เร็วๆ นี้ เกิดการขยับครั้งใหญ่ของค่าครองชีพคนไทย (อีกครั้ง) โดยข้อมูลจากเฟซบุ๊ก กรรมกรข่าว – สรยุทธ สุทัศนจินดา ยกตัวอย่างมาเช่น
- ไข่ไก่ปรับขึ้น 3 บาท/ แผง หรือเบอร์ 0 อยู่ที่ 4.90 บาท ขณะที่เบอร์ 5 อยู่ที่ 4 บาท
- น้ำมันปาล์มปรับขึ้นจาก 65 เป็น 68 บาท
- ผักนานาชนิด อาทิ ผักชีปรับขึ้นจาก 50 บาท/ กก. เป็น 80 บาท/ กก., ต้นหอมจาก 30 บาท/ กก. เป็น 80 บาท/ กก. หรือพริกแห้งที่ปรับขึ้นจาก 120 บาท/ กก. เป็น 140 บาท/ กก.
ปฏิเสธไม่ได้ว่าราคาสินค้าที่ถีบตัวขึ้นอย่างมากมีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในยุโรป (สงครามรัสเซีย-ยูเครน) ที่ส่งผลต่อราคาน้ำมัน และการขนส่งอย่างต่อเนื่อง และจะคงอยู่เพียงแค่ระยะเวลาสั้นๆ หรือลากยาวนานก็ไม่มีใครคาดเดาได้
The MATTER ชวนมองมุมกลับถึงสิ่งที่ควรจะเพิ่มขึ้นและดีขึ้นในประเทศไทย แต่กลับยังคงอยู่ที่เดิมมานาน บ้างอยู่มานานกว่า 10 ปี บ้างอยู่มานานกว่านั้น มีอะไรบ้างตามมาดูกัน
ค่าแรงขั้นต่ำ
การขยับของค่าแรงขั้นต่ำของไทยครั้งใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยในปี 2555 รัฐบาลประกาศให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 159-221 บาท/ วัน เป็น 222-300 บาท/ วัน ก่อนที่ในปีต่อมาจะมีการประกาศให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท/ วัน ทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม จนถึงปี 2565 หรือเป็นเวลา 10 ปีพอดิบพอดี ค่าแรงขั้นต่ำของคนไทยมีการขยับน้อยมาก โดยขึ้นมาอยู่ที่ 313 – 336 บาท/ วัน หรือขึ้นมาเพียง 13-36 บาท/ วันเท่านั้น
ก็ได้แต่หวังว่ารัฐบาลพลังประชารัฐ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ จะไม่ลืมคำสัญญาที่เคยให้ไว้ในช่วงหาเสียงว่า จะปรับค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศให้อยู่ที่ 400 – 425 บาท/ วัน รวมถึงจะปรับเงินเดือนเริ่มต้นของวุฒิปริญญาตรีให้อยู่ที่ 20,000 บาท/ เดือน และวุฒิอาชีวะที่ 18,000 บาท/ เดือนนะ
เงินฝากในบัญชี
ข้อนี้สัมพันธ์กับข้อแรกอย่างแน่นอน เพราะเมื่อค่าแรงขั้นต่ำไม่ถูกขยับขึ้น แต่ค่าครองชีพกลับเพิ่มสูงขึ้นอยู่ตลอด ทำให้คนไทยมีเงินฝากน้อยลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในปี 2564 ธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดเผยข้อมูลเงินฝากบัญชีของคนไทยจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ว่า จากทั้งหมด 108.14 ล้านบัญชี เป็นบัญชีที่มีเงินฝากน้อยกว่า 50,000 บาท มากถึง 94.16 ล้านบัญชี หรือคิดเป็น 87% ของบัญชีทั้งหมด
