ถ้าติด COVID-19 แล้วมีอาการแบบอ่อนๆ ต้อง home isolation เราควรมีอะไรบ้างนะ?
ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า หากไปตรวจเชื้อ และพบว่าติดเชื้อแล้ว แต่ไม่มีอาการหรือมีอาการอ่อนๆ ถือเป็นผู้ป่วยสีเขียว สามารถ home isolation และโทร 1330 ต่อ 14 เพื่อรับอุปกรณ์และยาต่างๆ และคำแนะนำจากแพทย์ผ่านวิดิโอคอล
สำหรับเกณฑ์การ home isolation นั้น ตามประกาศเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีหลักเกณฑ์ ดังนี้
- เป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ
- อายุไม่เกิน 60 ปี
- สุขภาพร่างกายแข็งแรง
- อยู่คนเดียว หรือมีผู้อยู่ร่วมที่พักไม่เกิน 1 คน
- ไม่มีภาวะอ้วน
- ไม่มีโรคร่วม เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง, โรคไตเรื้อรัง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคหลอดเลือดสมอง, เบาหวานที่คุมไม่ได้
- ยินยอมแยกตัวในที่พักของตนเอง
ย้ำอีกทีว่า ถ้าติดเชื้อให้โทรไปที่ 1330 ต่อ 14 แล้วจะได้ยาและอุปกรณ์ต่างๆ ให้ใช้ตามคำแนะนำของแพทย์เป็นหลัก ส่วนที่จะเสริมต่อไปนี้ เป็นคำแนะนำจากต่างประเทศ ถึงอุปกรณ์ที่ควรมีในการ home isolation
อุปกรณ์ป้องกันการแพร่เชื้อและรักษาความสะอาด
- หน้ากากอนามัยทางการแพทย์: ต้องเป็นหน้ากากที่มีขนาดเล็ก 3 ไมครอน เช่น หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ หน้ากาก N95 เป็นต้น โดยควรสวมตลอดเวลาที่อยู่กับผู้อื่น
- ถุงมือยาง: ใช้สวมเวลาหยิบจับสิ่งที่ต้องใช้ร่วมกัน เช่น ลูกบิดประตู หรือสวมใส่เวลาทำความสะอาดของต่างๆ ในบ้าน เช่น ซักผ้า
- เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ: ต้องมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์อย่างน้อย 60% โดยใช้ชโลมให้ทั่วมือ และถูกจนกว่าจะแห้ง
- น้ำยาซักผ้า: หากมีผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อหรือผู้ที่ติดเชื้อแล้ว ควรซักเสื้อผ้าแยกจากคนอื่น และควรซักในน้ำร้อนเพื่อฆ่าเชื้อ
- กระดาษชำระ: สำหรับเช็ดทำความสะอาดสิ่งต่างๆ
- สเปรย์ฆ่าเชื้อทำความสะอาด: สำหรับทำความสะอาดสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะจุดที่ใช้ร่วมกันบ่อยๆ เช่น ลูกบิดประตู โต๊ะ
- สบู่: สำหรับทำความสะอาดร่างกาย เป็นไปได้ควรใช้แยกกับคนอื่นๆ ในบ้าน
- ถุงพลาสติกสำหรับใส่ขยะติดเชื้อ: แยกขยะติดเชื้อไว้ต่างหากจากขยะอื่นๆ โดยใส่ถุงขยะสีแดงซึ่งใช้สำหรับใส่ขยะติดเชื้อ และควรแยกถังขยะกัน เพื่อแยกการทิ้งทิชชู่ แผ่นทำความสะอาดฆ่าเชื้อ และสิ่งอื่นๆ ออกจากคนที่อยู่ร่วมบ้านด้วย
“ภาพในอุดมคติของผม คือต้องมีห้องนอนที่มีห้องน้ำแยกเสริมออกมา นั่นเป็นแบบแผนในอุดมคติของผม” David Buchholz ผู้อำนวยการอาวุโสด้านการแพทย์จาก Columbia University กล่าว พร้อมเสริมด้วยว่า ในกรณีที่ทำไม่ได้ พยามจัดสัดส่วนให้ผู้ป่วยอยู่แยกจากผู้ดูแล และต้องจำกัดการเคลื่อนไหวของกลุ่มเหล่านี้ด้วย
ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่ในพื้นที่ที่มีผู้อื่นด้วย ขณะเดียวกัน หากใครจะเข้าไปในพื้นที่ของผู้ป่วย ก็ควรสวมหน้ากากอนามัยไว้ด้วยเช่นกัน
