#ให้มันจบที่รุ่นเรา แฮชแท็กประจำการชุมนุมที่หลายคนใช้ เพื่อหวังว่า หลายๆ เรื่องที่เป็นปัญหา เป็นสิ่งที่ค้างคามา จะได้รับการเปลี่ยนแปลง และแก้ไขมันได้ที่ในรุ่นของเรา
แต่ท่ามกลางหลายๆ เรื่องที่มีการคาดหวังให้จบลง เมื่อย้อนกลับมามองหลายๆ อย่างในสังคม เราก็จะเห็นว่า เราอยู่กับสิ่งเหล่านี้ มายาวนานเหลือเกิน
ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายบางอย่าง โครงสร้าง หรือสถานที่บางแห่งที่ซ่อมแซมไม่เสร็จ ไปถึงตัวบุคคลที่เราเห็นเขาดำรงตำแหน่งมายาวนานเหลือเกิน มีอะไรบ้างที่เราอยู่กับสิ่งนี้มายาวนาน และเราอยู่มานานแค่ไหนแล้ว The MATTER ชวนมาย้อนนับวัน กับเหตุการณ์เหล่านี้กัน
อยู่กับการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
(เริ่มประกาศใช้ 26 มีนาคม 2563)
จากสถานการณ์ COVID-19 ที่ทำให้รัฐบาลต้องประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ถึงทุกวันนี้ แม้ว่าหลายประเทศจะยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ไปแล้ว และจำนวนผู้ติดเชื้อในไทยเองก็ลดลง จนแทบไม่เจอผู้ติดเชื้อในประเทศ แต่ล่าสุด ศบค.ก็ได้ เห็นชอบให้เสนอ ครม.ต่อขยายเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนี้ ต่อไปอีก 1 เดือน จนถึงวันที่ 31 ตุลาคมแล้ว โดยให้เหตุผลว่า ยังพบการแพร่ระบาดภายนอกประเทศ ซึ่งยังน่าเป็นห่วง
ซึ่งเท่ากับว่า ถ้านับจนถึงวันนี้ เราอยู่กับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมา 187 วันแล้ว และเราจะต้องอยู่กับมันไปถึงปลายตุลาคม ซึ่งเท่ากับเป็น 219 วันเป็นอย่างน้อยด้วย
อยู่กับการไม่มี รมว.การคลังดำรงตำแหน่ง
(รมว.คลังฯ คนล่าสุดลาออก 2 กันยายน 2563)
การเงิน และเศรษฐกิจของประเทศเป็นประเด็นสำคัญในการขับเคลื่อนบ้านเมือง แต่นับตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน ที่
ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศลาออกจากตำแหน่ง รมว.การคลังของปรีดี ดาวฉาย อดีตผู้บริหารธนาคารกสิกรไทย เท่ากับว่าประเทศไทยนั้น ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งนี้ มาถึง 27 วันแล้ว ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีข่าวคราวการทาบทามคนใหม่ แต่ก็ยังไม่มีการแต่งตั้งเกิดขึ้น รวมถึงมีการคาดว่าการแต่งตั้งนั้นจะเกิดขึ้นในต้นเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้
อยู่กับการไม่มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.
(เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งล่าสุด วันที่ 3 มีนาคม 2556)
รถติด น้ำท่วม ท่อไม่ระบาย ป้ายรถเมล์พัง หนึ่งในหลายๆ ขอบเขตการดูแลของผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งที่ผ่านมา เป็นเวลาหลายปีแล้ว ที่เรามีผู้ว่า กทม.จากการแต่งตั้ง และไม่มีการเลือกตั้งตำแหน่งนี้ โดยการเลือกตั้งล่าสุด เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2556 ที่ มรว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ชนะการเลือกตั้งผู้ว่า กทม.สมัยที่ 2 ก่อนจะถูกคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ และย้าย พล.อ. อัศวิน ขวัญเมือง มาดำรงตำแหน่งแทน
โดยจากเดิม ที่เราควรจะได้มีการเลือกตั้งผู้ว่า กทม.ในปี 2560 นั้นก็ยังไม่เกิดขึ้น และเมื่อนับการเลือกตั้งครั้งล่าสุดนแล้ว ก็เท่ากับว่า เราไม่มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.มาถึง 2,766 วันแล้ว
อยู่กับนายกฯ ชื่อประยุทธ์ จันทร์โอชา
(ดำรงตำแหน่งวันที่ 24 สิงหาคม 2557)
“เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน” เนื้อเพลงติดหู ทำนองติดปากกับเพลงคืนความสุขให้ประเทศไทย ของ คสช.ที่มาพร้อมกับการขึ้นดำรงตำแหน่ง นายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งแม้ว่าจะเคยปฏิเสธ บ่ายเบี่ยงอย่างไร แต่นับตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 จนถึงวันนี้ ก็ถือเป็นสมัยที่ 2 ของการดำรงตำแหน่งของนายทหารท่านนี้แล้ว ซึ่งตั้งแต่วันดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการ (ไม่รวมระยะเวลารักษาการณ์) จนถึงการถูกเลือกจาก ส.ส. และ ส.ว.เสียงข้างมากในสภาจนรับตำแหน่งสมัยนี้ จนถึงวันนี้ เราก็อยู่กับ นายกฯ หรือผู้นำประเทศที่มีชื่อว่า ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ มาแล้ว 2,227 วัน หรือประมาณ 6 ปีแล้ว
