วิกฤต COVID-19 ลากยาวมาปีครึ่งแล้ว ยังไม่มีทีท่าจบลงง่ายๆ
ที่ผ่านมา ภาครัฐออกสารพัดมาตรการมาช่วยเหลือประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องเข้าใจได้ และเป็นการใช้เงินภาษีที่สมเหตุสมผล แต่สิ่งที่หลายๆ คนสงสัยก็คือ ทำไมต้องให้ ‘ลงทะเบียน’ ซ้ำแล้ว.. ซ้ำเล่า.. เพื่อให้ได้สิทธิ์นั้น หรือบางครั้งก็ต้องแย่งชิงสิทธิ์ ทั้งที่ทุกๆ คนก็เดือดร้อนด้วย
The MATTER จึงอยากชักชวนทุกๆ คนมาสะท้อนกันว่า จนถึงวันนี้ ได้ลงทะเบียนอะไรกันไปแล้วบ้าง
และนี่สารพัดมาตรการจากภาครัฐซึ่งต้อง ‘ลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิ์’ ที่เราพอจะรวบรวมได้ (ใครมีมากกว่าช่วยเพิ่มเติมเข้ามากันหน่อยนะ)
มาตรการคุมโรค/จองฉีดวัคซีน
1. ไทยชนะ
แพล็ตฟอร์มให้อาคาร สถานที่ ร้านค้าต่างๆ มาลงทะเบียน หากต้องการกลับมาเปิดบริหารอีกครั้งหลัง lock down รอบแรก ตอนปี 2563 สำหรับประชาชนทั่วไป จะให้สแกน QR Code (หรือเซ็นชื่อ) ทุกครั้งเวลาเข้าออกอาคาร สถานที่ หรือร้านค้า
เพื่อประโยชน์ในการติดตามตัวผู้ที่มีความเสี่ยงเพราะเคยอยู่ใกล้ผู้ติดเชื้อยืนยัน (contact tracing)
เริ่มใช้ 17 พ.ค.2563 ถึงปัจจุบัน
2. หมอพร้อม
แพล็ตฟอร์มจองคิวฉีดวัคซีน COVID-19 ทั้งบนเว็บไซต์และไลน์ ที่จะให้ลงทะเบียน 2 ช่วง ช่วงแรก ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2564 สำหรับ ‘กลุ่มเสี่ยง’ เช่น ผู้สูงอายุ (อายุเกิน 60 ปีขึ้นไป) และผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง โดยจะเริ่มฉีดวัคซีนในวันที่ 7 มิ.ย.2564 คาดว่าจะมีผู้มารับสิทธิ์ 16 ล้านคน และช่วงที่สอง สำหรับประชาชนทั่วไป ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2564
แต่แพล็ตฟอร์มนี้มีปัญหาในการใช้งาน ทั้งจำนวนผู้มาลงทะเบียนไม่เป็นไปตามเป้า (16 ล้านคน) ทั้งการประสานงานระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับ รพ. ที่ปล่อยให้มีการลงทะเบียนจองคิวฉีดวัคซีนเกินศักยภาพ ทั้งๆ รพ.ไม่ได้เตรียม slot และทรัพยากรไว้ นำไปสู่การยกเลิกคิว ทำให้เกิดความสับสน สุดท้าย ศบค.จึงต้องส่งหยุดใช้หมอพร้อมชั่วคราว และให้จังหวัดต่างๆ ไปหาวิธีจองคิวกันเอง ซึ่งมีหลายๆ จังหวัดหันไปใช้แพล็ตฟอร์มจองคิวว่า “(ชื่อจังหวัด)พร้อม”
ถึงปัจจุบัน คนที่จองคิวกับหมอพร้อมบางส่วนยังถูกเลื่อนฉีดวัคซีน ทั้งๆ ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เนื่องจากปัญหาภาครัฐจัดหาวัคซีนมาให้ไม่เพียงพอ
3. ไทยร่วมใจ
แพล็ตฟอร์มจองคิวฉีดวัคซีน COVID-19 ของคนใน กทม. (เพราะใช้วัคซีนโควต้าที่กรุงเทพมหานครฯ ได้รับจัดสรรมา)
เริ่มเปิดให้จองคิวตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค.2564 ทั้งผ่านเว็บไซต์ แอพฯเป๋าตังค์ หรือให้พนักงานร้านสะดวกซื้อลงทะเบียนให้
เช่นเดียวกับการจองคิวฉีดวัคซีนผ่านหมอพร้อม คือวัคซีนมีไม่พอ จนต้องเลื่อนคิวฉีดวัคซีนบางส่วนออกไป นำไปสู่การวิวาทะกันผ่าน infographic ในเพจว่า ปัญหาเรื่องวัคซีนไม่พอจนต้องเลื่อนคิวฉีดเป็นความผิดของใคร ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข-กรุงเทพฯ-ศบค.
