ไม่ใช่ครั้งแรกที่ข่าวการลงนามเข้าร่วมข้อตกลง ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ของไทยจะถูกพูดถึงกันมาก จน #NOCPTPP ไต่ขึ้นเป็นอันดับหนึ่งในทวิตเตอร์และมียอดแชร์มากกว่าหนึ่งล้านครั้ง
โดยเมื่อปีที่แล้วเอง กระแส #NOCPTPP ก็เคยพุ่งไปแตะล้านทวิตมาแล้วเช่นกัน ในช่วงกลางปี 2563 (ประมาณเดือนพฤษภาคม)
อธิบายกันอย่างง่ายๆ CPTPP ความตกลงหุ้นส่วนทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งในขณะนี้ประกอบไปด้วย 11 ประเทศสมาชิก อาทิ ญี่ปุ่น, จีน, แคนาดา, ฟิลลิปปินส์ และเวียดนาม โดยเป็นการตกลงร่วมกันทางเศรษฐของประเทศสมาชิกกิจทั้งในแง่ การจัดเก็บภาษี, การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างนักลงทุนกับรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม การจะจรดลายเซ็นลงนามในข้อตกลง CPTPP พ่วงมาด้วยข้อกำหนดว่าต้องลงนามในอนุสัญญา UPOV 1991 ซึ่งมีรายละเอียดส่งผลถึง การคุ้มครองพันธุ์พืช, สิทธิบัตรทางยา และอีกมากมายหลายประเด็น
The MATTER ได้ติดต่อหา วิฑูรย์ เลี่ยมจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือ BIOTHAI ในฐานะที่เป็นภาคประชาสังคมกลุ่มแรกๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านข้อตกลงดังกล่าว เขามองอย่างไรต่อข้อตกลงฉบับนี้ ทำไมถึงต้องคัดค้าน ใครได้ประโยชน์ และมันสำคัญกับประชาชนคนไทยอย่างไรบ้าง
และที่ว่าอาหารจะแพง ชาวนาจะลำบากมันจริงหรือเปล่า ?
ข้อตกลง CPTPP กลับมาเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันในสังคมอีกครั้ง ในสายตาคุณมองว่าหากไทยเข้าร่วมข้อตกลงนี้จะมีผลกระทบอย่างไรบ้างต่อเกษตรกร
เงื่อนไขของการเข้าร่วมข้อตกลง CPTPP คือ ประเทศไทยจะต้องเข้าเป็นสมาชิกภาคีอนุสัญญา UPOV 1991 ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยต้องแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 เสียใหม่ ให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคี
ผลกระทบของอนุสัญญานี้ เรื่องแรกคือ ด้านการเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อ โดยปกติแล้วเมื่อเกษตรกรไปซื้อพันธุ์พืชไม่ว่าจะเป็นพันธุ์พืชใหม่หรือเก่า พวกเขามีสิทธินำเมล็ดไปปลูกต่อ แต่ภายใต้ CPTPP และอนุสัญญา UPOV 1991 หากเกษตรกรนำเมล็ดพันธุ์ไปปลูกต่อจะถือว่าผิดกฎหมาย เป็นการบังคับให้เกษตรกรซื้อพันธุ์พืชใหม่ในทุกฤดูกาลผลิต ซึ่งกระทบต่อวิถีชีวิต และต้นทุนของเกษตรกร
เรื่องที่สอง ภายใต้อนุสัญญานี้ระบุว่าหากพันธุ์พืชของเกษตรกรกลายพันธุ์ หรือมีการผสมโดยบังเอิญจนเกิดสายพันธุ์ใหม่ แต่ยังคงลักษณะสำคัญบางอย่างของสายพันธุ์เดิมที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับบริษัทเอกชน พันธุ์พืชใหม่นั้นจะถือว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทเมล็ดพันธุ์ ไม่ใช่เกษตรกร