ขณะที่หากเทียบกับในปี 2562 หรือช่วงก่อนมีการระบาดของไวรัส COVID-19 (เริ่มแพร่เข้ามาในไทยเดือน ธ.ค.) คนไทยมีบัญชีเงินฝากที่มีเงินไม่เกิน 50,000 บาท ทั้งหมด 88.47 ล้านบัญชี เฉลี่ยต่อบัญชีที่ 4,712 บาท โดยคิดเป็น 87% จากบัญชีทั้งหมดเช่นกัน
ราคางานเขียนฟรีแลนซ์
อันนี้ยอมรับามตรงว่าเป็นความอัดอั้นส่วนตัว และอยากระบายเป็นปากเสียงแทนเพื่อนพ้องในแวดวงสื่อสารมวลชนและวรรณกรรม ที่กรีดเลือดปาดเหงื่อมาเขียนทุกคน
ในบทความ “นักเขียนฟรีแลนซ์ไทย กับ 20 ปีที่ค่าแรงไม่เคยขยับ” ที่ลงใน the101 นิภา เผ่าศรีเจริญ อดีตบรรณาธิการนิตยสาร IMAGE เล่าว่า ต้นฉบับของนักเขียนระหว่างช่วงปี 2543-2559 ดังนี้
- บทความความยาว 1 – 1.5 หน้า A4 ค่าต้นฉบับ 1,500 – 2,000 บาท
- บทสัมภาษณ์ความยาว 1 – 1.5 หน้า A4 ค่าต้นฉบับ 2,000 – 3,000 บาท
- บทสัมภาษณ์ความยาว 4 – 6 หน้า A4 ค่าต้นฉบับ 4,000 – 6,000 บาท
- บทสัมภาษณ์ความยาว 5 – 10 หน้า A4 ค่าต้นฉบับ 6,000 – 10,000 บาท
ขณะที่ กันต์กนิษฐ์ มิตรภักดี อดีตผู้ช่วยบรรณาธิการ และ อนิรุทร์ เอื้อวิทยา นักเขียนฟรีแลนซ์ ให้ข้อมูลกับ the101 ตรงกันว่า ทุกวันนี้ราคาค่าเรื่องไม่ว่าเขียนในรูปแบบใดอยู่ที่ราว 2,500 บาท/ ชิ้น
หรือพูดได้ว่าจะเขียนให้ได้เงินเดือนขั้นต่ำที่ 15,000 บาท ต้องเขียนเดือนละ 6 ชิ้นเป็นอย่างน้อย และถ้าอยากได้มากกว่านั้นก็ต้องรีดพลังมาเขียนเพิ่ม ซึ่งย่อมส่งผลต่อคุณภาพของงานที่ออกมามากหรือน้อย และท้ายสุดอาจทำให้เกิดภาวะ ‘นักเขียนหมดไฟ’ เลิกทำงานเขียนไปในที่สุดก็เป็นได้
รายได้เกษตรกร
“เปิบข้าวทุกคราวคำ จงสูจำเป็นอาจิณ เหงื่อกูที่สูกิน จึงก่อเกิดมาเป็นคน” – จาก ‘ทุกของชาวนาในบทกวี’ ของ จิตร ภูมิศักดิ์
แม้ในเชิงวัฒนธรรมสังคมไทยจะมองว่าชาวนาและเกษตรกรล้วนคือคนสำคัญของระบบเศรษฐกิจ แต่ความจริงที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยคือ พวกเขาทุกล้วนมีชีวิตที่ยากลำบาก และยากจน
โดยข้อมูลจาก สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร หรือ สศก. เมื่อปี 2564 ระบุว่า มีครัวเรือนไทยที่ทำอาชีพเกษตรกรถึง 8 ล้านครัวเรือน โดยมีรายได้เฉลี่ยตกปีละ 408,099 บาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเล็กน้อยที่ 390,376 บาท/ครัวเรือน
อย่างไรก็ตาม รายได้ดังกล่าวไม่ได้มากแต่อย่างใดเมื่อเทียบกับหนี้สิน โดยในปี 2564 เกษตรกรไทยมีหนี้สินเฉลี่ย 262,317 บาท/ครัวเรือน หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 16.5%
ถึงแม้รัฐบาลหลายยุคจะมีนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรทั้งรับประกันราคาข้าว หรือรับประกันราคาสินค้าเกษตร แต่ลึกลงไปแล้ว ปัญหาของเกษตรกรซับซ้อนอย่างมาก มันประกอบไปทั้งเรื่องของการไร้ที่ทำกิน, ต้นทุนค่าอุปกรณ์, ภัยแล้ง รวมไปถึงคุณภาพและความหลากหลายของสินค้าที่เริ่มสู้ประเทศข้างเคียงอย่างเวียดนามไม่ได้
