ภูมิภาคเอเชียตะวันออก ที่เคยเดือดจากการทดลองอาวุธนิวเคลียร์บ่อยครั้ง กลับดูเปลี่ยนไป กลายเป็นบรรยากาศแห่งสันติภาพ เมื่อเกาหลีเหนือ-ใต้ จับมือเซ็นสัญญายุติสงคราม
แต่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ที่เดือดไม่แพ้กัน จากสงครามกลางเมือง ความขัดแย้งกับมหาอำนาจ หรือการก่อการร้ายดูท่าว่าจะร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ และยังไม่เห็นทีท่าของทางออกในความขัดแย้งเหล่านี้
The MATTER พูดคุยกับ อ.มาโนชญ์ อารีย์ อาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลาง ถึงบทวิเคราะห์ด้านโครงสร้างความสัมพันธ์ในตะวันออกกลาง ที่มาที่ไปของปัญหาทั้งหมด ความเกี่ยวข้องกับมหาอำนาจโลก รวมถึงทางออกและการสร้างสันติภาพ
ถ้าจะมองปัญหาในตะวันออกกลาง หรือสงครามซีเรีย ต้องเริ่มที่จุดไหน โครงสร้างอำนาจในภูมิภาคนี้มีที่มาอย่างไร
ถ้าเรามองไปในประวัติศาสตร์ตะวันออกกลางแล้ว ตั้งแต่ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ คือหลังจากที่จักรวรรดิออตโตมานล่มสลายมาจนถึงทุกวันนี้ สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือ โครงสร้างอำนาจในตะวันกลางมันเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา แล้วในการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ มันส่งผล หรือ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสถานการณ์ในตะวันออกกลางอย่างมีนัยยะสำคัญ
ยุคแรก หลังจากจักรวรรดิออตโตมานล่มสลาย ภูมิภาคตะวันออกกลางถูกแบ่งแยกเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ โดยมีอังกฤษเข้ามาดูแล ตั้งราชวงศ์ต่างๆ ขึ้นปกครองประเทศ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม สิ่งที่เห็นได้ชัดในยุคนี้ก็คือ มันไม่มีศูนย์กลางอำนาจที่ชัดเจนในตะวันออกกลาง แต่ละรัฐที่เกิดขึ้นมาใหม่ ไม่ได้มีใครมีอำนาจเหนือกว่าใคร เพราะฉะนั้นความขัดแย้งก็ไม่ค่อยมีด้วยในกลุ่มประเทศอาหรับที่เกิดใหม่ตรงนี้ไม่ค่อยมี และยังมีจุดร่วมของอาหรับทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นศาสนา ภาษา วัฒนธรรม รวมถึงการมีกรอบความร่วมมือระหว่างกันในหลายเรื่อง เช่น กลุ่มสันนิบาตอาหรับ กลุ่มสันนิบาตมุสลิมโลก แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ การมีอิสราเอลเป็นศัตรูร่วม เพราะรัฐในแถบตะวันออกกลางในขณะนั้น ต่างไม่พอใจที่อังกฤษมาตั้งรัฐอิสราเอล โดยไม่มีความชอบธรรม ทุกครั้งอาหรับทำสงครามกับอิสราเอลก็จะช่วยกัน แปลว่าในยุคนี้มันค่อนข้างจะมีจุดร่วมมากกว่า ไม่ค่อยมีสงครามหรือความขัดแย้งระหว่างกันมาก นั้นคือช่วงที่หนึ่ง
ยุคที่ 2 ในระยะต่อมา ตั้งแต่ปี 1979-1990 ในปี 1979 มันเกิดเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งคือ เหตุการณ์ปฏิวัติอิหร่าน อิหร่านเปลี่ยนจากระบอบกษัตริย์มาเป็นระบอบสาธารณรัฐ ยึดผลประโยชน์บริษัทสัมปทานน้ำมันที่เคยเป็นของตะวันตกอย่างอเมริกา เข้ามาเป็นของรัฐหมด และพยายามส่งออกแนวคิดการปฏิวัติออกไปยังประเทศอาหรับอื่นๆ ซึ่งมันทำให้หลายประเทศในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะซาอุดิอาระเบียไม่พอใจและรู้สึกว่าไม่มั่นคง ทำให้เกิดสองขั้วอำนาจขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัดในตะวันออกกลาง ขั้วนึงคือซาอุฯ ที่มีนิกายทางศาสนาคือ สำนักคิดซุนนี และมีพันธมิตรเป็นของตัวเอง กับอีกขั้วนึงคือ อิหร่านที่เป็นแกนนำของกลุ่มชีอะห์ ที่นี้เราจะเริ่มเห็นความแตกแยกในตะวันออกกลางแล้ว
ช่วงปี 80 ปรากฎว่าสหรัฐและซาอุฯ ก็ไปสนับสนุนให้ซัดดัม ฮุสเซน ผู้นำอิรัก ให้ทำสงครามกับอิหร่าน เป็นเวลาแปดปี ที่เรียกว่าสงครามอิรัก-อิหร่าน สิ่งที่เราเห็นตอนนี้ก็คือว่า จากที่ไม่มีขั้วอำนาจ และมีจุดร่วมกันมากกว่าจุดต่าง ก็กลายมาเป็นสองขั้วอำนาจ พอมันเกิดสองขั้วอำนาจแล้ว มันก็เกิดสงครามตัวแทนขึ้นมาเหมือนที่มันเกิดขึ้นทุกวันนี้ โดยมีซาอุฯ เป็นขั้วอำนาจหลักในตะวันออกกลางซาอุเป็นขั้วอำนาจหลักในตะวันออกกลาง
พอสิ้นสุดสงครามในปี 1989-1990 ปรากฎว่าซัดดัม ฮุสเซนไปทำสงครามรุกรานคูเวต ตรงนี้แหละที่ซาอุฯ ไปดึงสหรัฐเข้ามาโจมตีซัดดัม ฮุสเซน หรือที่เรียกว่าสงครามอ่าวครั้งแรก พอหลังสงครามอ่าว ผมเรียกเป็นอีกยุคนึงแล้ว คือ ยุคสามขั้วอำนาจ ลักษณะโครงสร้างอำนาจในตะวันออกกลางตอนนี้ก็คือ มีสามขั้วอำนาจแล้ว ฝ่ายหนึ่งคือ ซัดดัม ฮุสเซน ของอิรัก อีกฝ่ายคืออิหร่าน และอีกฝ่ายนึงก็คือซาอุดิอาระเบีย
พอมันเป็นสามขั้วอำนาจ ลักษณะหนึ่งที่เราเห็นชัดเจอก็คือว่ามันไม่มีสงครามเลยใหญ่ๆ ในตะวันออกกลางในช่วงนี้ สาเหตุเพราะว่า ถ้ามันเป็นสามขั้วอำนาจ แล้วสองฝ่ายเกิดจับมือกัน อีกฝ่ายก็จะแย่ หรือสองฝ่ายทำสงครามกัน อีกฝ่ายนึงก็จะได้ประโยชน์
เพราะฉะนั้นโครงสร้างอำนาจแบบนี้มันทำให้สมดุล เราจะเห็นว่าตะวันออกกลางในช่วงนี้ เติบโตขึ้นมาก ซีเรียก็พัฒนาบ้านเมืองเป็นประเทศสวยงาม อิรัก ถึงแม้จะถูกคว่ำบาตร ก็มีเศรษฐกิจที่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง ซาอุฯ ก็ขายน้ำมันจนร่ำรวย อิหร่าน ถึงแม้จะถูกคว่ำบาตร ก็มีรัสเซียและจีนที่เป็นคู่ค้าที่สำคัญอยู่ อันนี้เป็นช่วงที่บรรยากาศในตะวันออกกลาง ถึงแม้จะมีสามขั้วอำนาจ ก็ไม่ทำสงครามรบราฆ่าฟันกัน
จุดเปลี่ยนคือ ในปี 2003 เมื่อสหรัฐฯเข้ามาทำสงครามแล้วก็โค่นล้มซัดดัม ฮุสเซนลง ยึดอิรัก ตั้งรัฐบาลชีอะห์ขึ้นมา แปลว่าโครงสร้างอำนาจสามขั้วก่อนหน้านี้ มันหายไปแล้ว เหลือแค่สอง มันกลับไปคล้ายกับในยุคก่อน พอเหลือสองสิ่งที่ตามมาที่เราเห็น คือ สงครามตัวแทน หลังจากนั้นมันก็เกิดเหตุการณ์อาหรับสปริงที่เกิดขึ้นในปี 2011 ซึ่งเหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ที่ประชาชนลุกฮือขึ้นมาเพื่อต่อต้านผู้นำของตัวเอง แล้วสิ่งที่ตามมาก็คือทั้งซาอุและอิหร่านก็พยายามใช้โอกาสตรงนี้ ทั้งการลุกฮือและสงครามกลางเมือง เข้าไปสนับสนุนฝ่ายของตัวเองในแต่ละที่ อิหร่านก็จะเข้าไปสนับสนุนกลุ่มชีอะห์ในที่ต่างๆ ซาอุก็เข้าไปสนับสนุนกลุ่มซุนนี หรือกลุ่มที่เป็นพันธมิตรของตัวเองให้มีอำนาจในที่นั้นๆ
