ผมเคยได้พูดถึงปัญหาประชากรหดตัวและปัญหาสังคมสูงอายุของญี่ปุ่นไปแล้วหลายต่อหลายครั้ง เป็นปัญหาใหญ่ที่ยังครอบงำประเทศญี่ปุ่นอยู่จนถึงตอนนี้ แม้ตัวเมืองใหญ่ๆ ที่มีคนพลุกพล่านจะดูไม่มีปัญหา แต่ถ้าหากมีโอกาสได้ลองไปดูเมืองเล็กๆ ที่อยู่ตามต่างจังหวัดแล้วจะเข้าใจครับ บางเมืองเรียกได้ว่าไม่มีชีวิตชีวาเลยแม้แต่น้อย ตัวเมืองแทบจะเป็นเมืองร้าง เดินในเมืองก็ไม่ค่อยเจอคน บรรยากาศความเหงาปกครองเมืองชนิดที่เราไปเองก็ยังเหงาตาม
ปัญหาก็เป็นเหมือนงูกินหางครับ พอเมืองเล็ก คนก็ออกไปหางานในเมืองใหญ่ ประชากรลดลง ไม่มีครอบครัวใหม่ ไม่มีคนย้ายมา เมืองก็เล็กลงอีก วนแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นว่านับวันก็ยิ่งมีเมืองที่มีโอกาสล่มสลาย เมืองเริ่มร้างเพราะประชากรลดลงเรื่อยๆ จนไม่สามารถรักษาสถานะเมืองต่อไปได้ (จริงๆ ก็ไม่ใช่แค่เมืองบ้านนอก ย่านอิเคะบุคุโระในโตเกียวที่ผมเคยเขียนถึงก็มีโอกาสล่มสลายได้เพราะคนไม่อยากอยู่) ยังดีญี่ปุ่นเขาให้อำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่นมาก ไม่ได้รวมศูนย์อำนาจ ดังนั้น ท้องถิ่นก็สามารถที่จะวางแผนด้วยตัวเองว่า ทำอย่างไรเมืองหรือท้องถิ่นถึงจะกลับมามีชีวิตชีวาเหมือนเดิมได้
เป็นที่มาของ Chiiki Okoshi (地域おこし) แนวทางหรือการพยายามพัฒนาให้ท้องถิ่นกลับมาสดชื่น ทำให้เศรษฐกิจท้องถิ่นดี ประชากรมีความหวัง รักษาจำนวนประชากร และพยายามเพิ่มจำนวนประชากรถ้าเป็นไปได้ ด้วยความที่ท้องถิ่นมีอำนาจตัดสินใจ ตัวผู้ว่าจึงไม่จำเป็นต้องมาจากส่วนกลางที่อยู่ไม่นานแล้ววนไปจังหวัดอื่น แต่เป็นคนที่เลือกกันมาจากคนในท้องถิ่น เลยไม่แปลกใจว่าทำไมผู้ว่าถึงอยากพัฒนาท้องถิ่นตัวเองให้เต็มที่ และการที่ไม่ต้องเปลี่ยนคนแล้วเปลี่ยนแนวทางตาม ทำให้แต่ละท้องถิ่นสามารถหาไอเดียในการพัฒนาท้องถิ่นของตัวเองและวางแผนระยะยาวได้ ชนิดที่ว่าสามารถดึงเอาบริษัทหรือมืออาชีพที่มีชื่อเสียงด้านการพัฒนาเมืองให้กลับมามีชีวิตชีวา เอากลุ่มคนเหล่านี้เข้ามาทำวิจัยแล้วพยายามวางแผนการตลาดเพื่อการพัฒนาเมือง จะว่าไปก็เหมือนกับการบริหารสินค้าอย่างหนึ่งนั่นล่ะครับ ซึ่งปัจจุบันวิธีนี้ก็เป็นแนวทางหนึ่งในการฟื้นฟูเมือง ขนาดที่มีการเปิดสาขาวิชาการพัฒนาท้องถิ่นในระดับปริญญาโทเลยทีเดียว
หลายต่อหลายครั้ง การพัฒนาเมืองก็มาจากความมุ่งมั่นของชาวเมืองที่พยายามจะหาแนวทางในการดึงคนเข้ามาอยู่ในเมือง
แนวทางในการพัฒนาท้องถิ่นแบบที่พบเห็นได้บ่อย หรือจะเรียกว่าแบบแมสๆ ก็ได้ ทั้งหมดแยกออกมาได้ 5 แนวทางที่มีจุดเด่นจุดด้อยต่างกันไป แบบแรกคือ การนำเสนอ B-Grade Gourmet หรืออาหารพื้นๆ นั่นเอง แต่จุดสำคัญคือ ต้องเป็นอาหารพื้นๆ ที่ชาวบ้านแถบนั้นกิน ผลิตในท้องถิ่น และมีจุดเด่นต่างจากท้องที่อื่น เป็นการพยายามเอาอาหารมาโปรโมตเป็นจุดขายใหม่ให้คนมาทดลองกิน ซึ่งในญี่ปุ่นก็ทำกันหลายที่จนกลายเป็นกระแสเดินสายชิม B-Grade Gourmet ช่วยให้รายได้ไหลไปสู่เมืองต่างๆ เหล่านี้ บางเมืองที่ประสบความสำเร็จก็สามารถทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ ตัวอย่างเช่น Fujinomiya Yakisoba ในจังหวัดชิซูโอกะที่ทำให้เกิดเงินหมุนเวียนถึง 50,000 ล้านเยนเลยทีเดียว แถมไม่ได้แค่ขายในเมืองตัวเองแต่สามารถผลิตเป็นสินค้าวางขายทั่วประเทศได้ แต่ปัญหาหนึ่งคือ การพัฒนารูปแบบนี้ได้เงินจากการค้าขายจริง แต่ไม่ค่อยมีผลต่อการเพิ่มประชากร และก็ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จได้ง่าย บางเมืองก็ไม่มีของกินเป็นเอกลักษณ์อะไร หรือมีแต่ก็ไม่ได้ถูกปากคนนอกถิ่น
รูปแบบที่ 2 จะคล้ายๆ กับ B-Grade Gourmet คือการพัฒนาสินค้าท้องถิ่น หรือพูดง่ายๆ แบบที่คนไทยคุ้นก็คือ OTOP ซึ่งจริงๆ เราก็ไปเอาไอเดียเขามาปรับใช้นั่นละครับ ยิ่งในปัจจุบันที่อินเทอร์เน็ตเชื่อมต่อโลกให้เล็กลง ทำให้สามารถผลิตสินค้าและขายตรงต่อผู้ลูกค้าได้โดยไม่ต้องผ่านคนกลาง แทนที่จะผลิตสินค้าพื้นฐานแล้วขายต่อไป ก็เปลี่ยนเป็นการพัฒนาสินค้าต่อยอด เช่น ผลไม้ก็เอามาทำแยม ทำผลไม้แห้ง หรือไวน์ แล้วขายส่งออก ถ้าประสบความสำเร็จก็เป็นรายได้ แถมยังเพิ่มงานในท้องถิ่นได้อีกด้วย แต่ปัญหาคือ บางทีคนก็มักจะคิดว่า ทำแล้วต้องขายได้แน่ เพราะคนเรามักจะเชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองครองอยู่เกินความเป็นจริง แน่นอนว่าคนที่ผลิตก็ต้องชอบสิ่งที่ตัวเองผลิต แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าตลาดระดับประเทศจะชอบด้วย อารมณ์แบบว่า ส้มบ้านฉันอร่อยสุด คนต้องชอบ รวมไปถึงการขาดทักษะในการแปรรูประดับอุตสาหกรรม ทำให้มีความเสี่ยงสูงอาจไม่คุ้มกับการลงทุน เพราะมีหลายต่อหลายเมืองที่พยายามแล้วพลาดอย่างน่าเศร้า เหมือนลงทุนแล้วเจ๊ง
รูปแบบที่ 3 คือการเปลี่ยนเมืองให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ให้คนมาลองใช้ชีวิตในเมืองนั้นๆ ตรงนี้ไม่ได้หมายความถึงแค่เมืองที่มีแหล่งท่องเที่ยวอยู่แล้ว แต่เป็นการใช้ของที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ในการจัดการการท่องเที่ยวแบบทางเลือก เช่น ลองไปใช้ชีวิตในเกาะที่เป็นหมู่บ้านชาวประมง ลองไปทดลองทำนา หรือเก็บใบชา ช่วยเพิ่มโอกาสให้คนได้ลองไปใช้ชีวิตอีกแบบ นอกจากได้รายได้จากการท่องเที่ยวแล้ว ยังมีโอกาสที่คนมาเที่ยวจะติดใจจนอยากย้ายไปอยู่บ้างก็ได้ ซึ่งรูปแบบที่ 4 ก็จะคล้ายๆ กันคือ พยายามชูแหล่งท่องเที่ยวหลักเพื่อชวนคนมาทำกิจกรรมตามแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น Iga no Sato Mokumoku Tezukuri Farm ในจังหวัดมิเอะที่เริ่มจากเป็นสถานที่ผลิตข้าวสาลีและผักออร์แกนิก แล้วพัฒนาเป็นโรงงานแปรรูปสินค้า เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้คนเข้ามาชิมสินค้าถิ่น ทดลองทำคราฟต์เบียร์เอง ทำไส้กรอกเอง หรือทำฟาร์ม แล้วยังมีรีสอร์ตให้พัก แต่ละปีลูกค้ามาเยือนถึง 500,000 คน ทำรายได้ให้ท้องถิ่น รวมไปถึงเพิ่มจำนวนการจ้างแรงงานถึง 1,000 อัตรา แน่นอนว่ามีผลต่อการเพิ่มจำนวนประชากรของเมือง แต่ที่ต้องระวังก็คือการผูกท้องถิ่นเข้ากับกิจการใดกิจการหนึ่งมากเกินไป พอเลิกฮิตแล้วก็ลำบากได้