หากจะมองแค่เรื่องของการทวงบัลลังก์แชมป์ส่งออกข้าว ภาครัฐอาจต้องมองให้ลึกซึ้งไปมากกว่านโยบายที่ใช้ในปัจจุบัน และเริ่มนำวิทยาศาสตร์ลงไปช่วยเหลือเกษตรกร เพาะพันธุ์ข้าวที่มีความหลากหลายและเหมาะสมกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง, หาตลาดส่งออกให้พวกเขา รวมถึงเพิ่มมูลค่าของข้าวไทยให้ยั่งยืนผ่านการสร้างแบรนด์สินค้าที่เข้มแข็ง
คอร์รัปชั่น
ให้คำมั่นสัญญากันมายาวนานกับเรื่อง “ปราบโกง” แต่ดูเหมือนยิ่งพูดเหมือนน้ำยิ่งท่วมปาก เพราะรายงานล่าสุดจาก Transparency International ในชื่อ Corruption Perceptions Index หรือ CPI ระบุว่า ไทยอยู่ในกลุ่ม 27 ประเทศที่ได้คะแนนความโปร่งใสของภาครัฐต่ำที่สุด โดยในปี 2564 ไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับ 110 จาก 180 ประเทศ โดยมี 35 จาก 100 คะแนนเท่านั้น
ทั้งยังเลวร้ายกว่าปีที่แล้ว เพราะในปี 2563 ไทยเคยอยู่ในอันดับ 104 จาก 180 ประเทศ โดยมี 36 จาก 100 คะแนน เรียกได้ว่าเป็นก้าวถอยหลังของระบบราชการและการเมืองไทย
แต่ถ้าอยากเทียบให้ใจชื้นขึ้นมาหน่อย ในภูมิภาคอาเซียนไทยเองอยู่ในส่วนของกลางตาราง เป็นรองเพียง สิงคโปร์ (85 คะแนน), มาเลเซีย (48 คะแนน), ติมอร์-เลสเต (41 คะแนน), เวียดนาม (39 คะแนน) และอินโดนีเซีย (38 คะแนน) เท่านั้น หรืออย่างน้อยเรายังชนะฟิลปิปินส์, ลาว, เมียนมาร์ และกัมพูชา
เสรีภาพสื่อ
วันเสรีภาพสื่อโลกเพิ่งผ่านไปเมื่อวาน (3 พ.ค.) และเป็นธรรมเนียมประจำทุกปีที่องค์กร Reporters Without Borders หรือ RSF (Reporters Sans Frontières) จะออกรายงานเสรีภาพสื่อประจำปีออกมา และในปีนี้ก็เป็นอีกครั้งที่ไทยท็อปฟอร์ม โดยถูกจัดให้อยู่ในอันดับ 115 จาก 180 ประเทศ ขยับขึ้นจากปีที่แล้วมากถึง 22 ลำดับ (เก่งมากๆ)
อย่างไรก็ตาม ในยุครัฐบาลทหารสวมสูทยังห่างไกลจากสมัยรัฐบาลพลเรือนของ ทักษิณ ชินวิตร ในปี 2547 ที่ไทยเคยขยับขึ้นมาอยู่ที่ลำดับ 59 จากทั้งหมด 167 ประเทศเลยทีเดียว
ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่หลายคนคงทราบดีอยู่แล้ว สถานการณ์เสรีภาพสื่อของไทยที่ถดถอยเกี่ยวข้องกับความแหลมคมทางการเมือง ที่ทำให้สื่อหลายสำนักต้องกัดฟันเซ็นเซอร์ตัวเองเพราะกฎหมายบางข้อที่ปกป้องกลุ่มอำนาจบางกลุ่มเอาไว้อยู่
ความรักจากเธอ
สุดท้ายสิ่งที่อยากให้เพิ่มให้ดีขึ้นแต่ไม่เคยสำเร็จเสียที กับความรัก.. ไม่เคยเพิ่ม ไม่เคยขึ้น ไม่เคยมี ฮือออ
อ้างอิง:
Illustrator By Sutanya Phattanasitubon