หากตามข่าวการชุมนุมในฮ่องกงเพื่อต่อต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา จะมีชุดความคิดหนึ่งในไทยที่พยายามอธิบายว่า การชุมนุมถูกทำให้เป็น ‘การเมือง’ ทั้งที่กฎหมาย ‘ส่งผู้ร้ายข้ามแดน’ ต่างหากที่เป็นปัญหา และเป็นเรื่องที่ควรทำอยู่แล้ว เพราะฮ่องกง เป็นดินแดนแห่งอาชญากรรม ทุกคนที่ ‘หนีคดี’ เดินทางไปหลบอยู่ในฮ่องกงกันหมด เพราะฮ่องกงไม่มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดน และมีกฎหมายที่ไร้น้ำยา
เอาเข้าจริง ระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของฮ่องกงดีมากนะครับ การจัดอันดับล่าสุดโดยองค์กร World Justice Project ระหว่างปี 2018-2019 ฮ่องกงอยู่ในอันดับที่ 16 ด้วยซ้ำ ดีกว่าจีนที่อยู่ที่อันดับที่ 82 และดีกว่าไทยไปหลายอันดับ
กฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนจึงไม่สามารถแยกออกจากเรื่องการเมือง แม้ว่าใครจะมองว่าต้นกำเนิดมาจากเรื่องอาชญากรรมสะเทือนขวัญก็ตามที…
ย้อนกลับไปสมัยที่ฮ่องกงอยู่ภายใต้สัญญาเช่าจากอังกฤษตั้งแต่ปี 1840-1997 นั้น เกาะเล็กๆ แห่งนี้พยายามสร้างอัตลักษณ์ใหม่ เพื่อแยกตัวเองออกจากความเป็นจีนเสมอมา ตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดก็คือ ในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ฮ่องกง (Hong Kong Museum of History) บนฝั่งเกาลูนนั้น ธีมหลักล้วนว่าด้วยการพยายามสร้างตัวเองให้เป็นที่ยอมรับ ตัดขาดจาก ‘ประวัติศาสตร์จีน’ โดยสิ้นเชิง
ในทศวรรษที่ 70s พวกเขาเปลี่ยนตัวเอง ให้เป็นศูนย์กลางทางการเงิน และธุรกิจยุคใหม่ในภูมิภาค ในเวลาเดียวกับที่จีนยังคงปฏิวัติวัฒนธรรม ทศวรรษที่ 80s ในขณะที่จีน สาละวนกับการจัดองค์กรการเมืองและควบคุมความคิดคนในชาติ ฮ่องกงกลับเป็นดินแดนที่ ‘มั่งคั่ง’ ที่สุดในภูมิภาค
ปี 1993 ระยะเวลา 4 ปีก่อนจะ ‘คืนเกาะ’ ขนาดเศรษฐกิจของฮ่องกง คิดเป็น 27% ของจีดีพีจีนทั้งประเทศ สะท้อนให้เห็นว่า ฮ่องกงยิ่งใหญ่ขนาดไหน
ปัญหาก็คือ เมื่อถึงเวลาต้อง ‘ข้ามผ่าน’ จากฮ่องกงภายใต้อังกฤษ สู่ฮ่องกงภายใต้จีนในปี 1997 ประชากร 7 ล้านคนที่นี่ ต่างก็รู้สึก ‘ลังเล’ ว่า เมื่อดินแดนที่สร้างตัวเองมาได้ขนาดนี้จะต้องถูกส่งคืนให้กับประเทศคอมมิวนิสต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก จะเกิดอะไรขึ้น
และในที่สุดแล้วคำยืนยันของผู้นำจีนอย่าง ‘เติ้ง เสี่ยวผิง’ ในปี 1979 ว่าจะไม่ ‘กลืน’ ฮ่องกงให้เป็นแบบเดียวกับจีน รวมถึงจะมีสิทธิเสรีภาพเหมือนเดิมทุกประการ โดยอยู่ภายใต้คำขวัญอันสวยงามว่า ‘1 ประเทศ 2 ระบบ’ นั้น ในที่สุด ผู้นำจีนรุ่นต่อไป จะรักษาคำพูดที่ให้ไว้ได้หรือไม่
เพราะการเมืองจีนแผ่นดินใหญ่ แม้จะมีรูปแบบการปกครองที่อยู่ภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์ที่เข้มแข็ง แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีเปราะบาง ช่วง 30 ปีที่ผ่านมา มีแม้กระทั่งการ ‘รัฐประหาร’ ผู้บริหารพรรค และเกิดขึ้นทุกครั้ง เมื่อถึงวาระที่ต้องเปลี่ยนผู้นำ นโยบายการเมือง นโยบายระหว่างประเทศของจีน ก็เปลี่ยนชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ
25 ปี หลังพิธีคืนเกาะ จีนไม่ใช่จีนเดิมอีกต่อไป แต่เป็นระบอบคอมมิวนิสต์ที่สมาทานกับทุนนิยมจนเจริญงอกงาม ในทางเศรษฐกิจ ฮ่องกงแบบ 1 ประเทศ 2 ระบบ ไปได้สวย แต่ในทางการเมือง กลับไม่ง่าย ตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา จีนรู้สึกว่าฮ่องกงเริ่มคุมไม่ได้ กลายเป็นพื้นที่ที่บรรดา ‘หัวโจก’ ต่อต้านจีนรวมตัวกันอยู่ที่นั่น เพื่อตั้งฐานใหม่ในการต้านรัฐบาลจีน
ด้วยเหตุนี้ จีนจึงพยายามทุกวิถีทางในการครอบงำการเมืองฮ่องกง เมื่อเห็นว่าเสียงดังมากเกินไป จีนก็ ‘ปฏิรูปการเมือง’ ด้วยการเลือกเฉพาะคนที่จงรักภักดีต่อปักกิ่งเท่านั้น ที่ประชาชนจะสามารถเลือกตั้งไปเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ จนเกิดการชุมนุมใหญ่ ‘Umbrella Movement’ ในปี 2014
ด้วยเหตุนี้ เมื่อตัวเลือกผู้นำของฮ่องกงดูมีทีท่าจะเอียงซ้ายเกินไป จีนก็ส่งคนที่หัวอ่อนเข้าไปแทน แคร์รี่ แลม ผู้นำคนล่าสุดของฮ่องกงนั้น ‘เหาะมา’ ในช่วงหลัง เพราะ แจสเปอร์ ซาง ตัวเต็งอีกคน ถูกจีน ‘เปลี่ยนตัว’ เพราะเห็นว่า ซางเป็นพวกนิยมประชาธิปไตยมากเกินไป
ไม่เพียงเท่านั้น ปี 2015 ยังเกิดเหตุการณ์ประหลาด เมื่อเจ้าของหนังสือวิพากษ์จีน 5 คน หายตัวไป หนึ่งในนั้น มาโผล่ที่ไทย และไทยส่งตัวไปให้จีน ทั้งหมดถูกดำเนินคดีในข้อหาพิมพ์หนังสือโดยไม่ได้รับอนุญาต ปัญหาก็คือทั้ง 5 ถูกตัดสินด้วยกฎหมายจีน ทั้งที่หนังสือเผยแพร่ในฮ่องกง!
แม้เสรีภาพจะเป็นของแสลง แต่จีนก็พยายามกระจายความเจริญให้ฮ่องกงผ่านเขตเศรษฐกิจใหม่ Greater Bay Area
โดยให้ฮ่องกงเป็นศูนย์กลางทางการเงิน เสิ่นเจิ้นเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมไฮเทค และให้กวางตุ้งเป็นตลาดค้าปลีก-ค้าส่ง ซ้ำยังสร้างทั้งสะพานเชื่อมฮ่องกงกับมาเก๊า-จูไห่ และสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมฮ่องกง-กวางตุ้ง แม้ในเวลานี้ 22 ปีให้หลังการคืนเกาะ เศรษฐกิจฮ่องกงจะมีขนาดเหลือเพียง 2.9% เมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจของจีนก็ตาม
เหมือนเป็นการ ‘ทดสอบ’ ว่าในที่สุด หากเศรษฐกิจดี ปากท้องดี แล้วสิ่งที่เรียกว่า ‘ประชาธิปไตย’ ยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับฮ่องกงอยู่หรือไม่ เพราะในจีน ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เหมือนจะได้ข้อสรุปแล้วว่า เมื่อปากท้องไม่ได้แย่ ประชาธิปไตยก็ไม่ใช่สิ่งจำเป็นเสมอไป
กระบวนการกล่อมเกลาถูกส่งผ่านไปยังสื่อมวลชน South China Morning Post สื่อภาษาอังกฤษเก่าแก่ และน่าเชื่อถือที่สุด ถูกอาลีบาบา องค์กรธุรกิจซึ่งใกล้ชิดกับรัฐบาลจีนเทกโอเวอร์ Apple Daily หนังสือพิมพ์หัวสีเอียงซ้าย ถูกถอนโฆษณามากกว่าครึ่ง เมื่อรายงานข่าวการชุมนุมอย่างใกล้ชิด จนต้องปลดคนออกไปหลายแผนก หลังจากเอเจนซี่ที่กุมเม็ดเงินโฆษณาส่วนใหญ่ อยู่ได้ด้วย ‘ทุนจีน’
แต่แน่นอน ในดินแดนที่บอกตัวเองเสมอว่าไม่ใช่ ‘จีน’ พวกเขาไม่ได้ถูกล้างสมองง่ายขนาดนั้น เมื่อสื่อมวลชนใดก็แล้วแต่เริ่ม ‘เอียง’ ผิดมาตรฐาน ยอดขายก็ลดลงไปด้วย จนต้องกลับมาเป็นกลางเหมือนเดิม เมื่อมีการจัดอันดับเสรีภาพสื่อ โดยองค์กร Reporters Without Borders ปีล่าสุด ฮ่องกง ยังคงอยู่ลำดับที่ 73 นั่นคือยังสามารถคง ‘เสรีภาพสื่อ’’ ได้ดีติดท็อป 5 ของเอเชีย โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับจีน ซึ่งอยู่ลำดับที่ 177 (ส่วนไทย อยู่ที่ 136)[1]
