ทุกวันนี้ ร้านอาหารที่คุณชื่นชอบยังเปิดอยู่ไหม?
เมื่อร้านค้าหลายแห่งพากันปิดตัวลง ในช่วงปีที่ COVID-19 ระบาด ภาครัฐออกคำสั่งกึ่งล็อกดาวน์ ทำให้รายได้ของร้านเหล่านี้ลดลงไปมหาศาล กลายเป็นว่า ใครยังพอมีเงินทุนสู้ไหว ก็กลั้นใจเอาหน่อย แต่ใครที่อ่อนล้าเกินกำลัง ก็ต้องปิดร้านรักษาเงินที่เหลือ
แต่โรคระบาดก็อยู่กับเรามาปีกว่า แถมยังพัฒนาตัวเองให้กลายพันธุ์แยกย่อยไปได้อีกหลายสาย แล้วรัฐบาลได้เรียนรู้ที่จะตั้งรับกับโรคระบาดนี้บ้างหรือเปล่า?
การเยียวยาธุรกิจต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการป้องกันโรค จึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการจำนวนมาก ออกมาเรียกร้อง เพราะถึงประชาชนจะเข้าใจว่า เป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องป้องกันโรคระบาด แต่เมื่อเรายังต้องกินต้องใช้ เงินก็เป็นสิ่งสำคัญอยู่ดี ดังนั้นแล้ว การเยียวยาจากภาครัฐ จึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้
เมื่อเราไม่ได้รับมือกับการระบาดของ COVID-19 อยู่ประเทศเดียว The MATTER เลยอยากพาไปสำรวจแนวทางการช่วยเหลือธุรกิจร้านค้าที่ได้รับผลกระทบหนักจากมาตรการป้องกันโรคในแต่ละประเทศ เพื่อเทียบว่ารัฐบาลประเทศช่วยเหลืออย่างไร แล้วแนวทางที่เพิ่งประกาศออกมาของไทยเมื่อวานนี้ (28 มิถุนายน) หลังจากสั่งห้ามนั่งร้านไปก่อนแล้วเมื่อกลางดึกช่วงสุดสัปดาห์ เป็นยังไงบ้าง
ญี่ปุ่น
ในการระบาดระลอกก่อน ญี่ปุ่นเคยออกมาตรการช่วยเหลือธุรกิจร้านอาหารมาแล้ว ด้วยการมอบเงิน 60,000 เยน (ประมาณ 17,300 กว่าบาท) ต่อวัน ให้กับแต่ละร้านค้า แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ายังช่วยเหลือได้ไม่ดีพอ โดยเฉพาะเสียงจากร้านอาหารหรือผับบาร์ที่มีขนาดใหญ่ เพราะเงินอุดหนุนไม่ครอบคลุมพอสำหรับค่าจ้างพนักงาน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ
พอมาปีนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นก็ออกนโยบายใหม่ ให้ร้านขายอาหารและเครื่องดื่ม ที่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก ได้รับเงินเยียวยา 40% ของยอดขายแต่ละวันในปีก่อนหน้า หรือก็คือ ได้เงิน 40% ของยอดขายต่อวันจากช่วงก่อน COVID-19 ระบาด โดยจำกัดวงเงินสูงสุดไว้ที่ 100,000 เยน หากเป็นร้านที่ถูกขอให้ปิดก่อน 2 ทุ่ม
อย่างเช่น ร้านค้าที่มียอดขาย 100,000 เยนต่อวัน จะได้เงินช่วยเหลือ 40,000 เยนต่อวัน ส่วนร้านค้าที่มียอดขายต่อวัน 250,000 เยน หรือมากกว่านั้น จะได้เงินช่วยเหลือ 100,000 เยนต่อวัน
รัฐบาลญี่ปุ่นยังให้เงินช่วยเหลือร้านค้าที่เพิ่งเปิดใหม่อีก 30,000 เยนต่อวัน (ประมาณ 8,600 บาท)ส่วนสถานประกอบการรายใหญ่ จะได้เงินช่วยเหลือเท่ากับ 40% ของยอดขายที่ลดลงต่อวัน โดยจำกัดวงเงินสูงสุดไว้ที่ 200,000 เยน (ประมาณ 57,900 บาท)
นอกจากนี้ ร้านค้าที่ดำเนินการโดยบริษัทขนาดเล็ก และร้านค้าที่มีผู้ประกอบการคนเดียว จะได้รับสูงถึง 200,000 เยน และ 100,000 เยน (ประมาณ 28,900 บาท) ตามลำดับ หากยอดขายลดลงครึ่งหนึ่ง เพราะผลกระทบของมาตรการรับมือโรคระบาด
สิงคโปร์
ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์นั้น รัฐบาลออกแนวทางช่วยเหลือธุรกิจรายย่อย โดยจะเพิ่มการอุดหนุนธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มภายใต้โครงการ Jobs Support Scheme (JSS) เป็น 50% เพื่อช่วยเหลือร้านที่จะต้องปิดทำการชั่วคราว ตามมาตรการป้องกันโรค ซึ่งการช่วยเหลือในส่วนนี้ จะรวมถึงการช่วยอุดหนุนค่าจ้าง 10% ไปจนถึงเดือนมิถุนายนปีนี้
“เราตระหนักดีว่าสิ่งนี้จะทำให้เกิดความไม่สะดวกอย่างมากกับคนจำนวนมาก และผมคิดว่าธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม เนื่องด้วยข้อจำกัดในการรับประทานอาหารที่ร้าน” ลอว์เรนซ์ หว่อง (Lawrence Wong) ประธานร่วมของคณะทำงานเฉพาะกิจด้าน COVID-19 กล่าว
หว่องยังบอกอีกว่า รัฐบาลจะงดเว้นค่าเช้าที่สำหรับร้านหาบเร่ขายของและผู้เช่าร้านกาแฟในพื้นที่ของหน่วยงานราชการเป็นเวลา 1 เดือน รวมถึงสนับสนุนให้เจ้าของพื้นที่เชิงพาณิชย์ช่วยเหลือธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มด้วย
อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้ประกาศใช้ในช่วง 16 พฤษภาคม – 13 มิถุนายนก่อน แล้วรัฐบาลจึงมาทบทวนมาตรการช่วยเหลือว่าต้องปรับปรุงอะไรไหม ซึ่งเมื่อวันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา รัฐบาลสิงคโปร์ก็ประกาศ ขยายการสนับสนุนสำหรับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ
สำหรับโครงการ JSS ก็จะขยายเวลาช่วยเหลือไปอีก 3 สัปดาห์ ก่อนจะปรับลดเงินช่วยเหลือเป็น 10% ในอีก 2 สัปดาห์ถัดไป หรือก็คือ ธุรกิจต่างๆ เช่น ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม ฟิตเนส ศูนย์แสดงงานศิลปะ จะได้เงินช่วยเหลือ 50% ตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายนเป็นต้นไป และจะได้อีก 10% ในช่วงสองสัปดาห์หลังจากวันที่ 12 กรกฎาคม
ภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ร้านค้าปลีก โรงภาพยนตร์ พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ สถานที่ทางประวัติศาสตร์ และสถานบันเทิงสำหรับครอบครัว จะได้รับเงินสนับสนุนภายใต้โครงการ JSS เป็นจำนวน 30% ตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน และอีก 10% ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม
สหรัฐอเมริกา
สำหรับรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เพิ่งเปลี่ยนผ่านมาเป็นโจ ไบเดน (Joe Biden) เมื่อต้นปีที่ผ่านมา และต้องมารับมือกับโรคระบาดต่อ ก็มีมาตรการช่วยเยียวยาธุรกิจรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้เช่นกัน โดยข้อมูลจาก U.S. Small Business Administration ระบุว่า พ.ร.บ.แผนการช่วยเหลือของสหรัฐฯ จัดตั้งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูร้านอาหาร (RRF) มอบเงินให้กับร้านอาหารและธุรกิจอื่นๆ เทียบเท่ากับรายได้ที่เสียไปจากการระบาด ด้วยจำนวนเงินถึง 10 ล้านดอลลาร์ต่อธุรกิจ (ประมาณ 3.2 ร้อยล้านบาท) และไม่เกิน 5 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1.6 ร้อยล้านบาท) ต่อร้านค้าปลีกที่มีหน้าร้าน โดยไม่ต้องจ่ายเงินคืน ตราบเท่าที่ใช้เงินตามเกณฑ์ที่กำหนด ไม่เกินวันที่ 11 มีนาคม 2023
ธุรกิจที่เข้าเกณฑ์การรับเงินนี้ เช่น ร้านอาหาร รถจำหน่ายอาหารเคลื่อนที่ บาร์ ร้านเหล้า ผู้ให้บริการจัดเลี้ยงอาหาร บาร์ ร้านจำหน่ายสุรา เลานจ์ ร้านเหล้า ร้านจำหน่ายอาหารว่างและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ สถานที่ที่ได้รับอนุญาตหรือสถานที่ตั้งของผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่สาธารณชนชิมได้ รับตัวอย่าง หรือซื้อผลิตภัณฑ์ได้
ส่วนธุรกิจร้านเบเกอร์รี่ โรงเบียร์ ห้องชิมไวน์ โรงบ่มไลน์ โรงกลั่นสุรา และโรงแรมขนาดเล็ก ก็ได้รับเงินช่วยเหลือส่วนนี้เหมือนกัน แต่มีเงื่อนไขว่า ต้องมียอดขายในสถานที่ให้กับสาธารณชนอย่างน้อย 33% ของรายรับรวม
ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ ข้อมูลเรื่องการเยียวยาช่วยเหลือของสหรัฐฯ นั้น สามารถหาอ่านได้ง่ายๆ จากเว็บไชต์ของทางการ โดยมีภาษาให้เลือกอ่านได้หลากหลายมากๆ รวมถึง ภาษาไทยด้วย
ฝรั่งเศส
หากจำกันได้ ฝรั่งเศสถือเป็นประเทศแรกในยุโรปที่พบผู้ติดเชื้อจากนักท่องเที่ยวจีน ก่อนที่การระบาดจะลุกลามไปหลายพื้นที่ในยุโรป ซึ่งมาตรการช่วยเหลือธุรกิจของฝรั่งเศส ก็มีรายละเอียดยิบย่อมากๆ โดยธุรกิจและร้านค้าที่ต้องปิดตัวลง จะได้เงินช่วยเหลือ 10,000 ยูโร (ประมาณ 3.8 แสนบาท) รวมถึงธุรกิจที่มีพนักงาน 10-50 คน และธุรกิจที่สูญเสียรายได้ไปอย่างน้อย 50% ด้วย
ส่วนฟรีแลนซ์สามารถเรียกร้องเงินช่วยเหลือสูงถึง 1,500 ยูโรต่อเดือน (ประมาณ 5.7 หมื่นบาท) และจะถูกระงับการหักบัญชีอัตโนมัติ โดยไม่มีขั้นตอนในการดูแลระบบ
นอกจากนี้ ยังมีนโยบายจูงใจให้เจ้าของธุรกิจห้องเช่า/บ้านพัก ที่เว้นค่าเช่าให้กับผู้เช่าเป็นเวลา 1 เดือนในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม ได้รับเงินลดหย่อนภาษีด้วย โดยเจ้าของที่จะต้องลดเว้นการเก็บค่าเช่าสำหรับธุรกิจที่มีพนักงานน้อยกว่า 250 คน และต้องปิดตัวลง ซึ่งรวมถึง ธุรกิจโรงแรม คาเฟ่ ร้านอาหาร และสถานประกอบการด้านวัฒนธรรมด้วย โดยเจ้าของที่จะได้เงินลดย่อยภาษี 30% ของจำนวนค่าเช่าที่หายไป
ไทย
ในแต่ละประเทศที่ยกมานั้น เมื่อประกาศล็อกดาวน์ หรืองดการนั่งกินอาหารที่ร้าน รัฐบาลก็จะประกาศมาตรการเยียวยาและแนวทางช่วยเหลือออกมาทันที แต่สำหรับไทยนั้น ประกาศสั่งห้ามกินอาหารที่ร้านครั้งล่าสุด ออกมาเมื่อกลางดึกวันเสาร์-อาทิตย์ แล้ววันต่อมาจึงประการมาตรการเยียวยาให้
วันนี้ (29 มิถุนายน) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติจ่ายเงินพิเศษเยียวยา เพื่อแก้ปัญหาการประกาศกึ่งล็อกดาวน์ 1 เดือน ปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง และการประกาศมาตรการเข้มข้นใน 10 จังหวัด โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- กิจการในระบบประกันสังคม ลูกจ้างจะได้รับเงินกรณีเหตุสุดวิสัย 50% ของฐานเงินเดือน สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท และจะได้เงินเพิ่มเติมอีก 2,000 บาทต่อราย ส่วนนายจ้างหรือผู้ประกอบการ จะได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาทต่อลูกจ้างในบริษัท แต่มีเงื่อนไขว่า ต้องไม่เกิน 200 คน
- กิจการนอกระบบประกันสังคม นายจ้างต้องยื่นลงทะเบียนเข้าประกันสังคมใน 1 เดือนก่อน แล้วลูกจ้างที่มีสัญชาติไทยจะได้เงิน 2,000 บาท แต่ไม่ได้เงินชดเชย 50% ของเงินเดือน ส่วนนายจ้างจะได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาทต่อจำนวนลูกจ้างที่อยู่ในสังกัด แต่ต้องไม่เกิน 200 คนเช่นกัน
- กลุ่มร้านอาหารและเครื่องดื่มจะได้รับเงิน 3,000 บาท ผ่านแอพพลิเคชั่น ‘ถุงเงิน’
ทั้งหมดนี้ เป็นตัวอย่างมาตรการช่วยเหลือที่ประเทศอื่นๆ มอบให้กับประชาชน เพื่อพยุงธุรกิจรายย่อยให้ไปต่อได้ ท่ามกลางสถานการณ์วิฤตที่ส่งผลต่อคนจำนวนมาก ซึ่งอย่างที่เล่าไปว่า แต่ละประเทศมักประกาศแนวทางช่วยเหลือพร้อมกับที่สั่งปิดธุรกิจต่างๆ เพื่อป้องกันโรค สะท้อนให้เห็นถึงการวางแนวทางความพร้อมเอาไว้ให้ประชาชน โดยคำนึงว่า จะต้องไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลังอย่างแท้จริง
อ้างอิงจาก