โดยหากนับเวลาดำรงตำแหน่งจนถึงวันนี้ (29 กันยายน 2563) พล.อ.ประยุทธ์ ถือเป็นนายกฯ ที่ติดอันดับ TOP4 นายกฯ ที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุด เป็นรองเพียง พลเอกเปรม ติณสูลานนท์, จอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพล แปลก พิบูลสงครามเท่านั้น
อยู่กับ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
(ประกาศ 6 กุมภาพันธ์ 2551)
กฎหมายที่ควบคุมเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อ การขาย การบริโภค วันเวลาจำหน่าย ไปถึงโทษต่างๆ อยู่ใน พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ซึ่งกฎหมายนี้ มีหลายประเด็นที่ถูกมองว่า เป็นการผูกขาดการขายแอลกอฮอล์ จำกัดสิทธิการบริโภคของประชาชน ไปถึงประเด็นเรื่องการโพสต์รูปภาพสินค้า เครื่องดื่ม การโฆษณาที่กลายมาเป็นประเด็นในปัจจุบันมากขึ้นด้วย โดยปัจจุบันก็มีความพยายามเรียกร้องการแก้กฎหมายฉบับนี้มากขึ้น เพื่อให้เข้ากับยุคสมัย และเศรษฐกิจด้วย
แต่ก็นับได้ว่ากฎหมายฉบับนี้ ถือเป็นหนึ่งกฎหมายที่มีการประกาศใช้มาอย่างยาวนานถึงกว่า 12 ปีแล้ว หรือสามารถนับได้เป็น 4,618 วันที่ประเทศเรามีการใช้กฎหมายฉบับนี้
อยู่กับรัฐสภาที่ยังสร้างไม่เสร็จ
(ลงเสาเข็ม 8 มิถุนายน 2556)
‘สภาอันทรงเกียรติ’ หนึ่งในคำที่มักถูกพูดถึง เมื่อพูดถึงสถานที่อย่าง ‘รัฐสภา’ ซึ่งแม้ว่าจะมีการย้ายสภาไปยังบริเวณ สัปปายะสภาสถาน ที่สี่แยกเกียกกายแล้ว มีการจัดประชุมสภา และกิจกรรมต่างๆ ทางการเมือง แต่ทุกวันนี้เอง สภาแห่งนี้ก็ยังเรียกได้ว่า ไม่เสร็จสมบูรณ์ดี ยังมีส่วนของการก่อสร้าง ต่อเติมอยู่หลายๆ จุด อย่างล่าสุดที่มีคลิปไวรัลเมื่อฝนตกหนัก จนสภาฝั่ง ส.ว.เกิดน้ำรั่ว และน้ำท่วมด้วย
โดยแท้จริงแล้ว สภาแห่งนี้ ไม่ได้เพิ่งมีการก่อสร้าง หากแต่มีการประชุมจัดหาสถานที่ก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ตั้งแต่ปี 2551 ในสมัยที่สมัคร สุนทรเวช เป็นนายกฯ และมีพระราชพิธีวางศิลาฤกษ์ในวันที่ 12 สิงหาคม 2553 แต่หากว่านับตั้งแต่วันที่ลงเสาเข็ม คือวันที่ 8 มิถุนายน 2556 เท่ากับว่า สภาแห่งนี้ก่อสร้างมาแล้ว 2,669 วัน จากเดิมที่มีสัญญาว่าจ้าง ต้องสร้างให้เสร็จภายใน 900 วัน หรือช่วงสิ้นปี 2558 แต่ก็มีปัญหาก่อสร้างล่าช้า ไม่เป็นตามแผน และเลื่อนการส่งมอบเรื่อยมา โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในสิ้นปีนี้
อยู่กับถนนพระราม 2 ที่ยังก่อสร้าง
(ก่อสร้างครั้งแรก 2513)
นั่งรถผ่านถนนพระราม 2 ตั้งแต่เด็ก ก็เจอการซ่อมแซมถนน โตมาขับรถผ่านเองก็ยังเจอการซ่อมแซมถนนอีก จนได้แต่สงสัย ถนนเส้นนี้มีอะไร ทำไมซ่อมแล้ว ซ่อมอีก และเหมือนจะถูกซ่อมตลอดไป โดยหากนับประวัติศาสตร์การซ่อมแซมถนนพระราม 2 นี้ ในช่วงปีนี้ ถือเป็นการซ่อมแซมครั้งที่ 6 แล้ว โดยถนนเส้นนี้ มีการก่อสร้างเป็นช่วงๆ ซึ่งช่วงแรกเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2513 – 2516 จากการสร้างถนน 2 เลน
หลังจากนั้น ก็มีตามมาครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2532 – 2537 เป็น, ครั้งที่ 3 ในปีพ.ศ. 2539 – 2543, ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2544 – 2546, ครั้งที่ 5 : พ.ศ. 2549 – 2552 และล่าสุด ในปี พ.ศ. 2561 ถึงปัจจุบัน ซึ่งมีการทั้งขยายเลนถนนต่างๆ ไปถึงโครงการก่อสร้างอื่นๆ อย่างทางยกระดับ ทางพิเศษ ฯลฯ โดยคาดว่าการก่อสร้างบางส่วนนี้ จะเสร็จสิ้นในปี 2565 เลยด้วย ทั้งยังไม่รู้ว่าในอนาคต จะมีโครงการ หรือการซ่อมแซมอีกหรือเปล่า ซึ่งก็อาจเป็นได้ว่าไม่ว่าเมื่อไหร่ที่เราขับผ่านบริเวณนี้ เราจะเห็นการก่อสร้างไปเป็นของคู่กันไปอีกยาวนาน
อยู่กับการที่เขาไม่ตอบเรา
(ตั้งแต่เมื่อไหร่กันนะ…)
เพราะบางคำถาม เป็นได้แค่คำถาม ที่ไม่มีคำตอบ…