นอกจากนั้น ในช่วงนี้ยังปรากฏกระแส Political Islam ที่มีแนวคิดต้องการปฏิรูปตะวันออกกลางให้เป็นตะวันออกกลางสมัยใหม่ โดยผสมผสานระหว่างระบอบการเมืองการปกครองสมัยใหม่กับแนวคิดทางศาสนาอิสลามไว้ด้วยกัน อย่างกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ในอียิปต์เป็นต้น
น่าสนใจที่สุดก็คือ กรณีของซีเรีย ที่เป็นประเทศหนึ่งที่ประชาชนลุกฮือขึ้นต่อต้านผู้นำของตัวเอง ก็คืออัสซาด ก็มีกลุ่มติดอาวุธ Free Syrian Army ต่อต้านรัฐบาล และยังมีกลุ่มอื่นๆอีกที่จ้องจะล้มอัสซาด อย่างเช่นกลุ่ม al Qaeda สาขาซีเรีย และก่อการร้าย IS มามะรุมมะตุ้มกันอยู่ในสมรภูมิซีเรีย โดยสหรัฐฯ ประกาศให้การสนับสนุนฝ่ายต่อต้านอย่างชัดเจน ผ่านทางซาอุดิอาระเบีย ส่วนรัฐบาลซีเรียก็มีรัสเซียและอิหร่านเข้ามาหนุนหลัง เพราะฉะนั้นกรณีของซีเรีย เราจะเห็นว่าสงครามมันถึงยืดเยื้อยาวนานมาถึงเจ็ดปีเข้าสู่ปีที่แปด เป็นสมรภูมิที่มีการเดิมพันสูงมาก เป็นเกมการเดิมพันของมหาอำนาจของโลกและของตะวันออกกลาง ระหว่างสองขั้วอำนาจ
สงครามซีเรีย เป็นสงครามตัวแทนที่เดิมพันอะไรของแต่ละฝ่ายไว้บ้าง
อย่างที่ผมเรียนไป มันหมายถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจในตะวันออกกลางอีกยุคหนึ่ง ความพยายามที่จะขยายอิทธิพลระหว่างซุนนี และชีอะห์ในตะวันออกกลาง ถ้าอัสซาดถูกโค่นล้ม นั้นจะหมายถึงชัยชนะของสหรัฐฯ และเท่ากับว่าอิทธิพลของชีอะห์ที่กำลังเติบโตขึ้นมาในตะวันออกกลางจะลดลงไป เพราะตอนหลังต้องยอมรับว่าอิทธิพลของกลุ่มชีอะห์-อิหร่าน ขยายตัวมากในตะวันออกกลาง ซึ่งนั้นหมายถึงผลประโยชน์และพันธมิตรของรัสเซียในตะวันออกกลาง เยเมนตอนนี้ รัฐบาลชีอะห์ก็มีอำนาจอยู่ ในอิรักหลังจากสหรัฐฯเข้าไปโค่นล้มซัดดัม ฮุสเซน และตั้งรัฐบาลขึ้นมาก็เป็นรัฐบาลชีอะห์ ตอนหลังคุมไม่อยู่ ก็ไปมีความสัมพันธ์กับอิหร่านอีก ในซีเรียก็เป็นฐานสำคัญ เป็นพันธมิตรที่สำคัญของรัสเซียในตะวันออกกลาง เราจะเห็นได้ว่าพวกของชีอะห์กำลังขยายตัวขึ้นมา ซึ่งแน่นอนว่าในฝั่งของซาอุฯ ก็ไม่สบายใจแน่นอน
ถ้าสมมติอัสซาดสามารถอยู่ในอำนาจได้ต่อ ก็เท่ากับว่าเป็นชัยชนะของรัสเซีย ซึ่งหมายถึงบทบาทและอิทธิพลของสหรัฐฯ ที่ลดลง และพ่ายแพ้ในสมรภูมินี้ ทั้งยังเท่ากับว่าพันธมิตรของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง ซาอุฯ และอิสราเอลจะได้รับผลกระทบไปด้วย อิสราเอลก็จะรู้สึกไม่มั่นคงไปด้วย นอกจากนั้นมันยังหมายถึง ผลประโยชน์ของชาติตะวันตก ของยุโรป ที่จะลดน้อยลงไป เพราะฉะนั้นสมรภูมินี้มันเดิมพันสูงมาก มันส่งผลกระทบโดยตรงต่อโครงสร้างอำนาจ ไม่เฉพาะในตะวันออกกลางแต่รวมถึงโครงสร้างอำนาจโลกด้วย และนั้นก็เป็นสาเหตุว่าทำไมเขาถึงไม่ยอมกัน
จะเห็นว่าตรงนี้มันพันกันหลายเรื่องมาก เป็นสงครามตัวแทนใน 3 ขั้น 1) มหาอำนาจโลก ชั้นที่ 2) มหาอำนาจในภูมิภาค คือซาอุฯ กับอิหร่าน และพันธมิตรอื่นๆ 3) ตัวแสดงอื่นๆ ที่ไม่ใช่รัฐ ที่มีมหาอำนาจสนับสนุน คือกลุ่มกบฏ หรือก่อการร้ายต่าง
