กลายเป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถามว่า ‘ขายชาติหรือเปล่า?’ อีกครั้ง หลัง นิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยมหาดไทยกล่าวในงาน Property Inside 2022 ถึงเรื่องการพิจารณาให้ต่างชาติเช่า-ซื้อที่ดินในประเทศไทย
The MATTER ชวนย้อนดู 25 ปี ตั้งแต่หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญที่พลิกเศรษฐกิจไทยจากเสือตัวที่ 5 กลายเป็นคนป่วยของอาเซียนในปัจจุบัน ทุกการขยับของประเด็นดังกล่าวมีอะไรบ้าง
ต่างชาติปัจจุบัน
ในปัจจุบันกฎหมายระบุให้ชาวต่างชาติสามารถครอบครองอสังหาริมทรัพย์ในไทยได้อยู่แล้ว โดยมีข้อกำหนด ดังนี้
- ในกรณีห้องชุด/ คอนโด สามารถถือครองที่ดินได้ไม่เกิน 49% ของห้องชุดทั้งหมด
- ในกรณีถือครองที่ดินสามารถถือครองได้ไม่เกิน 1 ไร่ แต่ต้องครอบครองเพื่ออยู่อาศัย และมีข้อแม้ว่า ชาวต่างชาติคนดังกล่าวต้องนำเงินมาลงทุนอย่างน้อย 40 ล้านบาทเป็นระยะเวลา 5 ปี
- ในกรณีที่เช่าที่ดินเพื่อพาณิชยกรรมหรืออุตสาหกรรมสามารถเช่าที่ดินได้เป็นระยะเวลา 50 ปี
สำหรับสถิติการถือครองอสังหาริมทรัพย์ของชาวต่างชาติในไทย ข้อมูลในปี 2564 ของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ พบว่ามีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 39,727 ล้านบาท
- แบ่งเป็นกรุงเทพฯ และปริมณฑล 29,795 ล้านบาท
- ภูมิภาค 9,932 ล้านบาท
โดยในปี 2564 ชาวต่างชาติ 5 ลำดับแรกที่ครองห้องชุดในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมากที่สุด ได้แก่
- จีน 19,588 ล้านบาท
- วานูอาตู 1,111 ล้านบาท
- สิงคโปร์ 786 ล้านบาท
- ไต้หวัน 740 ล้านบาท
- สหรัฐอเมริกา 724 ล้านบาท
25 ปีกฎหมายให้ต่างชาติเช่า-ซื้อที่ดินไทย
อันที่จริง กฎหมายให้ต่างชาติเช่า-ซื้อที่ดินมีแง่มุมน่าคิดหลายประการ แต่มุมที่มักถูกหยิบขึ้นมาสนับสนุนคือ ‘เหตุผลด้านเศรษฐกิจ’ และวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 นับเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของไทย ซึ่งทำให้รัฐบาลไทยต้องกู้หนี้จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF มากถึง 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์
และเงินกู้ยืมกองทุนการเงินระหว่างประเทศนี่เองที่ทำให้รัฐบาล ชวน หลีกภัย ต้องตัดสินใจออกกฎหมายหลายฉบับเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการกระตุ้นให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ผ่านการให้เช่า-ซื้ออสังหาริมทรัพย์
- พ.ศ. 2542
ในปี 2542 สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย พรรคประชาธิปัตย์ได้มีการออก พ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2542 ซึ่งเขียนไว้ว่าได้อนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถเช่าที่ดินสำหรับทำธุรกิจได้ไม่เกินระยะเวลา 50 ปี โดยระบุว่าในกรณีที่เช่าที่ดินไม่เกิน 100 ไร่ ต้องนำเงินมาลงทุนในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท และถ้าหากต้องการเช่าที่ดินมากกว่านั้น ต้องมีการอนุมัติจากอธิบดีกรมที่ดินเสียก่อน
ต่อมาในปีเดียวกัน ได้มีการออก พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2542 มีใจความว่าให้ชาวต่างชาติสามารถถือครองที่ดินสำหรับใช้เป็นที่อยู่อาศัยได้ไม่เกิน 1 ไร่ โดยมีข้อกำหนด ดังนี้
- ต้องนำเงินมาลงทุนอย่างน้อย 40 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 5 ปี
- ประเภทของการลงทุนต้องเป็นประโยชน์แก่เศรษฐกิจและสังคมและประเทศ
- บริเวณที่อยู่อาศัยต้องอยู่ในเขตเมืองกรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา เขตเทศบาล หรือตามกฎหมายผังเมือง
- ถ้าชาวต่างชาติทำผิดข้อกำหนด อธิบดีมีสิทธิริบที่ดินคืนและนำไปขายทอดต่อ
- พ.ศ. 2546
ในวันที่ 31 ก.ค. ปีดังกล่าว รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ได้แถลงข่าวจากทำเนียบรัฐบาลมีใจความว่า ในระยะเวลาเข้ามาทำงาน 2 ปีครึ่ง รัฐบาลได้ชำระหนี้ 500,000 ล้านบาทที่ติดอยู่กับ IMF หมดแล้ว โดยจำนวนดังกล่าวคิดเป็นร้อยละ 98 ของหนี้ทั้งหมด
- พ.ศ. 2548
ดังที่เป็นชื่อบทความหนึ่งของ ‘way magazine’ เรื่องว่า ‘เปิดทางต่างชาติเช่าที่ดิน 99 ปี: ทักษิณคิด ประยุทธ์ทำ’ เพราะในปี 2548 ทักษิณได้มีความคิดแก้ไข พ.ร.บ. การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2542 โดยตั้งใจเสนอ ร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ.. ขยายระยะเวลาการเช่าที่ดินจาก 50 ปี เป็น 99 ปี และในกรณีที่ต้องการเช่าที่ดินเกิน 100 ไร่ ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจากอธิบดีกรมที่ดินอีกแล้ว
แต่ปรากฏว่าถูกภาคประชาชนต่อต้านอย่างหนัก แถมยังถูกฝ่ายค้านตราหน้าว่าเป็นการออกกฎหมายที่ ‘ขายชาติ’ จึงทำให้แนวคิดนี้ต้องล้มเลิกลงไป
- พ.ศ. 2549
พล.อ.สนธิ บุญยรัตนกลิน ได้นำคณะ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เข้ายึดการปกครองจากรัฐบาลทักษิณ ขณะที่เจ้าตัวไปประชุมที่นิวยอร์ก ก่อนแต่งตั้ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกฯ
- พ.ศ. 2551
ก่อนที่ สมัคร สุนทรเวช จากพรรคพลังประชาชนจะขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกฯ พล.อ.สุรยุทธ์ได้มีการออก พ.ร.บ.อาคารชุด (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 กำหนดให้ต่างชาติสามารถครอบครองห้องชุด/ คอนโด ได้ไม่เกิน 49% ของห้องทั้งหมด หรือสมมติทั้งคอนโดมี 1,000 ห้อง ต่างชาติสามารถถือครองได้ 490 ห้อง
ในช่วงปลายปี ยังได้เกิดเหตุการณ์กลุ่มพันธมิตรปิดล้อมสนามบินดอนเมืองเพื่อขับไล่ สมชาย วงสวัสดิ์ ออกจากตำแหน่งนายกฯ รัฐมนตรี นำไปสู่การเลือก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมาเป็นนายกฯ หรือเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า มีการเลือกตัวนายกฯ ในค่ายทหาร
- พ.ศ. 2553
ด้วยความไม่พอใจในรัฐบาลอภิสิทธิ์ทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงต่อเนื่องของมวลชนคนเสื้อแดง หรือ นปช. จนในที่สุดนำไปสู่เหตุการณ์ล้อมปราบคนเสื้อแดง ซึ่งศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.) ชี้ว่ามีผู้สังเวยชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้น 94 ราย และมี 18 รายที่เสียชีวิตด้วยกระสุนจากฝั่งเจ้าหน้าที่ อย่างไรก็ตาม ผ่านมา 12 ปียังไม่มีคนต้องรับโทษในกรณีดังกล่าว
- พ.ศ. 2557
ก่อนการรัฐประหารและขึ้นมาของคนที่เราคุ้นเคยกันดี ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2557 กลุ่ม ‘มวลมหาประชาชน’ หรือ กปปส. ที่นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ ได้เข้าขัดขวางการเลือกตั้งทั่วประเทศ ด้วยข้ออ้างว่าต้องการให้มีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ซึ่งในท้ายสุดศาลปกครองก็มีมติให้การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะ และสุดท้ายนำไปสู่ช่องว่างทางการเมือง และการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
