ถ้าโรงเรียนกลับมาเปิดอีกครั้งจะดูแลนักเรียนยังไง เด็กๆ หลายสิบชีวิตจะต้องกลับไปนั่งเรียนพร้อมกันในห้องเหมือนเดิมไหม แล้วก่อนเข้าเรียนจะต้องตรวจเช็คอะไรก่อนหรือเปล่า?
คำถามที่หลายคนสงสัย หลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้แต่ละสิ่งที่ปรับเปลี่ยนไปอย่างมาก ทั้งต้องหามาตรการให้คนเว้นระยะห่างกัน และรักษาความสะอาดของสถานที่ต่างๆ ซึ่งโรงเรียนก็เป็นอีกหนึ่งสถานที่ ที่เป็นโจทย์ของแต่ละประเทศทั่วโลก
The MATTER ขอพาไปชมการปรับเปลี่ยนห้องเรียนของ 6 ประเทศ ที่เริ่มเปิดเทอมไปแล้ว เพื่อสำรวจว่าหลังจากกลับมาเปิดการเรียนการสอนอีกครั้ง หน้าตาห้องเรียนของแต่ละที่เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง?
จีน
เมื่อเด็กๆ ต้องกลับไปโรงเรียน แต่ก็ยังต้องเตรียมรับมือกับการระบาดให้พร้อมนั้น รูปแบบของห้องเรียนจึงถูกปรับเปลี่ยนตามไปด้วย โดยในจีนจะมีการตรวจเช็คอุณหภูมิของนักเรียนก่อนเข้าเรียน ซึ่งบางแห่ง ก็ให้เด็กๆ โหลดแอพพลิเคชั่นที่จะช่วยคำนวณความเสี่ยงการติดเชื้อจากการตรวจวัดอุณหภูมิ ซึ่งจะต้องแสดงผลเป็นสีเขียวถึงจะถือว่าปลอดภัย
ขณะเดียวกัน บางโรงเรียนก็กำหนดกฎต่างๆ มาเพิ่มเติม อย่างให้ใส่ชุดป้องกันอัตรายจากสารเคมี หรือในโรงเรียนประถมแห่งหนึ่ง (Yangzheng Primary School) ก็ให้เด็กใส่หมวกที่จะช่วยให้พวกเขาสามารถเว้นระยะห่างจากคนอื่นๆ ได้อย่างน้อย 1.5 เมตร
ตอนนี้ ในเมืองใหญ่ๆ ของจีน เด็กที่โตกว่าได้กลับไปโรงเรียนก่อนเด็กเล็กๆ อย่างในปักกิ่งก็ให้เด็กที่ต้องเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยไปโรงเรียนเช่นกัน ขณะที่ โรงเรียนในอู่ฮั่น เมืองที่พบการติดเชื้อเป็นที่แรก ก็เปิดให้เด็กๆ กลับไปเรียนได้ในวันที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมา
เยอรมนี
ในเยอรมนีกำหนดไว้ว่า เด็กๆ จะไปไหนมาไหนก็ต้องอยู่ห่างกันอย่างน้อย 1.8 เมตร นั่นแปลว่าพวกเขาจะไม่สามารถสัมผัสหรือใกล้ชิดกับเพื่อนๆ ได้ ขณะเดียวกันก็ต้องสวมเสื้อผ้าให้อุ่น เพราะห้องเรียนต้องเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทตลอดเวลา (ที่นั่นอากาศค่อนข้างเย็นน่ะ) อีกทั้ง ครูต้องแบ่งเด็กๆ ออกเป็น 2 ห้องเรียน จากที่เคยเป็นห้องเดียวกัน แล้วครูก็เวียนไปสอนเด็กๆ ในแต่ละห้องแบบพร้อมๆ กันอีกด้วย
อย่างโรงเรียนแห่งหนึ่งในเยอรมนีที่มีเครื่องมือสำหรับการตรวจเชื้อให้เด็กๆ ได้ตรวจหาโรคก่อนเข้าเรียน ซึ่งถ้าใครติดเชื้อก็จะต้องอยู่บ้าน แต่ถ้าไม่ติดเชื้อก็จะได้โรงเรียนพร้อมกับสติกเกอร์สีเขียว และไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัย และจะทำการตรวจทุกๆ 4 วัน
การเปิดชั้นเรียนของเยอรมนีต่างจากประเทศอื่นๆ ตรงที่ จะเปิดให้เด็กโตได้ไปโรงเรียนก่อนชั้นเรียนของเด็กอื่นๆ เพราะมองว่า เด็กที่โตแล้วสามารถปฏิบัติตามมาตรการป้องกันเชื้อได้ดีกว่าเด็กที่ยังเล็กอยู่
ไต้หวัน
การปรับห้องเรียนของไต้หวัน เน้นเรื่องความสะอาดเป็นหลัก ดังนั้น เด็กๆ จะต้องรักษาสุขอนามัยของตัวเองด้วยการล้างมือทุกครั้งก่อนเริ่มเรียนวิชาถัดไป ทั้งยังมีถาดน้ำยาฆ่าเชื้อให้เด็กๆ เหยียบก่อนเข้าโรงเรียนเพื่อรักษาความสะอาดของรองเท้าด้วย