ทำไมสงครามครั้งนี้ ถึงมีอาวุธเคมีเข้ามาเกี่ยวข้อง
ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์มันก็มีทั้งผลัดกันรุก ผลัดกันรับ แต่ตั้งแต่ต้นปี 2018 ที่ผ่านมา ปรากฎว่าซีเรียและรัสเซียสามารถคุมสถานการณ์ในประเทศไว้ได้เกือบหมดแล้ว สามารถยืดคืนพื้นที่ของฝ่ายต่อต้านได้เกือบ 100% รวมทั้งพื้นที่ของกลุ่ม IS ที่ยืดครองไว้ก่อนหน้านั้น แปลว่าซีเรียและรัสเซียกำลังจะมีชัยชนะอยู่แล้ว แต่เหลือแค่เมืองเดียว ที่ยังเป็นที่มั่นสุดท้ายของฝ่ายต่อต้าน คือเมืองกูตาตะวันออก ที่อยู่ในระหว่างการปฏิบัติการณ์ทางหทารขอคืนพื้นที่คืน และคาดว่าจะใช้เวลาอีกไม่นานจะสำเร็จ แต่ว่ามันเกิดปรากฎการณ์ที่สหรัฐฯ กล่าวหาว่ารัฐบาลอัสซาดใช้อาวุธเคมีโจมตีฝ่ายต่อต้าน ซึ่งสหรัฐฯ และตะวันตกมองว่าการใช้อาวุธเคมีเป็นเรื่องร้ายแรง ไม่สามารถยอมรับได้ จึงนำมาสู่ปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯ อังกฤษ และฝรั่งเศส ครั้งล่าสุด ซึ่งมันก็ตามมาด้วยข้อสงสัยและข้อสังเกตหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามข้อมูลข่าวสารเกิดขึ้น ที่ข้อมูลหลายไม่ตรงกันเลย
ในฝั่งของสหรัฐฯ เชื่อมั่นแน่ว่าซีเรียใช้อาวุธเคมีกับฝ่ายต่อต้าน โดยดูจากหลักฐานที่เค้านำมาแสดง ทั้งรูปภาพ วิดีโอต่างๆ คือภาพการเข้าไปช่วยเหลือเด็ก และผู้ป่วยที่ดูเหมือนจะถูกผลกระทบจากอาวุธเคมี หรือข้อมูลจากกลุ่มอาสาที่ทำงานในพื้นที่ นั้นคือสิ่งที่ตะวันตกคิดว่าเป็นหลักฐานสำคัญที่ชี้ว่า อัสซาดใช้อาวุธเคมีกับฝ่ายต่อต้าน
แต่ในฝั่งของข้อมูลรัสเซีย ก็บอกว่ามันเป็นการจัดฉากทั้งหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจากฝ่ายอาสา ภาพ หรือวิดีโอที่ปรากฎออกมา โดยน่าตั้งข้อสังเกตว่า มันมีสาเหตุจำเป็นอะไรที่รัฐบาลซีเรียต้องใช้อาวุธเคมี ทั้งที่จะชนะอยู่แล้ว แล้วรู้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ถ้ามีการใช้อาวุธเคมี มันจะดึงสหรัฐเข้ามาและนานาชาติเข้ามา และจะต้องมีปฏิบัติการทางทหาร เพราะข้อกล่าวหาแบบนี้มันเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2013 ซึ่งตอนนั้นอังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐฯ ก็เตรียมที่จะปฏิบัติการทางทหารเหมือนกัน แต่สหรัฐฯ กับรัสเซียสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ เจรจากันได้ว่าจะทำลายอาวุธเคมีในซีเรียให้หมดไปเลย เพื่อรับประกันว่าในอนาคตจะไม่เอามาใช้อีก หรือถูกกล่าวหาแบบนี้อีก และถ้าซีเรียใช้อาวุธเคมีจริง เท่ากับว่าเป็นการสร้างปัญหาให้กับรัสเซีย ที่เข้ามาสนับสนุนตัวเอง มันก็ดูไม่ค่อยสมเหตุสมผลซักเท่าไหร่
จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่น่าเชื่อถือ เพราะถ้าดูบริบทของซีเรีย คือทางอัสซาด และรัสเซียจะชนะแล้ว ตอนนี้การเข้ามาของสหรัฐฯ และตะวันออกก็เหมือนแสดงว่าต้องการเข้ามามีบทบาทในซีเรียอีกครั้งนึง เพราะว่าไม่ต้องการให้ผลจบลงอย่างนี้ โดยที่อัสซาดกำลังมีอำนาจ โดยใช้เรื่องของอาวุธเคมีเข้ามา และพลิกบทบาทสถานการณ์ในซีเรีย
