ชนเผ่าพื้นเมือง กลุ่มชาติพันธุ์ เป็นบุคคลกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ในรัฐไทยมาเนิ่นนาน พวกเขามีวิถีชีวิต วัฒนธรรม และในบางกลุ่มอาจรวมถึงภาษาที่เป็นของตัวเอง หรือกล่าวได้ว่าพวกเขามีอัตลักษณ์ที่แตกต่างจาก ‘ความเป็นไทย’ ในความเข้าใจโดยทั่วไป ยกตัวอย่าง ชาวม้งซึ่งยังคงนับถือผี และมีความเชื่อว่าโลก มนุษย์ และสัตว์ถูกสร้างขึ้นจาก ‘ผีฟ้า’ รวมถึงมีพิธีกรรมบูชายัญสิ่งมีชีวิตเพื่อเซ่นให้กับวิญญาณที่อาศัยอยู่ในป่าเขา
ในปัจจุบันประเทศไทยมีกลุ่มที่นิยามตนเองว่าเป็น ชนพื้นเมืองมากกว่า 40 กลุ่มชาติพันธุ์ และมีจำนวนประชากรกว่า 3,000,000 คน กลุ่มชาติพันธุ์ที่รู้จักกันดีก็อย่าง กะเหรี่ยง, คะฉิ่น, ไทใหญ่, ม้ง, มอญ, ลาวโซ่ง หรือกลุ่มที่อาจไม่คุ้นหูนัก เช่น มอแกลน (ไม่ใช่มอแกน) ซึ่งอยู่ในจังหวัดภูเก็ต, พังงา และระนองราว 7,800 คน หรือ กูย กลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ทางภาคอีสานและมีประชากรมากกว่า 400,000 คน
ซึ่งถ้าหากเทียบกับประชากรไทยทั้งหมดแล้ว กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้คิดเป็นประชากรเกือบ 1 ใน 20 ของประชากรทั้งหมดเลยทีเดียว อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันพวกเขายังไม่มีตัวแทนทางการเมืองที่เรียกได้ว่าเป็นของตัวเองอย่างเต็มปากนัก จนทำให้บางครั้งพวกเขาต้องยอมรับนโยบายจากส่วนกลาง ซึ่งไม่ได้สอดรับและโอบอุ้มอัตลักษณ์ต่างๆ ที่พวกเขาเป็นโดยแท้จริง
แต่ในปี 2550 กลุ่มชนพื้นเมืองจากทั่วทุกภาคในประเทศไทยได้รวมตัวกันจัดตั้ง “เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (คชท.)” ขึ้น ก่อนที่จะร่วมกันร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. … ขึ้น และปรับปรุงร่างกฎหมายดังกล่าวเรื่อยมา จนในปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนรวบรวมรายชื่อจำนวน 15,000 รายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายต่อรัฐสภา โดยในร่างกฎหมายดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้
- ให้มีการจัดตั้งสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย
- สมาชิกประกอบด้วย
- คัดเลือกจากทุกกลุ่มชาติพันธุ์ที่ขึ้นทะเบียนกับสภา กลุ่มละ 5 คน โดยต้องคำนึงถึงสัดส่วนชาย, หญิง และเยาวชนที่เป็นธรรม
- โดยสมาชิกต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี
- สมาชิกมีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี
- อำนาจหน้าที่
- จัดทำข้อเสนอและผลกระทบเชิงนโยบายต่อชนเผ่าพื้นเมืองถึงคณะรัฐมนตรี รัฐสภา และองค์การระหว่างประเทศ
- เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของสภาชนเผ่าพื้นเมือง และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับชนเผ่าพื้นเมือง
- ส่งเสริมเรื่องอาชีพและการจัดการสิ่งแวดล้อมตามวิถีของกลุ่ม และสนับสนุนการจัดการความขัดแย้งอย่างสันติ
- คุ้มครองสิทธิมนุษยชนและปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของชนเผ่าพื้นเมือง
- พิจารณาแผนงาน โครงการ และงบประมาณของสภา
- สนับสนุนการจัดตั้งสถานศึกษา และพัฒนาหลักสูตรวิถีวัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมือง
- พัฒนาระบบฐานข้อมูลของกลุ่มชาติพันธุ์
- ออกกฎระเบียบ ข้อบังคับตามพระราชบัญญัติ
- แต่งตั้งคณะผู้อาวุโสสภา คณะที่ปรึกษา คณะอนุกรรมการ และคณะทำงาน ตามที่สภาเห็นชอบ
- สมาชิกประกอบด้วย
- จัดตั้งคณะกรรมบริหารสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย
- สมาชิกประกอบด้วย
- คัดเลือกกันเองจากสมาชิกสภาจำนวน 15 คน
- ประธานสภา 1 คน เลือกจากสมาชิกสภา
- รองประธานสภาเป็นตัวแทนจากแต่ละภูมิภาค โดยให้แต่ละภูมิภาคคัดเลือกชายและหญิง 1 คน เพื่อให้ที่ประชุมสภาเลือกและรับรอง
- เลขาธิการสภา 1 คน
- อำนาจและหน้าที่
- จัดให้มีการประชุมสภาภายใน 120 วัน นับจากวันที่ประกาศใช้ พ.ร.บ. ฉบับนี้
- จัดให้มีการประชุมสภาสมัยสามัญปีละ 1 ครั้ง
- จัดให้มีการประชุมสภาสมัยวิสามัญ เมื่อสมาชิกสภาเข้าชื่อครบ 1 ใน 5 หรือกรณีมีเหตุจำเป็น
- การลงคะแนนให้ถือหลักฉันทามติ ยกเว้นในเรื่องการเงิน แผนโครงการ หรือเรื่องที่มีลักษณะเป็นงานประจำให้ถือหลักเสียงข้างมาก
