‘การพนันทำให้เราจน หรือเป็นเพราะเราจน เราเลยอยากเล่นการพนัน?’
คำถามนี้เป็นคำถามโลกแตก แต่น่าสนใจไม่น้อย เพราะเมื่อตั้งคำถามคนละแบบ คำตอบที่ได้ย่อมไปคนละทิศทาง
คำตอบสำหรับคำถามว่า การพนันทำให้เราจน คงไม่ไปถึงไหน นอกจากปลายเหตุของปัญหา ชี้โทษกล่าวผิดผู้ตัดสินใจเสี่ยงโชคชะตา
แต่ถ้าตั้งคำถามว่า ‘เพราะเราจนหรือเปล่า เราถึงอยากเล่นพนัน?’ คำตอบอาจไปได้ไกลถึงเรื่องปัญหาเชิงโครงสร้างอย่าง ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยเราชวนอ่านงานวิจัยหลายชิ้นๆ
เบื้องล่างนี่เล็กน้อย และชวนฟังบทสนทนาสั้นๆ กับ ดร.ณัฐวุฒิ เผ่าทวี ศาสตราจารย์วิจัยด้านพฤติกรรมศาสตร์ ประจำ Warwick Business School อีกหน่อย เผื่อเราจะกลับมาทบทวนถึงต้นตอของปัญหา และรับมือปัญหาการพนันที่เรื้อรังสังคมเราได้อย่างเข้าไม้เข้ามือมากขึ้น
ลงทุนแบบไทยไทย
ธนาคารโลก หรือ World Bank วิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำของไทย เมื่อต้นปี 2020 ชี้ว่า ถึงแม้ไทยประสบความสำเร็จอย่างสูงในการลดความเหลื่อล้ำตลอด 30 ปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่ปี 2531 – 2561) ทำให้สัดส่วนความยากจดลดลงจากร้อยละ 65 เหลือต่ำกว่าร้อยละ 10 อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ไม่สูงมาก แต่อัตราความยากจนของไทยก็กลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ในช่วงปี 2558-2561
แต่ชีวิตต้องสู้ ถ้าไม่ด้วยเล่ ก็ต้องเอาด้วยกล ถ้าทำงานแล้วเงินไม่พอ ก็ต้องเสี่ยงโชคกันบ้าง …
ข้อมูลที่น่าสนใจจาก Google Trend ชี้ว่า ในระยะ 15 ปีที่ผ่านมา คนไทยค้นหาคำว่า ‘เลขเด็ด’ เพิ่มขึ้นถึงปีละ 18 เปอร์เซนต์ ขณะที่คำที่ตรงข้ามอย่าง ‘ฝากเงิน’ เพิ่มขึ้นปีละเพียง 9 เปอร์เซนต์
ผลสำรวจของศูนย์วิเคราะห์ TMB Analytics ที่ออกมาเมื่อปี 2019 ก็ยืนยันผลดังกล่าว โดยพวกเขาพบว่า ในทุกๆ ปี คนไทยราวหนึ่งในสี่ หรือประมาณ 20 ล้านคน อุดหนุนสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นมูลค่า 2.5 แสนล้านบาท
และผลสำรวจดังกล่าวยังชี้อีกด้วยว่า ไม่ว่าสภาพเศรษฐกิจจะขึ้นหรือลง คนไทยก็พร้อมลงทุนกับโชคชะตาอยู่เสมอ เพราะในปี 2552 ที่ทั่วโลกเพิ่งผ่านพ้นวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ คนไทยใช้เงินไปกับการซื้อลอตเตอรี่งคิดเป็นร้อยละ 2.1 ของรายได้ทั้งหมด ซึ่งเท่ากับในปี 2560
ความจน ความหวัง การพนัน
ดร.ณัฐวุฒิ เผ่าทวี ศาสตราจารย์วิจัยด้านพฤติกรรมศาสตร์ ประจำ Warwick Business School ประเทศอังกฤษ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ให้ความเห็นถึงสาเหตุที่คนเล่นพนันไว้ว่า ถึงแม้เราจะรู้ดีแก่ใจว่าการถูกรางวัลเป็นไปได้ยาก แต่ทุกครั้งๆ ที่ซื้อหวยหรือลงเงินในการเล่นพนัน และเราได้นั่งรอลุ้น มันก็ทำให้เรามีความหวังและความสุขเล็กๆ อยู่ดี
เขากล่าวว่า “สาเหตุสำคัญที่คนเล่นลอตเตอรี่คือ ตอนซื้อและลุ้นมันทำให้เรามีความหวัง เรารู้สึกว่ามีโอกาสที่จะได้ก้าวออกจากชีวิตแบบที่เป็นอยู่ เหมือนเป็นภาวะหนีจากความจริง (Escapism) อย่างเดียวกับการดูละคร”
เขามองว่า ความเหลื่อมล้ำกับการพนันมีความเกี่ยวข้องกัน เพราะสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ทำให้คนเกิดความรู้สึกเปรียบเทียบ อยากวิ่งให้ทันคนอื่น
โดยเฉพาะสังคมไทยที่มีภาพของอภิสิทธิ์ชน ที่ได้รับประโยชน์ชัดเจน ทั้งในทางเศรษฐกิจ หรือกระบวนการยุติธรรม
เขาชี้ว่าในทางทฤษฎีมันเป็นไปได้ว่า ถ้าปัญหาความเหลื่อมล้ำลดลง คนจะลดการเล่นพนันลง แต่เขาไม่แน่ใจว่าในทางปฏิบัติมันจะเป็นไปได้จริงไหม เพราะยังไม่มีข้อมูลสถิติที่ยืนยัน
ความเห็นของ ดร.ณัฐวุฒิ คล้ายกับผลงานวิจัยจาก มหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน ประเทศสหรัฐฯ ที่ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการซื้อหวยของคนสหรัฐฯ แล้วพบว่า หนึ่ง ทั้งที่รู้ว่าอาจขาดทุน แต่คนเราจะเสี่ยงโชคมากขึ้น เมื่อรู้สึกว่ารายได้น้อยลง เพราะเชื่อว่ามันจะพาพวกเขาหลุดพ้นจากความยากจน และสอง หลายคนเสี่ยงโชคเพราะ มันเป็นกิจกรรมไม่กี่อย่างที่คนรวยและคนจนมีโอกาสเท่าเทียมกันในการสร้างรายได้
งานวิจัยดังกล่าวสรุปว่า มีความเชื่อมโยงระหว่างรายได้กับฐานะของผู้ที่เล่นหวยในสหรัฐฯ และทั้งที่ พวกเขารู้ดีว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะขาดทุน แต่ฐานะและคุณภาพชีวิตก็เป็นแรงกระตุ้นให้พวกเขาซื้อลอตเตอรี่มากขึ้นอยู่ดี
อ้างอิง: