เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งหน้า ‘กติกา’ จะไม่เหมือนเดิม
เพราะรัฐธรรมนูญถูกแก้ให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ (เขต-บัญชีรายชื่อ) เหมือนในอดีต แต่รายละเอียดอื่นๆ ในการเลือกตั้ง อยู่ระหว่างรอหาข้อสรุปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่เตรียมพิจารณาร่างแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ในวาระสองและสาม
เนื้อหาร่างกฎหมายนี้มี 32 มาตรา แต่สิ่งที่ The MATTER คิดว่าเป็นประเด็นสำคัญ มีอยู่ 2 เรื่อง คือ ‘เบอร์ประจำตัว’ ผู้สมัคร ว่าจะให้ทั้งพรรคใช้เบอร์เดียวกันจะได้จำง่ายๆ หรือยังจะใช้ต่างเขตต่างเบอร์กันต่อไป กับ ‘วิธีคำนวณ’ ส.ส. ที่เคยซับซ้อนกระทั่งประธาน กกต. ขอเครื่องคิดเลขเป็นตัวช่วย มาครั้งนี้จะง่ายขึ้นหรือไม่
สำหรับร่างแก้ไขกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. นี้ ความจริงถูกบรรจุวาระพิจารณาในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาหลายสัปดาห์แล้ว แต่ยังไม่ถึงคิวซะที ในวันที่ 24 มิ.ย.นี้ ก็อาจจะได้พิจารณาซะทีนะ รอติดตามกันต่อไป
แต่รู้ไว้ก่อนไม่เสียหายว่า ประเด็นสำคัญๆ อย่าง ‘เบอร์-วิธีคำนวณ’ ในการเลือกตั้ง ส.ส. เขาจะมาเถียงกันเรื่องอะไรบ้าง
- หมายเลขประจำตัวผู้สมัคร
ในร่างแก้ไข พ.ร.ป.เลือกตั้งฯ มาตรา 10 ที่ว่าด้วยการกำหนดหมายเลขประจำตัวผู้สมัคร ส.ส. ทาง กมธ.วิสามัญยังกำหนดให้ใช้ ‘2 ใบ-ต่างเบอร์’ คือผู้สมัคร ส.ส.เขตกับ ส.ส.บัญชีรายชื่ออาจจะใช้หมายเลขประจำตัวคนละเบอร์กัน ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องยื่นสมัคร ส.ส.เขตก่อน แล้วค่อยสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ
แต่ก็มีผู้ขอสงวนความเห็น/เสนอคำแปรญัตติ หรือพูดง่ายๆ ว่า ‘ขอแก้ไข’ จำนวนมาก เพื่อให้ผู้สมัคร ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อ หากมาจากพรรคเดียวกัน ก็ให้กลับไปใช้ ‘เบอร์เดียวกัน’ ทั่วประเทศ ซึ่งก็ต้องมาดูกันว่าในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาจะเห็นด้วยตามร่างของ กมธ.วิสามัญ หรือตามที่มีผู้เสนอแก้ไข
- วิธีคำนวณ จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ
หาร 100 หรือหาร 500
เป็นอีกประเด็นที่สำคัญ อยู่ในร่างแก้ไข พ.ร.ป.เลือกตั้งฯ มาตรา 23 ที่ร่างของ กมธ.วิสามัญฯ กำหนดให้คิดจำนวน ส.ส.แยกประเภทระหว่าง ส.ส.เขต (400 คน, ใครได้คะแนนมากสุด และมากกว่า no vote จะได้เป็น) กับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ (100 คน, นำคะแนนดิบบัญชีรายชื่อมาจัดสรรตาม % ที่แต่ละพรรคได้)
แต่ก็มีผู้ขอแก้ไขจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นการกลับไปใช้สูตรหา ‘ส.ส.พึงมี’ เพื่อนำมาลบกับ ส.ส.เขต แล้วส่วนต่างที่ได้จะถูกจัดสรรเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มเติม (ถ้าพรรคไหนได้ ส.ส.เขตเกิน ส.ส.พึงมี ก็จัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ให้พรรคลำดับถัดไปแทนจนครบ 100 คน)
ซึ่งจาก 8 ข้อเสนอ สรุปได้เป็น 2 โมเดลใหญ่ๆ ดังนี้
(โมเดลที่ 1)
- คะแนนดิบบัญชีรายชื่อรวมทุกพรรคหาร 500 จะได้ ‘คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.พึงมี 1 คน’
- เอาคะแนนเฉลี่ยฯ หารคะแนนดิบบัญชีรายชื่อแต่ละพรรค หาจำนวน ส.ส.พึงมี
- เอา ส.ส.พึงมีไปลบ ส.ส.เขต ส่วนต่างคือ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
(โมเดลที่ 2)
- คะแนนดิบบัญชีรายชื่อและเขตรวมทุกพรรคหาร 500 จะได้ ‘คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.พึงมี 1 คน’
- เอาคะแนนเฉลี่ยฯ หารคะแนนดิบบัญชีรายชื่อและเขตของแต่ละพรรค หาจำนวน ส.ส.พึงมี
- เอา ส.ส.พึงมีไปลบ ส.ส.เขต ส่วนต่างคือ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
การพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.ป.เลือกตั้ง ในวาระสอง (รายมาตรา) จะใช้เพียงเสียงข้างมากของ ส.ส. และ ส.ว.แต่งตั้ง แต่ในวาระสาม (เห็นชอบทั้งฉบับ) จะต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของ ส.ส. และ ส.ว.แต่งตั้งทั้งหมดที่มีอยู่ และต่อให้ผ่านการพิจารณาแล้ว ยังจะต้องถูกส่งไปให้ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องพิจารณาอีกขั้น ก่อนที่จะถูกนำขึ้นโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
กติกาเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งหน้าจะเป็นอย่างไร โปรดติดตามกันต่อไป!
- หากใครอยากอ่านร่างแก้ไข พ.ร.ป.เลือกตั้งฯ อย่าง ส.ส. โดยละเอียด สามารถอ่านได้ที่นี่