พลันที่เห็นรายชื่อกรรมการยุทธศาสตร์ชาติอีก 12 คนซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่งตั้งไปเมื่อวานนี้ หลายคนอาจจะแอบอุทานในใจว่า นี่ไม่ใช่แค่ ‘ผู้ทรงคุณวุฒิ’ เท่านั้น ยังเป็น ‘ผู้ทรงวัยวุฒิ’ ด้วย เพราะมีแต่ผู้อาวุโสมากประสบการณ์
และเมื่อนำไปรวมร่างกับผู้ที่เป็นกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ‘โดยตำแหน่ง’ อีก 17 คนก่อนหน้า ที่นำทีมโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็จะพบว่า คณะทำงานที่จะมาวางอนาคตให้กับคนทั้งชาติ มีอายุรวมกันถึง 1,766 ปี* เลยทีเดียว (นี่ขนาดยังตั้งไม่ครบนะ ถ้าครบทะลุ 2,000 ปีแน่ๆ
แม้ใครจะบอกว่า ควรจะให้เขาเริ่มทำงานก่อนค่อยมาวิจารณ์สิ แต่ The MATTER เห็นว่า สิ่งที่คนเหล่านี้ทำจะส่งผลต่ออนาคตของคนไทยทั้ง 67 ล้านคน ไปอีกยี่สิบปีข้างหน้า (แม้ยุทธศาสตร์ชาติจะสามารถทบทวนได้ทุกห้าปี แต่ก็ทำได้เพียงแก้ไขเพิ่มเติมเท่านั้น ยังต้องใช้ฉบับแรกเป็นโครงอยู่ดี) จึงสมควรที่จะช่วยกันตรวจสอบแต่เนิ่นๆ ตั้งแต่เรื่องของที่มาและคุณสมบัติ
และนี่คือข้อค้นพบเบื้องต้น 3 ข้อ ที่เราเห็น เราสงสัย และเราอยากชักชวนให้ทุกคนร่วมกันตั้งคำถาม
1. กรรมการยุค Baby Boomer ชายล้วน อายุเฉลี่ย 63 ปี
ข้อสังเกตแรกของเราก็คือ กรรมการยุทธศาสตร์ชาติทั้งหมดเป็น ‘ผู้ชาย’ และมีอายุระหว่าง 56 – 90 ปี ซึ่งเมื่อคำนวณพบว่าจะมีอายุเฉลี่ย 63 ปีเศษ หรือพ้น ‘วัยเกษียณ’ ไปแล้ว ทั้งที่ใน พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 เขียนไว้ว่าในการแต่งตั้งกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ โดยเฉพาะในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิ ให้คำนึงถึง “ความหลากหลายของช่วงอายุ” ด้วย แต่กลายเป็นว่า ไม่มีคนที่อายุต่ำกว่า 55 ปีอยู่เลย (ทั้งที่กฎหมายไม่ได้กำหนดอายุขั้นต่ำเอาไว้) โดยแบ่งเป็นช่วงวัย 55 – 59 ปี 9 คน ช่วงวัย 60 – 64 ปี 11 คน ช่วงวัย 65 – 69 ปี 4 คน และอายุมากกว่า 70 ปี อีก 4 คน
ซึ่งตามหลักการแบ่งเจเนอเรชั่น คนกลุ่มนี้คือ Baby Boomer ที่เกิดยุคหลังสงคราม ซึ่งแน่นอนว่า ย่อมมีความคิด ความต้องการ เป้าหมายของชีวิตที่แตกต่างจากผู้ที่เกิดภายหลัง ไม่ว่าจะเป็น Gen X Gen Y Gen Z หรือ Millennials แน่ๆ
โอเค เราไม่ปฏิเสธว่ากรรมการแต่ละคนก็เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ แต่จะดีกว่านี้ไหม หากให้มีคนจากหลากหลายช่วงวัย หลากหลายเจนฯ มากกว่านี้