ทำไมการปฏิบัติการครั้งล่าสุด ถึงมีพันธมิตรของสหรัฐฯ อย่างอังกฤษ และฝรั่งเศสมาร่วมด้วย และการกลับมาของสหรัฐฯ ในครั้งนี้มีความหมายอย่างไร
ประเด็นนึงที่ถูกมองคือ ผู้นำทั้ง 3 ประเทศ เผชิญปัญหาภายในของตัวเอง และต้องการเบี่ยงเบนความสนใจออกมาในเรื่องซีเรีย แต่อีกด้านนึงก็เป็นการส่งสัญญาณไปหาพันธมิตรของตัวเอง อย่างซาอุฯ หรืออิสราเอลว่า ตนยังไม่ยอมแพ้ เพราะว่าก่อนหน้านี้ เราจะเห็นว่ารัสเซียมีบทบาทในการเข้ามาช่วยอัสซาดโดยตรง ในขณะตะวันตกก็เกี่ยงกันเข้ามาปฏิบัติการทางทหารโดยตรง พอซาอุฯ เรียกร้องให้สหรัฐฯ เข้ามา สหรัฐฯ ก็ดันบอกให้ฝ่ายซาอุฯ ลงมือโจมตีเอง ซึ่งเมื่อเทียบกับรัสเซียที่เต็มใจเข้ามา ก็น่าน้อยใจสำหรับพันธมิตรของสหรัฐฯ
ทั้งระยะหลังมาสหรัฐฯ ก็เผชิญปัญหาที่สำคัญด้าน ภูมิรัฐศาสตร์การเมือง คือการสูญเสียพันธมิตรในภูมิภาคต่างๆ ให้จีนกับรัสเซีย อย่างเช่นฟิลิปปินส์ หรือในอาเซียน ไทยเราเองก็เริ่มเข้าหาจีน ในตะวันออกกลาง ถ้าสหรัฐฯ จะเสียซาอุฯ อีก ก็จะยิ่งทำให้ประเทศอื่นๆ หันไปหารัสเซีย ถ้าปล่อยให้สงครามนี้จบโดยอัสซาดยังอยู่ในอำนาจ
ในส่วนของอังกฤษ และฝรั่งเศสที่เข้ามาเกี่ยวในปฏิบัติการครั้งนี้ ด้านนึงเค้าอาจจะกำลังส่งสัญญาณสร้างขวัญและกำลังใจให้กับพันธมิตรของตัวเองในตะวันออกกลาง ในขณะที่พันธมิตรคิดว่ากำลังจะแพ้ และอีกทฤษฎีนึงที่อธิบายได้คือเรื่องของผลประโยชน์ด้านพลังงาน เพราะโครงการการวางท่อก๊าซจากตะวันออกกลาง ผ่านซีเรีย ตุรกี เข้าไปยังยุโรป ซึ่งเราจะเห็นว่าปัจจุบัน ยุโรปต้องพึ่งพิงทรัพยากรจากรัสเซีย จึงเห็นได้ว่าหลายครั้งที่สหรัฐฯ เรียกร้องให้ยุโรปคว่ำบาตรรัสเซียนั้นไม่สามารถทำได้ เพราะรัสเซียยังมีอำนาจต่อรองตรงนี้อยู่ แต่ถ้าสามารถโค่นล่มอัสซาดได้ ต่อท่อก๊าซไปยุโรปได้ ยุโรปก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งรัสเซีย ดังนั้นมันจึงเป็นผลประโยชน์อีกชั้นนึง
อาจารย์มองว่าสถานการณ์ในตะวันออกกลางต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร
ผมคิดว่าถ้าเราย้อนดูพัฒนาการของปัญหาในซีเรีย มันพัฒนามาเรื่อยๆ จากสงครามกลางเมือง มาเป็นสงครามตัวแทน และที่สำคัญ จุดนี้มันน่ากลัวว่าในขั้นต่อไปจะเป็นสงครามในภูมิภาค ระหว่างสองขั้วอำนาจคือ อิหร่าน และซาอุฯ ที่อาจจะเผชิญหน้ากันโดยตรง เพราะถ้าเราย้อนไปดูสมัยที่ยังเป็นสองขั้วอำนาจ มันมีเป็นอิรักที่ถูกให้เป็นตัวแทน ทำสงครามกับอิหร่านกัน แต่ในครั้งนี้ แสนยานุภาพของอิหร่านพัฒนาไปมาก มีขีปนาวุธที่ร้ายแรงพอสมควร ที่รัสเซียเข้ามาสนับสนุน ดังนั้นการที่จะไปหาประเทศใดประเทศหนึ่งมาทำสงครามตัวแทนกับอิหร่าน เหมือนอิรัก มันหาไม่ได้แล้ว ระดับของอำนาจ และแสนยานุภาพไม่เท่ากัน
สิ่งที่เราอาจจะเห็นก็คือ ในฝั่งของซาอุฯ อาจจะรวบรวมกลุ่มพันธมิตรของตัวเอง ในการกดดัน เล่นงาน หรือเผชิญหน้ากับอิหร่านในรูปแบบของพันธมิตร แล้วที่สำคัญคือ หลังสุดมันมีการประชุมสันนิบาตอาหรับ และข้อเรียกร้องที่ออกมาคือ ให้มีการจัดการกับอิหร่าน เพราะมองว่าอิหร่านคือเบื้องหลังปัญหาความวุ่นวายทั้งหมดในตะวันออกกลาง
