วันศุกร์ที่ 8 ธันวาคม ที่ผ่านมา หลายท่านอาจจะได้เห็นว่ามีตัวอย่างเกมใหม่ๆ จำนวนมากถูกปล่อยออกมา อย่างเกม Death Stranding, Bayonetta 3, Fade to Silence, GTFO ฯลฯ จากงาน The Game Award อีเวนต์ที่มีบทบาทสำคัญสำหรับวงการเกม และที่มากกว่านั้นคือ การแจกรางวัลโดยให้นักข่าวกับคนทำงานในวงการเกมมาลงคะแนนโหวตกัน คล้ายๆ กับรางวัลออสการ์ในฝั่งหนัง หรือรางวัลแกรมมี่ในฝั่งเพลงนั่นเอง
ที่มาที่ไปของงานแจกรางวัลเกมชื่อเรียบง่ายนี้มาจากไอเดียของ Geoff Keighley นักข่าวสายเกมชาวแคนาดา ผู้ทำหน้าที่นำเสนอข่าวในวงการเกมมาตั้งแต่ปี 1994 ก่อนที่คนจะจดจำเขาได้จากฐานะพิธีกรของ GameTrailers TV กับ G4TV.com และในฐานะโปรดิวเซอร์ของการแจกรางวัล Spike Video Game Awards ก่อนจะมาเปลี่ยนชื่อเป็น VGX ในปี 2013 และเมื่อเมื่อทาง Spike TV สั่งยุติการแจกรางวัลลง Geoff จึงตัดสินใจออกมาจัดงานของตัวเองในชื่อ The Game Awards นี่เอง
นอกจากจะเป็นโปรดิวเซอร์ของเวทีแจกรางวัลเวทีนี้แล้ว Geoff ยังรับหน้าที่เป็นพิธีกรหลักบนเวที และเปิดโอกาสให้บุคลากรในวงการเกมมาเป็นพิธีกรร่วมในหลายๆ ช่วงของการประกาศรางวัล ซึ่งต่างจากสมัย Spike Video Game Awards ที่จะเชิญเซเลบสายบันเทิงมาสร้างสีสันในการแจกรางวัล (อย่างเช่นการเชิญ Samuel L. Jackson มาเป็นพิธีกร)
Geoff ยังริเริ่มการแจกรางวัลพิเศษให้บุคคลสำคัญต่อวงการเกม และยังได้ทำการปรับเปลี่ยนการถ่ายทอดมาเป็นการฉายออนไลน์ผ่านเว็บไซต์เกมหลายแห่ง รวมถึงทาง Youtube กับ Twitch หรือถ้าพูดอีกแง่ก็คือ ไม่ง้อสถานีโทรทัศน์แล้ว
นอกจากแจกรางวัลแล้ว งาน The Game Awards ก็กลายเป็นงานสำคัญสำหรับวงการเกมไปโดยปริยาย อย่างที่พูดถึงข้างต้นไปแล้วว่างานนี้กลายเป็นงานโปรโมตเกมใหม่ๆ เพิ่มเติมจากเดิมที่จะมีแค่งาน E3 (งานเกมใหญ่ในอเมริกา – จัดในช่วงกลางปี), Gamescom (งานเกมใหญ่ในเยอรมนี – จัดในเดือนสิงหาคม), Tokyo Game Show (งานเกมใหญ่ในญี่ปุ่น – จัดช่วงเดือนกันยายน) กับงานที่แต่ละค่ายเกมจัดกันเอง (ซึ่งอาจจะจัดไม่ได้ทุกค่าย) และในช่วงจัดงานแจกรางวัล ทั้งบริษัทผู้พัฒนาเกมกับบริษัทที่จัดจำหน่ายเกม อย่าง Steam, Ubisoft, EA, Sony และ Microsoft ก็มักจะจัดโปรโมชั่นให้คล้องตามกับการแจกรางวัลด้วย (ซึ่งอันนี้ก็กำไรลูกค้านะครับ) เรียกว่างานเดียวเคลื่อนไหวกันได้ทั้งวงการทั่วโลกเลยทีเดียว
และรางวัลหนึ่งที่น่าสนใจของการแจกรางวัลนี้ก็คือ Game Of The Year หรือถ้าเทียบกับรางวัลออสการ์ก็เทียบกับกับ Best Pictures นั่นล่ะ และเราคิดว่ามันทำให้เราเห็นได้ว่าเทรนด์ของคนวงในวงการเกมเขานิยมอะไรกันบ้าง ซึ่งเราจะขอหยิบยกเอารายชื่อผู้ได้รับรางวัล Game Of The Year ตั้งแต่สมัยรางวัล Spike Video Game Awards จนถึง The Game Awards ปีล่าสุดเท่านั้น พร้อมรายละเอียดเกมคร่าวๆ เผื่อว่าหลายท่านที่อ่านมาจะได้ทวนกันว่าเกมแห่งปีเกมไหนที่คุณเล่นกันแล้ว และเกมไหนที่คุณควรจะกดซื้อไว้เล่นช่วงหยุดยาวนี้
Game of The Year ประจำปี 2003 (Spike Video Games Awards) – Madden NFL 2004
