นับตั้งแต่การปฏิรูปคณะสงฆ์ในสมัยรัชกาลที่ 4-5 พุทธศาสนาถูกใช้เป็นหนึ่งในเครื่องมือเพื่อสร้าง ‘รัฐชาติไทย’ ผ่านมหาเถรสมาคมที่เข้าไปปรับ แต่งเติม และตีความคำสอนและธรรมวินัยที่เคยหลากหลายให้สอดคล้องกับการตีความจากส่วนกลาง
คำสอนทางศาสนาถูกใช้เพื่อสนับสนุนเรื่องเล่า ‘พุทธราชาชาตินิยม’ สถาปนาอำนาจกษัตริย์ผ่านอำนาจศาสนาที่ค่อยแทรกซึมเข้าไปในสังคมทีเล็กละน้อย จนเห็นได้ชัดขึ้นเรื่อยๆ ผ่านวาทกรรม อาทิ ทศพิธราชธรรม หรือสมมุติเทพ ผู้ทรงศักสิทธิ์ แตะต้องไม่ได้ ไม่ต่างจากศาสนา
อย่างไรก็ตาม วันเวลาเป็นศัตรูตัวฉกาจของอำนาจเก่าเสมอ กระแสเสรีนิยมประชาธิปไตยพัดมาอีกครั้ง พร้อมขบวนการประชาชนที่เรียกร้องการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจรัฐ รวมถึงขบวนการสงฆ์ที่เรียกร้องให้ศาสนาเป็นอิสระจากอำนาจรัฐ หรือที่เรียกว่าในภาษายากๆ ว่า ‘รัฐฆราวาส (Secular State)’
สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านปรัชญา และเจ้าของหนังสือหลายเล่ม อาทิ ‘รัฐกับศาสนา: ศีลธรรม อำนาจ และอิสรภาพ’ ‘จากพุทธศาสนาแห่งรัฐสู่พุทธศาสนาที่เป็นอิสระจากรัฐ’ เป็นหนึ่งในคนที่เรียกร้องให้มีการแยกศาสนาออกจากรัฐมานาน ตลอดจนวิพากษ์ว่าศาสนาพุทธถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสถาปนาอำนาจสถาบันกษัตริย์อย่างไรบ้าง และเบื้องล่างนี้คือมุมมอง ความคิด และข้อเสนอของเขาต่ออนาคตของศาสนาและการเมืองไทย
ความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนา-การเมืองไทย แนบชิดกันมากแค่ไหน
การเมืองในความหมายที่ครอบคลุม หมายถึง ‘ความสัมพันธ์ทางอำนาจ’ (power relations) การเมืองในระบอบเสรีประชาธิปไตยคือการเมืองที่ยืนยัน ‘ความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เท่าเทียม’ บนหลักสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค
แต่การเมืองบ้านเราเน้น ‘ความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียม’ เพราะมีการเมืองในระบบปกติที่อยู่ภายใต้ ‘การเมืองนอกระบบปกติ’ อีกที กล่าวคือการเมืองในระบบของเรา อยู่ภายใต้เครือข่ายของชนชั้นศักดินาทุนนิยม (ราชวงศ์ที่รวยที่สุดในโลกตามข้อมูลนิตยสารฟอร์บส์) ที่มีขุนศึก (กองทัพ) นายทุนเป็นเครือข่าย มีศาล และระบบราชการโดยรวมเป็นกลไกสนับสนุน
สถาบันพุทธศาสนาในไทยเอง ก็ถูกทำให้กลายเป็นเครือข่ายของชนชั้นศักดินา ภายใต้ระบบ ‘มหาเถรสมาคม’ ที่สมณศักดิ์หรือศักดินาของพระถูกแต่งตั้งโดยกษัตริย์ ศาสนจักรจึงถูกกำหนดให้มีหน้าที่สนับสนุนอุดมการณ์หลักของประเทศคือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นบทบาทสนับสนุนอำนาจที่เหนือกว่าการเมืองในระบบปกติ ดังนั้น พุทธศาสนากับการเมืองนอกระบบของไทยจึงเป็นเนื้อเดียวกัน
