นอกเหนือจากการชุมนุมที่มีการจัดมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา การดำเนินคดี และจับกุมแกนนำ หรือผู้ชุมนุมเอง ก็มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เรายังเห็นการจับกุม ดำเนินคดี โดยไม่ให้ผู้ต้องหา หรือจำเลย มีสิทธิในการประกันตัว
สิทธิในการประกันตัว ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งผู้ต้องหานั้นมีสิทธิที่จะถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และศาลต้องไม่สันนิษฐานว่าจำเลยมีความผิด ซึ่งสิทธินี้ได้ถูกรับรองไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ
แต่ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รายงานว่า คดีทางการเมืองตั้งแต่เข้าปีนี้มา มีผู้ที่ไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวมากถึงอย่างน้อย 18 คน และในบางกรณีถูกยกคำร้องการประกันมากถึง 4 ครั้ง แม้ว่าจะมีหลักทรัพย์การประกัน หรือตำแหน่งที่สูงขึ้นก็ตาม ทั้งยังมีเหตุผลต่างๆ ประกอบ รวมถึงบางคดีที่มีขั้นตอนการไม่ให้ประกันที่ผิดขั้นตอนด้วย
คดีปาระเบิดปิงปองสามย่านมิตรทาวน์ ใน #ม็อบ16มกรา ศาลไม่ให้ประกันตัวในชั้นสอบสวน
วีรยุทธ สัมฤทธิ์เรืองศรี, พรชัย ประกาพวง และณัฐสุต ศิริอัฐ ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมโดยแจ้ง 5 ข้อกล่าวหา รวมถึง ร่วมกันกระทำให้เกิดระเบิดขึ้น โดยทั้ง 3 ให้การปฏิเสธ แต่ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวในชั้นสอบสวน และถูกฝากขังตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 63
คดีการชุมนุม 19 กันยา ถูกยกคำร้องขอประกัน 4 ครั้ง และมีข้อสังเกตผิดปกติถึงกระบวนการประกัน
ในคดีการชุมนุม 19 กันยา มีแกนนำผู้ถูกฟ้องดำเนินคดีหลายคน ซึ่งรวมถึงคดี ม.112 โดย เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, สมยศ พฤกษาเกษมสุข และหมอลำแบงค์ ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม เป็น 4 คนที่ถูกอัยการสั่งฟ้อง และไม่ได้รับการประกันตัวมาตั้งแต่วันที่ 9 กุมภา 64 โดยศาลอาญาให้เหตุผลว่า
“พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่าคดีมีอัตราโทษสูง พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง อีกทั้งการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำซ้ำๆ ต่างกรรมต่างวาระตามข้อกล่าวหาเดิมหลายครั้งหลายครา กรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่าหากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยอาจไปก่อเหตุลักษณะเดียวกันกับความผิดที่ถูกกล่าวหาอีก จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ให้ยกคำร้อง”
ภายหลัง ได้มีการยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวไปยังศาลอุทธรณ์ เพื่อขอประกันตัวเป็นครั้งที่ 2 แต่ก็ถูกยกคำร้อง และในการยื่นประกันครั้งที่ 3 ได้มีการยื่นหลักทรัพย์ประกันที่เพิ่มขึ้นอีก 1 แสนบาท เป็น 4 แสนบาท รวมถึงในอีกคดีของพริษฐ์ ยังมีการใช้ตำแหน่งอาจารย์มหาวิทยาลัยด้วย แต่ก็ถูกยกคำร้อง ก่อนจะมาถึงการยื่นประกันครั้งล่าสุด ในครั้งที่ 4 ซึ่งเพิ่มประกันหลักทรัพย์อีกเป็น 5 แสนบาท และแม่ของพริษฐ์เอง ยังยื่นเป็นนายประกันด้วยตนเอง โดยใช้หลักทรัพย์รวม 1 ล้านบาทในอีกคดีด้วย แต่ก็ถูกยกคำร้องเช่นกัน
นอกจากแกนนำทั้ง 4 คน แล้ว เมื่อวานนี้ (8 มีนา 64) หลังอัยการสั่งฟ้องอีก 3 แกนนำได้แก่ ไมค์ ภาณุพงศ์ จาดนอก, รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และไผ่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ศาลยังไม่ให้ทั้ง 3 ประกันตัวเช่นกัน โดยศาลระบุว่า “พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง ทั้งมีเหตุอันควรให้เชื่อว่า หากอนุญาตให้ปล่อยตัวช่วยคราว จำเลยจะไปก่อเหตุในลักษณะเดียวกัน หรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก”
สำหรับกระบวนการในครั้งนี้ ได้มีการตั้งข้อสังเกตถึงความผิดปกติในกระบวนการเนื่องจากมีการพาตั้วทั้ง 3 คนไปยังเรือนจำ โดยที่ญาติ ทนาย และนายประกันเอง ยังไม่ทราบผลการขอปล่อยตัวชั่วคราวด้วย รวมถึงในหนังสือคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวชั่วคราว ยังไม่มีการลงลายเซ็นของทั้ง 3 คนด้วย
