ขณะที่สังคมโลกกำลังจับตาการเดินทางไป ‘ตะวันออกไกล’ 12 วันรวด ของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพื่อหาวิธีจัดการกับปัญหาเกาหลีเหนือ
ความขัดแย้งใน ‘ตะวันออกกลาง’ กลับยิ่งทวีความรุนแรง จนใกล้จะเกิดสงครามอยู่รอนๆ ภายหลังการเผชิญหน้ากันของ 2 ประเทศมหาอำนาจอย่าง อิหร่าน (มุสลิมชีอะห์) กับ ซาอุดิอาระเบีย (มุสลิมซุนนี) ผ่านการเข้าไปทำ ‘สงครามตัวแทน’ หรือ proxy war ในประเทศต่างๆ
ยิ่งหลังจากสงครามกลางเมืองทั้งในอิรักและเยเมนใกล้จะได้บทสรุป รวมถึงความพ่ายแพ้ของกลุ่ม IS ในซีเรีย ทำให้ ‘ดุลอำนาจ’ ในภูมิภาคนี้เปลี่ยนแปลงไป ยิ่งทำให้เกิดการเร่งเร้าสถานการณ์ต่างๆ ให้ถึงจุดเดือดเร็วขึ้น โดยซาอุฯ เพิ่งกล่าวหาว่าอิหร่านสนับสนุนขีปนาวุธที่กบฎเยเมนยิงเข้าใส่สนามบินในกรุงริยาด ขณะที่นายกฯเลบานอน ผู้นำของประเทศฐานที่มั่นของกลุ่ม Hezbollah ซึ่งใกล้ชิดกับอิหร่าน ก็เพิ่งประกาศลาออกจากตำแหน่งหลังเข้าพบกษัตริย์ซาอุฯ พร้อมกล่าวโจมตีอิหร่านอย่างรุนแรง
ชุลมุนฝุ่นตลบขนาดนี้ อาจมีงงกันบ้าง ว่าตัวละครจำนวนมากมายมหาศาลขนาดนี้ ใครอยู่ข้างไหนกันแน่ (หรือใครไม่เข้าข้างฝ่ายใดเลย) The MATTER ขอจัดกลุ่ม แบ่งฝ่าย-สรุปให้เข้าใจกันอย่างง่ายๆ
เพื่อปูพื้นความรู้ สำหรับใช้ติดตามข่าวความขัดแย้งในภูมิภาคนี้ ที่เชื่อว่าจะดำเนินต่อไปอีกหลายปี ไม่ต่างจากความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลี
ฝ่ายอิหร่าน
เลบานอน (กลุ่ม Hezbollah)
แม้ว่านายกฯเลบานอน ซาอัด ฮารีรี่ จะสนับสนุนซาอุฯ แต่กลุ่มการเมืองที่ทรงพลังอย่างกลุ่ม Hezbollah กลับอยู่ข้างอิหร่าน
กาตาร์
ก่อนหน้านี้ กาตาร์มีความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้ง 2 ฝ่าย แต่โน้มเอียงไปทางซาอุฯมากกว่า กระทั่งซาอุฯ และพันธมิตรได้สั่งปิดพรมแดน รวมถึงน่านฟ้าและน่านน้ำ ทำให้กาตาร์หันไปฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตเต็มรูปแบบกับอิหร่านไม่นานมานี้เอง
ซีเรีย
อิหร่านเข้าไปช่วยรัฐบาลซีเรีย รบจนสามารถเอาชนะกลุ่ม IS และกบฎอื่นๆ ได้เกือบทั้งหมด
อิรัก
นับแต่ประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซ็น (มุสลิมซุนนีเช่นเดียวกับซาอุฯ) ถูกโค่นล้ม ในปี 2003 สัมพันธ์ระหว่าง 2 ชาตินี้ก็เปลี่ยนไป และอิหร่านได้เปิดพรมแดนต้อนรับผู้อพยพชาวอิรักจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมุสลิมชีอะห์ ในช่วงวิกฤตกลุ่ม IS
เยเมน (กบฎ Houthi)
สหรัฐฯ และซาอุฯ อ้างว่า อิหร่านสนับสนุนกลุ่มกบฎ Houthi กลุ่มติดอาวุธมุสลิมชีอะห์
ฝ่ายซาอุดิอาระเบีย
สหรัฐอเมริกา
สหรัฐฯ เป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นกับซาอุฯ มาเป็นเวลานาน ยิ่งหลังการเข้ามาของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ความสัมพันธ์ก็ยิ่งทวีความใกล้ชิดยิ่งกว่าสมัยประธานาธิดีบารัก โอบาม่า โดยนับแต่เข้ารับตำแหน่ง ทรัมป์บินมาเยือนซาอุฯ เป็นประเทศแรก
ที่สำคัญ ซาอุฯ ถือเป็นผู้ซื้ออาวุธเบอร์ต้นๆ ของสหรัฐฯ
กลับกัน สหรัฐฯ กลับมีความสัมพันธ์กับอิหร่านที่ไม่ค่อยจะดีนัก เนื่องจาก CIA ของสหรัฐฯ เคยโค่นล้มผู้นำอิหร่านในปี 1953 และพยายามเข้ามาแทรกแซงหลายๆ ครั้ง กระทั่งเกิดการปฏิวัติอิสลาม ทำให้เกิดการโต้กลับด้วยการยึดสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงเตหะราน พร้อมจับเจ้าหน้าที่สถานทูตเป็นตัวประกัน ระหว่างปี 1979-1981 เป็นเวลา 444 วัน เหมือนที่เราอาจได้เห็นบรรยายในภาพยนตร์เรื่อง Argo
