“โอ้ย ไม่ทันแล้วๆ มีนาปาเข้าไปครึ่งเดือนแล้ว ยังไม่ได้ยื่นภาษีเลย”
“ใจเย็นเธอ เอ้านี่ วิชายื่นภาษีเบื้องต้นจาก The MATTER เรียนออนไลน์ได้ ไม่งง ลงนั่งหน้าคอมฯ แล้วทำตามได้เลย”
สำหรับใครที่ลนๆ หรือพะวงใจเรื่องยื่นภาษีอยู่ตอนนี้ บอกไว้ให้โล่งใจก่อนนิดนึงว่า ถ้ายื่นภาษีออนไลน์ผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร (www.rd.go.th) หรือแอพฯ ‘Rd smart tax’ เนี่ย ต่อเวลาหายใจไปได้ถึงวันที่ 9 เมษายน 2561 นะ แต่ก็อย่าชะล่าใจ ยื่นไวก็ยิ่งดี
เอาล่ะ มาเริ่มบทเรียนวิชายื่นภาษี 101 กัน
บทที่ 1 : เตรียมเอกสาร
ก่อนยื่นภาษี ให้รวบรวมเอาเอกสารตามเช็คลิสต์นี้มาไว้ก่อน เพื่อความสะดวกและรวดเร็ว (และเผื่อสรรพากรเรียกตรวจด้วย)
- หนังสือรับรองเงินเดือนและการหักภาษี (50 ทวิ) หรือ หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องมีเพื่อคำนวณเงินได้ของทั้งปี
- สิ่งที่คนส่วนใหญ่ใช้คำนวณค่าลดหย่อน อย่างเช่น
– ใบเสร็จรับเงินบริจาค
– ใบกำกับภาษีจากการซื้อของช่วงช้อปช่วยชาติ
– เอกสารชำระค่าเบี้ยประกันสุขภาพ
– หนังสือรับรองการชำระเบี้ยประกันชีวิต
– เอกสารรับรองการซื้อ RMF และ LTF
- เอกสารประกอบถ้ายื่นค่าลดหย่อนที่เกี่ยวกับครอบครัว
– ทะเบียนสมรส
– เอกสารรับรองบุตร หรือสูติบัตรของบุตร
– หนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าเลี้ยงดูบิดา-มารดา
– เอกสารชำระค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดา-มารดา
– หนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ
- เอกสารประกอบถ้ายื่นค่าลดหย่อนอื่นๆ (ถ้ามี) เช่น เอกสารเงินกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย หลักฐานการเป็นสมาชิกและจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ หรือหลักฐานกรณีซ่อมแซมบ้านและรถที่เสียหายจากน้ำท่วม
บทที่ 2 : ลงทะเบียน
เปิดเว็บไซต์กรมสรรพากร (www.rd.go.th) ขึ้นมา ใครเคยยื่นแล้วก็ล็อกอินเข้าไป ส่วนใครยื่นครั้งแรกก็ลงทะเบียน กรอกข้อมูลทุกอย่างให้ครบถ้วนและถูกต้อง
บทที่ 3 : กรอกข้อมูลเงินได้และค่าลดหย่อน
ส่วนนี้จะซับซ้อนชวนงงที่สุดละ แต่หลักการอยู่ที่ต้องรู้ก่อนว่าเรามีเงินได้และค่าลดหย่อนอะไรบ้าง (เดี๋ยวจะอธิบายเพิ่มให้) ติ๊กเลือกรายการที่เรามี แล้วกรอกตัวเลขลงไปทีละช่อง
บทที่ 4 : ตรวจสอบการคำนวณภาษีและยืนยัน
พอกรอกทุกอย่างครบ ระบบก็จะคำนวณให้เราโดยอัตโนมัติเลย หน้าที่ของเราคือตรวจสอบความถูกต้อง และเลือกอะไรอีกนิดหน่อยก่อนกดยืนยัน นั่นก็คือ
– เราจะบริจาคภาษีที่ชำระให้พรรคการเมืองไหม (อันนี้ก็แล้วแต่)
– ถ้ามีการเสียภาษีเกิน 3,000 บาท เราสามารถเลือกผ่อนได้ 3 งวด (เมษายน-มิถุนายน)
– แต่ถ้าใครได้ภาษีคืนและต้องการขอคืนภาษี อย่าลืมเลือกคำว่า “ข้าพเจ้ามีความประสงค์จะขอคืนเงินภาษี” ด้วย