ทั้งล่าสุดเราก็เห็นว่าซาอุฯ เตรียมความพร้อมที่จะเข้าไปปฏิบัติการในซีเรีย และอิสราเอลเองก็เข้าไปโจมตีเป็นระยะ นี่อาจจะเป็นความมั่นใจอย่างหนึ่งของซาอุฯ ว่าสหรัฐฯ อังกฤษ และฝรั่งเศสจะเข้ามาสนับสนุน
รัสเซียกับสหรัฐฯ จะเผชิญหน้ากันไหม ทำสงครามไหม
ผมคิดว่าไม่ เพราะเขาต้องการทำสงครามตัวแทนมากกว่า และยิ่งมหาอำนาจแข่งขันกันในยุคนี้ เขาแข่งกันไปสร้างพันธมิตร และสนับสนุนอยู่เบื้องหลังมากกว่าจะเผชิญหน้ากันโดยตรง
ประเด็นที่ 2 เขารู้ว่าถ้าเผชิญหน้าโดยตรง จะทำให้สูญเสียกันทั้งคู่ รัสเซียเองน่าจะรู้ว่าตัวเองยังมีแสนยานุภาพทางทหารสู้สหรัฐฯ ไม่ได้ ส่วนสหรัฐฯ เอง ไม่เคยเข้าสู่สงครามที่ตัวเองต้องเสี่ยง เขาจะไม่ยอมเจ็บตัว และถึงจะทำสงครามแล้วชนะ แต่ก็จะได้รับผลกระทบ และความเสียหายพอสมควร ซึ่งสหรัฐฯ จะไม่แลก ผมจึงคิดว่ามหาอำนาจจะไม่เผชิญหน้ากันโดยตรง
ทางออกของปัญหานี้จะเป็นอย่างไร
ในภูมิภาคอาจจะรุนแรงมากขึ้น ในการเผชิญหน้า หรือทำสงคราม แต่ในระดับมหาอำนาจ ผมว่าถ้าถึงจุดนึงที่เขารู้สึกว่าวิกฤติแล้ว จะเผชิญหน้ากันแล้ว เขาจะตั้งโต๊ะพูดคุยเจรจากัน เหมือนวิกฤติคิวบา ในปี 62 ที่ขีปนาวุธมาจ่อหน้ากันแล้ว ถึงมีการพูดคุย และจุดที่ว่าเลวร้ายถึงขีดสุดก็จะเกิดจากสภาวะ Security Dilemma หมายถึง การข่มกันไป ข่มกันมา ยั่วยุกันไปมา จนไม่มีทางออก ถลำไปไกล และสุดท้ายรู้ตัวว่าวิกฤติก็จะพูดคุยกัน
แต่สำหรับในตะวันออกกลาง มันอาจจะไม่จบอย่างนั้น เพราะว่านอกจากความขัดแย้งในภูมิภาคมันมีเดิมพันสูงแล้ว สงครามมันยังเอื้อประโยชน์ให้กับมหาอำนาจอีก อย่างน้อยที่สุดคือ ในเรื่องของการค้าอาวุธ หรืออย่างน้อยที่สุด เมื่อประเทศตะวันออกกลางทำสงครามกัน ก็หมายถึงความมั่นคงของอิสราเอลด้วย
สงคราม และความขัดแย้งเหล่านี้จะจบลงได้ไหม ถ้าไม่มีมหาอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้อง
ก่อนหน้านี้ ตุรกีได้จัดการประชุม ให้ตุรกี อิหร่าน และรัสเซียมาคุยกัน เพื่อจัดการกับปัญหาในซีเรียที่ยืดเยื้อ แต่ปัญหากลับมาซับซ้อน เพราะมันมีเรื่องข้อกล่าวหาของอาวุธเคมีอยู่ สหรัฐฯ เองก็คงไม่ยอมให้จบแบบนี้ และไม่ยอมให้กลุ่มประเทศรัสเซีย ตุรกี อิหร่าน มีบทบาทในการแก้ปัญหาตรงนี้ฝ่ายเดียว โดยที่ไม่ได้เจรจาด้วยเลย ฉะนั้นผมไม่คิดว่า เขาจะจัดการได้โดยตัวเขาเอง แต่ว่าต้องจบด้วยทุกฝ่ายที่พูดคุยกัน ทั้งมหาอำนาจโลกที่ตกลงกันได้ โดยเงื่อนไขที่มหาอำนาจในภูมิภาครับได้ และตัวแทนของตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐรับได้
สงครามและความขัดแย้งในตะวันออกกลางมองว่าเป็นสงครามศาสนาได้รึเปล่า
