“เขตนองเลือด (bloodbath)” คือคำเรียกที่ทีมงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งเดินทางเข้าไปส่งยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ใช้เรียกโรงพยาบาลอัลชิฟา (al-Shifa Hospital)
โรงพยาบาลอัลชิฟาตั้งอยู่ในเขตกาซาซิตี้ เมืองหลักของฉนวนกาซา และเมืองที่ใหญ่ที่สุดของปาเลสไตน์ เป็นสถานพยาบาลแห่งหลักที่สำคัญของฉนวนกาซา นับตั้งแต่สงครามอาหรับ-อิสราเอล เมื่อปี 1948 – และในสงครามระหว่างอิสราเอล-ฮามาส ระลอกล่าสุด ถกเถียงได้ว่า อัลชิฟายังกลายมาเป็นสัญลักษณ์แห่งความโหดร้ายของความขัดแย้งดังกล่าว
สำหรับชาวปาเลสไตน์ อัลชิฟาคือเครื่องสะท้อนยุทธวิธีของอิสราเอล ที่โจมตีสถานที่พลเรือนอย่างไม่เลือกหน้า
ขณะที่สำหรับชาวอิสราเอล อัลชิฟาคือความโหดร้ายของฮามาส จากการใช้โรงพยาบาลเป็นฐานทัพ
แต่ไม่ว่าจะมองแบบใด ความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อพลเรือนก็เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ The MATTER ชวนไปสำรวจโรงพยาบาลสำคัญของฉนวนกาซาแห่งนี้ ในวันที่สงครามยังดำเนินต่อไป
โรงพยาบาลอัลชิฟาคืออะไร? สำคัญแค่ไหน?
โรงพยาบาลอัลชิฟา – ในภาษาอาหรับแปลว่า ‘การรักษา’ (healing) – ตั้งอยู่ทางตะวันตกของกาซาซิตี้ ในฉนวนกาซาตอนเหนือ ซึ่งถือว่าอยู่ในใจกลางของปฏิบัติการทางการทหารของกองทัพอิสราเอล (IDF) ในการกวาดล้างกลุ่มฮามาส (Hamas) ซึ่งเป็นการตอบโต้นับตั้งแต่ฮามาสเริ่มโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา
สร้างเมื่อปี 1946 ภายใต้การปกครองของอังกฤษ โรงพยาบาลอัลชิฟากลายมาเป็นสถานพยาบาลที่ใหญ่ที่สุด และมีความสำคัญมากในฉนวนกาซา
มีรายงานด้วยว่า ช่วงปี 2007 ที่กลุ่มฮามาสสู้รบทางการทหารกับฟาตาห์ (Fatah) อีกขั้วของการเมืองปาเลสไตน์ เพื่อช่วงชิงอำนาจในฉนวนกาซา โรงพยาบาลอัลชิฟาก็ถูกใช้เป็นที่รักษานักรบจากทั้งสองฝั่ง โดยมีความเข้าใจร่วมกันว่า จะไม่ทำร้ายผู้บาดเจ็บของกันและกัน
(หลังจากนั้น ฮามาสก็เป็นฝ่ายชนะและปกครองฮามาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แต่องค์การบริหารแห่งชาติปาเลสไตน์ [Palestinian Authority หรือ PA] ซึ่งนำโดยฟาตาห์ ก็ยังเป็นฝ่ายจ่ายเงินเดือนให้หมอ-พยาบาลในโรงพยาบาลนี้อยู่)
ปฏิบัติการบุกโรงพยาบาลอัลชิฟา ของอิสราเอล
เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา กองทัพอิสราเอลเปิดปฏิบัติการปิดล้อมและบุกยึดโรงพยาบาลอัลชิฟา หลังจากกล่าวหาว่าฮามาสใช้โรงพยาบาลดังกล่าวเป็นศูนย์สั่งการทางการทหาร และแหล่งเก็บคลังแสง หลบอยู่ภายใต้โรงพยาบาล ซึ่งฝ่ายฮามาสก็ปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด
หลังจากนั้น ผู้นำโลกและองค์การด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศบางส่วน ก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ปฏิบัติการของอิสราเอลอย่างรุนแรง
“โรงพยาบาลไม่ใช่สนามรบ” มาร์ติน กริฟฟิธส์ (Martin Griffiths) รองเลขาธิการฝ่ายกิจการมนุษยธรรม และผู้ประสานงานด้านการบรรเทาทุกข์ฉุกเฉินของสหประชาชาติ (UN) กล่าวบน X พร้อมเรียกร้องให้ปกป้องทารกเกิดใหม่ ผู้ป่วย เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ รวมถึงพลเรือนทั่วไป
ขณะที่คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (International Committee of the Red Cross หรือ ICRC) ออกแถลงการณ์ ระบุว่า “กังวลอย่างยิ่ง เกี่ยวกับผลกระทบต่อผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บ เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ และพลเรือน”
เมื่อ WHO บอกว่าเป็น ‘เขตนองเลือด’ สภาพปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง?