ยิ่งหลังจากทรัมป์แสดงท่าทีว่าจะไม่ต่ออายุการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่าน จากกรณีครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งริเริ่มสมัยโอบาม่าด้วยแล้ว ความเป็นปรปักษ์ระหว่าง 2 ชาตินี้ จึงแทบไม่ต้องพูดถึง
อียิปต์
อียิปต์ดูจะโน้มเอียงเข้าหาซาอุฯ มากกว่าอิหร่าน โดยซาอุฯ เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนให้กองทัพอียิปต์โค่นล้มอดีตประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มาร์ซี่ แต่ในบางคราอียิปต์ก็ใช้ประเทศหลังเพื่อต่อรองผลประโยชน์กับประเทศแรก อาทิไปทำข้อตกลงซื้อน้ำมันจากอิรัก ในปี 2016 หลังจากรัฐวิสาหกิจของซาอุฯ อย่าง Aramco ยุติการส่งออกน้ำมันไปยังอียิปต์
บาห์เรน
แม้ชนชั้นนำบาห์เรนจะเป็นมุสลิมซุนนี (เหมือนซาอุฯ) แต่ประชากร 70% ของประเทศเป็นมุสลิมชีอะห์ (เหมือนอิหร่าน) ก่อนหน้านี้ รัฐบาลบาห์เรนเคยกล่าวหาอิหร่าน ว่าอยู่เบื้องหลังปฏิบัติการของกลุ่มก่อการร้ายต่างๆ ในประเทศ รวมถึงอ้างว่าผู้นำฝ่ายค้านมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับทางอิหร่าน
คูเวต
เปลี่ยนข้างจากเคยใกล้ชิดอิหร่าน หันมาใกล้ชิดซาอุฯ แทน โดยหลังจากทั้ง 2 ชาติมหาอำนาจเผชิญหน้ากัน คูเวตก็ตัดสินใจไล่นักการทูตอิหร่าน 15 คนกลับ พร้อมยุติความสัมพันธ์ในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าด้านทหาร วัฒนธรรม รวมถึงการค้า
เยเมน (รัฐบาล)
เป็นกลาง/ไม่ได้เลือกข้างชัดเจน
รัสเซีย
รัสเซียมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อทั้ง 2 ชาติ เนื่องจากทั้งซาอุฯ และอิหร่านต่างเป็นผู้ซื้ออาวุธรายต้นๆ จากรัสเซีย นอกจากนี้ประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน ยังประกาศว่าพร้อมเป็นตัวกลางในการสงบศึกระหว่าง 2 ฝ่าย
การแทรกแซงการเมืองในภูมิภาคนี้ของรัสเซีย ต้องย้อนไปสมัยที่ยังใช้ชื่อว่าสหภาพโซเวียต ราว 30 – 40 ปีก่อน อย่างไรก็ตามในวิกฤต IS ทั้งรัสเซียและอิหร่านอยู่ข้างเดียวกัน คือสนับสนุนรัฐบาลของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ในการปราบปรามกลุ่ม IS และกลุ่มกบฎ ซึ่งล่าสุด สามารถยึดคืนพื้นที่กลับได้มากถึง 90% ของประเทศแล้ว
ตุรกี
แม้ก่อนหน้านี้ ตุรกีจะมีสัมพันธ์ที่ดีกับซาอุฯ ผ่านการเป็นมุสลิมซุนนีเหมือนๆ กัน แต่หลังจากต้องจับมือกับอิหร่านต่อสู้กับกบฎเคิร์ดที่นับวันยิ่งขยายตัวในภูมิภาคนี้ ก็อาจทำให้มองได้ว่าตุรกีไม่ได้เลือกข้างใดเป็นพิเศษ
อิสราเอล
นับแต่ก่อตั้งประเทศในปี 1948 ประเทศในโลกอาหรับที่ยอมรับอิสราเอล ก็มีเพียงอียิปต์และจอร์แดน ส่วนอิหร่านอาจเรียกได้ว่าไม่เผาผีกันเลย โดยรัฐบาลเตหะรานต้องการที่จะลบประเทศซึ่งมีชาวยิวครอบครองนี้ให้หายไปจากแผนที่โลก ขณะที่อิสราเอลตอบโต้กลับด้วยการเรียกร้องให้นานาชาติจำกัดการมีนิวเคลียร์ของอิหร่านอย่างแข็งขัน
แต่แม้จะญาติไม่ดีกับอิหร่าน กับซาอุฯ ก็ไม่ใช่ว่าจะสู้ดีเช่นกัน โดยรัฐบาลริยาดเคยปฏิเสธกรณีที่มีกระแสข่าวว่า มีเจ้าชายบางพระองค์ไปเยือนอิสราเอลแบบลับๆ
อย่างไรก็ตาม ทั้งสื่อและนักวิเคราะห์หลายรายมองตรงกันว่า ทั้ง 2 ประเทศยังไม่น่าจะเปิด ‘ศึกใหญ่’ กันเองในเร็วๆ นี้ ด้านอิหร่านก็เพิ่งฟื้นตัวจากการถูกนานาชาติคว่ำบาตรหลังทำข้อตกลงนิวเคลียร์ ยังไม่พร้อมจะทำสงครามใดๆ
ขณะที่ซาอุฯ ก็อาจเพียงใช้เหตุการณ์นี้ในการเบนเบี่ยงความสนใจจากความพยายามในการกวาดล้างการทุจริตคอร์รัปชั่นและปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ที่นำโดยมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน
‘สงครามเย็น’ จึงน่าจะยังดำเนินต่อไป ในภูมิภาคที่อุณหภูมิร้อนแรง ทั้งในทางกายภาพ และในทางการเมือง
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Namsai Supavong