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ เมื่อปี 2017 สถานีวิทยุโทรทัศน์ฮ่องกง หรือ RTHK ถูก ‘แบน’ รายการตลกล้อเลียนประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ซึ่งเดินทางเยือนฮ่องกงเป็นครั้งแรก เพื่อร่วมฉลอง 20 ปีพิธีคืนเกาะ ทั้งประชาชน ทั้งพนักงาน และผู้บริหารต่างก็รวมตัวประท้วงช่อง TVB ที่แบนรายการดังกล่าว และยืนกรานให้ผู้บริหาร ‘ขอโทษ’ จนในที่สุด TVB ก็ต้องฉายเทปนั้น และกลับมาวิพากษ์ผู้นำจีนเหมือนเดิม
ระหว่างที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเยือนฮ่องกงในปีนั้น ผมไปดูงานสื่อที่ Apple Daily ในฮ่องกงพอดี ระหว่างที่สำนักข่าวถ่ายทอดเฟซบุ๊กไลฟ์ขบวนของประธานาธิบดีจีน เพื่อนชาวจีนหลายคน กลับรู้สึกโกรธเป็นฟืนเป็นไฟที่คอมเมนต์ล้วนเต็มไปด้วยคำบริภาษประธานาธิบดีสี บ้างก็บอกว่าเป็น ‘หมีพูห์’ บ้างก็บอกว่าเป็นพวก ‘บ้าอำนาจ’
ที่น่าสนใจก็คือ เพื่อนชาวจีนหลายคนทนไม่ไหว ถึงกับต้องลุกออกด้วยอาการกระฟัดกระเฟียด ตรงกันข้ามกับเพื่อนชาวฮ่องกงที่นั่งดูอย่างสงบเสงี่ยม
ผมนั่งคุยกับเพื่อนชาวจีน ‘หัวร้อน’ นอกรอบ พวกเขายอมรับว่าโกรธที่คนฮ่องกง ไม่ให้เกียรติท่านผู้นำด้วยการคอมเมนต์แบบนั้น จนเพื่อนชาติอื่นๆ ต้องคอยปลอบว่า ไม่ว่าผู้นำประเทศไหน ถูกบรอดแคสต์ขึ้นเฟซบุ๊กไลฟ์ เป็นเรื่องปกติที่จะมีคนด่า มากกว่าคนชม
จริงอยู่ อาจมีคนฮ่องกงจำนวนหนึ่งที่ ‘โปรจีน’ แต่คนฮ่องกง โดยเฉพาะที่เกิดหลังปี 1990 ที่เติบโตหลังคืนเกาะ ซึ่งเป็นผู้ชุมนุมหลัก ตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา พวกเขายิ่ง ‘ไม่อิน’ กับการถูกบังคับให้ต้องเป็นแบบที่จีนอยากให้เป็น โดยที่เสียงของพวกเขาไม่มีความหมายอะไร
นอกจากนี้ เท่าที่ผมรู้จักคนจีนรุ่นราวคราวเดียวกัน พวกเขากลับ ‘เห็นใจ’ คนฮ่องกง มากขึ้นเสียอีก ซ้ำยังไม่เห็นด้วยว่าทำไมจีนต้องไปบังคับอะไรฮ่องกงมากมาย
เมื่อไม่ได้มีจุดใดร่วมกัน ซ้ำยังใช้อำนาจแทรกแซงทุกหนทาง เพื่อบังคับให้ต้องเป็นหนึ่งเดียว จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่สุดท้าย รัฐบาลเอียงข้างจีน จะปลุกให้คนมาลงถนนได้จำนวนเป็นล้านๆ คน และต้องยินยอม ‘ถอย’ กฎหมายฉบับนี้ ทั้งที่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะมีกระแสต้านรุนแรงขนาดไหน รัฐบาลก็ดันทุรังผ่านเรื่องที่เอาใจจีนไปได้ตลอด
ในมุมมองจีน หากปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไปย่อมเสียอำนาจในการปกครอง รวมถึงเสียอิทธิพลในพื้นที่ยุทธศาสตร์ เนื่องจากมีอีกหลายดินแดนพิพาทรอที่จะเรียกร้องในแบบเดียวกัน
แต่สำหรับผู้ประท้วงชาวฮ่องกงแล้ว นี่อาจเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะบอกจีนว่าการใช้แต่เพียงอำนาจ ‘บังคับ’ ในดินแดนที่ไม่ได้มีรากเหง้าจากการ ‘ฟัง’ กับ ‘ทำตาม’ อย่างเดียว จะไม่จบง่ายนัก
และในที่สุดแล้วพวกเขาก็พร้อมจะสู้ แม้นักวิเคราะห์ทั้งหลายประเมินกันแล้วว่า มีโอกาสที่จีนจะ ‘ยอม’ เพียงน้อยนิดก็ตาม…
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] https://rsf.org/en/ranking_table