“เขตนองเลือด” “สภาวการณ์ที่ท้าทายอย่างเหลือเชื่อ” และ “โรงพยาบาลที่จำเป็นต้องฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่” คือคำที่เจ้าหน้าที่ของ WHO เรียกโรงพยาบาลอัลชิฟา หลังจากเข้าร่วมภารกิจของ UN ในการส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์และยาต่างๆ
หลังจากที่เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ WHO ก็ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม บรรยายถึงสถานการณ์ในโรงพยาบาลอัลชิฟา ณ ขณะนี้ ระบุว่า
- ตอนนี้มีหมอและพยาบาลแค่ ‘หยิบมือเดียว’ กับอาสาสมัครจำนวน 70 คน
- ห้องปฏิบัติการหลักๆ ของโรงพยาบาลใช้งานไม่ได้แล้ว เนื่องจากไม่มีพลังงาน อ็อกซิเจน เจ้าหน้าที่และอุปกรณ์ทางการแพทย์เฉพาะทาง รวมถึงไม่มีเลือดให้ถ่าย และทำได้แค่บรรเทาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น
- สามารถฟอกไต (dialysis) ให้กับผู้ป่วยได้ประมาณ 30 คนต่อวัน ด้วยเครื่องฟอกไตที่ยังทำงานได้เพราะมีเครื่องปั่นไฟเล็กๆ
ส่วนที่บอกว่าเป็นเขตนองเลือดนั้น WHO ระบุว่า
- มีผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บ ‘หลักร้อยคน’ อยู่ด้านในโรงพยาบาล และมีผู้ป่วยเข้าใหม่ทุกๆ นาที
- ผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บ ต้องเย็บ-ทำแผลอยู่บนพื้น แทบไม่มีการบรรเทาอาการเจ็บปวดใดๆ เลยในโรงพยาบาล
- ห้องฉุกเฉินคนล้น จนต้องระวังไม่ให้เหยียบผู้ป่วยที่นอนอยู่บนพื้น ส่วนผู้ป่วยที่บาดเจ็บสาหัส ต้องส่งต่อไปที่โรงพยาบาลอัลอะฮ์ลีอัลอะเราะบี (Al-Ahli Arab Hospital) เพื่อผ่าตัด
- มีผู้พลัดถิ่น ‘หลักหมื่นคน’ ใช้อาคารของโรงพยาบาลเป็นที่พักพิง
“ในขณะที่การสู้รบยังดำเนินต่อไป และขีดความต้องการด้านสุขภาพเพิ่มสูงขึ้นทั่วทั้งกาซา โรงพยาบาลอัลชิฟา ซึ่งเป็นแก่นหลักสำคัญของระบบสาธารณสุขกาซา ต้องได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาอย่างเร่งด่วน เพื่อให้บริการผู้คนที่ถูกปิดล้อม ซึ่งติดอยู่ในวังวนของการเสียชีวิต การทำลายล้าง ความหิวโหย และเชื้อโรค” แถลงการณ์ WHO ระบุ
วิกฤตมนุษยธรรม และสงครามที่ยังดำเนินต่อไป
น่าจะพอบอกได้ว่า สถานการณ์ในโรงพยาบาลอัลชิฟาก็เสมือนเป็นภาพสะท้อนวิกฤตมนุษยธรรมในฉนวนกาซาโดยรวมเหมือนกัน
โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความหิวโหย ที่ WHO เองก็บอกว่า การขาดอาหารและน้ำดื่มที่ปลอดภัย สำหรับเจ้าหน้าที่ ผู้ป่วย และผู้พลัดถิ่น ในโรงพยาบาลอัลชิฟา ก็สะท้อนปัญหาเดียวกันทั่วทั้งฉนวนกาซา
ในอัปเดตเมื่อวันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (OCHA) อ้างอิงถึงองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) ที่กล่าวหารัฐบาลอิสราเอลว่า “ตั้งใจปิดกั้นการส่งน้ำ อาหาร และเชื้อเพลิง ขณะที่จงใจขัดขวางความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม”
สำหรับจำนวนผู้เสียชีวิตล่าสุด กระทรวงสาธารณสุขในกาซาระบุว่า มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตอย่างน้อย 19,667 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก ขณะที่จำนวนผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (Internally Displaced People หรือ IDPs) มีมากถึง 1.9 ล้านคน จากประชากรในฉนวนกาซาทั้งหมด 2.3 ล้านคน หรือคิดเป็นเกือบๆ 85% ของจำนวนประชากรทั้งหมด
“เรายังคงมุ่งมั่นเดินหน้า [ทำสงคราม] ต่อไปจนกว่าจะถึงจุดจบ” เบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) นายกฯ อิสราเอล ประกาศทันทีเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม หลังจากแถลงข่าวกรณีกองทัพอิสราเอลยิงตัวประกันชาวอิสราเอลเสียชีวิต 3 คน
“จนกว่าเราจะกวาดล้างฮามาสได้ และได้ตัวประกันของเราทั้งหมดคืนกลับมา”
ก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน ในวันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา 153 ประเทศ (รวมถึงไทย) เพิ่งลงมติอย่างท่วมท้น (ไม่เห็นชอบ 10 ประเทศ และงดออกเสียง 23 ประเทศ) ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN General Assembly) เรียกร้อง ‘การหยุดยิงเพื่อมนุษยธรรมโดยทันที’ (immediate humanitarian ceasefire) รวมถึงเรียกร้องให้ปล่อยตัวประกันทั้งหมด และการเข้าถึงเพื่อมนุษยธรรมด้วย
ประเด็นนี้ยังกลายมาเป็นที่ถกเถียงในองค์กรที่สำคัญของ UN อย่างคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UN Security Council) ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกถาวร คือ มหาอำนาจ 5 ประเทศ ประกอบด้วยสหรัฐฯ จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย และสหราชอาณาจักร
แต่ก็ต้องเลื่อนการโหวตลงมติมาเรื่อยๆ นับตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมา เพราะสหรัฐฯ ไม่เห็นด้วยกับการใช้คำว่า ‘การยุติความเป็นปฏิปักษ์’ (cessation of hostilities) แต่อาจจะยอมรับได้หากเป็นคำว่า ‘การระงับความเป็นปฏิปักษ์’ (suspension of hostilities) แทน
ในขณะที่สงครามยังคุกรุ่น แม้ดำเนินมาแล้วมากกว่า 2 เดือน ทั่วโลกคงต้องจับตากันต่อไปว่า การเมืองโลกในประเด็นความขัดแย้งอิสราเอล-ฮามาส จะคลี่คลายไปในทิศทางใด
อ้างอิงจาก