“2020 เป็นปีที่ยากสำหรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ส่วนปีหน้า คือปีแห่ง ‘Promising Unsertainty’ แม้จะยังไม่มีอะไรแน่นอน แต่ก็มีสัญญาณแห่งสัญญาว่าจะดีขึ้น”
‘มิเชล เกา’ ผู้จัดการส่วนภูมิภาค ประจำกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงของอาเซียน ของ Booking.com บอกกับเราแบบนั้
เธอเพิ่งเข้ามาประจำสำนักงานแถบนี้เมื่อ 1 ปีก่อน หลังสั่งสมประสบการณ์จากตลาดจีนมาหลายปี แน่นอนว่าทันทีที่ประจำตำแหน่ง การระบาดของ COVID-19 ก็ท้าทายเธอทันที
ดังนั้น หากบอกว่าเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับการท่องเที่ยว และของเธอด้วย ก็ไม่ผิด
แต่เธอและ Booking.com ก็ได้ทำการสำรวจคนจำนวน 20,000 คน ใน 28 ประเทศ และได้สรุปเทรนด์การท่องเที่ยวสำหรับปีหน้าออกมา สรุปได้หลายๆ ข้อ – แม้ทุกข้อจะยังไม่บ่งบอกถึงสัญญาณการกลับมาเป็นปกติ แต่ก็ดูมีไปในทิศทางที่ดี
เราออกเดินทางเพราะอะไร? หลายคนมีคำตอบอยู่ในใจอยู่แล้ว
เชื่อว่าหลายคนมีความฝันอยากจะได้ท่องเที่ยวทั่วโลกอีกครั้งในปีหน้า แต่คำถามคือเมื่อไหร่ และทำอย่างไรให้ปลอดภัย?
Booking.com สรุปเทรนด์การท่องเที่ยวของคนไทย และทั่วโลกในอนาคต ออกมาเป็น Keys Take Away ที่น่าสนใจยังไงบ้าง? The MATTER ชวนไปสำรวจกัน ว่าเราเป็นหนึ่งในนักท่องเที่ยวเหล่านี้ไหม?
นักเดินทางพร้อมสำหรับการเดินทางด้วยรถยนต์
แม้ว่าการบินไปต่างประเทศจะทำไม่ได้ แต่ผู้คนก็ยังค้นหาหาทางในการพักผ่อน โดยคนทั่วโลกมากถึง 58% มองหาที่เที่ยวใกล้ๆ ที่รถยนต์เข้าไปถึงได้ สำหรับชาวไทย คิดเป็นมากถึง 73% เป็นประเทศที่ต้องการเดินทางเที่ยวแบบโร้ดทริปสูงที่สุดในโลก
ความสุขเริ่มต้นที่ใกล้ๆ
เมื่อไปไหนไกลไม่ได้ ปลายทางการท่องเที่ยวจึงถูกเลือกจากสถานที่ที่คุ้นเคย คนไทย 80% เลือกท่องเที่ยวอย่างเรียบง่ายในช่วงที่การระบาดยังไม่จบลง ที่ยอดฮิตได้แก่ พัทยา หัวหิน เขาใหญ่ เป็นต้น โดยเลือกที่ที่มีกิจกรรมผ่อนคลายให้กลุ่มเพื่อนและครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม 69% จากคนไทยในกลุ่มสำรวจบอกว่า หากเปิดพรมแดน ก็พร้อมจะบินไปเที่ยวต่างประเทศทันที
เปิดใจเลือกจังหวัดไม่คุ้นเคย
นักเดินทางชาวไทยเริ่มเลือกไปจังหวัดใหม่ๆ เพื่อกระจายราย และเลือกทำกิจกรรมผจญภัยใหม่ๆ ที่พวกเขาไม่เคยทำ โดยมากถึง 82% มองว่าการท่องเที่ยวของตนนั้นช่วยให้เงินหมุนเวียนช่วยเหลือท้องถิ่น
การท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูท้องถิ่น
