ปฏิบัติการเดินคารวะแผ่นดินของลุงกำนัน สุเทพ เทือกสุบรรณ และแกนนำพรรครวมพลังประชาชาติไทยกำลังเป็น talk of the town เดินไปไหนก็มีผู้คนให้ความสนใจ แวะเข้ามาทักทาย พูดคุย ให้กำลังใจกับลุงกำนันอย่างต่อเนื่องแทบทุกวัน น่ารักๆ เนอะ
อาจจะเรียกว่าบังเอิญ หรือเป็นพรหมลิขิตก็ได้ เพราะช่วงเวลาเดียวกันนี้ ยังทับซ้อนไปวาระครอบรอบ 5 ปีการประกาศจัดตั้งกลุ่ม กปปส. เพื่อต่อต้านรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย และเรียกร้องให้มีการปฏิรูปประเทศ
ในโอกาสที่ทั้งสองวาระเดินทางบรรจบกัน The MATTER จึงควรชวนทุกคน รำลึกความหลังไปกับ 6 โลเคชั่นที่ กปปส. เคยเดินผ่านไปและเคลื่อนไหวอย่างเข้มข้นเมื่อหลายปีก่อน เผื่อลุงกำนันจะมีเวลาว่างได้เดินผ่านไปย้อนวันวานที่ยังหวานอยู่ (มั้งนะ) กันอีกสักที
1) สดุดีเวทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
นี่คือเวทีหลักการชุมนุมของ กปปส. ในยุคสมัยต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ตลอดจนการปฏิบัติการชัตดาวน์กรุงเทพ ทุกการสั่งการจะมาจากแกนนำที่นี้ ทุกๆ คืนช่วงไพร์มไทม์หลายคนจะเฝ้ารอเฝ้าคอย การขึ้นเวทีมาปราศรัยของลุงกำนัน เพื่อติดตามท่าทีสำหรับการเคลื่อนไหวในวันต่อๆ ไป
ในช่วงพีคสุดของการชุมนุม พื้นที่การชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แน่นขนัดไปด้วยผู้คนมากมาย เชื่อมต่อยาวไปยังเวทีชุมนุมที่สนามม้านางเลิ้ง ส่วนอีกด้านก็ยาวไปถึงสนามหลวงเลยทีเดียว
2) ย้อนวันวานยึดศูนย์ราชการ
ลุงกำนันเคยนำมวลชนเดินเท้าไปยังศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ ก่อนที่จะปราศรัยว่ามวลชนไม่ได้ตั้งใจบุกเข้าไปในศูนย์ราชการแต่เพราะมีคนเชิญให้เข้าเลยเข้าไป หลังจากนั้นจึงมีการจัดตั้งเป็นเวทีการชุมนุมที่ศูนย์ราชการอีกหนึ่งแห่ง
บนเวทีแห่งนี้ กำนันสุเทพเคยประกาศจุดยืนเอาไว้ที่นี่ด้วยว่า จะต่อสู้ต่อไปโดยมีเป้าหมายคือขจัดระบอบทักษิณให้หมดสิ้นไปจากแผ่นดินไทย และถ้ายังจำกันได้ เวทีศูนย์ราชการนี่แหละ เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ลุงกำนันเคยออกแถลงการณ์ก่อตั้ง กปปส. ขึ้นอย่างเป็นทางการ
3) ทักทายข้าราชการกระทรวงการคลัง
ครั้งหนึ่ง กปปส. เคยเดินขบวนมาเยี่ยมเยือนข้าราชการที่กระทรวงการคลัง ซึ่งข้าราชการหลายๆ คนก็ได้ออกมาต้อนรับลุงกำนันอย่างยิ้มแย้มแจ่มใส อย่างไรก็ดี ปฏิบัติการครั้งนั้นได้กลายเป็นคดีความในเวลาต่อมา เมื่อกระทรวงการคลัง ได้ยื่นฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดที่บุกเข้าไปในพื้นที่กระทรวง กรมธนารักษ์ สำนักงบประมาณ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และกรมบัญชีกลาง
4) จดจำวันตัดไฟฟ้ากระทรวงพาณิชย์
โครงการรับจำนำข้าว คือสิ่งที่ กปปส. เคลื่อนไหวคัดค้านอย่างรุนแรงมาตลอดการชุมนุม หนึ่งในปฏิบัติการคือเคลื่อนขบวนไปยังกระทรวงพาณิชย์ ที่กำลังจัดงานประมูลข้าวจำนวน 2.4 แสนตัน แต่ถึงอย่างนั้น งานต้องยกเลิกไปเพราะถูกมวลชนตัดกระแสไฟฟ้า ส่งผลให้ดำเนินการต่อไปไม่ได้
5) วนไปดูป้ายชื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
หนึ่งในแนวร่วมสำคัญ ที่เป็นเหมือนกองหน้าของการชุมนุม กปปส. คือกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ซึ่งเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นกับลุงกำนันมาตลอดการชุมนุม
คปท.เคยเคลื่อนขบวนไปชุมนุมประท้วงสำนักงานตำรววแห่งชาติ รวมถึงทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ด้วยการอารยะขัดขืนการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่หลายคนยังจำได้คือภาพของผู้ชุมนุมที่แกะป้ายชื่อของสำนักงานตำรวจแห่งชาติออก เพราะมองว่า สำนักงานนี้ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง
6) ปักหลักสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง
ในช่วงที่ กกต. กำลังจัดการเลือกตั้งและออกกำหนดเชิญให้พรรคต่างๆ มาจับหมายเลขบัญชีรายชื่อพรรค ขบวนผู้ชุมนุมของทั้ง คปท. และ กปปส. ได้เคลื่อนมายังสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง “เราไม่ได้ไปขัดขวางใครจะไปสมัครเลือกตั้งก็เข้าไปได้ แต่ต้องฝ่าพวกเราเข้าไป”นายสาทิตย์ วงหนองเตย แกนนำ กปปส. กล่าว
อย่างไรก็ดี สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง ก็ได้กลายเป็นพื้นที่ของความขัดแย้งและความรุนแรงขึ้นมา มีทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บ รวมถึงเสียชีวิต นี่คือหนึ่งในเหตุการณ์แห่งความรุนแรงที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นซ้ำรอยอีกแน่นอน
อ้างอิงจาก
https://www.thairath.co.th/content/416473
https://www.dailynews.co.th/politics/198569
https://www.dailynews.co.th/article/208057
https://www.posttoday.com/politic/news/270579
https://www.posttoday.com/politic/news/282998
https://www.posttoday.com/politic/news/266544
https://www.sanook.com/news/1429778/
http://news.thaipbs.or.th/content/213949