ส่วนที่ว่าเราจะเสียภาษีเท่าไหร่ ก็ขึ้นอยู่กับว่ารายได้สุทธิเราตกอยู่ช่วงไหน
ไม่เกิน 150,000 บาท = ได้รับการยกเว้น
150,001-300,000 บาท = 5%
300,001-500,000 บาท = 10%
500,001-750,000 บาท = 15%
750,001-1,000,000 บาท = 20%
1,000,001 บาท-2,000,000 บาท = 25%
2,000,001 บาท-5,000,000 บาท = 30%
5,000,001 บาทขึ้นไป = 35%
บทที่ 5 : จ่ายเงิน/ตรวจสอบการคืนภาษี
สุดท้ายคือถ้าเราต้องจ่ายภาษี ก็จะมีหน้าจอให้เลือกวิธีการจ่าย (ธนาคารออนไลน์, ATM, บัตรเครดิต, จ่ายชำระที่หน่วยรับชำระ หรืออื่นๆ) ส่วนคนที่ได้คืนภาษีก็รอไป
อธิบายเพิ่มเติม : เงินได้และค่าลดหย่อน
เริ่มที่ ‘เงินได้’ ก่อน สำหรับมนุษย์เงินเดือนทุกคน เบื้องต้นเลยคือติ๊กตรง ‘มาตรา 40 (1) เงินได้จากการจ้างแรงงาน เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง บำนาญ โบนัสฯ’ โลด ส่วนรายได้อื่นๆ ที่เหลือก็แล้วแต่ว่าใครทำงานอะไรเสริม ขายอะไรเพิ่ม (ดูความหมายของเงินได้แต่ละแบบ แบบอธิบายง่ายๆ ที่ https://www.itax.in.th/pedia/เงินได้)
สำหรับ ‘ค่าลดหย่อน’ นี่ดูกันให้ดีๆ เพราะส่วนนี้มีผลทำให้เราเสียภาษีน้อยลง โดยที่แน่ๆ คือเราจะได้ ‘ค่าลดหย่อนส่วนบุคคล’ 60,000 บาททันทีที่เรายื่นแบบภาษีฯ อันนี้ไม่ต้องติ๊ก ไม่ต้องกรอกอะไร
ส่วนใครที่ยื่นจนโปร ลองเช็คดูดีๆ ปีนี้ มีค่าลดหย่อนที่เพิ่งเอามาใช้ในปี 2560 อยู่ 4 รายการ คือ
1. เบี้ยประกันสุขภาพตัวเอง : ให้เราสามารถนำเบี้ยประกันสุขภาพที่ซื้อตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 มาลดหย่อนได้สูงสุด 15,000 บาท แต่เมื่อรวมเบี้ยประกันชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท
2. ช้อปช่วยชาติ : ยิ้มเลยสิสายช้อป เพราะรัฐให้เรานำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าหรือบริการในระหว่างวันที่ 11 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2560 มายื่นลดหย่อนภาษีได้ ไม่เกิน 15,000 บาท แต่ก็ต้องมีใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบที่ออกไว้ตอนซื้อด้วย
3. ค่าซ่อมแซมบ้านและรถตอนน้ำท่วม : ปีที่แล้วมีน้ำท่วมในภาคใต้และอีสาน รัฐบาลเลยออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุในพื้นที่ให้สามารถนำค่าใช้จ่ายจากการซ่อมบ้านและรถที่เสียหายจากน้ำท่วมมายื่นลดหย่อนภาษีปี 2560 ได้ ภายใต้เงื่อนไขนี้
- ภาคใต้ นำค่าใช้จ่ายระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2559 – 31 พฤษภาคม 2560 มาลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท
- ภาคอีสาน นำค่าใช้จ่ายระว่างวันที่ 5 กรกฎาคม – 31 ธันวาคม 2560 มาลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท
4.เงินบริจาคช่วยเหลือน้ำท่วม : คนภาคอื่นที่บริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยไป ก็เอามาลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อน (ต้องมีใบเสร็จเก็บไว้ด้วยนะจ๊ะ)
อื่นๆ ก็เป็นค่าลดหย่อนที่มีทุกปี ขอแบ่งเป็นกลุ่มให้ดูกันได้ง่ายแบบนี้ละกัน
กลุ่มครอบครัว
- ค่าลดหย่อนคู่สมรส : ลดได้ 60,000 บาท ถ้ามีคู่สมรสที่จดทะเบียน แต่ไม่มีเงินได้
- ค่าลดหย่อนบุตร : ลดได้ 30,000 บาทต่อลูกหนึ่งคน โดยมีเงื่อนไขว่า
– ลูกต้องมีอายุไม่เกิน 20 ปี
– ถ้าลูกอายุ 21-25 ปี ต้องกำลังศึกษาในระดับอนุปริญญา (ปวส.) ขึ้นไป
– ถ้าลูกอายุ 25 ปีขึ้นไป ต้องเป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
– และลูกต้องมีเงินได้น้อยกว่า 30,000 บาท (ยกเว้นเงินปันผล) หรือรายได้ที่มีนั้นได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย
- ค่าลดหย่อนบิดามารดา : ลดได้ 30,000 บาทต่อคน (พ่อแม่ตัวเองและคู่สมรส) โดยพ่อแม่ต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีเงินได้ไม่เกิน 30,000 บาทในปีนั้น และต้องมีหนังสือรับรองการเลี้ยงดู (ลย.03) ออกให้กับบุตรที่จะขอลดหย่อนภาษีด้วย (ลูกใช้สิทธิ์ได้เพียงคนเดียวเท่านั้น ตกลงกันให้ดีๆ ก่อนนะ)
- เบี้ยประกันสุขภาพบิดา-มารดา : ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยมีเงื่อนไขคือพ่อแม่ต้องมีเงินได้ไม่เกิน 30,000 บาท และต้องอยู่ในไทยไม่ต่ำกว่า 180 วันในปีนั้น กรณีมีลูกหลายคน เอามาหารเฉลี่ยเพื่อลดหย่อนภาษีได้
- ค่าลดหย่อนเลี้ยงดูคนพิการหรือทุพพลภาพ : ลดได้คนละ 60,000 บาท หากเป็นผู้ที่ดูแลตามกฎหมายของคนพิการ หรือคนทุพพลภาพที่มีเงินได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี (ถ้าผู้พิการหรือทุพพลภาพเป็นคนในครอบครัวด้วย ก็สามารถใช้สิทธิ์ควบได้เลย)
กลุ่มประกันและการลงทุน
- ประกันสังคม : เงินสมทบกองทุนประกันสังคมที่เราโดนหักกันทุกเดือนน่ะ สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้นะ โดยลดหย่อนได้ตามจริงเท่าที่จ่ายไป แต่ไม่เกิน 9,000 บาท
- เบี้ยประกันชีวิต : อันนี้จะแบ่งเป็น 2 กรณี ดูว่าเราทำประกันชีวิตแบบไหนไว้
๐ ประกันชีวิตทั่วไป : ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท โดยมีเงื่อนไขคือ
– มีความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
– มีผลตอบแทนคืนไม่เกิน 20% ของเบี้ยสะสม (เงินปันผลหรือเบี้ยคืนรายปี)
– เป็นกรมธรรม์ที่ซื้อจากบริษัทประกันชีวิตที่ดำเนินกิจการในไทย
– หากเวนคืนกรมธรรม์ก่อนครบ 10 ปี ถือว่าผิดเงื่อนไข จะไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
– หากเราซื้อประกันชีวิตให้คู่สมรสไว้ และคู่สมรสไม่มีรายได้ แต่ยังจ่ายเบี้ยประกันอยู่ ก็ยังสามารถนำเบี้ยประกันที่จ่ายไปมาหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 10,000 บาท