รูปแบบสุดท้ายคือ Chiiki Okoshi Kyouryokutai หรือจะแปลว่ากองกำลังช่วยเหลือการพัฒนาท้องถิ่นก็ได้ เป็นรูปแบบของการรับสมัครคนเข้ามาช่วยงานในท้องถิ่นนั่นเอง เพราะอย่างที่บอกว่าปัจจุบันแต่ละเมืองก็ประชากรลดลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวก็หายเข้าเมืองหมด ระบบนี้คือการเปิดรับคนหนุ่มสาวจากนอกเมืองเข้ามาอยู่ในเมือง โดยมีเงินเดือนให้ แต่ก็ต้องทำงานด้วยนะครับ โดยที่เวลาเปิดรับแต่ละเมืองก็จะบอกว่าต้องการคนมาทำงานด้านไหน มีตั้งแต่งานเกษตรกรรม ประมง งานดูแลผู้สูงอายุ ผู้ช่วยสอนหรือดูแลเด็ก ไปจนกระทั่งนำเที่ยวเมือง ก็แล้วแต่ว่างานด้านไหนจำเป็น โดยมีเงื่อนไขว่ารับมาในระบบนี้ไม่เกิน 3 ปี แต่ถ้าครบระยะสัญญาแล้วจะอยู่ต่อก็ไม่เป็นไร เพียงแต่ไม่มีเงินอุดหนุนแล้ว ระบบนี้ที่เพิ่มประชากรในเมืองได้อย่างน่าสนใจ เพราะหลายคนก็ติดใจจนอยากอยู่ต่อเลยหางานหรือเริ่มกิจการในเมืองนั้น ใครเบื่อความวุ่นวายของสังคมเมือง อยากไปสโลว์ไลฟ์ วิธีนี้ก็เป็นทางเลือกที่เหมาะสมดีครับ
ที่ไล่เรียงมาก็คือวิธีการแบบที่เราพบได้เยอะสุดในการพัฒนาท้องถิ่น แต่ก็ยังมีรูปแบบอื่นๆ อีกมากมายชนิดที่ถ้าจะเขียนให้ละเอียดคงทำเป็นเล่มหรือส่งเป็นวิทยานิพนธ์ได้ ตัวอย่างเช่น จังหวัดมิยากิที่ผมไปปั่นจักรยานมา เขามองว่าจะใช้การกีฬาเล่นจักรยานในการโปรโมตการท่องเที่ยวของจังหวัด เลยพยายามจัดงานอีเวนต์จักรยานที่คนทั้งเมืองมาช่วยกันสร้างความสนุก มาเชียร์คนปั่นที่สองข้างทาง มีการแนะนำเส้นทางปั่นดีๆ และยังมีบางเมืองที่ให้สิทธิพิเศษกับคนที่ย้ายมาอยู่ บางเมืองก็เอางบประมาณไปช่วยจ่ายค่าเช่าบ้านให้คนที่ย้ายมาอยู่ใหม่จะได้ดึงดูดครอบครัวใหม่มาอยู่ได้ง่ายขึ้น ส่วนที่มาของงบประมาณก็แบ่งมาจากงบทำนุบำรุงเมือง เช่น งบซ่อมแซมถนนก็อาศัยชาวเมืองมาช่วยกันซ่อมแซมกันเองไม่ต้องจ้างบริษัท ทั้งได้สมาชิกใหม่ในเมือง และชาวเมืองก็ได้ร่วมกิจรรมกันเสริมสร้างความแน่นแฟ้น ที่น่าทึ่งก็อย่างเช่นในเมืองโอคุทามะ เมืองในโตเกียวรอบนอก (ถึงจะบอกว่าอยู่ในโตเกียวแต่ก็ต้องขับรถจากเมืองไปเกือบ 2 ชั่วโมง) ก็พร้อมที่จะยกบ้านพร้อมที่ดินให้กับครอบครัวที่ย้ายมาอยู่ โดยมีเงื่อนไขว่าอายุของผู้เข้าอยู่ต้องไม่เกิน 43 ปี ต้องอยู่ตามสัญญา 22 ปี (อยู่จนเกษียณตอน 65 พอดี) และมีค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้เมืองเดือนละ 50,000 เยน และถ้ามีลูกก็จะได้ส่วนลดอีก
เมื่อท้องถิ่นมีโอกาสที่จะหาทางพัฒนาแนวทางของตัวเองก็มีโอกาสพลิกเกมได้ หัวใจหลักคือ คนในท้องถิ่นพยายามหาจุดเด่นของตัวเองให้ได้ (ถ้าไม่ไหวก็ต้องหาโปรมาช่วยให้คำปรึกษา) ของแบบนี้เกิดได้ยากถ้าต้องรอส่วนกลางจัดการ ท้องถิ่นต้องมีอิสระในการจัดการสูงเอาเรื่อง แน่นอนว่า การลงทุนมีความเสี่ยง ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จหมด แต่ก็ถือว่าน่าสนใจอยู่ดีนะครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก