13 ม.ค. ของปีนี้ไม่เพียงตรงกับวันเด็ก ที่ท่านผู้นำของเราประกาศว่าจะพาบ้านเมืองไปสู่การปกครองแบบประชาธิปไตย ‘ไทยนิยม’ หรือพูดง่ายๆ คือไม่เป็นไปตามสากลเขา
ยังตรงกับวัน ‘ครบรอบสี่ปี’ การนัดชุมนุมทางการเมืองที่ผู้จัดอ้างว่า ‘ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์’ เพราะมีผู้เข้าร่วมชุมนุมถึง 6.8 ล้านคน (ตัวเลขโดย กปปส.)
การชุมนุมดังกล่าว มีความแตกต่างจากในอดีตโดยสิ้นเชิง เพราะเป็นการนัดชุมนุมใหญ่ทั้งๆ ที่นายกฯประกาศยุบสภาไปแล้ว จะมีการเลือกตั้งในเวลาอีกไม่ถึงเดือน และต้นเหตุของของการชุมนุมก็คือ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ก็ถูกคว่ำไปหมดทุกฉบับแล้ว
แต่กลุ่ม กปปส. ก็อ้างว่า เหตุที่ต้องจัดชุมนุมครั้งนี้ขึ้นมา ก็เพื่อกดดันให้รัฐบาลรักษาการลาออก ให้หน่วยงานราชการหยุดงานจะได้เป็นรัฐล้มเหลว (failed state) เปิดทางให้เกิด ‘สภาประชาชน’ ขึ้นมาปฏิรูปประเทศ
13 ม.ค. ของเมื่อสี่ปีก่อน คือวันที่ กปปส. ประกาศ ‘ชัตดาวน์ กทม.’ ด้วยการนัดชุมนุมใหญ่พร้อมเคลื่อนขบวนดาวกระจายไปปิดตามสถานที่สำคัญๆ ทางเศรษฐกิจ 7 แห่ง ได้แก่
- แจ้งวัฒนะ
- ห้าแยกลาดพร้าว
- อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
- แยกปทุมวัน
- สวนลุมพินี
- แยกอโศก
- แยกราชประสงค์
สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. หรือลุงกำนัน เคยบอกเป้าหมายของการ ‘ปฏิรูปประเทศ’ ไว้ 7 ข้อ (ดูที่นี่)
ในวันนี้เสียงนกหวีดเงียบลงไปนานแล้ว ลองมาดูกันว่า ความคาดหวังกับความจริง เมื่อเวลาผ่านมาไป ภายใต้การปกครองโดยรัฐบาลทหาร คสช. ที่สุเทพประกาศหนุนสุดตัว ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน
เอ้า ปรี๊ดดด.. ปรี๊ดดด.. ปรี๊ดดด..
1. “ปฏิรูปการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ ยุติธรรม โกงไม่ได้ และต้องไม่ให้คนชั่วมีโอกาสเข้ามานั่งในสภาทำเรื่องชั่วๆ โดยที่ไม่ฟังเสียงอำนาจของประชาชน” สุเทพ เทือกสุบรรณ
สิ่งที่เกิดขึ้น : ได้ รธน.ฉบับปราบโกง / ระบบเลือกตั้ง ส.ส.ซับซ้อน / ส.ว.มาจากกลุ่มอาชีพ (แต่ชุดแรก คสช.จะตั้งเองทั้งหมด) / เปิดช่องนายกฯคนนอก
รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 กำหนดวิธีการเลือกตั้ง ส.ส.ไว้อย่างสลับซับซ้อน ด้วยข้ออ้างว่าเพื่อ ‘ป้องกันเสียงตกน้ำ’ แต่นักวิเคราะห์แทบทุกคนเห็นตรงกันว่า จะทำให้เกิดรัฐบาลผสมที่อ่อนแอ พรรคขนาดกลางจะมีอำนาจต่อรองสูง ขณะที่ ส.ว.แม้จะให้มาจากกลุ่มอาชีพเลือกไขว้กัน ทว่าชุดแรกกลับให้คนๆ เดียว คือหัวหน้า คสช. ตั้งขึ้นมาทั้งหมด แถมยังให้อำนาจพิเศษเลือกนายกฯ ได้อีกถึง 2 สมัย