2. ส่วนใหญ่เป็นทหาร กับนายทุน ตัวแทนประชาชนอยู่ที่ไหน
ในยุคที่ทหารเป็นใหญ่ แน่นอนว่าเรื่องสำคัญแบบนี้ ย่อมต้องมีทหารมาแจมมากกว่าคนจากอาชีพอื่นอยู่แล้วเนอะ โดยจาก 28 คน มีผู้เป็นทหารถึง 10 คน นักธุรกิจ 7 คน นักการเมือง 5 คน นักกฎหมาย 2 คน นักการศึกษา 2 คน ตำรวจ 1 คน และอื่นๆ 1 คน ซึ่งก็น่าตั้งคำถามว่าเหตุใดถึงไม่มีตัวแทนภาคประชาชนอยู่เลย? มีแต่คนที่เป็นชนชั้นนำของประเทศทั้งนั้น
แม้บางคนอาจจะแย้งว่า นพ.พลเดช ปิ่นประทีป อาจจะถือว่าเป็นตัวแทนของเอ็นจีโอหรือภาคประชาชนได้อยู่นะ
3. มีแต่คนหน้าเก่า เคยทำงานให้กับรัฐบาลประยุทธ์มาแล้ว
นอกจากเรื่องอายุที่เกาะกลุ่มเฉพาะผู้สูงวัย กับเรื่องอาชีพที่มีนายทหารเป็นส่วนใหญ่ อีกสิ่งที่ชวนสังเกตก็คือ กรรมการยุทธศาสตร์ชาติชุดนี้ มีถึง 25 คน ที่เป็น ‘คนหน้าเก่า’ ที่ทำงานหรือเคยทำงานให้กับรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ มาแล้วทั้งสิ้น ไม่ว่าจะอยู่ใน คสช. ใน ครม. ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) หรือในคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.)
มีเพียง กลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยคนใหม่ กับ ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ที่ไม่เคยทำงานอยู่ในคณะกรรมการต่างๆ ข้างต้นมาก่อน**
การที่มีแต่คนหน้าเก่า ซึ่งเคยทำงานให้กับรัฐบาลซึ่งเข้ามาได้สามปีเศษแล้ว อาจแปลได้ว่าสิ่งที่จะกำหนดในยุทธศาสตร์ชาติ ก็คงไม่มีอะไรแปลกใหม่จากสิ่งที่พยายามทำๆ กันอยู่ในช่วงเวลาที่ผ่านมามากนัก
ข้อแตกต่างอาจจะเป็นแค่ ‘ผู้ลงมือทำ’ ทำตามแผนยุทธศาสตร์นี้จะเป้็นรัฐบาลชุดต่อๆ ไป เหมือนที่ พล.อ.ประยุทธ์บอกว่าจะไม่ ‘สืบทอดอำนาจ’ แต่เป็นการ ‘สืบทอดภารกิจ’ แถมจะไม่ทำก็ไม่ได้ด้วยนะ เพราะกฎหมายเขียนไว้ว่า ใครดื้อแพ่งอาจถูกยื่นฟ้องต่อ ป.ป.ช. ให้รับโทษทั้งทางวินัยหรือทางอาญา
*หมายเหตุ 1 : เรายังไม่ได้นำข้อมูลของอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) มาคำนวณด้วย เนื่องจากมีข้อมูลไม่เพียงพอ เบื้องต้นได้ติดต่อขอข้อมูลไปทาง สทท.แล้ว อยู่ระหว่างรอการตอบกลับ
**หมายเหตุ 2 : เราเพิ่งพบว่า กลินท์ สารสิน เคยได้รับแต่งตั้งให้เป็น สปท. ส่วน ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ เคยได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ตามมติ ครม. เมื่อปี 2558 นั่นแปลว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชุดปัจจุบัน ไม่มี ‘คนหน้าใหม่’ เลย แม้แต่คนเดียว