คนมองว่ามันเป็นปัญหาระหว่างศาสนา หรือนิกาย แต่ถ้าเรามองไปถึงรากเหง้า สาเหตุของปัญหา ประเด็นมันคือ การทำศาสนาให้เป็นการเมือง ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์ ใช้ความแตกต่างที่มีอยู่ อย่างซาอุฯ และอิหร่านก็มีความแตกต่างกัน แต่สองประเทศนี้ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรหนักหนา ทั้งสองประเทศเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ทั้งคู่ แต่พอเกิดการปฏิวัติ มหาอำนาจเสียผลประโยชน์ในอิหร่านขึ้นมา ทั้งซาอุฯ ก็ไม่พอใจอิหร่าน
ความแตกต่างตรงนี้เลยถูกนำมาเป็นเครื่องมือจัดระบบพันธมิตรในตะวันออกกลาง แน่นอนว่าเค้ามีความแตกต่างกันอยู่ เรื่องวิธีคิด หรือหลักการ แต่ในทางการเมืองไม่ได้ขัดแย้งกัน
ในการแก้ปัญหาต่างๆ องค์กรระหว่างประเทศไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาได้รึเปล่า
สหประชาชาติ มีกฎบัตรและข้อบังคับหลายอย่าง ข้อเท็จจริงอย่างนึงที่เราต้องยอมรับคือ มันไม่ได้ถูกออกแบบมาให้มีเงื่อนไขกลไกแก้ปัญหาข้ดแย้ง หรือข้อพิพาทระหว่างมหาอำนาจได้ เพราะมหาอำนาจมีสิทธิยับยั้งมติ มันถูกออกแบบมาให้มหาอำนาจมีการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน แปลว่าถ้ามหาอำนาจขัดแย้งกัน หรือเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของมหาอำนาจ จะไม่มีกลไกที่เป็นทางออก หรือมติที่แก้ไขได้ มันต่างกับประเทศเล็กๆ ที่ถ้าขัดแย้งกัน คณะมนตรีความมั่นคงสามารถมีมติออกมาทางหนึ่งทางใดร่วมกัน
ยกตัวอย่างในกรณีของปาเลสไตน์ กับอิสราเอล พอมีข้อเสนอมติในคณะมนตรีความมั่นคง ในทางที่เป็นลบต่ออิสราเอล สหรัฐฯ ซึ่งเป็นพันธมิตรของอิสราเอล ก็จะใช้สิทธิยับยั้งมติให้ เพราะมีผลประโยชน์ตรงนั้น ฉะนั้น UN ไม่ได้มีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขความขัดแย้งของมหาอำนาจได้ แต่อาจจะเป็นทางกลับ หรือสถานที่เพื่อรองรับเวลามหาอำนาจต้องการคุยกัน หรือตกลงกัน ถ้าสามารถตกลงกันได้
ช่วงนี้ เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงในซาอุฯ หลายอย่าง เช่นให้ผู้หญิงขับรถ หรือเปิดโรงหนัง ความเปลี่ยนแปลงนี้ จะทำให้โครงสร้างเปลี่ยนแปลงไปไหม
ตามแนววิเคราะห์ เราจะเห็นได้ว่าอิหร่านเป็นประเทศแรกที่มีการปฏิวัติ มีการเปลี่ยนแปลง ในแบบอิหร่านเอง หลังจากนั้นเราจะเห็นความพยายามเปลี่ยนแปลงตะวันออกกลาง ในอาหรับสปริง ที่ประชาชนโค่นล้มผู้นำ และมีการเลือกตั้ง รวมถึงนำเสนอแนวคิด Political Islam ที่พยายามเปลี่ยนตะวันออกกลางโดยมีตุรกีสนับสนุน และได้รับความนิยมในหลายประเทศ ดังนั้นยังเหลืออีกกลุ่มหนึ่งที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง คือซาอุฯ ดังนั้นถ้าซาอุฯ ไม่เปลี่ยน ก็จะถูกกระแส ของการลุกฮือต่อต้าน หรือกระแส Political Islam กดดันภายในประเทศให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
เพราะฉะนั้นซาอุฯ จำเป็นต้องนำเสนอแนวทางการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ซึ่งซาอุฯ จะใช้คำว่ากลับไปเป็นมุสลิมสายกลางเหมือนในอดีต ซึ่งซาอุฯ กำลังจะนำเสนอเรื่องของเสรีนิยม ที่คล้ายตะวันตกยิ่งขึ้น เห็นได้จากที่จะเปิดโรงหนัง เปิดชายหาดให้ใส่บิกีนี หรือให้แสดงสิทธิเสรีภาพมากขึ้น อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน แสดงให้เห็นว่าซาอุฯ กำลังจะโฉมเป็นซาอุฯ สมัยใหม่ ถ้าเรามองแบบนี้ ซาอุฯ ก็กำลังนำเสนอแนวทางปฏิรูปในแบบของตัวเอง ในตะวันออกกลางเหมือนกัน เพื่อที่จะสู้กับแนวคิด Political Islam ที่มากับอาหรับสปริง
