จุติ’ เป็นอีกหนึ่งคำที่เจอบ่อยในนิยายหรือการ์ตูนแฟนตาซี ซึ่งเป็นคำที่มีหลายคนสับสนในความหมาย คำว่า ‘จุติ’ หมายถึง เปลี่ยนสภาพจากกำเนิดหนึ่งไปเป็นอีกกำเนิดหนึ่ง หรือพูดให้ง่ายก็คือการตายแล้วเกิดใหม่อีกครั้ง แต่มักจะใช้กับเทพหรือเทวดาเท่านั้น
กอปร (กอบ) ก. ประกอบ
‘กอปร’ คำปราบเซียนที่เจอครั้งแรกแล้วเป็นต้องสงสัยว่า อ่านว่าอะไรกันนะ ใช่ กอ-ปอน หรือเปล่า แท้จริงคำนี้อ่านว่า กอบ และหมายถึง ประกอบ เป็นภาษาเก่าเล็กน้อย การใช้งานก็เหมือนกับคำว่าประกอบเลย อย่างเช่น กอปรกับ (ประกอบกับ) หรือ กอปรด้วย (ประกอบด้วย)
ศิโรราบ (สิ-โร-ราบ) ก. กราบกราน, ยอมอ่อนน้อม
‘ศิโรราบ’ คำนี้น่าจะเห็นได้บ่อย มักจะเจอในฉากต่อสู้ของหนังสือหรือการ์ตูน และมักมาพร้อมกับคำว่า ‘พ่ายแพ้’ ดังนั้นจึงเดาความหมายได้ไม่ยากนัก ‘ศิโรราบ’ หมายถึง กราบกราน ยอมอ่อนน้อม เลยมักถูกใช้ขยายความคำว่าพ่ายแพ้นั่นเอง
อุษา (อุ-สา) น. แสงเงินแสงทอง, เช้าตรู่, รุ่งเช้า
‘กลุ่มแสงอุษา’ เป็นคำที่ใครหลายคนต้องเคยเห็นหรือได้ยินผ่านไปอย่างแน่นอน เพราะเป็นชื่อกลุ่มตัวละครในการ์ตูนเรื่อง นินจาคาถาโอ้โฮเฮะ ซึ่งในภาษาญี่ปุ่นใช้คำเรียกกลุ่มนี้ว่า 暁 (อะคัทสึกิ) ที่แปลว่ารุ่งอรุณ ผู้แปลจึงเลือกใช้คำสละสลวยอย่างคำว่า ‘อุษา’ ที่มีความหมายใกล้เคียงกันว่า รุ่งเช้า เช้าตรู่ หรือแสงเงินแสงทอง
สังสาระ (สัง-สา-ระ) น.การท่องเที่ยว, ไป, ความเป็นไปของสภาพธรรม
หลายคนน่าจะเคยได้เห็น ‘เนตรสังสาระ’ ผ่านตามาบ้าง จากเรื่อง นารูโตะ นินจาคาถาโอ้โฮเฮะ ‘สังสาระ’ เป็นคำทางศาสนาที่หมายถึง การท่องเที่ยวจากจิตขณะหนึ่งไปสู่จิตอีกขณะหนึ่ง (ไม่ใช่การท่องเที่ยวแบบเที่ยวทะเลนะ) หรือก็คือการเวียนว่ายตายเกิดของชีวิตนั่นแหละ
บุโรทั่ง (บุ-โร-ทั่ง) ว. เก่าและทรุดโทรมมาก
เวลาจะพูดถึงสิ่งของเก่าแก่ มักจะมีคำว่า ‘บุโรทั่ง’ ต่อท้ายมาอยู่เสมอ อย่างคำว่า ‘รถบุโรทั่ง’ ที่เจอได้บ่อยที่สุด คำว่า ‘บุโรทั่ง’ เป็นภาษาปาก หมายถึง เก่าและทรุดโทรมมาก แต่บางครั้งก็พบได้ในหนังสือ เพราะเป็นคำที่อธิบายสิ่งของเก่าแก่ที่เห็นภาพดี
เอ็ดตะโร ก. ทำเสียงอึกทึกครึกโครม, ดุด้วยเสียงดังลั่น
คนรุ่นปู่ย่าตายายชอบพูดว่า ‘เดี๋ยวจะโดนเอ็ด’ หรืออาจพบเห็นคำนี้ในหนังสืออยู่บ้าง ‘เอ็ดตะโร’ มีความหมายว่า ทำเสียงอึกทึกครึกโครม หรือดุด้วยเสียงดังลั่น หรือจะใช้คำว่า ‘เอ็ด’ อย่างเดียวก็ได้ เพราะคำว่า ‘เอ็ด’ ก็เป็นแม่คำของ ‘เอ็ดตะโร’ นี่แหละ
