อีก 30 ปี เราจะอยู่ที่ไหน? ทำอะไร? ที่แน่ๆ Population Reference Bureau คาดการณ์ไว้ว่าประชาชนคนไทยจะลดลงจากตอนนี้ถึง 4 ล้านคน คนในทวีปแอฟริกาจะล้นมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลก และโลกกลมๆ ของเรานี้ จะมีคนรวมทั้งหมดเกือบหมื่นล้านคน (อบอุ่นกันล่ะทีนี้)
ทำไมประชากรในทวีปแอฟริกาถึงพุ่งสูงปรี๊ดขึ้นมา?
อย่างแรกเลย ก็คือการแพทย์และระบบสาธารณสุขที่ดีขึ้น ทำให้อัตราการตายของทารกและเด็กลดลง คนมีอายุยืนยาวขึ้น จากการสำรวจของ UN คนแอฟริกันที่เกิดในช่วงปี 1955 มีอายุขัยเพียง 37 ปีเท่านั้น แต่ชาวแอฟริกันที่เกิดในช่วงนี้ จะมีอายุยืนไปถึงประมาณ 60 ปี
ในขณะที่อัตราการเสียชีวิตน้อยลง อัตราการเกิดก็ยังสูงกว่าปกติ อย่างในปี 2017 นี้ 5 ประเทศที่มีอัตราการเกิดมากที่สุดในโลกอยู่ในทวีปแอฟริกาทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น สาธารณรัฐไนเจอร์ เป็นประเทศที่มีอัตราเจริญพันธุ์ (Total Fertility Rate) มากที่สุดในโลก คือ 7.3 คน นั่นก็คือในหนึ่งครอบครัวจะมีลูก 7-8 คน ขณะที่ประเทศชาด (Chad) และโซมาเลีย ซึ่งก็อยู่ในทวีปแอฟริกาเหมือนกัน จะมีลูก 6-7 คนต่อครอบครัว
แม้ว่ามีความพยายามในการรณรงค์การวางแผนครอบครัวในหลายประเทศ แต่ก็ยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จนักในแอฟริกา ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของความไม่พร้อมในการให้บริการคุมกำเนิด การต่อต้านการคุมกำเนิด ความเชื่อทางศาสนา ค่านิยมของสังคม หรือความเข้าใจผิดต่างๆ นานาเกี่ยวกับการคุมกำเนิดและผลข้างเคียง
แต่ในขณะที่ประชากรแอฟริกาเพิ่มขึ้น เชื่อไหมว่าประชาชนคนจีนที่เห็นอยู่มากมายกลับลดลง!
แม้ว่าตอนนี้จีนจะครองอันดับประชากรมากที่สุดของโลก จากปีนี้ไปถึงปี 2050 จีนจะกลายเป็นประเทศที่คาดว่าจะมีจำนวนประชากรลดลงมากที่สุด คือลดลง 44.3 ล้านคนจากปัจจุบัน สาเหตุมาจากนโยบายที่ให้หนึ่งครอบครัวมีลูกได้คนเดียวในช่วงก่อนหน้านี้ ทำให้มีผลคือประชากรลดฮวบ และแม้ตอนนี้จะยืดหยุ่นให้มีลูกเพิ่มขึ้นได้เป็น 2 คนต่อครอบครัวแล้ว ก็ยังส่งผลในระยะยาว ให้ประชาชนคนจีนโดยรวมลดลงจนน้อยกว่าอินเดียในอีก 30 ปีข้างหน้า
หลายประเทศในยุโรป หรือแม้แต่ประเทศไทยเอง ก็จะมีจำนวนประชากรลดลง ด้วยเหตุผลหลักๆ คือคนมีลูกน้อยลง ครอบครัวนึงเลือกที่จะมีลูกแค่ 1-2 คน หรืออาจจะไม่มีเลยด้วยซ้ำ เป็นเพราะผู้คน โดยเฉพาะผู้หญิง มีโอกาสทางการศึกษาและการทำงานเพิ่มขึ้น ทำให้ไลฟ์สไตล์เปลี่ยนแปลงไป บวกกับมีการวางแผนครอบครัวมากขึ้น มีความกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพต่างๆ ที่จะเพิ่มขึ้นเมื่อมีลูกมากขึ้น รวมไปถึงสถานการณ์ ผู้คนจึงเลือกที่จะมีลูกน้อยหรือไม่มีเลย
ทั้งหมดนี้ ย้อนกลับมาสู่คำถามที่ว่า ‘ทำไมเราต้องรู้เรื่องประชากรโลกด้วย?’ นั่นก็เพราะเรารู้การคาดการณ์อนาคตเพื่อที่จะวางแผนปัจจุบัน ในฐานะหนึ่งในหมื่นล้านคนในอีก 30 ปีข้างหน้า เราต้องเรียนรู้อะไรหรือปรับพฤติกรรมใดบ้าง เพื่อให้อยู่รอดได้ในโลกที่ทรัพยากรมีจำกัดและลดลงเรื่อยๆ
จะดูแลพ่อแม่ของเราที่กำลังจะเข้าสู่การเป็นประชากรกลุ่มสูงอายุยังไง หรือจะวางแผนเพื่อลูกหลานที่กำลังจะเติบโตขึ้นมาแบบไหน
อ้างอิงจาก
prb.org
populationpyramid.net
theguardian.com
worldatlas.com