- พ.ศ. 2561
อย่างที่อ้างถึงบทความของ way เรื่องทักษิณคิด ประยุทธ์ทำ หนึ่งในเมกะโปรเจคท์ที่รัฐบาลรัฐประหารพยายามผลักดันคือ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งในปี 2561 ได้มีการออก พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 ซึ่งได้ระบุไว้ในมาตรา 52 ว่า
“ห้ามมิให้ทําสัญญาเช่าเป็นกําหนดเวลา เกิน 50 ปี ถ้าได้ทําสัญญากันไว้นานกว่านั้นให้ลดลงมาเป็น 50 ปี การต่อสัญญาเช่าอาจทําได้ แต่จะต่อสัญญาเกิน 49 ปีนับแต่วันครบ 50 ปีไม่ได้” หรือแปลเป็นภาษาง่ายๆ ได้ว่า อนุญาตให้เช่าแบบ 50+49 รวมเป็น 99 ปี
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสังเกตคือ มาตรา 6 ที่กำหนดว่า EEC ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา, ชลบุรี และระยอง แต่ที่น่าสนใจคือคำด้านหลังที่ระบุว่า “และพื้นที่อื่นใดที่อยู่ ในภาคตะวันออก ที่กําหนดเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา” หรือชวนตั้งข้อสังเกตได้ว่า พื้นที่ EEC อาจขยายออกไปได้อีก เช่นเดียวกับพื้นที่เช่าที่ดิน 99 ปี
- พ.ศ. 2562
ขยับมาใกล้ความจริงอีกนิด ในเดือนมีนาคม 2562 พรรคเพื่อไทยได้รับที่นั่งในสภาสูงสุดหลังจากไม่ได้มีการเลือกตั้งมานาน 5 ปี อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดเป็นพรรคพลังประชารัฐที่สามารถรวมเสียงในสภาได้ก่อน และเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ อดีตหัวหน้า คสช. เป็นนายกฯ มาถึงปัจจุบัน
- พ.ศ. 2565
สองประเด็นที่น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับปูทางเพื่อให้ต่างชาติเช่า-ซื้อที่ดินคือ หนึ่ง ประกาศกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 25 พ.ค. ซึ่งระบุให้ชาวต่างชาติ 4 กลุ่มสามารถยื่นขอวีซ่าระยะยาว (Long Term Resident Visa) ที่มีอายุ 10 ปี เสียค่าธรรมเนียมเพียงครั้งเดียว 50,000 บาท โดยกำหนดให้ชาวต่างชาติ ดังนี้
- กลุ่มชาวต่างชาติมั่งคั่งสูง
- กลุ่มเกษีณอายุจากต่างประเทศ
- กลุ่มอยากทำงานจากไทย
- กลุ่มเชี่ยวชาญพิเศษ
และล่าสุดในวันที่ 11 ก.ค. ในงาน Property Inside Thailand 2022 ได้มีตัวแทนของรัฐบาลขึ้นไปพูดถึงการแก้ไขกฎหมายเรื่องให้ต่างชาติเข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในประเทศ โดยสรุปจากการพูดบนเวทีดังกล่าว และการให้สัมภาษณ์ในเวลาต่อมาของ ครม. ได้ ดังนี้
- รัฐบาลเล็งดึงดูดชาวต่างชาติ 4 กลุ่มให้เข้ามาลงทุนในไทย โดยเชื่อว่าเชื่อว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านบาท
- อ้างถึงกฎหมายที่ดินปี 2542
- ชาวต่างชาติครองที่ดินสำหรับอยู่อาศัยไม่เกิน 1 ไร่
- แต่ต้องเข้ามาและลงทุนอย่างน้อย 40 ลบ. เป็นเวลา 5 ปี
- ยอมรับว่าพิจารณาขยายกรรมสิทธิ์ชาวต่างชาติเช่าห้องชุดจาก 49% เป็น 80% ของห้องชุดทั้งหมด
ซึ่งทาง ครม. ยังยืนยันว่าขณะนี้ยังอยู่พิจารณาแก้ไขกฎหมายเช่า-ซื้อที่ดินของชาวต่างชาติ และยังไม่มีการตัดสินใจว่าจะเป็นไปอย่างไร แต่ดูเหมือนกระแสตอบรับของสังคมก็ดังขึ้นมาแล้วว่า ‘อย่าขายชาติ’
Illustration by Krittaporn Tochan
อ้างอิง:
จับตาแก้กฎหมายต่างชาติถือครองที่ดิน ราคาที่อยู่อาศัยจะแพงขึ้นจริงหรือ?
อย่างนี้ไม่เรียกว่าขายชาติให้เรียกว่ากระตุ้นเศรษฐกิจ: เตรียมให้คนต่างชาติซื้อที่ดินในไทยได้
ต่างชาติซื้อที่ดิน : เปิดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เตรียมไฟเขียวต่างชาติถือครองบ้านที่ดินไม่เกิน 1 ไร่