อาม่า 3 คนติดเชื้อกันในบ้าน พ่อแม่ลูก 4 คนติดเชื้อกันยกครอบครัว รวมถึง กรณีอื่นๆ อีกมาก ที่สะท้อนว่า เกิดการแพร่ระบาดในพื้นที่ ‘บ้าน’ หากมีคนในครอบครัวติด COVID-19 ก็เป็นไปได้สูงมากว่า คนที่เหลือจะติดไปด้วยเช่นกัน
การติดเชื้อในบ้าน กลายเป็นประเด็นสำคัญที่เราต้องให้ความสนใจอย่างมาก เพราะหากยับยั้งไม่ได้ จะทำให้ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นไปเรื่อยๆ โดยวันนี้ (29 เมษายน) ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 แถลงว่า การสัมผัสร่วมบ้าน เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดสูงสุดถึง 42% อีกทั้ง การกินอาหารร่วมวงที่บ้านก็เป็นอีกปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการติดเชื้อเช่นกัน
The MATTER รวบรวมคำแนะนำจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐ และข้อมูลจาก นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงการป้องกันการติดเชื้อ หากมีผู้ป่วยอยู่ที่บ้าน ดังนี้
จำกัดการติดต่อกับผู้ป่วย
– หากเป็นไปได้ แยกห้องน้ำและห้องนอนกับผู้ป่วย
– หากเป็นไปได้ จำกัดพื้นที่ของผู้ป่วยให้อยู่ในห้อง และแยกจากผู้อื่น
– ทำให้อากาศในพื้นที่ส่วนกลางที่ต้องใช้ร่วมกันถ่ายเทสะดวก ด้วยการเปิดหน้าต่าง และปรับปรุงระบบระบายอากาศให้ดี
– งดการให้ผู้อื่นเข้าเยี่ยม
แยกพื้นที่รับประทานอาหาร
– หากเป็นไปได้ ให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารในห้องของตัวเอง
– ใช้ถุงมือ น้ำยาทำความสะอาด และน้ำร้อนในการล้างจานและเครื่องใช้ของผู้ป่วย
– ล้างมือให้สะอาดหลังถอดถุงมือและสัมผัสของที่ผู้ป่วยใช้
หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ร่วมกับผู้ป่วย
– เลี่ยงการใช้จาน ถ้วย แก้วน้ำ เครื่องเงิน ผ้าขนหนู ผ้าปูที่นอน และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์มือถือ ร่วมกับผู้ป่วย
– ต้องซักเสื้อผ้าของผู้ป่วยแยกต่างหากจากของคนอื่น
รักษาความสะอาดของ ‘มือ’
– ล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาด เป็นเวลาอย่างน้อย 20 วินาที
– หากใช้เจลล้างมือ ต้องมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์อย่างน้อย 60% ชโลมให้ทั่วและถูจนกว่าจะแห้ง
– เลี่ยงการสัมผัสดวงหน้า จมูก และปาก
ต้องสวมถุงมือและหน้ากากอนามัยตอนไหนบ้าง?
สำหรับผู้ป่วย
– สวมหน้ากากอนามัยในเวลาที่มีผู้อื่นอยู่ด้วย ทั้งในบ้าน และก่อนเข้าพบแพทย์
– เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ผู้ที่มีอาการหายใจลำบาก และผู้ที่ไม่สามารถถอดหน้ากากเองได้ ไม่ควรสวมหน้ากากอนามัย
สำหรับผู้ดูแล
– สวมหน้ากากอนามัยและบอกให้ผู้ป่วยสวมด้วย ก่อนจะเข้าไปในห้องพักของผู้ป่วย
– สวมถุงมือเมื่อต้องสัมผัสกับผู้ป่วย หรือสัมผัสเลือด ของเสีย รวมถึงสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย
– เมื่อใช้เสร็จแล้ว ให้ทิ้งถุงมือลงถังขยะ และล้างมือทันที
แนวทางการรักษาความสะอาดของสิ่งของ
– พื้นผิวและสิ่งของที่มีการสัมผัสบ่อยๆ เช่น ลูกบิดประตู ที่จับ สวิชต์ไฟ โต๊ะ ต้องทำความสะอาดทุกวัน หลังใช้งานเสร็จ และหลังจากมีผู้มาเยือน
– ทำความสะอาดจุดอื่นๆ ในบ้าน ให้บ่อยครั้งมากขึ้น
– ทำความสะอาดพื้นผิวโดยใช้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นผิวตามฉลากผลิตภัณฑ์
ตรวจเช็คสุขภาพของตัวเองเสมอ
– ตรวจว่ามีอาการดังต่อไปนี้หรือไม่: มีไข้ ไอ หายใจถี่ หรืออาการผิดปกติอื่นๆ
– ควรอยู่แต่ในบ้าน จะออกจากบ้านได้ ก็ต่อเมื่อพ้น 14 วันหลังสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยครั้งสุดท้าย
– หากมีอาการหายใจลำบาก ให้ติดต่อสายด่วนทันที
นอกจากนี้ ทาง CDC ยังแนะนำด้วยว่า วิธีดูแลผู้ป่วยด้วย ดังนี้
แนวทางให้ความช่วยเหลือ
– ช่วยเหลือผู้ป่วยให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ได้
– สังเกตว่ายาจำหน่ายหน้าเคาน์เตอร์ช่วยให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้นหรือไม่
– ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำเยอะๆ และพักผ่อนให้เพียงพอ
– ช่วยผู้ป่วยซื้อข้าวของเครื่องใช้จำเป็น กรอกใบสั่งยา และรับสิ่งของจากบริการรับส่งสินค้า
– ช่วยดูแลสัตว์เลี้ยงของผู้ป่วย และจำกัดให้ผู้ป่วยสัมผัสกับสัตว์เลี้ยงได้เท่าที่จำเป็น
สัญญาณว่าผู้ป่วยอาการแย่ลง
– มีเบอร์ติดต่อแพทย์ติดตัวไว้เสมอ
– ติดต่อแพทย์หรือสายด่วนทันทีที่ผู้ป่วยอาการแย่ลง
กรณีที่ ผู้ป่วยหายใจลำบาก, เจ็บหรือแน่นหน้าอก, มีอาการสับสน, ไม่ตื่น และผิว ริมฝีปาก หรือเล็บ ซีดลง กลายเป็นสีเทาหรือน้ำเงิน รวมถึงอาการน่ากังวลอื่นๆ ให้รีบติดต่อโรงพยาบาลหรือสายด่วนทันที
อ้างอิงข้อมูลจาก