คดีทุบรถควบคุม “ไมค์-เพนกวิน” ศาลไม่ให้รับการประกัน 2 ครั้ง ชี้ว่าจำเลยอาจหลบหนี
อัยการสั่งฟ้อง ประชาชน 5 คน ได้แก่ ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร, ธวัช สุขประเสริฐ, ศักดิ์ชัย ตั้งจิตสดุดี, สมคิด โตสอย และฉลวย เอกศักดิ์ ในคดีทุบรถควบคุมตัว เพนกวิน พริษฐ์ และไมค์ ภาณุพงศ์ ระหว่างถูกพาตัวไปยัง สน.ประชาชื่น โดยในคดีนี้ ทนายได้ทำเรื่องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยชี้ว่าต้องมีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความ แต่ศาลไม่ให้ประกันตัว โดยให้เหตุผลว่า จำเลยทั้ง 5 อาจจะกระทำการอื่น และอาจจะหลบหนีอีก และฝากขังทั้ง 5 ตั้งแต่วันที่ 24 กุมภา 63 ซึ่งในคดีนี้ ฉลวย หนึ่งในจำเลย ได้ยืนยันว่า ตนไม่ได้เข้าร่วมชุมนุม เพียงแต่ลูกชายได้ยืมรถมอเตอร์ไซค์ และขี่เข้าไปเจอเหตุการณ์นี้เท่านั้น
ในคดีนี้ ทนายยังได้ทำเรื่องยื่นขอประกันตัวในครั้งที่ 2 โดยครั้งนี้ ได้ยื่นให้จำเลยติดกำไลข้อเท้าหรืออุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) แต่ก็ไม่ได้รับการประกันตัว ซึ่งศาลชี้ว่า ไม่มีเหตุเปลี่ยนคำสั่งเดิม
คดีวางเพลิงหน้าเรือนจำ ถูกยกคำร้องขอประกัน 2 ครั้ง
หลังเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมตัว แอมมี่ ไชยอมร แก้ววิบูลพันธ์ จากการเป็นผู้ต้องหาคดี ม.112, เผาทรัพย์ และ พ.ร.บ.คอมฯ จากการวางเพลิงพระบรมฉายาลักษณ์ที่หน้าบริเวณเรือจำคลองเปรม โดยศาลได้ยกคำร้องการประกันตัวในครั้งแรก และให้เหตุผลว่าเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี ขณะที่การประกันตัวครั้งที่ 2 แม้ว่ามารดา และทนายจะยื่นหลักทรัพย์ 5 แสนบาท แต่ศาลก็ยกคำร้องของประกันตัว โดยให้เหตุผลว่า เกรงผู้ต้องหาจะหลบหนี ไม่ใช่เพราะเหตุหลักทรัพย์ไม่เพียงพอ
โดยแอมมี่ ถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม และอยู่ที่เรือนจำธนบุรี
คดีโพสต์เพลง และข้อความในปี 59 ศาลยกคำร้องขอประกันตัว
ปริญญา ชีวินกุลปฐม หรือ พอร์ท วงไฟเย็น ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวที่บ้านพักของตนเอง ด้วยหมายจับของศาลทหารตั้งแต่ปี 2559 ในคดี ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการโพสต์เพลง และข้อความในปี 2559 โดยปริญญาให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และได้ยื่นขอประกันตัว เนื่องจากมีอาการป่วย ต้องเข้ารับการรักษา แต่ศาลก็ได้ยกคำร้อง โดยให้เหตุผลว่า พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง และโรงพยาบาลที่จำเลยรักษาตัวนั้น อยู่ใกล้กับ สปป.ลาว จึงมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี
คดีอ้างว่าการ์ด WEVO จะก่อเหตุวุ่นวาย ศาลไม่ให้ปล่อยตัวโตโต้คนเดียว
ใน #ม็อบ6มีนา ได้มีการตำรวจนอกเครื่องแบบเข้าจับกุมตัว โตโต้ ปิยรัฐ จงเทพ หัวหน้าการ์ด We Volunteer (Wevo) และการ์ดอีกจำนวน 18 ราย ซึ่งภายหลังถูกพาตัวไปยัง ตชด.ภาคที่ 1 และแจ้งข้อหาอั่งยี่-ซ่องโจร- พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ได้มีการปล่อยตัวคนที่เหลือ ยกเว้นเพียงแต่ โตโต้ ปิยรัฐ ที่ศาลอ้างว่า มีพฤติการณ์ที่อุกอาจ ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย รวมถึงหากปล่อยตัวแล้วจะกระทำความผิดซ้ำด้วย
โดยโตโต้ ถูกคุมตัวตั้งแต่วันที่ 6 มีนา และเพิ่งถูกส่งตัวไปยัง เรือนจำธนบุรี ทั้งนี้ ในคำร้องของทนาย ยังชี้ว่า พฤติการณ์ตามบันทึกจับกุมไม่ตรงกับความเป็นจริงหลายประการ เช่น โตโต้ ไม่ได้ไปร่วมชุมนุม แต่หากไปรับประทานอาหารที่เมเจอร์ รัชโยธิน รวมถึงยังเป็นการจับแบบไม่มีหมาย ซึ่งทางตำรวจแถลงว่า ไม่มีหมายเพราะเป็นความผิดซึ่งหน้า
นอกจากคดีทางการเมือง ที่มักไม่ได้รับการประกันตัวแล้ว iLaw ยังเคยชี้ว่าจำเลย โดยเฉพาะ ‘คดี ม.112’ มักไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวเลยด้วย โดยศาลอ้างว่าเป็นคดีคดีร้ายแรง กลัวหลบหนีหรือทำผิดซ้ำด้วย รวมถึงยังเป็นคดีที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน และมีโทษสูง
อ้างอิงจาก