ยกตัวอย่างกรณีประเทศไทย ขนุน, ทุเรียน หรือมะม่วงนับร้อยๆ สายพันธุ์ เกิดจากที่เกษตรกรนำเมล็ดพันธุ์ไปปลูกต่อ แล้วเกิดกลายพันธุ์จนเป็นพันธุ์ดี ซึ่งในเวลาต่อมาก็ถูกนำมาแจกจ่ายหรือไม่ก็จำหน่าย แต่หากเข้าร่วมในข้อตกลงและอนุสัญญานี้ การกระทำดังกล่าวจะมีปัญหาทันที
เรื่องที่สาม ภายใต้กฎหมายเดิมเจ้าของพันธุ์พืชที่ขอขึ้นทะเบียน มีสิทธิในส่วนที่ขยายพันธุ์เท่านั้น เช่น กิ่ง เมล็ดพันธุ์ แต่ภายใต้อนุสัญญา UPOV 1991 ได้ขยายสิทธิให้กับเอกชนมากขึ้นไปถึงผลผลิต คือในกรณีที่เราเก็บพันธุ์ไปปลูกต่อ หรือคัดเลือกจากแปลง ผลผลิตดังกล่าวยังถือเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทเอกชนที่ได้ขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชนั้นๆ นอกจากนี้ หากนำผลผลิตไปแปรรูป บริษัทเอกชนก็ยังคงมีกรรมสิทธิ์เหนือผลิตภัณฑ์แปรรูปนั้นด้วยเช่นกัน เช่น กรณีผลิตน้ำมันจากกัญชาด้วยสายพันธุ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ต่อไปจะไม่สามารถทำได้ถ้าไม่ได้จ่ายค่ากรรมสิทธิ์ของพันธุ์พืชนั้นๆ
อีกเรื่องหนึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ และถูกเขียนอย่างชัดเจนในรายงานการศึกษาของ กมธ. วิสามัญสภาผู้แทนราษฎร ระบุไว้ว่าภายใต้กฎหมายไทยและหลักการกฎหมายระหว่างประเทศ หากใครนำพืชพื้นเมืองไปพัฒนาเป็นสายพันธุ์พืชใหม่ สามารถขอรับการคุ้มครองขึ้นทะเบียนผูกขาดกับพันธุ์พืชนั้นได้ แต่เงื่อนไขเหล่านี้ถือว่าขัดกับอนุสัญญา UPOV 1991 และถ้าตกลงเข้าร่วมลงนาม ก็ต้องมีการแก้ไขกฎหมายกันใหม่อีก
การเข้าร่วม CPTPP จึงเปรียบเสมือนเป็นการเปิดประตูให้แก่โจรสลัดชีวภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่เตือนกันมานานและมีการโต้เถียงมากมาย และท้ายที่สุดผลกระทบก็เป็นจริงตามที่ได้กล่าวไว้
อยากให้ขยายความสักเล็กน้อยกับคำว่า ‘โจรสลัดชีวภาพ’
คำว่า ‘โจรสลัดชีวภาพ’ หมายถึง การที่เอกชน หรือประเทศใดประเทศหนึ่งเข้ามาหยิบฉวย ใช้ประโยชน์จากเมล็ดพันธุ์พืช รวมถึงหน่วยพันธุกรรมของประเทศอื่น โดยไม่ได้ขออนุญาตและไม่แบ่งปันผลประโยชน์ ซึ่งขัดกับกติการะหว่างประเทศที่วางไว้
โดยที่ใช้คำว่า ‘โจรสลัด’ เพราะว่าคุณเอาเมล็ดพันธุ์จากประเทศอื่นไปจดสิทธิบัตรครอบครองราวกับว่าเป็นเจ้าของ เพราะฉะนั้นการเข้าร่วมในโครงการ CPTPP เป็นเหมือนการเปิดทางให้โจรสลัดชีวภาพนั่นเอง
หมายถึงว่าการเข้าร่วมข้อตกลงนี้ จะส่งผลกระทบต่ออาหารการกินหรือความมั่นคงทางด้านอาหารใช่ไหม
