แม้จะได้ไปต่อในวาระรับหลักการ สำหรับร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม’ ที่ได้รับการเสนอโดย ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล และคณะ
แต่เรายังต้องจับตากันต่อในการพิจารณาวาระ 2 และ 3 แน่นอนว่าเป็นเพราะร่างกฎหมายที่ถูกนำขึ้นมาพิจารณาประกบ คือ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างที่เสนอโดย ครม. และโดยพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ของ ครม. ก็ผ่านการลงมติในวาระรับหลักการด้วยกันทั้งหมด
มากไปกว่านั้น ที่ประชุมยังมีมติให้นำร่างกฎหมายที่เสนอโดย ครม. ทั้ง 2 ฉบับ เป็นร่างหลักในการพิจารณาในวาระที่ 2 ด้วย
The MATTER ชวนไปสำรวจร่างกฎหมาย 2 ฉบับหลักๆ คือ ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม และร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ของ ครม. เพื่อเปรียบเทียบดูว่า จะมีสิทธิอะไรที่ตกหล่นไปบ้าง ก่อนที่สภาฯ จะพิจารณาในวาระ 2 และ 3 ในอนาคตอันใกล้นี้
สิทธิในศักดิ์ศรีการเป็น ‘คู่สมรส’ ตามกฎหมาย
ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ระบุชัดเจนถึงการแก้ไข มาตรา 1448 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) ให้เปลี่ยนบทบัญญัติของการสมรส จากคำว่า ‘ชายและหญิง’ เป็น ‘บุคคลทั้งสองฝ่าย’ ความว่า “การสมรสจะกระทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่าย มีอายุสิบแปดปีบริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีมีเหตุสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้”
ในขณะที่ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ของ ครม. นั้น เป็นการออกกฎหมายใหม่แยกออกมา โดยไม่ได้เข้าไปแก้ไขเนื้อหาใน ป.พ.พ. แต่อย่างใด นั่นจึงทำให้สถานะตามร่างกฎหมายคู่ชีวิต ซึ่งก็คือ ‘คู่ชีวิต’ เป็นสถานะที่แยกต่างหากจาก ‘คู่สมรส’ ทำให้เกิดความกังวลถึงศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกันของสถานะทั้งสอง รวมถึงอาจทำให้คู่ชีวิตไม่ได้สิทธิตามกฎหมายอื่นๆ ที่กำหนดถึง ‘คู่สมรส’ ด้วย
พรรคก้าวไกลชี้แจงในเรื่องนี้ว่า “ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม เป็นแนวทางที่ตรงจุดมากกว่า ในการยืนยันหลักการเรื่องความเสมอภาค เมื่อเทียบกับ ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ที่เสี่ยงจะตอกย้ำการปฏิบัติกับกลุ่ม LGBTQIA+ แยกออกไป และเปิดบทสนทนาในการมาไล่พิจารณาว่ากลุ่ม LGBTQIA+ ควรได้รับสิทธิข้อไหน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น หากเรายึดหลักการว่าทุกคู่รักควรมีสิทธิและถูกปฏิบัติอย่างเสมอภาคกันอย่างแท้จริง”
สิทธิในการหมั้นและรับหมั้น
ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยการหมั้นและการรับหมั้นแต่อย่างใด ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม มีการแก้ไข ป.พ.พ. กำหนดให้การหมั้น “จะทำได้ต่อเมื่อบุคคลและบุคคลทั้งสองฝ่าย มีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว” และเงื่อนไขต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการหมั้น ตามที่ปรากฏใน ป.พ.พ. ให้ครอบคลุมบุคคลเพศเดียวกัน เช่น การมอบของหมั้น การบอกเลิกสัญญาหมั้น สิทธิเรียกค่าทดแทน ฯลฯ
ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนนอกสถานที่ที่แพงกว่า
ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนคู่ชีวิตเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ส่งผลให้มีการตั้งคำถามถึงความเท่าเทียมกันระหว่าง ‘คู่ชีวิต’ กับ ‘คู่สมรส’ เอกสารท้ายร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่เสนอโดย ครม. มีส่วนหนึ่งที่ระบุถึงอัตราค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย ดังนี้
- ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนคู่ชีวิตนอกสำนักทะเบียน รายละ 1,000 บาท (ค่าใช้จ่ายสำหรับค่าพาหนะให้แก่นายทะเบียนในกรณีการจัดทะเบียนคู่ชีวิตนอกสำนักทะเบียน ครั้งละ 1,000 บาท)
- ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนคู่ชีวิต ณ สถานที่จดทะเบียน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอนุมัติให้มีขึ้น รายละ 500 บาท
- ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนคู่ชีวิตนอกสำนักทะเบียนในท้องที่ห่างไกล รายละ 100 บาท
- ค่าธรรมเนียมการคัดและรับรองสำเนาทะเบียนคู่ชีวิต รายละ 100 บาท
เมื่อเทียบอัตราต่างๆ ข้างต้นกับค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสมรส จะพบว่ามีความแตกต่างกันตั้งแต่ 5 เท่า ถึง 100 เท่า ทั้งนี้ ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสมรสปรากฏอยู่ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2522) ออกตามความใน พ.ร.บ.จดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 ดังนี้
- การจดทะเบียนสมรสนอกสำนักทะเบียน รายละ 200 บาท ค่าพาหนะให้แก่นายทะเบียนตามสมควร
- การจดทะเบียนสมรส ณ สถานที่สมรสซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอนุมัติให้มีขึ้น รายละ 20 บาท
- การจดทะเบียนสมรสนอกสำนักทะเบียนในท้องที่ห่างไกล รายละ 1 บาท
ขณะที่กฎกระทรวง ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2503) กำหนดค่าธรรมเนียมคัดสำเนา ฉบับละ 10 บาท
การยกเว้นภาษีมรดก กรณีรับมรดกจากอีกฝ่าย
แม้ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต จะมีหมวดว่าด้วยมรดกโดยเฉพาะ โดยที่มาตรา 45 และ 46 กำหนดว่า คู่ชีวิตมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับคู่สมรสตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. ว่าด้วยมรดก และให้นำบางส่วนใน ป.พ.พ. ที่เกี่ยวกับคู่สมรส มาบังคับใช้แก่คู่ชีวิตด้วยโดยอนุโลม แต่สิ่งหนึ่งที่ขาดหายไปก็คือ การยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีมรดก ในกรณีที่รับมรดกจากคู่ชีวิต
เนื่องจากเป็นบทบัญญัติที่ไม่ได้อยู่ใน ป.พ.พ. แต่มีการกำหนดในกฎหมายอีกฉบับหนึ่ง นั่นคือ พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นการกำหนดข้อยกเว้นให้ไม่ต้องใช้บังคับกฎหมายฉบับดังกล่าวกับ “คู่สมรสของเจ้าของมรดกได้รับจากเจ้ามรดก” เมื่อระบุเป็นคำว่า ‘คู่สมรส’ แน่นอนว่าจึงไม่ยกเว้นใช้บังคับกับ ‘คู่ชีวิต’ ในแง่นี้ จึงต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เพื่อรองรับสิทธิให้กับคู่ชีวิตต่อไป
สิทธิรับประโยชน์ทดแทนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม
คล้ายคลึงกับกรณีการยกเว้นภาษีมรดก การรับสิทธิประโยชน์ทดแทนผู้ประกันตนตามกฎหมายประกันสังคม ก็มีการกำหนดสิทธิของ ‘คู่สมรส’ แยกต่างหากอยู่ใน พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ทำให้คู่ชีวิตขาดการรับรองสิทธิในส่วนนี้ไป เช่น สิทธิไปรับบริการทางแพทย์
สิทธิใช้นามสกุลของคู่สมรส
อีกกรณีหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับสิทธิที่ถูกกำหนดอยู่ในกฎหมายฉบับอื่น คือเรื่องของการใช้นามสกุลของ ‘คู่สมรส’ ซึ่งมีบทบัญญัติใน พ.ร.บ.ชื่อบุคคล พ.ศ. 2505 ในมาตรา 12 ว่า “คู่สมรสมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตามที่ตกลงกัน หรือต่างฝ่ายต่างใช้ชื่อสกุลเดิมของตน” และเช่นเดียวกับการให้สิทธิตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม เมื่อเป็นบทบัญญัติว่าด้วย ‘คู่มสมรส’ ก็จะทำให้คู่ชีวิตขาดการรับรองสิทธิในเรื่องนี้ไป จะต้องมีการแก้ไขกฎหมายฉบับดังกล่าวต่อไป
ปูทางไปสู่การแก้กฎหมายอื่นๆ ที่ยังใช้คำว่า ‘สามี-ภรรยา’
อย่างที่ได้พูดถึงไปข้างต้น การออกกฎหมายคู่ชีวิตแยกต่างหาก จะส่งผลให้เกิดสถานะ ‘คู่ชีวิต’ แยกออกมาต่างหาก จาก ‘คู่สมรส’ ด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบสำหรับคู่ชีวิต ที่จะไม่ได้สิทธิตามกฎหมายอื่นๆ ที่มีบทบัญญัติถึงคู่สมรสด้วย อย่างที่ได้ยกตัวอย่างไปบ้างแล้ว
อย่างไรก็ดี ยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับที่ใช้คำว่า ‘สามี-ภรรยา’ แทนที่จะเป็น ‘คู่สมรส’ ซึ่งในเรื่องนี้ ถ้ามีการแก้ไขบทบัญญัติ ป.พ.พ. ว่าด้วยคู่สมรสแล้ว ก็อาจเป็นการเปิดทางให้แก้ไขกฎหมายอื่นๆ ตามไปได้ด้วย iLaw เคยรายงานอ้างถึงความเห็นของ ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ว่า
การแก้ไข ป.พ.พ. จะเป็นหมุดหมายสำคัญ ที่จะทำให้ต้องไปปรับแก้ถ้อยคำในกฎหมายอื่นๆ ด้วย เพื่อรับรองสิทธิในการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ แก่คู่สมรสทุกเพศอย่างเท่าเทียม
อ้างอิงจาก