๐ ประกันชีวิตแบบบำนาญ : ลดหย่อนได้ 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท โดยมีเงื่อนไขคือ
– มีระยะเวลาเอาประกัน 10 ปีขึ้นไป
– จ่ายผลตอบแทนให้ผู้เอาประกันตั้งแต่อายุ 55 ปีต่อเนื่องไปจนถึงอายุ 85 ปี
– เมื่อรวมค่าเบี้ยประกันที่จ่ายให้กับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
- กองทุน LTF : เอาเงินที่ซื้อมาหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
- กองทุน RMF / กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ / กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ / กองทุนครูโรงเรียนเอกชน / กองทุนการออมแห่งชาติ : เอาเงินที่ซื้อมาหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15% ของเงินได้ และรวมกันทั้งหมดต้องไม่เกิน 500,000 บาท
กลุ่มอสังหาริมทรัพย์
- ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อการมีที่อยู่อาศัย : ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท โดยเป็นดอกเบี้ยจากเงินกู้การเช่าซื้อบ้าน คอนโด หรือที่อยู่อาศัย โดยมีเงื่อนไขคือ
– ต้องเป็นการกู้ยืมจากสถาบันการเงินภายในประเทศ และทรัพย์สินที่กู้ต้องใช้มาเป็นหลักในการค้ำประกันการกู้ด้วย
– หากมีการกู้สำหรับที่อยู่อาศัยมากกว่า 1 แห่ง สามารถใช้ลดหย่อนรวมกันได้ทุกแห่ง แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
– กรณีกู้ร่วมกันหลายคน ให้แบ่งคนละเท่าๆ กัน แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาทต่อคน
- โครงการบ้านหลังแรก : อันนี้เป็นกรณีพิเศษสำหรับคนที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์ในโครงการบ้านหลังแรกเมื่อปี 2558-2559 จะได้ลดหย่อนปีละ 120,000 บาท เป็นเวลา 5 ปี (อ่านเพิ่มเติม http://www.rd.go.th/publish/54661.0.html)
กลุ่มเงินบริจาค
- เงินบริจาคเพื่อการศึกษา กีฬา และพัฒนาสังคม : ลดหย่อนได้สองเท่าของจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอย่างอื่น
- เงินบริจาคทั่วไป : ลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอย่างอื่น
นอกจากค่าลดหย่อนแล้ว เรายังมี ‘ค่าใช้จ่ายส่วนตัว’ ที่จะมาช่วยบรรเทาการเสียภาษีเราได้ ซึ่งตรงนี้เราไม่ต้องทำอะไร ระบบจะคำนวณให้อัตโนมัติ โดยปีนี้ค่าใช้จ่ายส่วนตัวหักได้ 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ยกตัวอย่างเช่น สรุปรวมออกมาแล้วมีรายได้ทั้งหมด 300,000 บาท 50% คือ 150,000 บาท แต่ก็จะหักได้แค่ 100,000 บาทตามกำหนดเท่านั้น
กรณีที่อ่านแล้วทำตามทั้งหมดนี่ แต่ปรากฏว่า อ้าว เฮ้ย ยื่นผิด! ไม่ต้องตกใจ ก็แค่ล็อกอินเข้าไปยกเลิกของเก่าแล้วยื่นใหม่อีกรอบ
ใครทำได้ จบการศึกษาวิชายื่นภาษี 101 ไปเลย!
Illustration by Naruemon Yimchavee