หลายๆ ครั้งสิ่งที่วางแผนไว้ กับความเป็นจริงก็ออกมาไม่เหมือนกัน เช่นเดียวกับแผนวัคซีน COVID-19 เดือนมิถุนายนของไทย
COVID-19 ก็ยังคงระบาด แผนการฉีดวัคซีนก็ดูจะไม่เป็นไปตามที่ตั้ง เมื่อไทยมีวัคซีนที่ล้าช้า แถมยังมีการเลื่อนส่งมอบ เลื่อนฉีด ไหนจะการสื่อสารของภาครัฐที่สร้างความงุนงง จนประชาชนสับสน โดยตอนนี้ ก็เข้าสู่เดือนที่ 6 ของปี แต่แผนการต่างๆ ในเรื่องของการจัดหา และกระจายวัคซีนของรัฐบาล กลับเปลี่ยนไปมา รวมถึงสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ทำให้แผนของรัฐบาลที่เคยแทงม้าเต็งวัคซีนยี่ห้อเดียว ต้องเปลี่ยนแปลงด้วย
เมื่อหลายๆ อย่างไม่เป็นไปตามที่วางแผนไว้ และมีการปรับเปลี่ยนแผน เปลี่ยนวิธีการ The MATTER จึงอยากเปรียบเทียบแผนกระจายวัคซีนในเดือนมิถุนายน ที่ภาครัฐเคยวางแผนไว้ และสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบันนั้น ทำให้แผนกระจายวัคซีนกลายเป็นอย่างไรบ้าง
แผนกระจายวัคซีน เดือนมิถุนายน 64 ที่ตั้งไว้
(จากศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค วันที่ 7 มิถุนายน 64)
ตั้งแต่ต้นปี ทางรัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุขได้เปิดเผยแผนจัดหาวัคซีนในประเทศไทยออกมา ซึ่งเป็นแผนที่ใครหลายคนเรียกว่าเป็นการ ‘แทงมาตัวเดียว’ เพราะในตอนนั้นจะมีการจัดหาวัคซีนแค่ 2 ยี่ห้อ คือ ซิโนแวคในเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ก่อนที่เดือนมิถุนายน-ธันวาคมในปีนี้ จะมีวัคซีนที่ผลิตจากโรงงาน Siam Bioscience ของไทยเอง กระจายวัคซีนออกมาทุกเดือน
โดยเริ่มที่มิถุนายนที่ 6 ล้านโดส ก่อนเพิ่มเป็น 10 ล้านโดสในเดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน และเดือนธันวาคม สุดท้ายของปี ที่ 5 ล้านโดส รวมเป็นทั้งหมด 61 ล้านโดส ตลอดปี 2564
พอมาถึงต้นเดือนมิถุนายน ก็มีข่าวให้ลุ้นเรื่องความล่าช้าของวัคซีน ซึ่งโรงงาน Siam Bioscience ก็ได้ผลิตทันส่งมอบงวดแรกอย่างเฉียดฉิวดีเดย์วันฉีดวัคซีนทั่วประเทศในวันที่ 7 มิถุนายน 64 โดยในวันนั้นเอง นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงหลักการกระจายวัคซีน COVID-19 ว่า
ขณะนี้มีวัคซีนจำนวน 3.54 ล้านโดส แบ่งเป็นแอสตร้าเซนเนก้า 2.04 ล้านโดส (จากโรงงาน SBS 1.8 ล้านโดส และจากโรงงานของเกาหลีใต้ 2.4 แสนโดส) และซิโนแวค 1.5 ล้านโดส ซึ่งจะมีวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าที่ทยอยส่งมอบไปทุกจังหวัดอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ โดยสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนนี้จะมีวัคซีน 8.4 แสนโดส และสัปดาห์ที่ 4 อีก 2.58 ล้านโดส ภาพรวมตลอดเดือนจะมีวัคซีนกว่า 6 ล้านโดส เป็นไปตามแผนที่ ศบค. กำหนด และคาดว่าในเดือนมิถุนายนนี้ จะฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้ 10 ล้านโดส
เท่ากับว่าเดือนนี้เราจะมีแอสตร้าเซนเนก้า 5.46 ล้านโดส ซึ่งน้อยกว่า 6 ล้านโดสที่รัฐบาลเคยวางแผนไว้เมื่อต้นปี
ซึ่งนอกเหนือจากแผนนี้แล้ว เรายังพบว่า จะมีการส่งวัคซีนซิโนแวคจากจีนอีก 1.5 ล้านโดสในเดือนมิถุนายน แต่จำนวนนั้นยังไม่ถูกนำมารวมในแผนที่กรมควบคุมโรคประกาศด้วย
แผนกระจายวัคซีน เดือนมิถุนายน 64 ล่าสุด
(จากการแถลงของกรมควบคุมโรค, กทม. และ ศบค.ชุดเล็ก วันที่ 14 มิถุนายน 64)
