สิ้นเดือนใกล้จะมาเยือนอีกแล้ว สัปดาห์นี้ เราก็จะเห็นทั้งรอยยิ้มกว้างๆ ของเพื่อนที่อ้ากระเป๋ารับเงินเข้าไปเต็มๆ กับรอยยิ้มเจื่อนๆ ของเพื่อนที่ใช้เงินเผื่ออนาคตไปแล้วในเดือนที่ผ่านมา
The MATTER เลยอยากชวนไปสำรวจกระเป๋าเงินของคนไทย ต้อนรับสิ้นเดือนที่กำลังใกล้เข้ามากันสักหน่อย
จะไปสะกิดไหล่ขอดูกระเป๋าคนที่เดินผ่านไปผ่านมาก็คงไม่ได้ เราเลยขอเปิดดูรายงาน ‘การสํารวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน’ ของสํานักงานสถิติแห่งชาติ ที่เก็บข้อมูลรายได้ ค่าใช้จ่าย และหนี้สินของทุกครัวเรือน ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ
2558 คือปีล่าสุดที่สำนักงานสถิติแห่งชาติเก็บข้อมูลรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่อครัวเรือนมา ซึ่งรายได้เฉลี่ยของครัวเรือนทั้งประเทศอยู่ที่ 26,915 บาทต่อเดือน ส่วนรายจ่ายเฉลี่ยของครัวเรือนในปีนั้นอยู่ที่ 21,157 บาทต่อเดือน (คิดเป็น 78.6% ของรายได้)
เจาะลึกลงไปที่ในส่วนเงินที่เราควักออกจากกระเป๋ากันสักหน่อย ปรากฏว่าเราจ่ายค่าอาหารและเครื่องดื่มกันมากที่สุด (จริงไหม?) คือ 33.7% รองลงมาเป็นพวกค่าบ้านค่าที่พักและของใช้ในบ้าน 20.4% ส่วนค่าเดินทางก็ใกล้เคียงกันคือ 18.3% ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ เราจ่ายค่าอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการกินอยู่ เช่น จ่ายค่าประกัน ซื้อของขวัญ หรือซื้อหวย รวมๆ แล้วเดือนละ 12.9%
ทีนี้พอลองมาดูเป็นภูมิภาค ก็พบว่า กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี และปทุมธานี (ที่รายงานเรียกรวมว่า ‘ตอนพิเศษ’) นั้นมีรายได้ รายจ่าย และหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนสูงกว่าภาคอื่นๆ ซึ่งก็อาจจะไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ เพราะเป็นเมืองหลวงและเมืองเศรษฐกิจ ขณะที่ภาคเหนือกลับเป็นภาคที่มีรายได้และรายจ่ายเฉลี่ยต่อครัวเรือนต่ำที่สุด
สำนักงานสถิติยังสำรวจเพิ่มเติมด้วยว่า อาชีพไหนมีรายได้สูงสุด พบว่าครัวเรือนที่มีสมาชิกเป็นนักวิชาการและผู้ปฏิบัติงานวิชาชีพ จะมีรายได้เฉลี่ยสูงสุดถึงประมาณ 56,000 บาทต่อเดือน ส่วนครัวเรือนที่มีสมาชิกประกอบอาชีพด้านประมงและป่าไม้ จะมีรายได้เฉลี่ยต่ำสุด คือประมาณ 13,000 บาทต่อเดือน
เห็นตัวเลขในรายงานนี้แล้วหลายคนอาจจะ เอ๊ะ! ในใจ (สูงไปหรือต่ำไปก็แล้วแต่) อย่างไรก็ตาม นี่คือค่าเฉลี่ยที่ได้จากวิธีสำรวจแบบสุ่มตัวอย่างของสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยแบ่งย่อยตามลักษณะการปกครอง (ในและนอกเขตเทศบาล) ซึ่งมีจำนวนครัวเรือนตัวอย่างทั้งสิ้น 52,000 ครัวเรือน
สำรวจกระเป๋าเงินเพื่อนร่วมชาติแล้ว สิ้นเดือนนี้ก็ลองสำรวจกระเป๋าเงินตัวเองกันด้วยนะ ว่าได้มาเสียไป และเหลือเก็บกันยังไงบ้าง