นักเดินทางมองการทริปการท่องเที่ยวที่ตนเองสามารถไปช่วยฟื้นฟูพื้นที่นั้นๆ ได้ ในช่วงที่เศรษฐกิจซบเซา และการระบาดของ COVID-19 ยังทำให้พวกเขาใส่ใจโลกมากขึ้น และท่องเที่ยวโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
เทคโนโลยีช่วยค้นหาปลายทางและกดจองทันที
68% ของนักท่องเที่ยวชาวไทยค้นหาสถานที่เที่ยวสัปดาห์ละครั้ง (ทั่วโลกแค่ 38% เท่านั้น ชาวไทยชอบเที่ยวจริงๆ) มองหาที่ๆ มีโอกาสจะได้ไป ทั้งนี้แพลตฟอร์มการจองที่พักจะต้องปรับตัวรับการเที่ยวแบบปุบปับของนักท่องเที่ยวยุค Post-Covid พวกเขามองหาการจองห้องพักที่ยืดหยุ่น สามารถยกเลิกการจองได้ฟรี และราคาไม่แพง
เที่ยวไปทำงานไป (Workation)
อีกหนึ่งเทรนด์ที่เกิดขึ้น เมื่อหลายๆ คนปรับวิถีท่องเที่ยวมาเป็นการเลือกจุดหมายปลายทางที่ได้พักผ่อนไปด้วย ทำงานไปด้วย เพราะการระบาดของโลกทำให้การทำงานทั่วโลก เปลี่ยนที่ทำงานจากออฟฟิศสู่บ้าน
6 จาก 10 คนของนักท่องเที่ยวชาวไทยบอกว่า เคยค้นหาสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศในการทำงาน ซึ่งเป็นจำนวนความสนใจสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก
อินฟลูเอนเซอร์ยังมีบทบาท
บรรดาบล็อกเกอร์มีอิทธิพลโดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ ที่ตัดสินใจได้เร็ว เลือกที่เที่ยววันนี้ จองพรุ่งนี้ และพร้อมแพ็กกระเป๋าบินตลอดเวลา
ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า ไม่ใช่แค่นักท่องเที่ยวเท่านั้นที่พฤติกรรมเปลี่ยนไป แต่ตัวผู้นำทางความคิดก็มีแนวทางการผลิตคอนเทนต์เปลี่ยนไปด้วย โดยกลับมาโฟกัสของดีในประเทศ, เที่ยวแบบงบประหยัด หรือการท่องเที่ยวชุมชนที่มี hidden gem มากขึ้น
แต่สุขภาพมาเบอร์ 1
โลกเปลี่ยนไปแล้ว และมิเชลก็เชื่อเหลือเกินว่า เรื่องนี้จะเป็นเรื่องสำคัญไปตลอดกาล ความสะอาดมาอันดับแรก นักท่องเที่ยวมองหาที่พักที่ให้ข้อมูลมาตรการด้านสุขภาพและอนามัยอย่างชัดเจน โดยนักท่องเที่ยวไทย 81% เชื่อว่า การระบาดจะผลักดันให้เทคโนโลยีพัฒนาอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นไปอีก
ปลอดภัยไว้ก่อน
นักท่องเที่ยวไทยยอมให้มีการสุ่มตรวจสุขภาพเมื่อเดินทางถึงจุดหมายมากถึง 86% ทั้งยังสวมอนากากอนามัยเป็นประจำ พร้อมระบุว่าความปลอดภัยทางสุขภาพคือเรื่องสำคัญที่สุดถ้าจะออกไปเที่ยว
และนี่คือเทรนด์การท่องเที่ยวในปีหน้าที่เราจะได้เจอ จนกว่าการท่องเที่ยวจะกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง (ซึ่งก็ยังไม่รู้เมื่อไหร่?)
จาก Wanderlust สู่ Wandermust แม้ข้อจำกัดจะมากมาย แต่การเดินทางก็ยังเป็นรากฐานของชีวิต ผู้คนจึงยังออกเดินทางอย่างแน่นอน บนความไม่แน่นอนที่ยังเกิดขึ้น