กล่าวโดยสรุปการเลือกตั้งลดความสำคัญลงไป เพราะผู้ที่จะเลือกนายกฯและตั้งรัฐบาลจริงๆ เป็นคนไม่กี่คนเท่านั้น ไม่ใช่ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเป็นล้านๆ
2. “การทุจริตคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นทำให้ประเทศเสียหายต้องขจัดออกไปให้ได้ ต้องออกกฎหมายเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชัน ว่าไม่มีอายุความ ไม่ว่าจะวันไหนหากยังไม่ตายก็ต้องติดคุก” สุเทพ เทือกสุบรรณ
สิ่งที่เกิดขึ้น : ปิดฉากคดีจำนำข้าว / ม.44 พักงานข้าราชการโกง / ออก กม.หยุดนับอายุความถ้าหนี
แต่ในเวลาเดียวกัน คดีเกี่ยวกับรัฐบาล คสช.เอง กลับจบลงด้วยข้อกังขาหลายๆ คดี โดยองค์กรอิสระทั้ง สตง.และ ป.ป.ช.ถูกตั้งคำถามเรื่องการทำงาน ทั้งคดีอุทยานราชภักดิ์ คดีน้องชายประยุทธ์ตั้งลูกมารับราชการ ขณะที่สังคมกำลังจับตาคดีนาฬิกา-แหวนเพชร ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่กำลังฮือฮาอยู่ในเวลานี้ ว่าจะลงเอยอย่างไร
นอกจากนี้ คะแนนดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นของไทย หรือ CPI ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นแบบมีนัยสำคัญ แถมปีล่าสุด ยังลดลงเหลือ 35 คะแนน เต็มร้อย อยู่ในลำดับที่ 101 ของโลก
3. “เคารพในอำนาจของประชาชนอย่างแท้จริง ประชาชนต้องสามารถถอดถอนนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และ ส.ส.แบบระบุระยะเวลาได้ การปกครองของบ้านเมืองจะต้องถูกกระจายไปยังท้องถิ่น เช่น ทุกจังหวัดจะต้องมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ไม่ใช่การแต่งตั้งจากส่วนกลางซึ่งทำให้มีการทุจริตซื้อตำแหน่ง” สุเทพ เทือกสุบรรณ
สิ่งที่เกิดขึ้น : การตรวจสอบรัฐบาลเป็นได้อย่างจำกัด ภายใต้ประกาศและคำสั่ง คสช. ผู้เห็นต่างจากรัฐมักถูกพาเข้าค่ายทหารเพื่อปรับทัศนคติ หรือแย่ไปกว่านั้นคือเป็นคดีความขึ้นศาล (ทหาร)
ส่วนการเลือกผู้ว่าฯโดยตรง ก็ยังเป็นแค่ฝัน
4. “ต้องปฏิรูปโครงสร้างของตำรวจให้เป็นตำรวจของประชาชน ซึ่งคณะกรรมการตำรวจจะต้องเป็นภาคประชาชนไม่ใช่ตำรวจด้วยกันเอง” สุเทพ เทือกสุบรรณ
สิ่งที่เกิดขึ้น : ภาคประชาชนยังไม่มีบทบาท แต่กันนักการเมืองไม่ให้ร่วมตั้ง ผบ.ตร.