อีกหนึ่งสิ่งที่ควรมีติดบ้านไว้ก็คือถุงมือยางหรือถุงมือลาเท็กซ์ ไว้สำหรับเข้าไปในห้องผู้ป่วย หรือเวลาทำความสะอาด ควรตุนอุปกรณ์ทำความสะอาดไว้ให้มาก เพราะทุกอย่างที่คนป่วยจับต้องได้ เช่น ช้อนส้อม ลูกบิดประตู หรืออ่างล้างมือในห้องน้ำ ต้องทำความสะอาดให้ดีและบ่อย
และสิ่งที่ขาดไม่ได้เลย คือการรักษาความสะอาดของมือให้ดีและบ่อยครั้ง โดย Audrey Chun แพทย์อายุรศาสตร์จาก Mount Sinai Hospital ของสหรัฐฯ กล่าวไว้ว่า ควรล้างมือด้วยน้ำอุ่นและสบู่ รวมถึง ต้องทำความสะอาดพื้นผิวที่ถูกสัมผัสด้วย และถ้าจะให้ดีควรมีแปรงขัดเล็บไว้สำหรับทำความสะอาดซอกเล็บ ซึ่งมักมีสิ่งสกปรกตกค้างอยู่ด้วย
David ยังเสริมด้วยว่า หากต้องใช้ห้องน้ำร่วมกัน ผู้ป่วยควรใช้กระดาษชำระแบบใช้แล้วทิ้งแทนผ้าเช็ดมือที่ใช้ร่วมกับคนอื่นๆ ในบ้าน และเก็บผ้าเช็ดตัวของตัวเองให้แยกต่างหากจากผู้อื่น และผู้ที่สุขภาพดีควรแยกอุปกรณ์อาบน้ำออกจากพื้นที่ส่วนกลางด้วย
นอกจากนี้ การมีถุงพลาสติกสำหรับรวบรวมขยะติดเชื้อก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญ ซึ่งวิธีการทิ้งอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในแต่ละวันคือ การทิ้งหน้ากากอนามัยให้ใส่ถุงขยะ แล้วใส่น้ำยาฟอกขาว 2 ฝา ใส่ถุงอีกชั้น พร้อมปิดปากถุงให้สนิท
ส่วนขยะที่สัมผัสสารคัดหลั่งให้ใส่ถุงพลาสติกหนาๆ ใส่น้ำยาฆ่าเชื้อเช่นเดียวกัน และนำขยะติดเชื้อไปทิ้งยังจุดรวบรวมขยะติดเชื้อในชุมชน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเก็บไปกำจัดอย่างถูกวิธี โดยควรเป็นถุงสีแดงที่ใช้สำหรับขยะติดเชื้อ โดยต้องตรวจสอบถุงขยะให้ดีว่า ถุงไม่รั่ว และควรมีป้ายติดไว้ชัดเจนสำหรับทิ้งขยะติดเชื้อ
ยารักษาโรคและอุปกรณ์การแพทย์
- ยาแก้ไอ: สำหรับช่วยบรรเทาอาการไอ และควรทานตามฉลากยาอย่างเคร่งครัด
- ยาพาราเซตามอล: ช่วยบรรเทาอาการปวดและลดไข้ได้ โดยทานยาขนาด 500 มิลลิกรัม 1 หรือ 2 เม็ด (ตามคำแนะนำในฉลากยา) โดยให้ห่างกันอย่างน้อย 4 ชั่วโมง และไม่ควรทานร่วมกับยาอื่นที่มีพาราเซตามอล
- เครื่องตรวจวัดระดับออกซิเจนในเลือด: ใช้วัดอัตราการเต้นของหัวใจและระดับออกซิเจนในเลือด เพื่อดูว่าอาการเราน่ากังวลหรือยัง
- น้ำเกลือพ่นจมูก: ช่วยบรรเทาอาการคัดจมูก น้ำจมูกไหล ทำให้จมูกโล่งและหายใจได้สะดวกขึ้น
- ปรอทวัดไข้/ เครื่องวัดอุณหภูมิ: เพื่อดูว่าอาการไข้ของเราอยู่ในระดับที่น่ากังวลหรือยัง
หากไม่สบายแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องติดต่อกับหมออย่างสม่ำเสมอ ต้องคอยบอกให้หมอรู้ว่า อาการของเราแย่ลงหรือเปล่า ดังนั้น อุปกรณ์การแพทย์จึงเป็นตัวช่วยที่สำคัญมาก โดยเฉพาะอุปกรณ์วัดไข้ที่จะทำให้รู้ว่า อาการไข้ของเราอยู่ในระดับไหนแล้ว อาจจะใช้เจลลดไข้มาช่วยลดอุณหภูมิที่สูงของร่างกายด้วยก็ได้
อีกอุปกรณ์สำคัญก็คือ เครื่องตรวจวัดระดับออกซิเจนในเลือด ที่จะช่วยวัดอัตราการเต้นของหัวใจและระดับออกซิเจนในเลือด ซึ่งจะช่วยบอกว่า ปอดของเรายังทำได้ดีแค่ไหน โดย Andra Blomkalns แพทย์ฉุกเฉินจาก Stanford School of Medicine เล่าว่า เขาส่งเครื่องตรวจวัดระดับออกซิเจนในเลือดกว่า 600 เครื่อง ไปตามบ้านของผู้ป่วย เพื่อให้พวกเขาคอยเช็คอาการของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ
ขณะที่ David บอกว่า สำหรับคนป่วยที่อาการไม่หนักมาจนต้องรับการรักษาที่โรงพยาบาล แต่ก็นับเป็นกลุ่มที่ต้องตามอาการอย่างใกล้ชิด การมีเครื่องตรวจวัดระดับออกซิเจนในเลือดนั้น ถือเป็นเครื่องมือช่วยเหลืออย่างดีเลยทีเดียว
แต่กับยาสามัญทั่วไป ก็มองข้ามไปไม่ได้นะ เพราะนับเป็นสิ่งสำคัญในการ home isolation เช่นกัน โดยยาที่ทั่วโลกแนะนำคือยาพาราเซตามอล แต่สำหรับผู้ป่วยที่อายุต่ำกว่า 18 ปีลงไป ต้องศึกษาให้ดีอีกทีว่า ควรเป็นยาแบบไหน และกินในปริมาณเท่าไหร่
“กับเด็กส่วนใหญ่แล้วสามารถใช้ยาสำหรับโรคไข้หวัดใหญ่หรือโรคทางเดินหายใจอื่นๆ ได้เลย แต่อาจจะเป็นเรื่องยากที่จะให้เด็กสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ผู้ดูแลควรเป็นคนสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาแทน” Danielle Zerr แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อในเด็กจาก Seattle Children’s Hospital กล่าว
ปกติแล้วยาพาราเซตามอลเป็นยาที่ปลอดภัยต่อคนส่วนใหญ่ แม้จะเป็นคนตั้งครรภ์หรือคนที่ต้องให้นมลูกก็ทนได้ แต่ก็มีคนบางกลุ่มที่ต้องระวังการทานยาพาราเซตามอลอยู่เหมือนกัน โดยคนกลุ่มดังต่อไปนี้ ต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทานยา
- คนที่มีประวัติแพ้ยา
- คนที่มีปัญหากับตับหรือไต
- คนที่ดื่มแอลกอฮอล์เกินปริมาณสูงสุดที่แนะนำ (14 หน่วยต่อสัปดาห์)
- ผู้ที่กินยารักษาโรคลมบ้าหมู
- ผู้ที่กินยารักษาวัณโรค
- ผู้ที่ใช้ยาวาร์ฟาริน และอาจต้องทานยาพาราเซตามอลเป็นประจำ
อย่างไรก็ตาม สำหรับเรื่องยาและอุปกรณ์การแพทย์นั้น ไม่จำเป็นต้องซื้อเก็บไว้ เพราะหากโทรติดต่อตามเบอร์ 1330 ต่อ 14 แล้ว ก็จะได้รับยาและอุปกรณ์สำคัญๆ ไว้สำหรับการ home isolation อยู่แล้ว
นอกจากอุปกรณ์ที่กล่าวไปนี้แล้ว การดูแลรักษาตัวเองในการด้านๆ ยังเป็นเรื่องจำเป็นด้วย เช่น นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารให้เพียงพอ หากมีอาการท้องเสียด้วย ควรดื่มน้ำเกลือแร่ รวมถึง หากมีโรคประจำตัวร่วมด้วย ต้องกินยาประจำตัวอย่างสม่ำเสมอ ห้ามขาดยาเด็ดขาด
รวมถึง เวลาเข้าห้องน้ำไม่ควรล็อกประตูด้วย เพราะอาจมีอาการเหนื่อยอ่อนและหมดสติไปได้ การล็อกประตูจะทำให้ผู้อื่นเข้าไปช่วยเหลือไม่ทัน อีกทั้ง หากมีอาการเหนื่อย และคาดว่าเชื้อไวรัสลงปอดแล้ว แต่ยังเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลไม่ได้ ให้นอนคว่ำ หรือนอนตะแคง (เป็นไปได้นอนตะแคงแบบเอาด้านซ้ายลง)
และอีกสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรค COVID-19 ที่ต้อง home Isolation คือต้องมีอุปกรณ์สื่อสารอยู่ติดตัวเสมอ เพื่อคอยแจ้งอาการให้กับคนรอบตัวทราบ และใช้ติดต่อโรงพยาบาลในกรณีฉุกเฉินด้วย
สรุปก็คือ หากไปตรวจเชื้อและพบว่าติดเชื้อแล้ว แต่ไม่มีอาการหรือมีอาการอ่อนๆ ถือเป็นผู้ป่วยสีเขียว สามารถ home isolation ได้ พร้อมโทร 1330 ต่อ 14 เพื่อรับอุปกรณ์และยาต่างๆ รวมถึง คำแนะนำจากแพทย์ผ่านวิดิโอคอล ซึ่งควรปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
อ้างอิงจาก