วิกฤติ COVID-19 จากปี พ.ศ.2563 ถึงช่วงต้นปี พ.ศ.2564 สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยที่ฝังรากลึกมาหลายปี ตลอดหลายปีที่ผ่านมาเราเห็นกลุ่มทุนที่สะสมทุนอย่างล้นเกิน แม้ในช่วงการถดถอยทางเศรษฐกิจก็ยังปรากฏรายงานจากทาง Oxfam ว่ากลุ่มคนรวยหยิบมือเดียวมั่งคั่งมากขึ้นขณะที่คนส่วนใหญ่ของทั้งโลกมีรายได้ที่น้อยลง
พร้อมกันนั้นแม้ไม่มีวิกฤติ COVID-19 สภาพการจ้างงานในสังคมไทยก็เข้าขั้นวิกฤติกล่าวคือ ชั่วโมงการทำงานของกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยมีจำนวนสูงมากขึ้น ในขณะที่จำนวนสหภาพแรงงานที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่รัฐประหารปี พ.ศ.2557 กลุ่มแรงงานรุ่นใหม่ประสบปัญหาอย่างมากในการรักษาสถานะความเป็นชนชั้นกลางด้วยค่าใช้จ่ายพื้นฐานในชีวิตไม่ว่าจะเป็น ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาระดับสูง การรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพ ที่อยู่อาศัย หรือชีวิตที่ปลอดภัยในวัยเกษียณ เรื่องพื้นฐานข้างต้นกลายเป็นเรื่องที่คนทั่วไปไม่อาจฝันถึงได้มาหลายปี
หรือกล่าวโดยสรุปแม้ไม่มีวิกฤติเศรษฐกิจจาก COVID-19 พวกเรา ก็ปากกัดตีนถีบ ชักหน้าไม่ถึงหลัง และใกล้จะจมน้ำตายกันแทบทั้งสิ้น แน่นอนว่าเรื่องนี้อาจมีคนกลุ่มหนึ่งที่ได้รับการยกเว้นแต่ก็เพราะความทุกข์ทนของคนส่วนใหญ่ก็เป็นการส่งให้คนส่วนน้อยหยิบมือเดียวสุขสบายในสังคมที่เปราะบาง วิกฤติ COVID-19 กลายเป็นตัวเร่งและเผยให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำและไม่พอใจของผู้คน คำถามสำคัญเมื่อวิกฤติล่วงมาถึงปี พ.ศ.2564 ความยาวนานของปัญหาที่ดูจะไม่สิ้นสุดง่ายๆ ได้ทิ้งบาดแผลอะไรไว้กับคนส่วนใหญ่บ้างและรัฐบาลมองว่าเรื่องนี้สำคัญแค่ไหนเมื่อเทียบกับการพยามแก้ปัญหา
แผลเป็นช่วงโควิด เป็นคำที่ถูกใช้ครั้งแรกโดย TDRI
เพื่ออธิบายถึงลักษณะการสูญเสียงานของคนกลุ่มหนึ่ง
ที่อาจไม่ได้มีโอกาสที่จะฟื้นฟูสภาพทางเศรษฐกิจของตัวเอง
หรือกล่าวได้ว่าหากคิดง่ายๆว่า ถ้าวิกฤติเศรษฐกิจมีระยะ 6 เดือน แผลเป็นนี้อาจกินเวลาถึงสองปี หรือสำหรับกลุ่มที่เปราะบางรายได้น้อยวิกฤตินี้อาจส่งผลต่อเขาทั้งชีวิต
ผมจึงขอขยายความเพิ่มเติมจากภาวะแผลเป็น COVID-19 ซึ่งมีมากกว่าเรื่องงานและเศรษฐกิจมันมีอะไรบ้างที่ส่งผลต่อชีวิตของผู้คนที่อาจไม่จางหายไปกับโรคระบาด หรือเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว
