จำได้ไหมตอนเข้ามหาวิทยาลัย คุณใช้ระบบไหน? ด้วยระบบการศึกษาและเข้ามหาวิทยาลัยของไทยที่ทำเอาเด็กมัธยมปลายปวดหัวกันเป็นประจำ จากทั้งการเปลี่ยนระบบบ่อย ไหนจะเปลี่ยนวิธีการคิดคะแนน เพิ่มระบบการสอบแบบใหม่ กระทั่งปัญหายิบย่อยอย่างเว็บล่ม ข้อสอบผิดก็มีด้วย
และในช่วงที่น้องๆ ม.6 กำลังรอลุ้นที่เรียน กับระบบการเข้ามหาวิทยาลัยที่เพิ่งเปลี่ยนใหม่ ประเดิมใช้กันเป็นปีแรก The MATTER จึงขอพาไปดูเส้นทางของระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัย ว่าที่ผ่านมาระบบสอบเข้าของประเทศเรา เป็นอย่างไรบ้าง เปลี่ยนแปลงไปบ่อยแค่ไหน และมีการสอบอะไรเพิ่มขึ้นมาในแต่ละปีกัน
2504-2542 ระบบ Entrance
ในช่วงแรก มหาวิทยาลัยในไทยแต่ละแห่งมีระบบสอบคัดเลือกเอง ไม่มีหน่วยงานหรือการสอบระบบกลาง แต่ในปี 2504 ม.เกษตรศาสตร์ และม.แพทศาสตร์ (ม.มหิดลในปัจจุบัน) จับมือจัดสอบร่วมกัน โดยมีสภาการศึกษาแห่งชาติเป็นผู้ประสานงาน ก่อนที่ในปีต่อไป สถาบันอีก 4 แห่ง คือ จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ ศิลปากร และ วิทยาลัยเทคนิคธนบุรี (เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในปัจจุบัน) จะเข้าร่วมด้วย และตามมาอีกเรื่อยๆ ในปีต่อๆ ไป
ในตอนนั้น การจัดระบบสอบกลางร่วมกันมีเพื่อแก้ปัญหานักเรียนสละสิทธิ์ สอบหลายรอบ หลายแห่ง และเสียค่าใช้จ่ายมาก จึงมีการจัดสอบแบบครั้งเดียว เสียเงินเท่ากัน เลือกคณะก่อนสอบ และใช้คะแนน Entrance 100% โดยในบางปีก็ยื่นได้ 4 อันดับ บางปียื่นได้ 6 อันดับ
แต่จากการใช้คะแนน Entrance ล้วนๆ 100% ก็ทำให้เกิดปัญหาเด็กไม่ตั้งใจเรียนในห้องเรียน และระบบที่ให้เด็กสามารถสอบเทียบได้ นอกจากนี้ การสอบแค่ครั้งเดียว ยังทำให้นักเรียนที่ต้องการแก้ตัว ต้องใช้เวลารอสอบใหม่อีก 1 ปี และในช่วงนี้เอง หลังปี 2516 ก็ถือเป็นช่วงที่สถาบันกวดวิชาในไทยเริ่มจะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ
2542-2549 ระบบ Entrance #2
Entrance ยุคที่ 2 มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อแก้ปัญหาเด็กๆ ไม่ตั้งใจในห้องเรียน ด้วยการนำคะแนน GPA (ผลการเรียนชั้นม.ปลาย) และ PR (ระดับเปอร์เซ็นต์ไทล์ในช่วงมัธยมปลาย) มารวมด้วย 10% เพื่อส่งเสริมการสอนในโรงเรียน และเพิ่มการสอบเป็น 2 ครั้งต่อปี เก็บคะแนนได้ถึง 2 ปี โดยใช้คะแนนครั้งที่ดีที่สุดมาคำนวณ ทั้งยังประกาศผลคะแนนก่อนเลือกคณะ ทำให้เลือกตรงกับความสามารถตัวเองได้ สำหรับการยื่น 4 อันดับ
