อยากลงทุนเปิดธุรกิจใหม่ในไทย คิดว่ายากไหม? จากรายงาน ‘Doing Business 2018: Reforming to Create Jobs’ ของธนาคารโลก ดูเหมือนว่าจะไม่ใช่เรื่องยาก เมื่อประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่ทำธุรกิจง่ายเป็นอันดับ 26 ของโลก จากทั้งหมด 190 ประเทศ โดยสามอันดับแรกคือ นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และเดนมาร์ก
ถามว่าดูจากอะไรว่าประเทศไหนทำธุรกิจยากง่าย ธนาคารโลกมีตัวชี้วัดทั้งหมด 10 ตัว ซึ่งประเทศไทยได้คะแนนและอันดับต่างๆ ตามนี้
1) การเริ่มต้นธุรกิจ : วัดจากขั้นตอน เวลา และค่าใช้จ่ายที่ใช้จัดตั้งธุรกิจ สำหรับประเทศไทยใช้เวลาเฉลี่ย 4.5 วันหากจะเริ่มจัดตั้งธุรกิจอะไรสักอย่าง และได้คะแนนสูงถึง 92.34 คะแนน อยู่อันดับที่ 36 ของโลก
2) การขอใช้ไฟฟ้า : วัดจากขั้นตอน เวลา และค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงแหล่งไฟฟ้า รวมถึงความน่าเชื่อถือของผู้จัดหาและความโปร่งใสของค่าธรรมเนียม ซึ่งประเทศไทยอยู่ที่ระดับ 7 จาก 8 สำหรับตัวชี้วัดนี้ ประเทศไทยได้คะแนน 90.09 คะแนน อยู่อันดับที่ 13 ของโลก
3) การค้าระหว่างประเทศ : วัดจากเวลาและค่าใช้จ่ายในการนำเข้าและส่งออก ประเทศไทยได้คะแนน 84.1 คะแนน อยู่อันดับที่ 57 ของโลก
4) การชำระภาษี : วัดจากจำนวนภาษี เวลา และอัตราภาษีที่บริษัทหนึ่งๆ ต้องจ่าย สำหรับประเทศไทยใช้เวลาจัดการเรื่องภาษีเฉลี่ย 10.5 วัน อัตราภาษีเฉลี่ยคิดเป็น 28.7% ของกำไรต่อปี ได้คะแนน 76.73 คะแนน อยู่อันดับที่ 67 ของโลก
5) การแก้ปัญหาการล้มละลาย : วัดจากค่าใช้จ่าย เวลา และอัตราการเรียกคืน (Recovery Rate) รวมถึงประสิทธิภาพของข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับธุรกิจล้มละลาย ซึ่งของประเทศไทยอยู่ที่ระดับ 12.5 จาก 16 สำหรับตัวชี้วัดนี้ ประเทศไทยได้คะแนน 75.64 คะแนน อยู่อันดับที่ 26 ของโลก
6) การขออนุญาตก่อสร้าง : วัดจากขั้นตอน เวลา และค่าใช้จ่ายในการขออนุญาตก่อสร้าง รวมถึงมาตรการควบคุมคุณภาพ และกลไกด้านความปลอดภัย สำหรับประเทศไทยใช้เวลาเฉลี่ย 104 วันในการขออนุญาต ได้คะแนน 74.58 คะแนน อยู่อันดับที่ 43 ของโลก
7) การคุ้มครองผู้ลงทุน : วัดจากสิทธิของผู้ลงทุนรายย่อยในกิจการและในการกำกับดูแลกิจการ ได้คะแนน 73.33 คะแนน อยู่อันดับที่ 16 ของโลก
8) การได้รับสินเชื่อ : วัดจากระบบการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินเชื่อและความเข้มแข็งของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้คะแนน 70 คะแนน อยู่อันดับที่ 42 ของโลก
9) การจดทะเบียนทรัพย์สิน : วัดจากขั้นตอน เวลา และค่าใช้จ่ายในการโอนทรัพย์สิน และประสิทธิภาพของระบบจัดการที่ดิน ได้คะแนน 68.75 คะแนน อยู่อันดับที่ 68 ของโลก
10) การบังคับให้เป็นไปตามสัญญา : วัดจากเวลาและค่าใช้จ่ายในการจัดการข้อขัดแย้ง และประสิทธิภาพของระบบยุติธรรม ได้คะแนน 67.91 คะแนน อยู่อันดับที่ 34 ของโลก
คะแนนที่ได้นั้นใช้วิธีการวัดแบบ Distance to Frontier (DTF) ซึ่งก็คือการวัดระยะห่างระหว่างผลการพัฒนาประสิทธิภาพตัวชี้วัดแต่ละด้านของประเทศไทย เทียบกับประเทศที่ดำเนินการดีที่สุด (Best Practices) ยิ่งคะแนนสูง ยิ่งแสดงว่ามีประสิทธิภาพของปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อธุรกิจ รวมแล้วประเทศไทยได้คะแนน DTF ในภาพรวมอยู่ที่ 77.44 คะแนน ซึ่งทำให้ได้รับการจัดอยู่ในอันดับที่ 26 ของโลก
ถ้าเทียบกับรายงานของปีที่แล้ว (Doing Business 2017) ที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 46 ของโลก มีคะแนน DTF ในภาพรวมอยู่ที่ 72.53 คะแนน ก็อาจพูดได้ว่าประเทศเราพยายามพัฒนาปัจจัยต่างๆ ให้การทำธุรกิจนั้นง่ายขึ้น ทำให้อันดับพุ่งขึ้นมาถึง 20 อันดับ โดยการพัฒนาตัวชี้วัด (ยกเว้นด้านการขออนุญาตก่อสร้างและการค้าระหว่างประเทศ) ของประเทศไทยนั้นโดดเด่นเห็นได้ชัดในช่วงปีที่ผ่านมา จนในรายงานระบุว่าเป็นประเทศที่พัฒนามากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก
สิ่งที่ประเทศไทยทำเพื่อช่วยให้การประกอบธุรกิจในไทยง่ายขึ้นก็คือ
– ยกเลิกตราประทับและระเบียบแรงงานสำหรับส่งกระทรวงแรงงาน ทำให้การเริ่มต้นธุรกิจทำได้เร็วขึ้น (จาก 27.5 วันเป็น 4.5 วัน)
– นำระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์มาใช้ ลดขั้นตอนการตรวจสอบพื้นที่ ทำให้การขอใช้ไฟฟ้าเร็วและง่ายขึ้น รวมถึงช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบจัดการที่ดิน
– ออกกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจใหม่ เพื่อช่วยให้การขอสินเชื่อง่ายและสะดวกขึ้น
– เพิ่มสิทธิและอำนวยความสะดวกในการฟ้องร้องของผู้ลงทุนรายย่อย รวมถึงสร้างความชัดเจนในโครงสร้างการบริหาร
– ลดอัตราภาษีการโอนทรัพย์สิน
– เปิดให้ยื่นฟ้องและจ่ายค่าธรรมเนียมศาลออนไลน์ได้
อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ http://www.doingbusiness.org/reports/global-reports/doing-business-2018