และในช่วงพักเที่ยง เด็กๆ จะต้องหยิบแผ่นกั้นระหว่างโต๊ะของตัวเองขึ้นมา ครอบโต๊ะไว้แล้วรับประทานอาหารกลางวัน แม้ว่าโต๊ะเรียนจะเว้นระยะห่างกันแล้วก็ตาม แต่โรงเรียนก็ยังป้องกันอีกชั้นด้วยแผ่นพลาสติกที่กล่าวไป
โรงเรียนในไต้หวันยังคงเปิด
ฝรั่งเศส
ในฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประเทศแรกในยุโรปที่พบผู้ติดเชื้อ กำหนดแนวทางเอาไว้ว่า ก่อนเด็กๆ จะออกจากบ้าน ผู้ปกครองต้องตรวจวัดไข้ของพวกเขาก่อนจะให้มาโรงเรียน และเมื่อมาถึงโรงเรียน ก็ต้องป้องกันการติดเชื้อด้วยการสวมหน้ากากอนามัย และเว้นระยะห่างทางกายภาพระหว่างกันด้วย
นอกจากนี้ โรงเรียนหลายแห่งในฝรั่งเศสยังห้ามการเล่นกีฬาที่เป็นลูกบอล และห้ามใช้อุปกรณ์ที่ไม่สามารถฆ่าเชื้อได้ หรือทำความสะอาดได้ยาก เพราะจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ซึ่งรวมถึง การห้ามเด็กๆ ยืมข้าวของต่างๆ จากเพื่อน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเขียน หรือของเล่นก็ตาม
เดนมาร์ก
การรักษาระยะห่างทางกายภาพ (physical distancing) เป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ในโรงเรียนของเดนมาร์ก ดังนั้น โรงเรียนทั้งหลายจึงลดจำนวนครูต่อเด็ก ให้เหลือแค่ 1 คน ต่อเด็ก 10 คน จากที่แต่เดิมจะต้องมีทั้งครูผู้ช่วย และเด็กๆ อีกหลายสิบชีวิตใน 1 ห้องเรียน
อีกทั้ง ยังมีการปรับให้มีการเรียนรู้กลางแจ้ง หรือกิจกรรมแบบ outdoor มากขึ้น โดยแต่ละคนจะมีอุปกรณ์ของตัวเอง ซึ่งการเรียนรู้แบบนี้จะช่วยให้เด็กๆ เว้นระยะห่างระหว่างกันได้ตามธรรมชาติ และไม่ต้องหยิบจับสิ่งของร่วมกันอีกด้วย
เดนมาร์ก เป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่เริ่มเปิดเทอมก่อน โดยเป็นการเปิดเรียนสำหรับชั้นเรียนของเด็กเล็ก ด้วยเหตุผลว่า เด็กเล็กมีโอกาสติดเชื้อน้อยกว่าเด็กโต และเป็นการช่วยเหลือผู้ปกครองที่ไม่มีเวลาดูแลเด็ก เพราะต้องทำงานหรือติดธุระต่างๆ ด้วย
เนเธอร์แลนด์
เนเธอร์แลนด์ อีกหนึ่งประเทศในยุโรปที่เปิดให้เด็กๆ กลับไปโรงเรียนก่อน โดยมีการติดตั้งจุดแจกจ่ายน้ำยาฆ่าเชื้อตามทางเดินเข้า-ออกของที่ต่างๆ และเน้นให้เว้นระยะห่างระหว่างกันอย่างน้อย 1.5 เมตร โดยเด็กที่อายุมากกว่า 12 ปี ออกกำลังกายแบบรักษาระยะห่างระหว่างกันด้วย
นอกจากนี้ โรงเรียนในเนเธอร์แลนด์ยังกำหนดให้ติดตั้งแผ่นพลาสติกแบบหนาระหว่างโต๊ะเรียน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคอีกด้วย และในช่วงแรกของการกลับมาเปิดเทอมนั้น เด็กๆ ในโรงเรียนประถมศึกษาของเนเธอร์แลนด์จะเข้าเรียนครึ่งวันไปก่อน แล้วจึงจะมีการประเมินสถานการณ์อีกที
ถึงหลายประเทศจะเริ่มคลายล็อกดาวน์ลงแล้ว และเปิดให้สถานที่ต่างๆ กลับไปทำกิจการอีกครั้ง แต่ก็ยังมีข้อถกเถียงในหลายประเด็น รวมถึง ประเด็นเรื่องการเปิดเทอมด้วยเช่นกัน หลายฝ่ายสงสัยว่า สรุปแล้วถึงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการเปิดเทอมหรือยัง หรือหากเปิดเทอมแล้ว มาตรการต่างๆ ที่ทำออกมาเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อนั้นจะสามารถช่วยรักษาสุขภาพร่างกายของเด็กๆ ให้ปลอดจากเชื้อได้จริงไหม?
แต่ถึงอย่างนั้น การออกแบบหน้าตาห้องเรียนใหม่ของโรงเรียนต่างๆ ในแต่ละประเทศนั้น ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่เราควรจับตามอง เพราะถือว่าเป็นอีกหนึ่ง New normal ของการศึกษา ที่จะเข้ามาในชีวิตของพวกเรา
อ้างอิงจาก