แต่ระบบนี้ก็ถูกวิจารณ์ว่ามีข้อเสีย ตรงที่ทำให้โรงเรียนพยายามเร่งสอนให้จบก่อนการสอบเดือนตุลาคม เพื่อให้นักเรียนเตรียมพร้อม ซึ่งทำให้เสียระบบการเรียนการสอนตามปกติ
2549-2552 ระบบ Admission (O-NET + A-NET)
ถึงแม้จะนำคะแนนจากห้องเรียนมาคิดเพิ่มขึ้น แต่ปัญหาเด็กไม่สนใจการเรียนในช่วงม.ปลายก็ยังมีอยู่ ระบบ Entrance จึงถูกยกเลิก เปลี่ยนมาใช้ระบบ Admission ที่คิดสัดส่วนคะแนน GPAX (คะแนนเฉลี่ยสะสมระดับม.ปลาย) และ GPA (ผลการเรียนเฉลี่ย) รวมกันถึง 30% โดยพยายามตรวจสอบผลการเรียนของแต่ละโรงเรียนให้โปร่งใส ป้องกันการคิดคะแนนพลาด
ในช่วงนี้เอง ที่การสอบ O-NET และ A-NET ถือกำเนิดขึ้น โดย O-NET คือการทดสอบการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน มีทั้งหมด 8 วิชา สอบทุกคนหลังจบม.6 คนละครั้งเท่านั้น ส่วน A-NET คือการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติในระดับขั้นสูง (พูดง่ายๆ คือยากกว่า O-NET) เน้นวัดความรู้เชิงสังเคราะห์ และเน้นทักษะการคิด มีทั้งหมด 5 วิชา สอบปีละครั้ง แต่สอบได้มากกว่า 1 ครั้ง และแต่ละคณะสาขาจะใช้คะแนน A-NET ในสัดส่วนที่ไม่เท่ากันด้วย
มีการมองว่า แม้จะมีความพยายามตรวจสอบผลการเรียน แต่เกณฑ์ของแต่ละโรงเรียนก็ยังไม่เท่าเทียมกัน ทั้งมหาวิทยาลัยหลายแห่งก็มองว่าข้อสอบ O-NET และ A-NET จากส่วนกลางไม่ได้มาตรฐาน นักเรียนบ่นรำพึงว่า A-NET ยากแสนยาก ในช่วงนี้ การรับตรงหรือสอบตรงขึ้นกับมหาวิทยาลัยเองจึงเริ่มเป็นที่สนใจมากขึ้น
2553- 2560 ระบบ Admission#2 (O-NET + GAT/PAT)
ในช่วงแอดมิชชั่นยุค 2 นี้ ถือเป็นช่วงแห่งการเปลี่ยนแปลงของระบบเข้ามหาวิทยาลัยไทย เปลี่ยนแปลงบ่อยยิ่งกว่าสภาพอากาศ เปลี่ยนรอบสอบทุกๆ ปี เพิ่มระบบสอบ เพิ่มวิชา โดยมีการยกเลิก A-NET และเปลี่ยนเป็นการสอบ GAT/PAT แทน
GAT เป็นความถนัดทั่วไป มีการสอบเชื่อมโยงและภาษาอังกฤษ ส่วน PAT เป็นความถนัดวิชาชีพและวิชาการ มี 7 สาขา ซึ่งช่วงแรกเปิดให้สอบได้ตั้งแต่ยังไม่ขึ้นม.6 และสอบได้ถึง 4 ครั้ง ก่อนจะลดเหลือ 3 ครั้ง และสุดท้ายเหลือ 2 ครั้งต่อปี โดยให้นักเรียนม.6 เท่านั้นเป็นผู้สอบ
แต่แม้จะเพิ่ม GAT/PAT มา ทางกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) ก็มองว่าการสอบไม่ตอบโจทย์จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ จัดการสอบ ‘7 วิชาสามัญ’ ขึ้นมา รวมถึงเกิดระบบ ‘เคลียริงเฮาส์’ เพื่อให้นักเรียนยืนยันสิทธิ์ที่เรียน ตัดสิทธิ์จากแอดมิชชั่น ลดปัญหากั๊กที่เรียนด้วย
พอมาในปี 2558 สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ได้ปรับลดวิชาของ O-NET จาก 8 วิชาเหลือเพียง 5 วิชา โดยวิชาสุขศึกษา, พลศึกษา ศิลปะ และการงานอาชีพและเทคโนโลยีถูกตัดออก ไม่ได้ร่วมวงอีกต่อไป เพราะให้ทางโรงเรียนจัดสอบกันเอง
มีตัดออก ก็ต้องมีเพิ่มด้วย สำหรับการสอบ 7 วิชาสามัญ ในปี 2559 ได้เปลี่ยนเป็น ‘9 วิชาสามัญ’ เพราะมีความเห็นว่าวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ยากเกินไปสำหรับเด็กสายศิลป์ จึงมีการเพิ่มคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์สำหรับสายศิลป์เพิ่ม โดยมี 27 แห่งที่ใช้คะแนนนี้
2561 – ระบบ TCAS (Thai University Central Admission System)
มาถึงปีนี้ ก็มีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง! มาใช้ระบบที่ชื่อว่า ‘TCAS’ ซึ่งพยายามแก้ปัญหาเด็กเครียดในช่วงเรียน การสอบหลายครั้ง และเสียค่าสอบเยอะ โดยเลื่อนการสอบทั้งหมดไปหลังเด็กจบม.6 ลดการสอบ GAT/PAT เหลือเพียงครั้งเดียว และรวมวิธีการรับสมัครทั้ง 5 รูปแบบเข้าด้วยกัน
โดยการยื่นทั้ง 5 รอบได้แก่
1) ยื่นด้วยแฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) ไม่มีการสอบข้อเขียน และให้สถาบัน/มหาวิทยาลัยคัดเลือกโดยตรง
2) รับแบบโควต้า ที่เหมาะสำหรับเด็กที่อยู่ในพื้นที่/ภาคที่มีโควต้าโรงเรียน และโครงการความสามารถพิเศษ
3) รับตรงร่วมกัน เลือกได้ 4 สาขา โดยไม่มีลำดับ หมายความว่าอาจจะผ่านได้ทั้งหมด 4 อันดับเลย แล้วค่อยเลือกสาขาที่ต้องการ
4) การรับแบบแอดมิชชั่น เลือกได้ 4 สาขา โดยมีลำดับ
5) รับตรงแบบอิสระ ซึ่งบางแห่งเรียกว่ารอบเก็บตก คัดเลือกโดยสถาบัน/มหาวิทยาลัย โดยตรง
แม้จะประกาศว่าเป็นระบบที่ต้องการแก้ปัญหาต่างๆ แต่เมื่อผ่านการยื่นไปแล้ว 3 รอบ มีคนที่ตั้งคำถามถึงเรื่องการกันสิทธิ์กั๊กที่ เพื่อมาสมัครในรอบต่อไปได้ หรือข้อเสนอให้ลดค่าใช้จ่ายในการสอบ นอกจากนี้ยังมีความคิดเห็นจากนักเรียนว่าการสอบครั้งเดียวทำให้ไม่มีโอกาสได้แก้ตัว หรือการเลื่อนสอบมาหลังเรียนจบ ม.6 ทำให้มีตารางสอบทั้ง O-NET, GAT-PAT, กสพท. และ 9 วิชาสามัญติดแน่นกันตลอด 1 เดือน รวมถึงปัญหาอย่างเว็บไซต์การยื่นกรอกคะแนนล่มหลายวัน จนนักเรียนไม่สามารถลงทะเบียนได้ด้วย
น่าติดตามต่อว่าระบบ TCAS นี้จะอยู่เสถียรเลยไหม จะใช้ไปได้กี่ปี และระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยจะเปลี่ยนแปลงไปอีกมากแค่ไหนต่อจากนี้ แล้วจะกระทบกับเด็กนักเรียนมากน้อยแค่ไหน
อ้างอิงจาก
https://medium.com/
https://www.admissionpremium.com/