‘ปลูกกัญชาที่บ้านได้หรือยัง’, ‘อยากเอากัญชามาเป็นเครื่องปรุงทำอาหารได้หรือเปล่า’, ‘สรุปแล้วยังเป็นยาเสพติดอยู่ไหม’
เชื่อว่าหลังๆ มานี้ หลายคนคงให้ความสนใจกับกัญชามากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อล่าสุดที่ครม. เห็นชอบแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติด ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และเตรียมเข้าสู่สภาแล้ว แต่เมื่อหาข้อมูลมากเข้าอาจจะงงได้ว่า สรุปแล้ว ตอนนี้กฎหมายที่มีอยู่ให้อำนาจเราทำอย่างไรกับกัญชาได้บ้าง มีกฎหมายกี่ฉบับกันแน่ และเราจะทำอะไรได้แค่ไหน มีเสรีจริงหรือเปล่า
The MATTER จึงมาเปิดกฎหมายกัญชาที่มีอยู่ และลองคลี่ให้ดูว่าแต่ละฉบับพูดถึงและมองกัญชาอย่างไรบ้าง เราในฐานะประชาชชนสามารถเข้าทำอะไรได้บ้าง ซึ่งร่างกฎหมายบางฉบับเอง ก็ยังคงเปิดให้แสดงความคิดเห็นในเว็บไซต์รัฐสภาให้เราสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้ด้วย
ประกาศกฎกระทรวงสาธารณสุข
ประกาศกฎกระทรวงสาธารณสุขฉบับนี้ได้มีการประกาศใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2562 โดยอนุญาตให้ผู้ป่วยสามารถใช้กัญชาในทางการแพทย์ และอนุญาตให้หน่วยงานรัฐ สถาบันศึกษา และวิสาหกิจชุมชนที่ร่วมกับสถาบันศึกษาหรือหน่วยงานรัฐสามารถปลูกกัญชาได้
ประกาศฉบับดังกล่าวนับว่าเป็นก้าวสำคัญของกัญชาทางการแพทย์ในไทย อย่างไรก็ดี มันมีข้อเสียตรงที่ทำให้การผลิต วิจัย ค้นคว้ากระจุกตัวอยู่แต่ในภาครัฐ ซึ่งทำให้การรักษาและพัฒนากระจุกตัวในวงแคบ
ร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่..) พ.ศ. ฉบับ ครม.
ร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่..) พ.ศ. ที่เพิ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา กำหนดให้ผู้ป่วยที่มีใบรับรอง แพทย์แผนไทย หมอชาวบ้านสามารถปลูกกัญชาเพื่อใช้ในการรักษาได้ นอกจากนี้ ยังเปิดช่องให้เกษตกรที่ร่วมมือกับผู้ที่มีใบอนุญาตสามารถปลูก จำหน่าย นำเข้า ส่งออก และครอบครองกัญชาได้
ร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่…) พ.ศ. … เสนอโดยพรรคภูมิใจไทย
ข้อเสนอของกฎหมายนี้ โดยพรรคภูมิใจไทยคือ ให้จัดตั้งสถาบันพืชยาเสพติดแห่งประเทศไทย เพื่อทำการวิจัย ค้นคว้า รวมถึงให้อำนาจออกใบอนุญาตปลูกกัญชาแก่ประชาชนครัวเรือนละ 6 ต้นด้วย
ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ยังอยู่ในวาระรับฟังความคิดเห็น ใครสนใจสามารถเข้าไปดูได้ที่
ร่างพระราชบัญญัติพืชยา กัญชา กระท่อม ฉบับประชาชน
ขณะที่ ร่างพระราชบัญญัติพืชยา กัญชา กระท่อม เสนอโดยเครือข่ายนักวิชาการ ประชาชน และภาคประชาสังคม โดยเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
- เปลี่ยน กัญชา กระท่อม และพืชอื่นที่มีฤทธิ์ทางยาแต่ส่งผลต่อจิตประสาท ให้กลายเป็น ‘พืชยา’ ไม่ใช่ ‘ยาเสพติด’
- อนุญาตให้ผู้ปลูกตามวิถีชุมชน ผู้ป่วย ผู้ดูแลผู้ป่วยสามารถปลูกกัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ได้ครัวเรือนละ 4 ต้น รวมถึงอนุญาตให้โรงพยาบาลของรัฐปลูกได้
- อนุญาตให้มีการรวมกลุ่มกันเป็น ‘ชุมชนพืชยา’ และร่วมกันวาง ‘ธรรมนูญชุมชน’ เพื่อควบคุม ดูแล และออกแนวปฏิบัติสำหรับการปลูกและใช้พืชยาในชุมชน กล่าวคือ ให้ชุมชนมีอำนาจในการกำกับกันเองมากขึ้น
- จัดตั้งคณะกรรมการร่วมพืชยา กัญชา กระท่อม ระหว่างภาครัฐ-นักวิชาการ-ภาคประชาสังคม และจัดตั้งสถาบันพืชยา กัญชา กระท่อมแห่งชาติ เพื่อพัฒนา วิจัย ให้ข้อมูลประชาชนเกี่ยวกับพืชยา
- ให้ภาครัฐสามารถควบคุมราคายาจากพืชยาบางตัวได้
- ห้ามโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพืชยาในสื่อต่างๆ
โดยร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ยังอยู่ในวาระรับฟังความคิดเห็นเช่นกัน สามารถเข้าดูได้ที่