ข้อเสนอปรับโครงสร้างตำรวจของคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจที่ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธาน ที่ชัดเจนที่น่าสุด น่าจะมีแค่เรื่องให้ ก.ต.ช. ที่มีนักการเมืองร่วมอยู่ด้วย มีอำนาจในการกำหนดนโยบายภาพรวมเท่านั้น ส่วนการแต่งตั้ง ผบ.ตร. ไปจนถึงตำรวจอื่นๆ ให้เป็นอำนาจของ ก.ตร. ที่มีเฉพาะตำรวจนั่งอยู่
5. “ต้องออกแบบกฎหมายให้ข้าราชการเป็นคนของประชาชน ไม่ใช่อยู่ใต้นักการเมือง” สุเทพ เทือกสุบรรณ
สิ่งที่เกิดขึ้น : ข้าราชการก็ยังอยู่ใต้นักการเมือง (ที่เป็นอดีตทหาร)
ยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงตรงนี้เลย เพราะรัฐบาล คสช.เองก็โยกย้ายข้าราชการไม่ต่างจากนักการเมือง มีการย้ายข้ามกระทรวง ย้ายนอกฤดู หรือย้ายด้วยวิธีการพิเศษ เช่นใช้ ม.44
6. “ปัญหาต่างๆ อย่างการศึกษา คมนาคม สาธารณสุข จะต้องนำเรื่องเหล่านี้เป็นวาระแห่งชาติ” สุเทพ เทือกสุบรรณ
สิ่งที่เกิดขึ้น : ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลาเล่น / บังคับคาดเข็มขัด / ปฏิรูปรถเมล์-รถตู้ / เตรียมแก้ กม.บัตรทอง
เอาจริงๆ สิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ซึ่งทุกรัฐบาลจะต้องทำอยู่แล้ว
7. “รัฐบาลต้องไม่รวบอำนาจผูกขาดธุรกิจเสียเอง ต้องส่งเสริมให้ภาคเอกชนแข่งขันกับนานาประเทศได้” สุเทพ เทือกสุบรรณ
สิ่งที่เกิดขึ้น : ประชารัฐ
เป็นยุคที่ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐสูงมาก ผ่านการเข้ามารับตำแหน่งต่างๆ ทั้งใน ครม. สนช. สปช. สปท. คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ไปจนถึงคณะกรรมการประชารัฐ
กำเนิด กปปส. ก่อน คสช. เข้ามารับไม้ต่อ
- เดือน ส.ค. 2556 – สภาฯพิจารณา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม วาระแรก
- 28 ต.ค. 2556 – ตีสี่ ประยุทธ์ ศิริพานิชย์ ขอแปรญัตติแก้ พ.ร.บ.นิรโทษฯ ในชั้นกรรมาธิการ เป็นฉบับสุดซอย
- 31 ต.ค. 2556 – สุเทพเริ่มชุมนุมค้าน พ.ร.บ.นิรโทษฯ (เวทีสถานีรถไฟสามเสน)
- 01 พ.ย. 2556 – สภาฯผ่าน พ.ร.บ.นิรโทษฯ วาระสองและสาม
- 04 พ.ย. 2556 – ย้ายเวที1 (เวทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย)
- 11 พ.ย. 2556 – วุฒิสภายับยั้ง พ.ร.บ.นิรโทษฯ
- 25 พ.ย. 2559 – ย้ายเวที2 (เวทีกระทรวงการคลัง)
- 27 พ.ย. 2559 – ย้ายเวที3 (เวทีศูนย์ราชการ)
- 29 พ.ย. 2556 – จัดตั้ง กปปส. สุเทพเป็นเลขาฯ
- 08 ธ.ค. 2556 – ส.ส.ปชป.ลาออกทั้งพรรค
- 09 ธ.ค. 2556 – ย้ายเวที4 ตามปฏิบัติการ “คนไทยใจเกินล้าน” เคลื่อน 9 ทัพบุกทำเนียบ /ยิ่งลักษณ์ยุบสภา
- 21 ธ.ค. 2556 – ปชป.บอยคอตต์การเลือกตั้ง
- 22 ธ.ค. 2556 – กปปส.ปิด กทม. 5 แยกครึ่งวัน
- 13 ม.ค. 2557 – กปปส.เริ่มปฏิบัติการ “ชัตดาวน์ กทม.” ปิด กทม. 7 แยก ให้ข้าราชการเกียร์ว่าง เป็นรัฐล้มเหลว ตั้งสภาประชาชน
- 02 ก.พ. 2557 – เลือกตั้งทั่วไป
- 02 มี.ค. 2557 – ย้ายเวที5 (กลับมาเหลือสวนลุมพินีเวทีเดียว) /ปิดฉากชัตดาวน์ กทม.
- 21 มี.ค. 2557 – ศาลรัฐธรรมนูญให้เลือกตั้งทั่วไปไม่ชอบด้วย รธน.
- 07 พ.ค. 2557 – ศาลรัฐธรรมนูญให้ยิ่งลักษณ์พ้นจากตำแหน่ง กรณีโยกย้ายเลขาฯสมช.
- 12 พ.ค. 2557 – ย้ายเวที6 (เวทีสะพานมัฆวานรังสรรค์)
- 20 พ.ต. 2557 – ตีสาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ขณะนั้น ใช้กฎอัยการศึก
- 22 พ.ค. 2557 – คสช.ยึดอำนาจ
อ้างอิงข้อมูลจาก
– บีบีซีไทย [1]
Illustration by Kodchakorn Thammachart