ความขัดแย้งในตะวันออกกลางมีหลายจุด บางจุดอย่างซีเรีย ก็เป็นที่พูดถึงมาก แต่ทำสงครามกลางเมืองในเยเมน จึงไม่ได้รับความสนใจ
เรื่องปัญหาความขัดแย้งในซีเรีย เป็นเรื่องที่มหาอำนาจในภูมิภาคสนใจ ทั้งซาอุฯ และอิหร่านสนใจ ในขณะที่เยเมนไม่ได้มีรัสเซีย หรือมหาอำนาจเข้ามาสนับสนุนอยู่เบื้องหลังชัดเจน อย่างสหรัฐฯ เวลาเข้ามาในเยเมน ก็จะเข้ามาถล่มกลุ่มอัลกออิดะฮ์เป็นหลัก แล้วก็ออก ไม่ได้เข้าไปสนใจอย่างยืดเยื้อ รัสเซียเช่นกัน เพราะจะมุ่งแต่รักษาพื้นที่ในสมรภูมิซีเรีย
ดังนั้นการที่มหาอำนาจไม่ได้เข้ามาข้องเกี่ยวด้วย ทำให้ดูเหมือนว่าไม่มีใครสนใจ และให้ความสำคัญ แต่สำหรับอิหร่านและซาอุฯ ก็ยังค่อนข้างที่จะให้ความสำคัญ และยังเป็นจุดหนึ่งที่เป็นสงครามตัวแทน
ความขัดแย้งในตะวันออกกลางมีมากมาย ซับซ้อน ถ้าต้องเริ่มแก้ปัญหา และสร้างสันติภาพ ควรเริ่มที่จุดไหน
เราต้องดูว่าปัญหาในตะวันออกกลางเริ่มจากจุดไหน และแก้จากจุดนั้น 1 คือ สังคมในภูมิภาคตะวันออกกลางในยุคแรกๆ มันยังไม่ค่อยมีความขัดแย้งอะไรใหญ่ๆ แต่ความขัดแย้งเกิดขึ้นจากการที่มหาอำนาจเข้าไปตั้งรัฐอิสราเอลขึ้นมา ในดินแดนปาเลสไตน์ จากนั้นมันทำให้ความขัดแย้งในตะวันออกกลางคือ ระหว่างอิสราเอลกับชาติอาหรับ ลำดับที่สอง นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างตะวันออกกลางและมหาอำนาจ ขั้นที่ 3 คือความขัดแย้งในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางกันเอง โดยใช้ความแตกต่างทางศาสนา เป็นเครื่องมือ แล้วความขัดแย้งตรงนี้ มันนำสู่ผลประโยชน์ของมหาอำนาจในหลายทาง คือการค้าอาวุธ โดยมีซาอุฯ เป็นลูกค้าอาวุธรายใหญ่ของสหรัฐฯ ทั้งดีต่อความมั่นคงของอิสราเอลด้วย
ดังนั้นที่ควรทำ คือมหาอำนาจต้องหยุดแทรกแซงการเมืองระหว่างประเทศในตะวันออกกลาง ยุติสงครามตัวแทน แล้วให้ UN หรือ OIC หรือองค์กรที่อยู่ในตะวันออกกลางเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหายิ่งขึ้น เพราะที่ผ่านมาสหรัฐฯ วางตัวเป็นคนกลางในการแก้ไขปัญหาอิสราเอล และปาเลสไตน์ แต่สุดท้ายกลับประกาศให้เยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล ซึ่งผิดหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่วางไว้ ว่าพื้นที่ตรงนี้จะเป็นพื้นที่สากล เท่ากับว่ากระบวนการที่ทำมาทั้งหมดเสียเปล่า สหรัฐฯ ลำเอียงไปที่อิสราเอล และกระบวนการเจรจาที่ผ่านมาก็แค่การซื้อเวลา เพราะระหว่างเจรจาอิสราเอลก็ครอบครองดินแดนไปเรื่อยๆ จนเกือบทั้งหมดของปาเลสไตน์
ตรงนี้คือปัญหา ถ้าแก้ตรงนี้ได้ ปัญหาอื่นๆ ก็จะคลี่คลายไป ถ้ามหาอำนาจไม่แทรกแซง ประเทศในตะวันออกกลางก็จะมีวิธีเคลียร์กันไป
Photos by Adidet Chaiwattanakul