ผ่านไปไม่ถึงสัปดาห์ หน่วยงาน และระบบต่างๆ กลับออกประกาศเลื่อนการฉีดวัคซีนในวันที่ 14-20 มิถุนายน เนื่องจากวัคซีนไม่พอฉีด รวมไปถึงข่าวการขอเลื่อนส่งมอบวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าในสัปดาห์นี้ ซึ่งหลังจากทำประชาชนสับสน งงงวย อธิบดีกรมควบคุมโรค, ผู้ว่า กทม. และ เลขา สมช.หรือ ศบค.ชุดเล็ก ก็ได้ออกประกาศแผนจัดสรรวัคซีน ซึ่งเราพบว่า ไม่เหมือนที่เคยคุยกันไว้
โดยแผนนี้นั้น แบ่งเป็นงวดแรก วันที่ 7-20 มิถุนายน มีวัคซีนจำนวน 3 ล้านโดส แบ่งเป็นซิโนแวค 1 ล้านโดส และแอสตร้าเซนเนก้า 2 ล้านโดส กระจายไปดังนี้
– กทม. 5 แสนโดส (แอสตร้าเซนเนก้า 3.5 แสนโดส และซิโนแวค 1.5 แสนโดส)
– สำนักงานประกันสังคม 3 แสนโดส
– กลุ่มมหาวิทยาลัย 11 แห่ง (ทปอ.) 1.5 แสนโดส
– กลุ่มหมอพร้อม 76 จังหวัด 1.1 ล้านโดส
– จุดฉีดต่างๆ องค์กรภาครัฐ เช่น ขนส่ง ทหาร ตำรวจ และครู 1 แสนโดส และควบคุมการระบาด 5 หมื่นโดส
ขณะที่งวดที่ 2 วันที่ 21 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม จะมีวัคซีนจำนวน 3.5 ล้านโดส ประกอบด้วย ซิโนแวค 2 ล้านโดส และแอสตร้าเซนเนก้า 1.5 ล้านโดส
เท่ากับว่าเดือนมิถุนายนนี้ จะมีการส่งมอบแอสตร้าเซนเนก้าเพียง 3.5 ล้านโดสเท่านั้น ซึ่งไม่เป็นไปตามแผน 6 ล้านโดสที่รัฐบาลประกาศตั้งแต่ต้นปี หรือ ก็ไม่ตรงตาม 5.46 ล้านโดส ที่กรมควบคุมโรคประกาศเมื่อวันที่ 7 มิถุนายนด้วย แม้ว่าจะเอาวัคซีนซิโนแวคที่เข้ามาเพิ่มในแผนอีก 1.5 ล้านโดส จนยังพูดได้ว่ายอดวัคซีนทั้งเดือนนั้นมีมากกว่า 6 ล้านโดสก็ตาม
สำหรับแผนการกระจายแอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดสตลอดทั้งปี ที่ในเดือนแรกก็ดูจะไม่ตรงตามเป้าแล้วนั้น วันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.โอภาสก็แถลงว่า ตัวเลข 61 ล้านโดส ไม่ใช่ตัวเลขที่บริษัทฯ จัดส่งให้กับเรา แต่เป็นเพียงเป็นศักยภาพฉีดที่รัฐบาลวางไว้เอง
“ดังนั้น จึงไม่ใช่ตัวเลขที่บริษัทฯ จะจัดส่งให้กับเรา เพราะขณะนี้วัคซีนไม่ใช่สินค้าทั่วไปที่มีอยู่แล้วและไปซื้อมาได้เลย นอกจากนั้น โรงงานผลิต ตั้งอยู่ในประเทศเรา จึงเป็นการผลิตไป ใช้ไป ทยอยออกมา และยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่มีการส่งออกวัคซีนไปต่างประเทศ โรงงานผลิตส่งมอบให้บริษัทฯ เท่าไร เขาก็ส่งมอบมาให้เราทั้งหมด ข้อมูลนี้ ทาง ศบค.เองก็รับทราบมาโดยตลอด ดังนั้น เมื่อมีการตรวจรับวัคซีนแต่ละล็อต กรมควบคุมโรคก็กระจายออกไปตามคำสั่ง ศบค.”
ตั้งแต่เรามีแผนตั้งโรงงานการผลิตวัคซีนเอง ไปถึงการประกาศแผนต่างๆ ของรัฐบาล สิ่งหนึ่งที่ภาคประชาชนเรียกร้องมาตลอดคือ สัญญาการส่งมอบวัคซีนระหว่างโรงงาน SBS และรัฐบาลไทย ซึ่งที่ผ่านมานั้นยังไม่เคยมีการเปิดเผยสัญญาที่ชัดเจน แม้ว่าจะมี ส.ส.อย่าง วิโรจน์ ลักขณาดิศรที่ยื่นขอข้อมูลเกี่ยวกับการจัดหาวัคซีนไปยังสถาบันวัคซีน แต่ก็ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลสัญญาต่างๆ ที่ชัดเจนให้แก่ประชาชนออกมา
นอกจากแผนวัคซีนที่เปลี่ยนไป เปลี่ยนมาตามสถานการณ์ที่คาดเดาไม่ได้แล้วนั้น เราคงต้องติดตามความคืบหน้าของข้อมูลสัญญาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ที่เป็นวัคซีนหลักของไทย กับรัฐบาลว่า มีรายละเอียดอย่างไร จะตรงตามแผนที่รัฐบาลตั้งไหม เพื่อที่เราจะได้เห็นความชัดเจน และโปร่งใสในเรื่องวัคซีนร่วมกัน
อ้างอิงจาก
facebook.com/informationcovid19
facebook.com/informationcovid19