ลำดับแรกเมื่อนักเรียน-นักศึกษาที่ประสบกับภาวะปัญหาทางเศรษฐกิจ นักเรียนมัธยมปลายลังเลใจที่จะตัดสินใจในการเข้าเรียนต่อในชั้นมหาวิทยาลัย มีรายงานว่ากลุ่มนักเรียนที่มีรายได้น้อยมากกว่าร้อยละ 50 ต้องช่วยพ่อแม่ทำงานในช่วงวิกฤติ COVID-19 ซึ่งหากพวกเขาอยู่ในครอบครัวแรงงานนอกระบบก็มีความเป็นไปได้สูงที่ จะมี 50-60 วันในปีปฏิทิน 2563 ที่พวกเขาไม่มีรายได้เลย
การเรียนออนไลน์ยิ่งเป็นปัจจัยหนุนเสริมที่ทำให้พวกเขาอาจชะลอการเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เช่นเดียวกันกับนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยที่เมื่อการทำงานพิเศษที่มีรายได้แน่นอน ต้องมาเป็นแรงงานแพลตฟอร์มที่แบกรับความเสี่ยงเองทั้งมอเตอร์ไซค์ อุบัติเหตุ เวลา นักศึกษาจำนวนไม่น้อยต้องตัดสินใจพักการศึกษา และจากสถิตินักศึกษาที่พักการศึกษาด้วยสาเหตุทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 80 ไม่สามารถกลับมาเรียนจนสำเร็จการศึกษา
คำถามสำคัญคือ แผลเป็นเหล่านี้มันอยู่ในชีวิตทั้งชีวิต
เมื่อพวกเขาต้องทิ้งโอกาสในช่วงสำคัญของชีวิต
แม้วิกฤติที่หนักหน่วงจะกินเวลาไม่กี่เดือน
แต่หากทำให้พี่ต้องเสียสละเพื่อให้น้องได้เรียนต่อ พ่อแม่ต้องกดบัตรกดเงินสดมาจ่ายค่าเทอม มันก็อาจส่งผลต่อชีวิตในตลาดแรงงานของพวกเขาอาจทั้งชีวิต
ลำดับถัดไปคือ ผู้คนในวัยทำงาน เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจสถานประกอบการขนาดเล็กมักเลือกที่จะเลิกจ้าง ไล่ออก หรือไม่จ่ายเงินเดือน บริษัทขนาดใหญ่แม้ไม่มีการเลิกจ้างแต่อาจมีการปรับสภาพการทำงาน เช่นจากพนักงานรายเดือนกลายเป็นพนักงานรายวัน หรือพนักงานรายวันกลายเป็นพนักงานเหมาค่าแรง ผลกระทบนี้ขยายวงกว้างครอบคลุมทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานอุตสาหกรรม หรือแรงงานภาคบริการ แรงงานรุ่นใหม่ หรือแรงงานวัยกลางคน เมื่อพวกเขาต้องสูญเสียงาน คนวัยกลางคนวัย 40 กว่าปี ย่อมไม่สามารถที่จะหางานในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ พวกเขาต้องกลับเข้าสู่การเป็นแรงงานเสี่ยงที่แบกรับความเสี่ยงทุกอย่างแทนชนชั้นนายทุนและอาจได้รับค่าจ้างน้อยลงครึ่งหนึ่ง
เช่นเดียวกันกับแรงงานรุ่นใหม่ในลักษณะฟรีแลนซ์พวกเขาเองก็ต้องแบกรับภาวะเงื่อนไขงานที่ต่อรองได้อย่างยากลำบาก และค่าตอบแทนน้อยลง เพราะปริมาณแรงงานอิสระขยายตัวมากขึ้น การที่พวกเขาเจอกับแผลเป็นในตลาดแรงงาน ทำให้เป้าหมายทางการเงิน หรือคุณค่าชีวิตอื่นๆของพวกเขาการสร้างครอบครัว อาชีพในฝัน หรือแม้แต่เรื่องการมีความรัก อาจถูกขยับเลื่อนไปไม่น้อยกว่า 5 ปี