เมื่อศาสนจักรขึ้นต่ออำนาจกษัตริย์ทำให้เกิดอาการ ‘สองมาตรฐาน’ คือ ถ้าพระภิกษุสามเณรสนับสนุนอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ย่อมไม่นับว่ายุ่งเกี่ยวการเมือง ถือเป็นหน้าที่ของพระดีควรทำ แต่ถ้าสนับสนุนการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยถือว่าเป็นพวกนอกรีตนอกรอย ขัดคำสั่งมหาเถรสมาคม
อาจารย์พูดถึง ‘พุทธราชาชาตินิยม’ มันหมายความว่าอย่างไร เรื่องเล่าดังกล่าวถูกใช้อย่างไรบ้าง
เวลาคนรุ่นใหม่บอกว่า ‘กูไม่ใช่ฝุ่น’ แปลว่าอะไรล่ะ ที่มาก็คือราชาศัพท์ “ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท” ซึ่งเป็นภาษาบาลีอันมีที่มาจากพุทธศาสนา เป็นภาษาใช้แบ่งชนชั้นในยุคพุทธศักดินา ตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ย้อนกลับไป ครั้งที่ชนชั้นปกครองคือกษัตริย์ เชื้อพระวงศ์ ขุนนาง และพระสงฆ์ราชาคณะ ชนชั้นผู้ถูกปกครองคือไพร่ ทาส
พุทธศักดินาก็คือพุทธศาสนานาแบบที่สนับสนุนระบบศักดินาไทยที่มีกษัตริย์เป็นธรรมราชา พระโพธิสัตว์ พระพุทธเจ้าอยู่หัว หรือเป็นเทวราช สมมติเทพซึ่งสะท้อนการผสมผสานปรัชญาการเมืองแบบพุทธกับพราหมณ์ฮินดูนั่นเอง
ส่วนพุทธราชาชาตินิยม เริ่มตั้งแต่ ร.5 สร้างรัฐชาติแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ยกเลิกระบบไพร่ ทาส และสร้างอุดมการณ์ราชาชาตินิยมโดยเน้นความรักชาติ พุทธศาสนา และถือว่ากษัตริย์สำคัญสูงสุดในฐานะผู้ปกครองที่สร้างความรุ่งเรืองแก่ชาติและพุทธศาสนา ต่อมา ร.6 ผนวกรวมพุทธศาสนาเป็นหนึ่งในอุดมการณ์สูงสุดคือ ‘ชาติ ศาสนา(พุทธ) พระมหากษัตริย์’ ดังที่ตกทอดมาจนปัจจุบัน
ในยุคพุทธราชาชาตินิยมนี่เอง ร.5 ได้สร้างศาสนจักรของรัฐขึ้นคือ ‘มหาเถรสมาคม’ รวบอำนาจปกครองพระสงฆ์ทั่วราชอาณาจักรมาไว้ที่ส่วนกลางที่ขึ้นตรงต่ออำนาจกษัตริย์ ระบบนี้สืบทอดมาจนปัจจุบัน แม้อาจมีเว้นวรรคช่วงสั้นๆ ในยุคคณะราษฎร ดังนั้น พุทธศาสนาในปัจจุบันก็คือ ‘พุทธราชาชาตินิยม’ ที่ตกทอดมาแต่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นพุทธศาสนาในแบบที่ถูกอำนาจรัฐกำหนดให้ทำหน้าที่สนับสนุนอำนาจบารมีของกษัตริย์ หรืออุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นด้านหลัก
ธรรมวินัยและหลักเสรีนิยม สองสิ่งนี้ไปด้วยกันได้หรือไม่ และถ้าไปได้ควรเป็นอย่างไร
เสรีนิยม (liberalism) เป็นปรัชญาการเมืองและศีลธรรมทางโลก (secular) ที่วางรากฐานสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีของมนุษย์ให้กับหลักสิทธิมนุษยชนสากล และระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่หรือเสรีประชาธิปไตย (liberal democracy) หลักเสรีนิยมเกิดขึ้นเพื่อต่อต้านรัฐศาสนา อำนาจเผด็จการเทวสิทธิ์ หรืออำนาจเผด็จการแบบอิงศาสนาของระบบกษัตริย์ และเผด็จการทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเผด็จการโดยบุคคลคนเดียวหรือเผด็จการทรราชย์เสียงข้างมาก เสรีนิยมจึงสนับสนุนการแยกศาสนากับรัฐ ถือว่ารัฐต้องเป็นกลางทางศาสนา และให้หลักประกันเสรีภาพและความเสมอภาคในการนับถือศาสนาและไม่นับถือศาสนา
จากหลักการดังกล่าว เสรีนิยมไม่ได้เป็นปฏิปักษ์หรือต่อต้านศาสนาใดๆ หากมันไม่ละเมิดหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีของมนุษย์ เสรีนิยมปฏิเสธการที่รัฐจะออกกฎหมายคุ้มครองธรรมวินัยหรือหลักความเชื่อทางศาสนาใดๆ เพราะขัดกับหลักการที่รัฐต้องเป็นกลางทางศาสนา หลักเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนา
ส่วนคำสอนพุทธศาสนาหรือศาสนาใดๆ จะสอดคล้องไปกันได้กับหลักเสรีนิยมหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าพุทธศาสนิกจะตีความให้สอดคล้องหรือไม่ นักเสรีนิยมไม่ได้เรียกร้องให้ศาสนาใดๆ สนับสนุนหลักการเสรีนิยม แต่ปฏิเสธการที่รัฐจะให้อภิสิทธิ์แก่ศาสนาใดๆ และปฏิเสธการละเมิดเสรีภาพทางศาสนา หรือการใช้ศาสนาละเมิดสิทธิพลเมือง
สำหรับอาจารย์ นักบวชควรยุ่งกับการเมือง ‘มากน้อยแค่ไหน’ ภายใต้โลกเสรีนิยมที่ยึดถือคุณค่าสิทธิ และเสรีภาพ
ถ้าเปรียบเทียบกับอเมริกา เขาแยกศาสนากับรัฐอย่างเด็ดขาด องค์กรทุกศาสนาเป็นเอกชนมีอิสรภาพจากการถูกผู้มีอำนาจรัฐใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง นักบวช ผู้นำศาสนา องค์กรศาสนานิกายต่างๆ ที่มีหลากหลายเขาก็รู้ว่าความอยู่รอดของเขาขึ้นอยู่กับศรัทธาของประชาชน ศาสนาจึงยึดโยงอยู่กับประชาชน เป็นส่วนหนึ่งในการพิทักษ์สิทธิ และเสรีภาพของประชาชน เช่น ศาสนาจารย์มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ เป็นแกนนำต่อสู้เพื่อสิทธิเท่าเทียมของคนผิวดำ เป็นต้น
ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญของหลายรัฐในอเมริกาห้ามนักบวชมีตำแหน่งทางราชการและตำแหน่งทางการเมือง บรรดานักบวชก็มีวัฒนธรรมตระหนักใน ‘มารยาท’ พื้นฐานนี้ดี จึงระมัดระวังไม่เข้าไปยุ่งกับอำนาจรัฐและพรรคการเมืองต่างๆ แน่นอนอาจมีการเคลื่อนไหวอ้างความเชื่อทางศาสนาของกลุ่มอนุรักษ์นิยม เช่น กลุ่มต่อต้านสิทธิการทำแท้ง แต่ก็อยู่ภายใต้กรอบเสรีภาพในการแสดงออก ไม่ได้เลยเถิดไปถึงการเรียกร้องให้ใช้หลักศาสนาบัญญัติกฎหมาย หรือเรียกร้องให้รัฐออกกฎหมายปกป้องความเชื่อทางศาสนาแต่อย่างใด เรื่องที่ผมว่ามานี้มีอยู่ในหนังสือ ‘Democracy in America’ ของ Alexis De Tocqueville
ในไทยการที่ศาสนากับรัฐไม่แยกเป็นอิสระต่อกัน มหาเถรสมาคมที่ขึ้นตรงต่ออำนาจกษัตริย์กำหนดให้พระเณรมีหน้าที่ทางการเมืองแบบยุคสังคมจารีต คือสนับสนุนศักดินาด้วยการสอนประชาชน ประกอบพิธีกรรม และอื่นๆ เพื่อกล่อมเกลาปลูกฝังให้ประชาชนมีสำนึกในบุญคุณของกษัตริย์ จงรักภักดีต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์เป็นด้านหลัก พระเณรจึงไม่มีสิทธิทางการเมือง เช่น ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่มีเสรีภาพแสดงออกทางการเมืองสนับสนุนประชาธิปไตย เพราะมีคำสั่งมหาเถรฯ อันเป็นอำนาจทางกฎหมายห้ามไว้
ทางออกเบื้องต้นหากมีการ ‘ร่างรัฐธรรมนูญใหม่’ ต้องให้สิทธิเลือกตั้งแก่นักบวช การแสดงออกทางการเมืองของพระเณรในฐานะปัจเจกบุคคลก็ให้เป็นไปตามสิทธิพลเมืองเหมือนประชาชนทั่วไป แต่ถ้าพระเณรต้องการทำงานการเมืองในฐานะนักการเมือง ก็ต้องลาสิกขาบท เหมือนคนอื่นๆ ที่ต้องลาออกจากราชการหรือตำแหน่งทางธุรกิจเอกชนต่างๆ เพื่อลงเล่นการเมือง
บางคนสงสัยว่า ‘รัฐฆราวาส’ จะแตกต่างกับที่เราเป็นอยู่ทุกวันนี้อย่างไร หลักเกณฑ์ของรัฐฆราวาสเป็นอย่างไร
รัฐฆราวาสหรือ secular state ไม่มีกษัตริย์เป็นสมมติเทพที่แตะไม่ได้ครับ เพราะสถานะเช่นนี้เป็นสถานะศักดิ์สิทธิ์แบบศาสนาที่ตกทอดมาจากรัฐศาสนาในยุคสังคมจารีต ประมุขของรัฐคือ ‘คนเท่ากัน’ กับประชาชน อาจมีสิทธิพิเศษบางอย่างในฐานะประมุขของรัฐได้ แต่ต้องอยู่ใต้หลักเสรีภาพในการตรวจสอบของประชาชน
อังกฤษก็ไม่ใช่รัฐฆราวาส แม้กษัตริย์จะอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและประชาชนมีเสรีภาพตรวจสอบ แต่กษัตริย์หรือพระราชินียังมีตำแหน่งประมุขศาสนจักรอังกฤษ (Church of England) นักบวชนิกายนี้มีฐานันดรศักดิ์และได้อภิสิทธิ์มีที่นั่งในสภาสูงโดยตำแหน่ง ส่วนไทยศาสนจักรและระบบสมณฐานันดรศักดิ์ของพระก็ขึ้นตรงต่ออำนาจกษัตริย์ดังกล่าวแล้ว สภาวะเช่นนี้จึงไม่สอดคล้องกับรัฐฆราวาสที่แยกกันเด็ดขาดระหว่างศาสนากับรัฐ เหมือนในสหรัฐอเมริกา
การปฏิรูปศาสนาเพื่อแยกศาสนาออกจากการเมืองจะส่งผลอย่างไรบ้าง ทั้งในด้านสังคม การเมือง เศรษฐกิจ
บ้านเราศาสนากับสถาบันกษัตริย์คือเนื้อเดียวกัน สถานะศักดิ์สิทธิ์ที่แตะไม่ได้ของกษัตริย์มี ‘ความเป็นศาสนา’ มากกว่าสถานะของนักบวชเลยด้วยซ้ำ ถ้าปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญและตรวจสอบได้ จึงจะปฏิรูปศาสนาโดยแยกองค์กรศาสนาจากการขึ้นตรงต่ออำนาจกษัตริย์ ซึ่งทำได้สองทาง คือ
หนึ่ง แบบไม่แยกศาสนากับรัฐ แต่แยกการปกครองสงฆ์เป็นอิสระจากอำนาจกษัตริย์ โดยให้การแต่งตั้งสมณศักดิ์เป็นไปตามพระราชศรัทธาส่วนตัวของกษัตริย์ ห้ามไม่ให้พระที่มีสมณศักดิ์เป็นฝ่ายบริหารโดยตำแหน่ง แต่ให้มี ‘ระบบสังฆสภา’ ที่มีฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และวินัยธร หรือ ตุลาการ มีตัวแทนมาจากการเลือกตั้งของพระเณรทั่วประเทศ ระบบนี้อาจเป็นไปได้ที่จะทำให้องค์กรสงฆ์เป็นอิสระจากการถูกกำหนดให้สนับสนุนสถาบันกษัตริย์ในทางที่ขัดหลักประชาธิปไตย
แต่ทางเลือกนี้ ศาสนาก็ยังมีอภิสิทธิ์ในรัฐ เพราะยังเอาอำนาจรัฐ (กฎหมาย) และงบประมาณไปใช้ในระบบสังฆสภาอยู่ดี อาจมีคำถามว่าเป็นระบบที่ไม่จำเป็นและสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุหรือไม่
สอง แบบแยกศาสนากับรัฐ อาจปรับเข้ากับภูมิหลังทางประวัติศาสตร์คือคงมีสมณศักดิ์ที่กษัตริย์แต่งตั้งตามพระราชศรัทธาส่วนตัว แต่ให้องค์กรสงฆ์และองค์กรทุกศาสนาเป็น ‘เอกชน’ กล่าวคือมีอิสระปกครองกันเองแบบองค์กรเอกชนต่างๆ เช่น บริษัท ห้างร้าน และอื่นๆ รัฐไม่ส่งเสริมหรืออุปถัมภ์ศาสนาใดๆ ยกเลิกการบังคับเรียนเพื่อปลูกฝังความเชื่อทางศาสนาในหลักสูตรของศึกษาของชาติ ให้เรียนปรัชญาศีลธรรม (moral philosophy) หรือจริยศาสตร์ (Ethics) แทน ทางเลือกนี้องค์กรศาสนาเป็นเอกชนเหมือนองค์กรศาสนาในอเมริกา ศาสนาก็จะยึดโยงอยู่กับการปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะองค์กรศาสนาเอกชนต้องพึ่งประชาชนเท่านั้น ไม่ต้องพึ่งอำนาจรัฐ จึงไม่มีหน้าที่ตอบสนองอำนาจรัฐอีกต่อไป โดยส่วนตัวผมสนับสนุนแนวทางที่สองมากกว่า
การเรียนปรัชญาศีลธรรม หรือจริยศาสตร์ แทนการเรียนศาสนาพุทธเพียงอย่างเดียวจะส่งผลอย่างไรบ้าง
ผมเห็นกลุ่มนักเรียนเลวพูดว่าไหนบอกศาสนาไม่ยุ่งกับการเมือง แล้วทำไมบังคับให้เราเรียนวิขาพุทธศาสนา มันเหมือนปลูกฝังแนวคิดศีลธรรมแบบพุทธให้กับเราเลย และเราก็ใช้ศีลธรรมแบบนี้แหละ ไปตัดสินว่าคนอื่นดีหรือเลว ซึ่งสิ่งที่เด็กพูดมันตรงกับปรากฎการณ์ที่ผ่านมาเลย ที่เขาวิจารณ์นักการเมืองว่าไม่มีศีลธรรม ในขณะเดียวกันก็ยกย่องสถาบันว่าทรงทศพิธราชธรรมตลอดเวลา
ปัญหาของการเรียนแต่พุทธศาสนาคือ มันสร้างกรอบความเข้าใจให้คนไทยรู้จักศีลธรรมในมิติเดียว แต่ศีลธรรมมันมีหลายรูปแบบ มีเรื่องที่เรียกว่าศีลธรรมแบบโลกวิสัย (Secular Morality) ศีลธรรมที่ยึดโยงกับแนวคิดเสรีนิยมที่กำหนดความถูก-ผิดทางศีลธรรมไว้ว่า ต้องเคารพสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ต่างกับในทางพุทธไทยที่บอกว่า ถ้าเป็นคนดีแล้ว มันก็มีข้อยกเว้น คนดีทำรัฐประหารได้ ทำอะไรที่ละเมิดหลักการได้
แต่ถ้าเราเรียนจริยธรรม เราจะได้เรียนแง่มุมของจริยศาสตร์ที่หลากหลาย อย่างเช่น อรรถประโยชน์นิยม (Utilitarianism) เนี่ย มันบอกว่าการทำเพื่อผู้อื่น คิดถึงส่วนรวม คิดถึงเพื่อนมนุษย์คือสิ่งที่ดี ขณะที่ อัตนิยม (Egoism) บอกว่าการเห็นแก่ตัวก็ไม่แย่ ถ้าไม่ได้ไปละเมิดสิทธิคนอื่น มันก็จะมีการถกเถียงกันถึงแนวคิดศีลธรรมหลายๆ แบบ
และเราก็นำหลักศาสนาไปเรียนในลักษณะของจริยศาสตร์เพื่อหาความคิดสำคัญของพุทธศาสนา หาความเป็นเหตุผล หาข้อถกเถียงโต้แย้งต่างๆ และเมื่อนักเรียนได้เรียนหลายๆ แนวคิด เรียนจนเห็นทุกมุมและเห็นความเชื่อมโยงกับชีวิต สังคม การเมือง ในปัจจุบันของเราอย่างไร เสร็จแล้วให้เขาคิดเองว่าจะเชื่ออะไร
แต่ ตอนนี้เราเรียนอย่างเดียวคือ นักเรียนท่องซ้ำตั้งแต่ ป.1-6 ประเสริฐ ตรัสรู้ ปรินิพพาน พระพุทธเจ้าเดินได้ 7 ก้าว (หัวเราะ)
การปฏิรูปให้เป็นเอกชน ทำให้บางฝ่ายกังวลว่าจะทำให้ศาสนาเสื่อมลงหรือเปล่า
ตอนนี้ก็เสื่อมความนิยมจากคนรุ่นใหม่มากแล้ว อยู่แบบเดิมยิ่งไร้อนาคต แต่การแยกจากรัฐเป็นเอกชนจะเกิดการแข่งขันอย่างเสรี เราก็ต้องเชื่อในศักยภาพของศาสนิกว่าเขามีปัญญาความสามารถที่จะพัฒนาองค์กร วิธีการที่ทันสมัยในการเผยแพร่คำสอน การศึกษาตีความคำสอน และการปฏิบัติพิธีกรรมให้เกิดประโยชน์กับชีวิตและชุมชน หรือสังคมที่ศรัทธาได้จริง คนจะนับถือศาสนาเพราะเห็นประโยชน์ไม่ใช่นับถือศาสนาเพราะเอกสารทางราชการกำหนดให้ระบุ ก็ต้องยกเลิกการระบุศาสนาในเอกสารราชการทุกอย่าง
อาจารย์ตั้งคำข้อสังเกตกับข้อเสนอปฏิรูปพุทธของคณะปฏิสังขรณ์ศาสนาใหม่ว่า ‘ขัดแย้งในตัวเอง’ มันขัดกันอย่างไร และอาจารย์มองว่าองค์กรศาสนาควรเป็นอย่างไร
คือผมเห็นด้วยที่กลุ่มนี้ออกมาสู้เพื่อประชาธิปไตยร่วมกับราษฎร แต่ข้อเสนอสองข้อที่ว่า ‘แยกศาสนากับรัฐ’ และ ‘ร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ใหม่’ มันขัดกัน เพราะถ้าแยกศาสนากับรัฐ ก็มีกฎหมายปกครองคณะสงฆ์ไม่ได้ องค์กรสงฆ์และทุกองค์กรศาสนาต้องเป็นเอกชนหมด ทีนี้บางคนในกลุ่มบอกว่าต้องไปทีละขั้นตอนคือปฏิรูปกฎหมายสงฆ์เพื่อให้พระเณรมีอิสรภาพจากอำนาจกษัตริย์ก่อน ค่อยไปถึงขั้นที่ยากกว่าคือแยกศาสนากับรัฐ