ในงานแจกรางวัลปีแรกของ Spike ตัวรางวัลตกเป็นของเกมจำลองการเล่นอเมริกันฟุตบอล ซึ่งชวนแปลกใจเล็กๆ เพราะถือว่าข้ามหน้าคู่แข่งในปีเดียวกันอย่าง Grand Theft Auto: Vice City, Legend of Zelda: The Wind Waker หรือ Tom Clancy’s Splinter Cell แต่ถ้าเทียบว่านี่เป็นปีแรกในการเปิดตัวรางวัล ก็อาจจะเป็นการแจกเพื่อดึงคนดูหมู่มาก (ในอเมริกา) ให้มาสนใจรางวัลนี้ก็เป็นได้
Game of The Year ประจำปี 2004 (Spike Video Games Awards) – Grand Theft Auto: San Andreas
เกมที่ได้รางวัลเกมแห่งปีของปีนี้เป็น GTA ภาคแรกที่ให้ตัวเอกเป็นดำพร้อมกับกิจกรรมที่ให้ทำในเกมเยอะขึ้น ไม่ได้มีแค่หวดคนออกจากรถแล้วไล่ยิงเพียวๆ ภาคนี้เปิดโอกาสให้ผู้เล่นสามารถออกไปทำกิจกรรมอื่นๆ ได้เต็มที่ ทั้งขี่มอเตอร์ไซค์ ปั่นจักรยาน เล่นกล้าม กินจนอวบ และ ‘ดื่มกาแฟ’ ที่กลายเป็นดราม่าทั่วโลกด้วย
Game of The Year ประจำปี 2005 (Spike Video Games Awards) – Resident Evil 4
การกลับมาของเกมเป่าหัวซอมบี้จากทาง Capcom ที่ภาค 4 เปลี่ยนแนวมาเป็นเกมที่เน้นแอกชั่นมากขึ้น ปรับมุมกล้องเป็นด้านหลังตัวละคร มีศัตรูมากขึ้น กลายเป็นแรงกดดันแบบใหม่ เมื่อรวมกับระบบการเล่นที่ไหลลื่นจนแทบจะติไม่ออก (ที่น่ารำคาญคงมีแค่น้องหนูแอชลีย์) ทำให้เกมนี้คว้ารางวัลเกมแห่งปีไปครอง
Game of The Year ประจำปี 2006 (Spike Video Games Awards) – The Elder Scrolls IV: Oblivion
เกมภาคที่ 4 ของตระกูล The Elder Scrolls ที่พัฒนาจากภาค 3 ไปอีกขั้น นอกจากเนื้อเรื่องที่น่าสนใจไม่แพ้ภาคก่อนหน้านี้ ภาพก็พัฒนาสวยงามมากขึ้น NPC มีความสามารถเยอะขึ้น แต่ยังนะครับ ภาคนี้ยังไม่มีธนูปักเข่าแต่อย่างใด
Game of The Year ประจำปี 2007 (Spike Video Games Awards) – BioShock
เกมที่เป็นภาคต่อทางจิตวิญญาณของ System Shock ที่พาคุณลงลึกไปยังเมืองใต้ทะเลซึ่งกลายเป็นสถานที่สุดอันตรายที่มีคนใช้พลังพิเศษเหนือมนุษย์เข้าห้ำหั่นกันเอง แถมยังไล่ฆ่าแขกไม่ได้รับเชิญอย่างตัวคุณอีกต่างหาก และเนื้อเรื่องของเกมที่ทำให้คนเล่นต้องตั้งตระหนักว่าบางทีเราอาจจะไม่ได้เล่นเกม แต่กลายเป็นเกมเล่นเราได้ด้วย
Game of The Year ประจำปี 2008 (Spike Video Games Awards) – Grand Theft Auto IV
GTA ภาค 4 กลับมาพร้อมความเปลี่ยนแปลงมากมาย รวมถึงเนื้อเรื่องตึงเครียดขึ้น จนทำให้หลายคนอาจจะถอดใจจากเกมไปก่อนเข้าช่วงตึงเครียดและเร้าใจ และ…ใครไม่หงุดหงิดการชวนไปเล่นโบว์ลิงก์บ้างครับ
Game of The Year ประจำปี 2009 (Spike Video Games Awards) – Uncharted 2: Among Thieves
เกมที่ได้แรงบันดาลใจจากหนังแอกชั่นตะลุยป่าหลายๆ อันที่ลงเฉพาะเครื่อง PlayStation 3 (และ 4 ในภายหลัง) หน้าตาพระเอกออกจะทำให้นึกถึงพี่ป๋อ และเกมก็ทำให้คนเล่นได้บรรยากาศเหมือนไปบุกป่าฝ่าดงขโมยสมบัติ จนทำให้ตัวเกมคว้ารางวัลเกมแห่งปีไปครอง
Game of The Year ประจำปี 2010 (Spike Video Games Awards) – Red Dead Redemption
เจ้าของเดียวกับ GTA แต่โยกไปเล่าเรื่องราวดราม่าสมัยคาวบอยรุ่งเรืองแทน ตัวเกมมีกิจกรรมให้ทำเยอะเหมือนกัน แต่ก็มีความลุ่มลึกด้านเนื้อเรื่องอย่างที่เกมในสไตล์คาวบอยเกมอื่นไม่เคยทำได้ขั้นนี้
Game of The Year ประจำปี 2011 (Spike Video Games Awards) – The Elder Scrolls V: Skyrim
อันนี้แหละครับ เกมธนูปักเข่า จริงๆ แล้วเรื่องราวของ Skyrim อาจจะมีสเกลที่เล็กลงกว่าภาค Oblivion แต่ก็เพิ่มความหลากหลายด้วยการพบปะกับมังกร ใช้พลังของมังกร เพื่อเชือดมังกร …แต่สุดท้ายคุณอาจจะเสียเวลาลง MOD ของเกมมากกว่าเวลาเล่นเกมเสียอีก
Game of The Year ประจำปี 2012 (Spike Video Games Awards) – The Walking Dead: The Game
ปีนี้รางวัลเกมแห่งปีโยกย้ายไปแจกรางวัลเกม The Walking Dead ที่อาจจะไม่ได้มีเกมเพลย์โดดเด่นแต่ได้เนื้อเรื่องที่น่าสนใจแทน จนหลายคนยังอยากให้เนื้อเรื่องฝั่งเกมไปรากฎในฝั่งซีรีส์ด้วย
Game of The Year ประจำปี 2013 (VGX) – Grand Theft Auto V
GTA V ที่เพิ่มกิจกรรมเยอะขึ้นไปอีก และเป็นครั้งแรกที่เกมให้ผู้เล่นคนเดียว สวมบทบาทสามตัวละครสลับกันได้ตลอดเวลา ให้อรรถรสในการก่อคดีอาชญากรรมแบบครบวงจร และเมื่อทีมพัฒนาเกมพบว่าผู้เล่นหลายคนชอบเล่นเกมแข่งกันโดยใช้ MOD มาภาคนี้พวกเขาจึงจัดให้อยู่ในเกมหลักและยังอัพเดตเพิ่มโน่นเพิ่มนี่ให้ตลอดจนถึงทุกวันนี้
Game of The Year ประจำปี 2014 (The Games Awards) – Dragon Age: Inquisition
ปีแรกในการจัดงานแยกเอกเทศของ Geoff เกมแห่งปีของปีนี้คือเกมสวมบทบาทภาคต่ออย่างที่ให้ผู้เล่นเป็นหัวหน้าองค์กร Inquisition นอกจากจะกอบกู้โลกที่มีสงครามภายในแล้ว ยังต้องมาเจอกับสัตว์ประหลาดข้ามมิติอีก ตัวเกมท้าทายผู้เล่นและมีเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่จนอาจจะทำให้คนที่ไม่เคยตามมาก่อนอาจจะมึนๆ งงๆ ได้
Game of The Year ประจำปี 2015 (The Games Awards) – The Witcher 3: Wild Hunt
เกมภาคสุดท้ายของตระกูล The Witcher ที่มาพร้อมความประณีตตั้งแต่การเล่น การเดินเรื่อง การต่อสู้ ไปจนถึงเนื้อหาของเกมที่ลื่นไหลและสอดคล้องกับนิยายต้นฉบับด้วย
Game of The Year ประจำปี 2016 (The Games Awards) – Overwatch
เกมยิงสำหรับเล่นหลายคนของทาง Blizzard ที่มีคอนเซปต์เอาอดีตหน่วยพิทักษ์โลกหลายคน โดยแต่ละคนมีทักษะต่างกันเข้ามาห้ำหั่นกัน กลายเป็นเกม eSports ยอดนิยมหลังจากเปิดตัวได้ไม่นานนัก ปัจจุบันทีมผู้สร้างเกมก็ยังอัพเดตอยู่เรื่อยๆ ด้วย
Game of The Year ประจำปี 2017 (The Games Awards) – The Legend of Zelda: Breath of the Wild
การกลับมาของ ลิงค์ (ไม่ใช่ เซลด้า นะ) ที่คราวนี้ฟื้นขึ้นมาหลังจากถูกจับโคลด์สลีปในโลกเดิมแต่เปลี่ยนแปลงไปมาก ด้วยเหตุนี้เกมจึงให้ตัวผู้เล่นต้องค่อยๆ สำรวจโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ด้วยความที่ว่าตัวเกมไม่ใบ้อะไรตรงๆ ทำให้คนที่เล่นแทบทุกคนต่างสนุกกับการค่อยๆ สำรวจโลก รวมถึงว่าเมื่อเกมไม่ได้ปิดกั้นวิธีการเล่นทำให้ผู้เล่นเลือกสไตล์ทำให้ตัวเกมดูลุ่มลึกขึ้นกว่าภาคก่อน และนี่ถือว่าเป็นเกมแรกของเครื่อง Nintendo Switch ที่ได้รับรางวัลเกมแห่งปีด้วย