และหากแผลเป็นนี้ เกิดขึ้นในช่วงใกล้เกษียณหรือผู้สูงอายุ เป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างมาก หากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทำให้แผนการเกษียณอายุถูกเลื่อนออกไป ผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 80 ในไทยอยู่ได้ด้วยการสนับสนุนจากลูกหลาน และเมื่อลูกหลาน รายได้ลดลง ผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะกลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน แต่ไม่ใช่ด้วยความเต็มใจ และไม่ใช่งานที่มีคุณค่า ผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยต้องทำงานที่มีค่าตอบแทนที่ไม่แน่นอน ถูกละเมิด และความตึงเครียดทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นส่งผลต่อความพอใจในชีวิตของผู้สูงอายุ การเลื่อนเวลาการเกษียณ การต้องกลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน หรือความกังวลต่ออนาคตของลูกหลาน คือแผลเป็นสุดท้ายที่อาจฝังตัวกับผู้สูงอายุในช่วงวิกฤติ COVID-19 และตายไปพร้อมกัน
คำถามสำคัญเมื่อ “แผลเป็น” กลายเป็นสิ่งสามัญที่เกิดกับทุกคน
ในช่วงวิกฤติ COVID-19 ที่จะถูกทิ้งไว้ยาวนานกว่าวิกฤติการณ์ต่างๆ
รัฐบาลมองว่าแผลเป็นเป็นสิ่งที่สำคัญ และต้องป้องกันแก้ไขหรือไม่
คำตอบที่เราเห็นมาในรอบมากกว่าหนึ่งปี คือไม่ ไม่ใช่ว่าเป็นการกล่าวโทษรัฐบาล แต่สาเหตุง่ายคือแผลเป็นนี้ไม่ได้เกิดกับทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน กลุ่มที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจการเมือง ก็สามารถถ่ายโอนบาดแผลของตนเองให้กลุ่มที่มีอำนาจต่อรองน้อยกว่า นอกจากอำนาจทางเศรษฐกิจที่พวกเขามีในระบบการผลิตแล้ว นโยบายกับรัฐบาลที่สนับสนุนกลุ่มทุนขนาดใหญ่เป็นนโยบายหลัก กลุ่มทุนกลุ่มนี้ย่อมถ่ายโอนทุกความเสี่ยง ทุกบาดแผลให้คนที่มีอำนาจต่อรองน้อยที่สุด เมื่อบาดแผลไม่ได้อยู่กับกลุ่มคนที่เสียงดังที่สุด การเยียวยาบาดแผลของผู้คนจึงไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนและเป็นวาระรองลงมา
สูตรที่รัฐบาลไทยใช้กับการเยียวยาจึงไม่พ้นฐานคิดสำคัญที่ว่า ‘การเยียวยาไม่ใช่เรื่องของทุกคน’ หรือ ‘ไม่ใช่ทุกคนที่ลำบาก’ ‘ไม่ใช่ทุกคนที่บาดแผล’ และ ‘บาดแผลของประชาชนไม่เท่ากัน’ กลไกการพิสูจน์ความจนถูกนำมาใช้ตั้งแต่กลางปี พ.ศ.2563 ซึ่งกลายเป็นมหากาพย์แห่งการแบ่งแยก ไล่มาจนถึงโครงการอุดหนุนการท่องเที่ยวอย่างเราเที่ยวด้วยกัน ที่ผลประโยชน์ได้แตกต่างไปตามความสามารถในการซื้อของแต่ละคน ซึ่งก็วนมาอยู่ที่ฐานความคิดแบบดั้งเดิมที่ว่า ‘ถ้าให้แบบไม่มีเงื่อนไข คนจนจะใช้เงินไม่เป็น’ นับเป็นแฟนตาซีของนโยบายลดความเหลื่อมล้ำ พวกเขาไม่มองว่ามีความลำบากของผู้คนและมีแผลเป็นที่ฝังอยู่ทั้งชีวิต มากกว่าที่จะมีใครเล่นสนุกและโกงสวัสดิการอันน้อยนิด
