Back to School! สัปดาห์นี้ หลายๆ โรงเรียนเริ่มเปิดเทอมเปิดปีการศึกษาใหม่กันแล้ว หลายคนก็ได้ไปช็อปซื้อชุดนักเรียน เครื่องเขียนใหม่ๆ รวมไปถึงหนังสือเรียนที่เมื่อเปลี่ยนชั้น ก็ต้องมีการเปลี่ยนเล่มใหม่ด้วย
The MATTER มาสำรวจหนังสือเรียน สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมของน้องๆ ประถม ชั้นป.1-ป.6 ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ว่าในแบบเรียนเหล่านี้ สอนและพูดถึงบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยคนใดบ้าง บทบาทของพวกเขาคืออะไร อยู่ในยุคไหน รวมถึงพูดถึงในบริบทไหน
หนังสือเรียนพูดถึงใครกันบ้าง ?
จากการสำรวจหนังสือเรียนสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมของนักเรียนชั้น ป.1-ป.6 พบว่า หนังสือทั้ง 6 เล่มได้พูดถึงบุคคลในประวัติศาสตร์ไทยไว้ทั้งหมด35 คน ได้แก่
- พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช บรมนาถบพมิตร
- เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หนูพร้อม ณ นคร)
- พระศรีพนมมาศ
- ท้าวสุรนารี (คุณหญิงโม)
- พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
- พระสุทรโวหาร (ภู่)
- สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร)
- สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒมโน)
- สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)
- สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
- พระครูพิทักษ์นันทคุณ
- รองศาสตราจารย์หวน พินธุพันธ์
- นายเคน ดาเหลา
- นายถัด พรหมมาณพ
- พ่อขุนศรีอินทราทิตย์
- สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1
- พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
- สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
- พระยาพิชัยดาบหัก
- ท้าวเทพกระษัตรี
- ท้าวศรีสุนทร
- สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
- สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
- พ่อขุนรามคำแหง
- พระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย)
- สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)
- อาจารย์เสถียร โพธินันทะ
- พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
- พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
- สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
- สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
- ชาวบ้านบางระจัน
- สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
- พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
- สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท
โดยจากแบบเรียนทั้ง 6 เล่ม มีชื่อของพระเจ้าตากสิน ปรากฏขึ้น บ่อยที่สุด คือ 3 ครั้งในขณะที่ ในหลวง ร.1, ร.5 ,ร.9, พ่อขุนรามคำแหง, สมเด็จพระนเรศวร, สมเด็จพระรามาธิบดีที่1 และ พระยาพิชัยดาบหัก ปรากฏอยู่ 2 ครั้ง ส่วนบุคคลที่เหลือ ปรากฎคนละ 1 ครั้ง
ซึ่งแบบเรียน ได้แบ่งหมวดต่างๆ ในการพูดถึงบุคคลสำคัญไว้หลากหลาย เช่น ชาวพุทธตัวอย่าง, วีรบุรุษ-วีรสตรี, บุคคลสำคัญ, บุคคลสำคัญในท้องถิ่น,บุคคลที่มีผลงานดีเด่นด้านวรรณกรรม, กษัตริย์องค์สำคัญของไทย และยังมีในรูปแบบของการแบ่งยุคสมัย อย่าง อาณาจักรสุโขทัย, อาณาจักรอยุธยา, สมัยธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์ด้วย
เพศ
เมื่อมาดูถึงเรื่องเพศของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยที่ถูกพูดถึงในแบบเรียน จะพบว่า ในจำนวนทั้งหมด 35คน สามารถแบ่งเป็นเพศชายได้ ทั้งหมด 31 คน หรือ 88.6%และหญิง 4 คน หรือเพียง 11.4% เท่านั้น
บทบาท
มาถึงบทบาทของบุคคลสำคัญในแบบเรียน โดยส่วนใหญ่พบว่า มีการพูดถึงบุคคลในบทบาทกษัตริย์มากที่สุด คือ15 พระองค์ หรือคิดเป็น 40.5% รองลงมาคือขุนนาง8 คน คิดเป็น 21.6%ถัดมาคือพระสงฆ์ 6 องค์ คิดเป็น 16.2% และเชื้อพระวงศ์3 พระองค์ ที่ 8.1%
ส่วนอีก 5 บทบาทที่เหลือ คือ ชาวบ้าน, หมอลำ, นักการศึกษา, นักการเมือง และ นักวิชาการด้านพระพุทธศาสนา ถูกพูดถึง 1 คน และกลุ่ม (ชาวบ้านบางระจัน)คิดเป็น 2.7%
โดยบทบาทเหล่านี้ มีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ที่มี 2 บทบาทคือ เชื้อพระวงศ์ และพระสงฆ์ และสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ที่เป็นเชื้อพระวงศ์ และขุนนาง
ยุคสมัย
ยุคสมัยของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ พบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในยุครัตนโกสินทร์ ทั้งหมด 23 คน รองลงมาคือสมัยอยุธยา 6 คน สมัยสุโขทัย 3 คน และน้อยที่สุดคือ สมัยกรุงธนบุรี 2 คน
สรุปแล้วจากข้อมูลบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย จากแบบเรียนวิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เน้นการพูดถึงบุคคลสำคัญที่ดำรงบทบาทพระมหากษัตริย์ รวมถึงขุนนาง และพระสงฆ์ ทั้งบุคคลส่วนใหญ่ที่ถูกพูดถึงยังเป็นเพศชาย มากกว่าเพศหญิงถึงกว่า 8เท่า และบุคคลส่วนใหญ่ยังถูกพูดถึงในบริบทของศาสนาพุทธด้วย
Illustration by Waragorn Keeranan