มะงุมมะงาหรา ก. อาการที่ดั้นด้นไปโดยไม่รู้ทิศทาง, งุ่มง่าม
แม้จะออกเสียงแล้วดูน่ารัก แต่คำว่า ‘มะงุมมะงาหรา’ หมายถึง อาการที่ดั้นด้นไปโดยไม่รู้ทิศทาง หรือ งุ่มง่าม เวลาที่ทำอะไรเชื่องช้า ดูไม่ค่อยรู้เรื่อง ก็ใช้เป็นคำนี้กัน
ผิน ก. เปลี่ยนจากทิศทางเดิมไปเล็กน้อย
คำว่า ‘ผิน’ มักจะเจอในนิยายย้อนยุค หรือบางทีในละคร ซีรีส์ ก็มีอยู่บ้าง โดยเฉพาะคำว่า ‘ผินหน้า’ โดยคำว่า ‘ผิน’ หมายถึง เปลี่ยนทิศทางจากเดิมไปเล็กน้อย ถ้าอธิบายให้เห็นภาพก็คือเปลี่ยนองศาใบหน้าจากหน้าตรง เฉมองไปทางอื่นนิดหน่อย
พินอบพิเทา (พิ-นอบ-พิ-เทา) ก. แสดงอาการเคารพนบนอบมาก
‘พินอบพิเทา’ ก็เป็นอีกคำหนึ่งที่พบได้บ่อย และหลายคนอาจไม่แน่ใจในความหมาย ด้วยการใช้คำที่เดาความหมายไม่ถูกเลย ‘พินอบพิเทา’ หมายถึง แสดงอาการเคารพนบนอบมาก ใช้ในเวลาที่อยากอธิบายกริยาของตัวละครให้ชัดเจนขึ้น
กเฬวราก (กะ-เล-วะ-ราก) น. ซากศพ
‘กเฬวราก’ มักได้ยินในเชิงตำหนิ และบางครั้งก็สับสนว่าออกเสียงอย่างไร ถ้าเป็นภาษาปากก็มักจะพูดกันว่า กะ-เลว-กะ-ลาด แต่ที่จริงภาษาเขียนที่ถูกต้องคือ ‘กเฬวราก’ อ่านว่า กะ-เล-วะ-ราก หมายถึง ซากศพ แต่มักถูกใช้แทนคำว่าคนชั่ว คนไร้ประโยชน์ ที่รู้สึกว่าน่ารังเกียจเหมือนซากศพ มาถึงคำนี้หลายคนจดลงลิสต์ เตรียมไว้พูดกับเพื่อนเรียบร้อย
กำสรด (กำ-สด) ก. สลด, แห้ง, เศร้า
‘กำสรด’ อาจไม่ใช่คำที่พบบ่อยเท่าไหร่ แต่ก็หาได้บ้างตามหนังสือนิยาย หรือวรรณคดี บทกลอน คำอ่านยากคำนี้มีความหมายว่า สลด แห้ง เศร้า เป็นคำสละสลวยที่ใช้แทนความรู้สึกโศกเศร้าให้ดูทรงพลังยิ่งขึ้น
สวัสดิกะ (สะ-หฺวัด-ดิ-กะ)
‘ปลดปล่อยสวัสดิกะ’ ที่มักจะเห็นจากในเรื่อง บลีช เทพมรณะ มีความหมายว่าอะไรกันนะ คำว่า ‘สวัสดิกะ’ (ลักษณะหมุนวนทวนเข็มนาฬิกาแบบนี้ 卍 ไม่ใช่แบบเอียง 45 องศาที่นาซีใช้กัน) ในทางสันสกฤต คือสัญลักษณ์มงคลที่มีมาช้านานในวัฒนธรรมทางเอเชีย ชาวญี่ปุ่นจึงนิยมใช้สัญลักษณ์สวัสดิกะแทนเครื่องหมายของวัด
ในมังงะฉบับญี่ปุ่นนั้น ‘ปลดปล่อยสวัสดิกะ’ เป็นการประกบกันของคันจิสองตัวคือ 卍解 และตัวอักษรที่แปลว่า ปลดปล่อย ผู้แปลจึงเลือกใช้คำนี้
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Manita Boonyong