ต้นปี พ.ศ.2564 ลักษณะการเยียวยาแทบไม่แตกต่างไปจากเดิม การจัดกลุ่มแรงงานออกเป็นหลายประเภท แต่ไม่ได้พิจารณาถึงว่า แม้แรงงานที่มีนายจ้างและยังมีเงินเดือน พวกเขาถูกลดเงินเดือนกี่ครั้ง เปลี่ยนสภาพการจ้างกี่ครั้ง หรือการต้องแบกรับครอบครัวที่เผชิญเงื่อนไขเปราะบางอะไรบ้าง มนุษย์ไม่ใช่หน่วยทางเศรษฐกิจที่สามารถนับรวมทางปริมาณอย่างว่าง่ายแต่เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีปฏิสัมพันธ์มีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของสังคมร่วมกัน
ขณะเดียวกันการแบ่งแยกแรงงานภาครัฐและเอกชนก็ยังอยู่ในฐานความคิดของรัฐบาลชุดนี้ ในปีที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสพูดคุยกับแรงงานเหมาค่าแรงภาครัฐที่ได้รับค่าจ้างเดือนละ 6,000 บาท ที่เขาต้องคืนเงินเยียวยาเพียงเพราะว่าปฏิบัติงานภาครัฐ และการคืนเงิน 5,000 บาทในวิกฤติเศรษฐกิจปี พ.ศ.2563 ก็นับเป็นเรื่องใหญ่มากในชีวิตของเขาและถึงกับต้องกู้นอกระบบมาคืนเพราะกลัวถูกเลิกจ้าง
นอกจากนี้ฐานความคิดในการกันเด็กอายุต่ำกว่า 18 ออกจากการเยียวยาปี 64 ก็กลายเป็นเรื่องชวนขบคิดว่าคนกลุ่มนี้คือคนกลุ่มที่เสี่ยงที่สุดต่อความเปราะบางทั้งทางสังคมและอารมณ์ และรัฐได้แต่ผลิตซ้ำฐานความคิดว่าคนกลุ่มนี้ได้ประโยชน์จากการศึกษาภาคบังคับที่รัฐจ่ายให้ไปแล้ว
บทสรุปสำคัญเมื่อแผลเป็นเรื่องสามัญของทุกคนแต่เป็นสิ่งที่รัฐแสร้งว่ามันไม่ใช่ และปัจเจกชนสามารถผ่านไปได้ด้วยตัวเอง ปี พ.ศ.2564 จึงเป็นการย้ำแผลความเหลื่อมล้ำให้มีความชัดเจนมากขึ้น เมื่อเราไม่มองว่าชีวิตที่ดีพึงเป็นสิทธิสำหรับทุกคน ไม่คิดว่าเราสามารถใช้วิกฤตินี้สร้างระบบรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าให้เป็นหลังพิงของประชาชนทุกคน เพื่อให้พวกเขาสามารถวางแผนชีวิตต่อไปได้ในยามวิกฤติ งบประมาณมหาศาลจะถูกเติมยอดพีระมิดให้เต็มก่อน ก่อนที่มันจะไหลรินอย่างเชื่องช้าลงมาข้างล่าง เหมือนฝนตกที่ไม่เคยถึงดิน เมื่อไหลมาถึง เราก็ต้องเรียงคิวชิงโชคเหมือนทุกครั้ง จนทำให้เรารู้สึกว่าการมีชีวิตรอดเป็นเพียงความโชคดี หรือแค่บุญคุณ
เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะตั้งคำถามย้ำอีกครั้ง ในงบประมาณการเยียวยามหาศาลนี้ เราสามารถปรับเปลี่ยนวิธีคิดสู่ความเป็นไปได้ ของระบบที่ไม่จำเป็นต้องเป็นเพียงแค่ เศษเนื้อข้างเขียง การชิงโชค หรือความเมตตา แต่เป็นสิทธิ์พื้นฐานสำหรับเราทุกคนที่จะมีชีวิตที่ดีภายใต้ระบบรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจร