ข่าวผู้สูงอายุหลายคนถูกเรียกคืนเงินเบี้ยยังชีพ กลายเป็นประเด็นร้อนที่ส่งผลกระทบถึงผู้คนจำนวนมาก โดยจำนวนเงินที่ถูกเรียกคืนนั้น มีตั้งแต่หลักหมื่นไปถึงหลักแสน จนนำไปสู่คำถามว่า เกิดอะไรขึ้น ทำไมผู้สูงอายุถึงถูกเรียกคืนเงินเบี้ยยังชีพกันนะ?
ประเด็นของเรื่องนี้ อาจต้องเริ่มเล่าจาก ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2552 ซึ่งประกาศใช้ไปเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2552 หรือก็คือ สิบกว่าปีก่อน โดยเนื้อหาของระเบียบฉบับนี้ระบุว่า
ผู้ที่มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุนั้นจะต้อง “ไม่เป็นผู้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น ผู้รับเงินบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ หรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกัน …”
ทีนี้ พอกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังเห็นระเบียบฉบับนี้ จึงต้องเรียกคืนเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ย้อนไปถึงปี 2552 กลายเป็นว่า หลายคนถูกต้องทวงเงินคืนไปหลายหมื่นหลายแสนบาทนั่นเอง
ปัญหาหลักของเรื่องนี้ การที่ระบบฐานข้อมูลในหน่วยงานราชการไม่เชื่อมโยงกัน ระหว่างกระทรวงการคลัง และกระทรวงมหาดไทย ทำให้ไม่สามารถคัดผู้ที่ได้รับสิทธิซ้ำซ้อนออกได้ จนต้องมาตามเรียกเงินคืนจากผู้สูงอายุจำนวนมากเช่นนี้แทน
ตอนนี้ มีผู้สูงอายุอย่างน้อย 15,000 กว่ารายที่ถูกเรียกคืนเบี้ยยังชีพ โดยหลายกรณีเป็นการรับสิทธิทับซ้อนกับเงินบำนาญของทหาร-ตำรวจ เช่น กรณีของหญิงในจังหวัดบุรีรัมย์ที่ถูกเรียกเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุคืน 10 ปี เป็นเงิน 84,000 บาท จากที่ได้รับบำนาญกรณีบุตรชายที่เป็นทหารเสียชีวิต หรือกรณีของหญิง รวมถึงอีกหลายกรณีที่รับเงินบำนาญจากญาติที่เป็นทหารและเสียชีวิต
แต่หากอ้างอิงตามประกาศฉบับนี้ หมายความว่า ผู้สูงอายุที่ลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพก่อนหน้าที่ประกาศจะบังคับใช้ แล้วได้รับสิทธิหรือสวัสดิการอื่น ก็ไม่ต้องคืนเงินเบี้ยยังชีพ
ส่วนผู้ที่ลงทะเบียนหลังจากระเบียบประกาศบังคับใช้และเป็นผู้ที่ได้สวัสดิการหรือสิทธินั้น ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความเห็นเอาไว้ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาวางบรรทัดฐานไว้แล้วว่า เป็นเรื่องของ ‘ลาภมิควรได้’ ซึ่งหลักตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 412 หากเป็นการรับเงินไปโดยสุจริต ถ้าใช้เงินนั้นหมดไปแล้วก็ไม่ต้องคืนเงินนั้น
นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตที่น่าจับตา โดย อ.ปริญญาตั้งคำถามว่า ระเบียบดังกล่าวออกมาตั้งแต่ปี 2552 ทำไมจึงเพิ่งมาทวง รวมถึงประเด็นที่หลายคนตั้งสงสัยว่า ทำไมถึงเรียกเงินคืนจากผู้สูงอายุ ทั้งที่ประเด็นนี้เป็นความผิดพลาดของหน่วยงานของรัฐ แต่การเรียกคืนนี้กับกลายเป็นการผลักภาระให้ประชาชนแทน
อย่างไรก็ตาม กระทรวงมหาดไทยระบุว่า ตอนนี้จะชะลอการเรียกคืนเงินเบี้ยยังชีพไปก่อน โดยมอบนโยบายให้องค์การบริหารการปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 7,850 แห่ง ให้พิจารณาการดำเนินการเพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับประชาชนจนกว่าจะมีข้อยุติที่แน่นอนว่าเป็นกลุ่มใดบ้าง หรือจะเปลี่ยนแปลงระเบียบอย่างไร อาจเป็นการเจรจา หรือชะลอการดำเนินการไปก่อน
นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาโครงการบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม ผ่านระบบบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม (e-social welfare) เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการจ่ายตรงเบี้ยชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการ ระหว่างกรมบัญชีกลางและกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น แต่โครงการนี้ก็เพิ่งให้ใช้เมื่อปีก่อนนี้เอง
ประเด็นยังคงต้องจับตามองกันต่อไปว่า ภาครัฐจะช่วยเหลือและเยียวยาปัญหานี้ให้กับผู้สูงอายุอย่างไร
อ้างอิงจาก