แต่ปัญหาคือ เราจะรู้ได้ไงว่าถ้ามีระบบสังฆสภา ซึ่งพัฒนาต่อจาก พ.ร.บ. คณะสงฆ์ 2484 ที่ยังขึ้นกับอำนาจรัฐ มันจะไม่กลายเป็นอุปสรรคต่อการแยกศาสนากับรัฐเสียเอง เพราะถ้าระบบสังฆสภาเข้มแข็งทำให้พระสงฆ์ชินกับการมีอำนาจทางกฎหมายและงบประมาณจากรัฐก็ยากที่เขาจะอยากแยกจากรัฐเป็นเอกชน ดีไม่ดีระบบสังฆสภาอาจกลายเป็นกำลังหลักในการเรียกร้องให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ และเรียกร้องให้ตั้ง “กระทรวงพุทธศาสนา” เสียเอง นี่ก็เป็นคำถามที่อยากฝากให้ช่วยกันคิด
แต่บางฝ่ายถกเถียงว่า ในทางปฏิบัติสังคมยังไม่พร้อม อาจารย์เลยเสนอปฏิรูปกฎหมายสงฆ์ มันเป็นอย่างไร
ที่ว่า ‘สังคมยังไม่พร้อม’ มันเป็นวาทกรรมที่ไม่มีกระบวนการพิสูจน์ เหมือนที่บอกว่า ‘เรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ สังคมยังไม่พร้อม’ แล้วเราพิสูจน์ด้วยการเปิดอภิปรายเรื่องนี้ในสภาหรือยัง เปิดให้ลงประชามติโดยทุกฝ่ายที่เห็นต่างรณรงค์ได้ภายใต้กติกาที่เสรีและเป็นธรรมหรือยัง การแยกศาสนากับรัฐก็ต้องพิสูจน์ผ่านกระบวนการประชาธิปไตยแบบเดียวกันนี้ไม่ใช่หรือ
ประเด็นปฏิรูปกฎหมายสงฆ์เป็นข้อเสนอของคนอื่น เช่น คณะแครอท ส่วนผมเสนอ ‘แยกศาสนากับรัฐ’ มาตลอด
มองว่าทิศทางของรัฐฆราวาสที่ใกล้เคียงกับประเทศไทยที่สุด เป็นอย่างไร คล้ายประเทศไหนไหน
ผมคิดว่าแบบอเมริกาตามที่พูดไปแล้วน่าจะนำมาศึกษาเป็นแนวทาง ต่างแต่ว่าเรามีสถาบันกษัตริย์ ก็ต้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญและเกี่ยวข้องกับศาสนาในฐานะเป็นพระราชศรัทธาส่วนตัว อาจให้มีอำนาจแต่งตั้งสมณศักดิ์แก่พระสงฆ์ที่ทรงนับถือได้ ถือว่าเป็นการยกย่องในเชิงวัฒนธรรม แต่พระที่มีสมณศักดิ์ต้องไม่ผูกพันใดๆ กับการมีตำแหน่งบริหารคณะสงฆ์ เพราะคณะสงฆ์แปรรูปเป็นเอกชนในลักษณะที่แต่ละกลุ่มหรือแต่ละนิกาย มีอิสระเลือกผู้นำหรือคณะบริหารองค์กรของตนเอง
แนวทางนี้จะทำให้องค์กรศาสนาและพระภิกษุสามเณรมีอิสรภาพจากการถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของผู้มีอำนาจรัฐและมีอิสรภาพในการออกแบบการปกครองกันเองตามธรรมวินัย รวมถึงเสรีภาพศึกษาตีความคำสอนและการปฏิบัติพิธีกรรมตามนิกายต่างๆ ตามกลุ่ม หรือสายครูอาจารย์นั้นๆ
พุทธศาสนาก็จะปรับตัวคลี่คลายหลากหลายสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม และยั่งยืนไปในทางตอบสนองต่อการแก้ทุกข์ทางใจของปัจเจกบุคคลและปัญหาสังคมที่ซับซ้อน มากกว่าที่จะเป็นองค์กรศาสนาแบบระบบราชการที่แข็งทื่อด้วยวัฒนธรรมอำนาจนิยมและอนุรักษ์รักนิยมสุดโต่งดังที่เป็นมาและเป็นอยู่