- ถ้าเรื่องใดยกเว้นหลักฉันทามติ ให้หารือกับคณะผู้อาวุโส โดยความเห็นของคณะผู้อาวุโสถือเป็นที่สุด
- สามารถเชิญบุคลากรภาครัฐมาให้ข้อมูลหรือแสดงความคิดเห็น
- สมาชิกประกอบด้วย
- จัดตั้งคณะผู้อาวุโสชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย
- สมาชิกประกอบด้วย
- คัดเลือกจากผู้ทรงภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์ นักพัฒนา หรือนักวิชาการจำนวน 15 คน
- อำนาจและหน้าที่
- ให้คำปรึกษาแก่สมาชิกสภา คณะทำงาน
- ให้ความเห็นเรื่องและข้อเสนอแนะต่อแผนงานและงบประมาณสภา
- ไกล่เกลี่ยกรณีที่เกิดข้อพิพาท
- ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามที่ได้รับมอบหมาย
- สมาชิกประกอบด้วย
- จัดตั้งกองทุนสภาพื้นเมืองแห่งประเทศไทย
- สมาชิกประกอบด้วย
- กรรมการสภาที่คัดเลือกกันเอง 7 คน
- ผู้แทนสำนักนายกฯ 1 คน
- ผู้แทนสำนักงบฯ 1 คน
- ผู้เชี่ยวชาญด้านกองทุน 1 คน
- ผู้เชี่ยวชาญด้านชนเผ่าพื้นเมือง 1 คน
- อำนาจและหน้าที่
- นำเงินที่ได้รับไปสนับสนุนโครงการของสภา และกิจกรรมกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ โดยได้รับเงินจาก
- ครม. จัดสรรงบให้เป็นรายปี
- มีผู้บริจาคให้เพื่อสมทบกองทุนโดยไม่มีเงื่อนไข
- รายได้อื่นๆ
- นำเงินที่ได้รับไปสนับสนุนโครงการของสภา และกิจกรรมกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ โดยได้รับเงินจาก
- สมาชิกประกอบด้วย
- จัดตั้งสำนักงานสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย มีหน้าที่คล้ายกับสำนักงานเลขาสภาผู้แทนราษฎร โดยให้เลขธิการสภาชนเผ่าพื้นเมืองเป็นผู้ดูแล มีหน้าที่สำคัญ อาทิ จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับการดำเนินงานของสภา ประสานงานและให้ความร่วมมือในด้านต่างๆ รวมถึงจัดทำฐานข้อมูลประชากรชนเผ่าพื้นเมืองของประเทศไทย
- บทเฉพาะกาล
- ในระยะเริ่มต้นให้สํานักนายกฯ ทําหน้าที่เป็นสํานักงานสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย
- ในระยะเริ่มต้นให้สำนักนายกฯ ร่วมมือกับสํานักงานเลขาธิการสภา ดําเนินการเลือกสมาชิกสภาชนเผ่าพื้นเมืองภายใน 90 วัน และให้ดําเนินการจัดตั้งสํานักงานสภาชนเผ่าพื้นเมืองขึ้นภายในหนึ่งปี รวมถึงให้ดําเนินการรวบรวมและจัดทําทะเบียนประชากรชนเผ่าพื้นเมือง
- ให้คณะรัฐมนตรีจัดสรรงบประมาณเบื้องต้นสําหรับเป็นค่าใช้จ่ายให้แก่สํานักงานสภาชนเผ่าพื้นเมือง
- อาจมีการแก้ไขและปรับปรุงโครงสร้างและการบริหารจัดการสภา ให้เหมาะสมกับสถานการณ์และข้อเท็จจริงของแต่ละภูมิภาค โดยให้เป็นไปตามมติของที่ประชุมสภา
ดังนั้น ถ้าหากกฎหมายฉบับนี้สามารถเข้าสู่สภาและ ‘สภาชนเผ่าพื้นเมือง’ เกิดขึ้นจริง จะทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยได้มีตัวแทนที่เป็นปากเสียงและรักษาผลประโยชน์ให้กับให้กับพวกเขามากขึ้น ซึ่งจะทำให้พวกเขาสามารถออกแบบนโยบายเพื่อรักษาวิถีชีวิต วัฒนธรรม และประเพณีผ่านตัวแทนของพวกเขาในสภาชนเผ่าพื้นเมือง รวมถึงยังมีอำนาจในการแสดงความเห็นต่อนโยบายจากภาครัฐว่าสอดรับกับวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ตนหรือไม่
นอกจากนี้ หน้าที่อีกสองประการที่น่าสนใจของสภาชนเผ่าพื้นเมืองคือ หนึ่ง การสนับสนุนให้มีการจัดตั้งสถานศึกษาและออกแบบหลักสูตรที่สอดคล้องกับชาติพันธุ์ของตน ซึ่งน่าจะทำให้พวกเขาสามารถรักษาและสืบสานเอกลักษณ์ของกลุ่มต่อไป และสอง การจัดทำระบบฐานข้อมูลชาติพันธุ์ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการทำงานของภาครัฐและการค้นคว้าวิจัยในอนาคตต่อไป
Fact Box:
- สามารถเข้าไปอ่าน พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. … ฉบับเต็มได้ที่: ร่าง-พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย-พ.ศ….
- ร่วมเป็นหนึ่งใน 15,000 รายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายสู่สภาถึงวันที่ 30 มกราคม 2564 ได้ที่: แบบฟอร์มลงลายมือชื่อของผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมาย
- อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยได้ที่: ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับประชากรชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย
Illustrator by Waragorn Keeranan