ใช่ครับ มันมีประเด็นอยู่ 2-3 เรื่อง ในแง่ที่ชัดเจนที่สุดคือ ราคาเมล็ดพันธุ์ โดยจากโครงการวิจัยของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ การเข้าร่วมใน CPTPP นอกจากจะทำลายความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว ยังอาจส่งผลให้ราคาพันธุ์พืชสูงขึ้นถึง 2-6 เท่าตัว สอดคล้องกับงานวิจัยในประเทศฟิลิปปินส์ที่พบว่าราคาเมล็ดพันธุ์อาจจะสูงขึ้นถึง 4-6 เท่าตัว
กล่าวง่ายๆ คือ เมื่อเมล็ดพันธุ์มีราคาสูงขึ้น จากเดิมที่เคยปลูกข้าวลงทุน 1,000 บาท อาจต้องกลายเป็น 4,000 บาท และหากเมล็ดพันธุ์มีราคาสูงขึ้น ชาวนาก็ต้องลงทุนเพิ่มขึ้น และแน่นอนว่าส่งผลไปถึงโต๊ะอาหารของผู้บริโภคเช่นกัน
ในแง่ที่สอง ความหลากหลายของอาหาร ต้องเข้าใจว่าโดยปกติการปรับปรุงพันธุ์พืชเกิดขึ้นเป็นประจำอยู่แล้ว ไม่ว่าบังเอิญหรือตั้งใจ ซึ่งผลผลิตที่ได้ ในทางเดียวกันจะสร้างทางเลือกให้กับผู้บริโภคมากขึ้น แต่หากเข้าร่วมกับโครงการ CPTPP จะทำให้มีผู้ผลิตเพียงไม่กี่รายที่กรรมสิทธิ์เหนือพันธุ์พืชนั้นๆ
ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นโอกาสให้กับเกษตรกรในหลายประเทศ เพราะขณะที่การผลิตเชิงเดี่ยว เช่น อ้อยหรือยางพารา กำลังถดถอย พืชในเขตเมืองร้อนที่เกิดจากการปรับปรุงพันธุ์ของชาวบ้านได้สร้างความหลากหลายทางด้านสายพันธุ์ และอาจจะเป็นอนาคตของภาคการส่งออกให้กับประเทศ ซึ่งไทยเองเมื่อปี 2563 เราส่งออกผลไม้เป็นอันดับหนึ่งของประเทศนะครับ
ในแง่ที่สาม ภายใต้วิกฤติ COVID-19 ทั่วโลก ระบบโลจิสติกส์หยุดชะงักลงในหลายแห่ง ทำให้ประเทศที่ต้องนำเข้าเมล็ดพันธุ์จากต่างประเทศ ได้รับผลกระทบหนักกว่าประเทศที่สามารถรักษาสายพันธุ์พืชของตัวเองไว้ได้
จึงเป็นสิ่งที่ต้องทบทวนกันใหม่ถึงโครงการว่า ควรจะส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร ไม่ใช่ทำลายอย่างที่เป็นอยู่
อีกปัญหาที่กล่าวถึงกันมาก คือ ยารักษาโรคจะแพงขึ้น เกี่ยวข้องกับตัวสัญญานี้
ตัวความตกลงนี้มีเงื่อนไขสำคัญเกี่ยวกับสิทธิบัตรยาคือ มาตรการใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (Compulsory Licensing) คือโดยปกติ สิทธิบัตรจะให้อำนาจกับบริษัทยาในฐานะผู้วิจัยอยู่แล้ว แต่ในสถานการณ์โรคระบาดเช่นตอนนี้ หรือกรณีมีการผูกขาดเรื่องยา หลายๆประเทศสามารถใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรได้ เช่น ในบราซิลมีการใช้ CL เพื่อผลิตวัคซีน COVID-19 ในราคาที่เหมาะสม
แต่ในเงื่อนไขที่ระบุไว้ใน CPTPP จะทำให้การตัดสินใจทำ CL เป็นไปได้ยากมากและเสี่ยงที่จะโดนฟ้องร้อง ซึ่งหลายๆ ส่วนก็ประเมินว่าองค์กรเภสัชกรรมอาจได้รับผลกระทบในการผลิตยา ระบบสาธารณสุขจะต้องซื้อยาที่มีราคาแพงขึ้นกว่าเดิม และผู้บริโภคอาจได้รับผลกระทบคิดเป็นมูลค่าหลายแสนล้านบาทต่อปี และเมื่อดูสภาวะปัจจุบันที่ยาก็เข้าถึงได้ยากอยู่แล้ว ข้อตกลงนี้ก็ยากจะยอมรับ
เห็นว่ามีการพูดถึงกันว่า ข้อตกลงดังกล่าวจะส่งผลกับราคาค่าน้ำและไฟด้วย
ตรงนี้ผมไม่รู้เหมือนกัน ยังมองความเชื่อมโยงไม่ออกว่าเป็นอย่างไร
นอกจากที่กล่าวมา ยังมีผลกระทบด้านอื่นอีกหรือไม่เกี่ยวกับอนุสัญญานี้
อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมากและถูกบรรจุไว้ในรายงานของ กมธ. คือผลกระทบต่อภาคเกษตร ยกตัวอย่างประเทศสมาชิก CPTPP ที่เป็นยักษ์ใหญ่ของการผลิตเนื้อหมูคือ แคนาดา เขามีต้นทุนในการเลี้ยงหมูอยู่ที่ประมาณ 30 บาท ขณะที่ไทยมีต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 60 บาท ซึ่งเมื่อมีการเปิดเสรีทางการค้า เกษตรกรที่เลี้ยงหมูภายในประเทศกว่า 150,000 ราย อาจต้องปิดกิจการลง เพราะไม่สามารถแข่งขันกับเนื้อหมูราคาถูกจากแคนาดาที่ทะลักเข้ามาได้
ผู้บริโภคอาจมองว่าตัวเองจะได้บริโภคเนื้อหมูที่มีราคาต่ำลง แต่สิ่งที่ควรระวังมีเช่นกัน เพราะประเทศแคนนาดาไม่ได้บริโภคเครื่องในหมู ดังนั้น โรงงานจึงมีการใช้สารเร่งเนื้อแดง ซึ่งสารนี้จะถูกสะสมมากที่สุดบริเวณเครื่องใน เช่นนั้นการได้มาของเนื้อสัตว์ราคาถูกอาจจะต้องแลกด้วยอันตรายต่อสุขภาพผู้บริโภค
และหากเรามองว่าอาจจะได้สินค้าราคาถูกลงจากการเข้าร่วม CPTPP อันนี้ลองดูกรณีในเม็กซิโกที่ตัดสินใจลงนามในข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) จนมีการคาดการณ์ว่าราคาข้าวโพดจะถูกลง ซึ่งก็จริงแต่ในช่วงแรกเท่านั้น หลังจากนั้นเมื่อเกษตรกรไม่สามารถพึ่งพาตัวเองในการแข่งขันได้ เกิดการล้มละลาย และทำให้ราคาข้าวโพดสูงขึ้นในระยะยาว
ย้อนกลับไปปัญหาด้านปศุสัตว์ ปัญหาดังกล่าวยังเชื่อมโยงกับภารคเกษตรอื่นด้วย เช่น เกษตรกรที่ปลูกมันสัมปะหลังหรือข้าวโพดสำหรับเลี้ยงสัตว์ ราคาผลผลิตของพวกเขาก็จะต่ำลงหรือต้องเลิกกิจการไปเลย เพราะการปิดตัวของผู้ผลิตเนื้อสัตว์
ในอีกมุมหนึ่ง การเข้าร่วมข้อตกลง CPTPP จะให้ประโยชน์กับประเทศไทยอย่างไรบ้างไหม
ผมมองว่าฝ่ายที่ได้ประโยชน์คือกลุ่มอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์เพียงไม่กี่แห่ง เพราะข้อตกลงดังกล่าวขยายอำนาจผูกขาดของกลุ่มธุรกิจเมล็ดพันธุ์ ซึ่งในอนาคตเอกชนรายใหญ่เหล่านี้อาจขยายอาณาจักรไปผูกขาดสายพันธุ์พืชชนิดอื่น ที่ยังเป็นของชาวบ้าน เช่น ข้าว และจะเป็นการทำลายทางเลือกของชาวบ้านในอนาคต
นอกจากนี้สินค้าบางรายการอาจจะได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมโครงการนี้ เช่น เนื้อไก่ ซึ่งบางบริษัทของไทยก็ถือว่าเป็นผู้ผลิตใหญ่ลำดับต้นของโลก อาจจะเป็นการเปิดตลาดให้กว้างขวางมากขึ้นสำหรับเขา
มีคนมองว่าหากประเทศไทยไม่เข้าร่วม CPTPP เราอาจจะค้าขายกับใครไม่ได้จริงหรือไม่
ปัจจุบันมีเพียง แคนนาดากับเม็กซิโกเท่านั้นที่ไทยยังไม่ได้ทำเขตการค้าเสรีด้วย ซึ่งหากลงนามไทยอาจมีมูลค่าการค้าเพิ่มประมาณหมื่นกว่าล้านบาท แต่อย่างไรก็ตามเมื่อพูดถึงเรื่องของยา และพันธุ์พืชอาจจะมีผลกระทบมากกว่าถึงแสนล้าน ดังนั้น ผมมองว่ามันไม่คุ้มค่าและทำให้มีคนต้องถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
ทางเลือกหนึ่งสำหรับการค้าขาย ก็คือ การเจรจาทางการค้าระหว่างประเทศกับประเทศที่ต้องการเจรจาด้วย เหมือนที่เคยทำกับ ชิลี หรือ เปรู น่าจะดีเสียกว่าจะใช้มาตรฐานระหว่างประเทศที่เอื้อต่อบริษัทเอกชนเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น
BioThai เป็นกลุ่มแรกๆที่พูดถึงประเด็นนี้ คิดว่าสังคมไทยมีความเข้าใจกับเรื่องนี้มากขึ้นหรือยัง
มากขึ้นเลยครับ ผมทราบจากน้องที่เล่นทวิตเตอร์ว่าตอนนี้มีการรีทวิตเกินล้านไปแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ทั้งสิ้น มีการวิเคราะห์จากมุมคนรุ่นใหม่เองในประเด็นความมั่นคงทางอาหาร เรื่องสิทธิในการเข้าถึงระบอบสาธารณสุข หรือการหลุดพ้นจากกับดักทางการค้าแบบเกษตรกรรมแบบเก่า รวมถึงทางด้านที่ประชุม กมธ. ผู้ที่ไปให้ข้อมูลล้วนแต่ต่อต้าน CPTPP ทั้งสิ้น
ผมชี้แจงอย่างนี้นะครับว่าที่รัฐบาลไม่กล้าเผยมติในที่ประชุม ก็เนื่องด้วยพลังของประชาชน ความตื่นรู้ของประชาชนส่งสารไปถึงยังรัฐบาล หากไม่มีการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่กับโครงการนี้แล้ว รัฐบาลคงเดินหน้าไปตั้งแต่ปีสองปีที่แล้ว
ดังนั้น น่าจับตามองอย่างยิ่งว่ารัฐบาลจะหาญกล้าทำลายอนาคตของประเทศหรือเปล่า เพราะไม่ใช่แค่คนรุ่นใหม่เท่านั้น แต่รวมถึงเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบต่างออกมาส่งสารว่าพวกเขาก็ไม่ได้ต้องการสิ่งนี้ และเมื่อความเห็นจากภาครัฐ เอกชน NGO มากองรวมอยู่ตรงหน้าแล้ว ผมคิดว่าเขาก็ต้องยอมจำนน
แต่นี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีความพยายามผลักดัน คุณคิดว่าท้ายที่สุดจะมีการลงนามในข้อตกลง CPTPP และอนุสัญญา UPOV 1991 นี้หรือไม่
อันที่จริงเคยมีความพยายามในการผลักดันเรื่องนี้ตั้งแต่ก่อนที่จะมี CPTPP ด้วยซ้ำ อย่างสมัย คสช. มี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีการฉีกกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช และเขียนขึ้นมาใหม่โดยอิงกับอนุสัญญา UPOV 1991
และผมเชื่อว่าโครงการและนโยบายของรัฐบาลนี้หลายๆ นโยบายเอื้อต่อบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ดังนั้น เรื่องนี้ท้าทายรัฐบาลมาก เพราะมันจะกระทบกับรากฐานสำคัญของประเทศอย่างเกษตรกร ผู้บริโภค รวมถึงคนรุ่นใหม่ที่ตระหนักถึงการสร้างอนาคตจากฐานความหลากหลาย
แต่เราคงคาดการณ์อะไรไม่ได้ครับ เพราะรัฐบาลนี้ทำอะไรที่เหนือความคาดหมายมาโดยตลอด