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายหลักของการเป็นรัฐฆราวาส คือการยกเลิกระบบการเมืองและวัฒนธรรมที่ใช้ศาสนาหรือสถาบันศาสนาเป็นเครื่องมือสนับสนุนผู้มีอำนาจรัฐ ยกเลิกระบบแบบแผนใดๆ ที่ยกให้ศาสนามีอภิสิทธิ์ใช้อำนาจรัฐและงบประมาณจากภาษีประชาชนเพื่อส่งเสริมความเชื่อส่วนตัวของกลุ่มองค์กรศาสนาใดเป็นพิเศษ และยกเลิกการบังคับเรียนเพื่อปลูกฝังความเชื่อทางศาสนาในระบบการศึกษาของรัฐ ซึ่งขัดต่อหลักเสรีภาพทางศาสนาและไม่เป็นธรรมต่อคนที่ไม่นับถือศาสนา
คำถามสุดท้าย อาจารย์มองว่าในอนาคต ศาสนาจะมีแนวโน้มเป็นอย่างไรบ้าง
ในกรณีของไทย เราเห็นได้ชัดว่าคนรุ่นใหม่หันหลังให้วัดมากขึ้น เพราะฟังพระไม่รู้เรื่อง ไปฟังพระเทศน์ก็เหมือนพูดกันคนละภาษา แต่การที่คนหันหลังให้ศาสนาหรือการที่คนไม่มีศาสนาเพิ่มขึ้น ไม่ได้แปลว่าศีลธรรมของคนจะเสื่อมลง เพราะมันมีงานวิจัยของสหรัฐฯ ออกมาว่า ในเด็กกว่าพันคนที่เติบโตมาในครอบครัวที่เคร่งศาสนา กับครอบครัวที่ไม่นับถือศาสนา เด็กที่โตในครอบครัวที่เคร่งศาสนามีแนวโน้มจะทำผิดศีลธรรมมากกว่าครอบครัวที่ไม่นับถือศาสนา เพราะเด็กที่ถูกอบรมมาในครอบครัวเคร่งศาสนามักจะหลงผิดว่าถ้าตัวเองเป็นคนดี มีศีลธรรมตามหลักศาสนาสามารถทำอะไรที่ละเมิดหลักสิทธิ เสรีภาพได้โดยไม่ผิด
ผมมองว่าทำไมผลวิจัยนี้มันสอดคล้องกับสังคมไทยเหลือเกิน (หัวเราะ) เพราะถ้าคุณอ้างว่ามีศีลธรรมอย่างพุทธอิสระ สันติอโศก หรือเสื้อเหลืองที่ออกมาอ้างว่าเป็นคนดีปกป้องสถาบันและศาสนาเนี่ย พวกเขากลับคทำเหมือนตัวเองสามารถพูดหรือแสดงออกในลักษณะข่มขู่ คุกคาม และละเมิดสิทธิเสรีภาพคนอื่นได้
อย่างในเมืองไทย นักวิชาการ หรือคนรุ่นใหม่ที่ผมรู้จัก เขาแสดงออกว่าเขาไม่นับถือศาสนา คนเหล่านี้กับมีจิตใจแบบมีศีลธรรมแบบเสรีนิยม คือเคารพในความเป็นมนุษย์ เคารพในสิทธิเสรีภาพของมนุษยื ตรงนี้คือศีลธรรมที่เป็นกหลักการทั่วไป ที่คนสมัยใหม่จะต้องมี คือการเคร่งศาสนาไม่ช่วยให้คนมีสิ่งนี้เลย
Fact Box:
สุรพศ ทวีศักดิ์ เป็นนักเขียนในนามปากกา ‘นักปรัชญาชายขอบ’ เขามีผลงานหนังสือด้านปรัชญาและศาสนา เช่น “มนุษย์กับเสรีภาพ: มุมมองทางปรัชญาคานท์, มิลล์, รอลส์” “รัฐกับศาสนา: ศีลธรรม อำนาจ และอิสรภาพ” “จากพุทธศาสนาแห่งรัฐสู่พุทธศาสนาที่เป็นอิสระจากรัฐ” เป็นต้น และเขียนบทความทางเว็บไซต์ประชาไทเกี่ยวกับประเด็นปรัชญา ศาสนา การเมือง และสังคมอย่างสม่ำเสมอ