4. ฉีดวัคซีน ม.33
ระบบลงทะเบียนของคิวฉีดวัคซีน COVID-19 ของสำนักงานประกันสังคม ที่ให้บริษัทต่างๆ ลงทะเบียนจองคิวให้กับผู้ประกันตนตาม ม.33 (แรงงานในระบบประกันสังคม) โดยเริ่มฉีดในเดือน มิ.ย.2564
มาตรการเยียวยา/กระตุ้นเศรษฐกิจ
มาตรการเยียวยาประชาชน ด้วยการโอนเงิน 5,000 บาทให้เป็นเวลา 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย.2563) โดยเปิดให้ลงทะเบียน สำหรับแรงงานอิสระที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ม.33 และได้รับผลกระทบจาก COVID-19
เริ่มลงทะเบียน 28 มี.ค.2563 และรอ sms ยืนยันว่าได้รับสิทธิ์ตามมาตรการนี้หรือไม่
กระทรวงการคลังสรุปว่า มีผู้ได้รับสิทธิ์เยียวยาตามมาตรการนี้ 15.3 ล้านคน จากยอดผู้ลงทะเบียน 28.8 ล้านคน
2. เราชนะ
รัฐโอนเงินเข้าแอพฯ เป๋าตัง เดือนละ 3,500 บาท 2 เดือน (ก.พ.-มี.ค.2564) และให้รอบสองอีก 2,000 บาท (พ.ค.2564
เปิดลงทะเบียน 29 ม.ค.-12 ก.พ.2564
มีผู้รับสิทธิ 32.9 ล้านคน
3. คนละครึ่ง
รัฐโอนเงินเข้าแอพฯ เป๋าตั๋ง 3,000 บาท แล้วผู้ใช้นำไปใช้จ่ายรัฐช่วย 50% ไม่เกินวันละ 150 บาท
- เฟสหนึ่ง ลงทะเบียน 16 ต.ค.2563 ใช้ปลายเดือน ต.ค.-ธ.ค.2563 / ได้สิทธิ 10 ล้านคน
- เฟสสอง ลงทะเบียน 16 ธ.ค.2563 ใช้เดือน ม.ค.-มี.ค.2564 / เพิ่มรายใหม่ 5 ล้านคน รวมเป็น 15 ล้านคน
- เฟสสาม เริ่มลงทะเบียน 14 มิ.ย.2564 จนครบ 31 ล้านคน (ต้องลงทะเบียนใหม่ทุกคน)
รัฐให้เงินผู้ประกันตนที่เสียเงินประกันสังคม ม.33 โดยจะโอนเงินเข้าแอพฯ เป๋าตัง 4 ครั้งๆ ละ 1,000 บาท ในเดือน มี.ค.2564 และมีการเพิ่มเงินให้อีก 2,000 บาท ในเดือน พ.ค.2564
เปิดลงทะเบียน 21 ก.พ.- 7 มี.ค.2564
มีผู้รับสิทธิ 9.3 ล้านคน
มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ ที่รัฐจะสนับสนุนเงินให้บางส่วน แต่ผู้จะใช้สิทธิ์นี้จะต้องลงทะเบียนขอรับสิทธิ์
6. ชิมช้อปใช้
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลใช้มาตั้งแต่ปลายปี 2562 – ต้นปี 2563 โดยรัฐให้เงินผ่านแอพฯ เป๋าตั๋ง ไปใช้คนละ 1,000 บาท และประชาชนสามารถเติมเงินในแอพฯ เพื่อใช้จ่ายเองได้ ซึ่งรัฐจะคืนเงินให้บางส่วน
กระทรวงการคลังสรุปตัวเลขว่า มีผู้มาลงทะเบียน และได้รับสิทธิ์ตามมาตรการนี้ ซึ่งทำไปแล้ว 3 เฟส 14.3 ล้านคน และใช้สิทธิ์ 11.8 ล้านคน และมีข่าวว่าจะเปิดเฟส 4 อยู่เรื่อยๆ
มาตรการลดค่าใช้จ่าย
- คืนเงินประกันไฟฟ้า
- คืนเงินประกันประปา
- ลดค่าน้ำ (บัตรสวัสดิการฯ)
- ลดค่าไฟ (บัตรสวัสดิการฯ)
ยังมีอะไรที่ต้องลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิ์ที่ควรจะได้จากภาครัฐอีกบ้าง ทักมาบอกเราหน่อยนะ เผื่อมีอะไรตกหล่นไป
สำนักงานสถิติแห่งชาติเคยสำรวจความเห็นประชาชน 9,000 คน ถึงมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนต่างๆ เมื่อต้นปี 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งประชาชนบางส่วนก็สะท้อนว่าเข้าไม่ถึงบางมาตรการเพราะ ‘ปัญหาการลงทะเบียน’ พร้อมกับเสนอแนะว่า ‘อยากให้ทุกคนได้รับสิทธิ์’ ในการช่วยเหลือเยียวยา โดยไม่จำเป็นต้องใช้ขั้นตอนที่ยุ่งยาก
เพราะวิกฤต COVID-19 อาจพูดได้ว่า ไม่มีใครไม่ได้รับผลกระทบ ..หรือคุณว่าไม่จริง?